ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ : ‘ชัชชาติ’ ถก ‘กรุงเทพธนาคม’ แบสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

วาระซ่อมกรุงเทพฯ : ‘ชัชชาติ’ ถก ‘กรุงเทพธนาคม’ แบสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

2 มิถุนายน 2022


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมหารือร่วมกับ
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. นายเกรียงพล
พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม
แถลงผลหารือกรณีสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

‘ชัชชาติ’ ถก กรุงเทพธนาคม แบสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายเขียว หาทางออกภารหนี้ 4 หมื่นล้านเพื่อลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง พร้อมเตรียมหารือ สภาฯกทม.และ กระทรวงมหาดไทย พิจารณาต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมหารือร่วมกับนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที และทีมที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. หารือกรณีสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว และปัญหาหนี้ที่ กทม.ต้องแบกรับ

หลังการหารือนายชัชชาติกล่าวว่า ในเบื้องต้นกรุงเทพธนาคม ให้ข้อมูลว่า สัญญาการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเอกสารห้ามเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดเผยไปบางส่วน ส่วนการจ้างเอกชนเดินรถ การจ้างระยะยาว และภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้น ทางกรุงเทพธนาคมยืนยันทำถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด

“วันแรกถือเป็นวันที่ดี ที่นำปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวมาไล่เรียงกันและเล่าสู่ประชาชนฟัง โดยเอาปัญหาทุกอย่างมาคลี่ออก เพื่อหาทางออกกันว่าทำอย่างไรให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาถูกลง”

นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

ถกภาระหนี้ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 25 บาท

ส่วนในเรื่องราคารถไฟฟ้า 25 บาทมีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ราคารถไฟฟ้าถูกลง โดยจากข้อมูลที่ทีมงานศึกษาต้นทุน จากข้อมูลบริษัทเอกชนเผยแพร่ข้อมูล คาดว่าราคาประมาณ 25 บาทมีความเป็นไปได้ ขณะเดียวกันต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นมารวมด้วย เช่น เรื่องภาระหนี้ ว่าหน่วยงานไหนควรจะต้องรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากกทม.ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ดังกล่าวก็จะตัวเบามากขึ้น จะทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลงเป็นไปได้มากขึ้น

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาเรื่องหนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยที่ผ่านมามีการคุยกับ 3 ส่วนคือ สนข . กทม.กระทรวงคมนาคม แต่กระบวนการยังไม่ชัดเจนว่า กทม.นำหนี้โครงสร้างพื้นฐานประมาณ 4 หมื่นล้านบาทมาเป็นภาระหนี้อย่างไร ผ่านสภากทม.หรือไม่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนจึงต้องทำเรื่องภาระหนี้ในส่วนหนี้ให้ชัดเจนก่อน

อย่างไรก็ตามหากมีความชัดเจนในเรื่องการแบกรับหนี้โครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าแล้ว ก็จะมีการพิจารณาอีกขั้นหนึ่งคือ กทม.ออกข้อบัญญัติ ออกกู้เงินมาใช้หนี้ได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้จะต้องมีหารือกันต่อว่าจะต้องทำอย่างไรเพราะยังมีเวลา เนื่องจากนี้เป็นการหารือวันแรก

“เอาเรื่องราวมาเล่าเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อเป้าหมายคือการหาทางออกให้ค่าโดยสารถูกลง เพราะประชาชนบ่นเรื่องนี้มามาก ซึ่งทั้งหมดมีคความเป็นไปได้ในการเจรจราให้ราคาค่าโดยสารลดลงมาได้”

ทบทวนต่ออายุสัญญาสัมปทานสายสีเขียว

ส่วนเรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่หมดอายุสัมปทานในปี 2572 นายชัชชาติ กล่าวว่า การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังมีเวลาพิจารณาในเรื่องนี้ แต่ไม่อยากให้เอาเรื่องภาระหนี้มาใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจระยะยาวหรือเร่งรัดให้มีการต่อสัญญา อยากให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบโปร่งใส

ทั้งนี้ที่ผ่านมาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเกิดขึ้นภายใต้คำสั่งม. 44 ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ขณะนี้มีข้อมูลใหม่จึงต้องดึงเรื่องเข้ามาพิจารณาใหม่โดยอาจจะต้องหารือกับสภากรุงเทพมหานครด้วยว่ามีความเห็นอย่างไร รวมไปถึงจะต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยว่ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

นายชัชชาติ บอกว่าคาดว่าหลังหารือกับกระทรวงมหาดไทยว่าคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร โดยคาดว่าภายใน 1 เดือน จะได้ข้อสรุปและทางออกในการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว และการแก้ไ-ภาระหนี้ที่กทม.ต้องแบกรับ