ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > เปิดทรัพย์สิน ครม. ปู 5 “ข้าราชการไทย” ใครว่าจน?

เปิดทรัพย์สิน ครม. ปู 5 “ข้าราชการไทย” ใครว่าจน?

5 กันยายน 2013


ในช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เข้ามาบริหารประเทศ มีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีไปแล้วถึง 5 ครั้ง

“โฉมหน้า” รัฐมนตรีแต่ละชุด ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากน้อยแตกต่างกัน

บ้างก็ว่ารัฐมนตรีบางคนเข้ามาเพราะต่างตอบแทน

บ้างก็ว่ามาจากโควตากลุ่มการเมือง

มีเพียงรัฐมนตรีไม่กี่รายเท่านั้นที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากสังคม

การบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมาของรัฐบาลในหลายนโยบาย หลายโครงการ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ยังไม่นับรวม “โรคแทรกซ้อน” ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

จึงไม่แปลกที่ในระยะหลัง การแต่งตั้งรัฐมนตรีเริ่มเปลี่ยนไป มีการดึงอดีตข้าราชการประจำระดับสูงเข้ามานั่งในคณะรัฐมนตรีมากขึ้น เพื่อเสริมทัพในการแก้ปัญหา รวมไปถึงการเรียกความเชื่อมั่นจากสังคม

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้าราชการเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ใกล้ชิดกับแกนนำของพรรคเพื่อไทย หรือเคยทำงานสนองรัฐบาลไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนมาก่อน

แต่ไม่อาจปฎิเสธว่าอดีตข้าราชการระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานมาหลายสิบปี ย่อมมีภาษีดีกว่านักการเมือง

โดยในคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 5 พบว่ามีรัฐมนตรีที่มาจากอดีตข้าราชการประจำที่เกษียณอายุหรือลาออกจากราชการเพื่อมารับตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตอธิบดีกรมศุลกากร นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตอัยการสูงสุด นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตและอดีตผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตผู้บัญชาการทหารกองพลที่ 1 รักษาพระองค์

การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้ สามารถ “ลบความเชื่อ”ที่ว่าข้าราชการ “จน” เพราะปรากฏว่าอดีตข้าราชการที่มาเป็น “เสนาบดี” เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีฐานะดีที่ถึงขั้นเศรษฐี

เปิดทรัพย์สินข้าราชการปู 5

1. นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตอธิบดีกรมศุลกากร แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตัวเองและคู่สมรส ปรากฏว่า มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน จำนวน 181,028,084 บาท เป็นของนางเบญจา ในฐานะผู้ยื่นจำนวน 102,094,752 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 41,025,603 บาท เงินลงทุน 5,764,100 บาท ที่ดิน 17,652,725 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 18 ล้านบาท สิทธิและสัมปทาน 15 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่ 2 แสนบาท ขึ้นไป) 4,652,323 บาท รวมทรัพย์สิน 102,094,752 บาท

ขณะที่คู่สมรสมีจำนวน 79,256,461 บาท แบ่งเป็น เงินฝาก 24,962,685 บาท เงินลงทุน 4,717,200 บาท ที่ดิน 16,546,575 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 31 ล้านบาท ยานพาหนะ 2,030,000บาท

ด้านหนี้สินมีจำนวนทั้งสิ้น 323,128 บาท แบ่งเป็น ผู้ยื่น 223,128 บาท และคู่สมรส 1 แสนบาท

2. นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตอัยการสูงสุด แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตัวเองและคู่สมรส พบว่า มีจำนวนทรัพย์สิน 152,709,376 บาท ไม่มีหนี้สิน แบ่งเป็นทรัพย์สินของนายชัยเกษม จำนวน 120,508,069 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 21,521,326 บาท เงินลงทุน 20,044,483 บาท ที่ดิน 56,842,259 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 14,550,000 บาท ทรัพย์สินอื่น (ตั้งแต่ 2 แสนบาท ขึ้นไป) 7,550,000 บาท

ของคู่สมรส 32,201,307 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 6,009,813 บาท เงินลงทุน 9,436,493 บาท ที่ดิน 7,300,000 บาท ยานพาหนะ 3,100,000 บาท ทรัพย์สินอื่น (ตั้งแต่ 2 แสนบาท ขึ้นไป) 6,355,000 บาท

3. นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตัวเองและคู่สมรส พบว่ามีทรัพย์สินจำนวน 16,354,229 บาท ไม่มีหนี้สิน แบ่งเป็นของนายยรรยง จำนวน 15,350,104 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 7,091,595 บาท เงินลงทุน 4,058,509 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 1,200,000 บาท

ขณะที่คู่สมรส มีทรัพย์สิน 1,004,124 บาท โดยเป็นเงินฝากทั้งหมด

4. นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตัวเองและคู่สมรส พบว่ามีทรัพย์สินจำนวน 17,131,643 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน แบ่งเป็นของนายยุคล 9,113,255 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 6,175,405 บาท เงินลงทุน 1,273,850 บาท ยานพาหนะ 1,500,000 บาท และทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่ 2 แสนบาท ขึ้นไป) 164,000 บาท

ขณะที่คู่สมรสมีทรัพย์สิน 8,018,387 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 2,164,247 บาท เงินลงทุน 4,228,740 บาท ที่ดิน 1,265,400 บาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่ 2 แสนบาท ขึ้นไป) 360,000 บาท

5. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, อดีตผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตัวเองและคู่สมรส พบว่า มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิ้นจำนวน 51,452,417 บาท

แบ่งเป็นของนายชัชชาติ 19,425,209 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 1,308,706 บาท เงินลงทุน 11,495,403 บาท ยานพาหนะ 2 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่ 2 แสนบาทขึ้นไป) 2,060,000 บาท

คู่สมรสจำนวน 32,527,207 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 4,984,640 บาท เงินลงทุน 22,552,566 บาท ที่ดิน 6 แสนบาท ยานพาหนะ 3.5 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่ 2 แสนบาทขึ้นไป) 890,000 บาท คู่สมรสมีหนี้สิน 5 แสนบาท

6. พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตผู้บัญชาการทหารกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตัวเองและคู่สมรส พบว่า มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 49,179,995 บาท

แบ่งเป็นทรัพย์สิน 49,928,986 บาท โดยเป็นของ พล.อ.พฤณท์ 13,299,496 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 712,894 บาท เงินลงทุน 12,046,602 บาทยานพาหนะ 540,000 บาท

คู่สมรส มีทรัพย์สิน 36,629,489 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 269,567 บาท เงินลงทุน 20,862,921 บาท ที่ดิน 12,997,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 12,997,000 บาท ยานพาหนะ 2,500,000 บาท และคู่ส่มรสมีหนี้สิน 748,991 บาท

รับเบี้ยประชุมรัฐวิสาหกิจทะลุ 8 หลักต่อปี

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นรายได้ของรัฐมนตรีที่เคยเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงที่ได้แจ้งต่อป.ป.ช.นั้น ในส่วนของรายได้ประจำจากเงินเดือนข้าราชการแล้วยังพบว่ามีค่าตอบแทนอื่น เช่น เบี้ยประชุม หรือ โบนัส เป็นจำนวนมากจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เข้าเป็นเป็นกรรมการ

“เบญจา หลุยเจริญ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตอธิบดีกรมศุลกากร มีรายได้ประจำจากเงินเดือน 880,069 บาทต่อปี และรายได้อื่นๆ คือ เบี้ยประชุม และ โบนัส จำนวน 14,093,483 บาทต่อปี

ทั้งนี้ก่อน เข้ารับตำแหน่ง รมช.คลัง นางเบญจา ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายชุด อาทิ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ขณะที่”ชัยเกษม นิติสิริ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตอัยการสูงสุด แจ้งว่า มีรายได้ประจำจากเงินเดือน 1,347,000 บาทต่อปี และรายได้อื่นๆ ประกอบด้วยเบี้ยประชุมราชการ/รัฐวิสาหกิจ 2,643,888 บาท ค่าโบนัสรัฐวิสาหกิจ 2,250,000 บาท

ทั้งนี้ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม เคยดำรงตำแหน่งกรรมการและประธานคณะกรรมการตรวจสอบบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยในปี 2554 เป็นอัยการในอันดับที่ 2 ที่มีรายได้จากการเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจมากที่สุด

ด้าน “ยรรยง พวงราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือน 2,257,199 ต่อปี ค่าตอบแทนและเบี้ยประชุม 823,340 บาทต่อปี และ ค่าตอบแทนอื่นๆ 1,321,716 บาทต่อปี

ทั้งนี้ก่อนเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง นายยรรยงเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรด้วย