ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ : กางแผนระบบสุขภาพ กทม. ชู Sandbox 2 แห่ง สร้างรพ. ‘หมื่นเตียง’ เชื่อมเส้นเลือดฝอย-Telemedicine-รพ.แม่ข่าย

วาระซ่อมกรุงเทพฯ : กางแผนระบบสุขภาพ กทม. ชู Sandbox 2 แห่ง สร้างรพ. ‘หมื่นเตียง’ เชื่อมเส้นเลือดฝอย-Telemedicine-รพ.แม่ข่าย

14 ตุลาคม 2022


ทีมผู้ว่าฯชัชชาติยกเครื่องระบบสาธารณสุข กทม. ใช้ “Sandbox” 2 แห่ง ปรับระบบสุขภาพให้ได้’หมื่นเตียง’ เชื่อมศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนตามนโยบายเส้นเลือดฝอย เป็นหน้าด่านการรักษาปฐมภูมิ ส่งต่อทุติยภูมิและตติยภูมิในรพ.แม่ข่ายด้วยระบบการแพทย์ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ผ่านออนไลน์ทุกพื้นที่ 50 เขต

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราช กรุงเทพมหานคร

ปัญหาสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นอีกประเด็นใหญ่ไม่แตกต่างจากปัญหาน้ำท่วม ขยะ รถติด เนื่องจากประชาชกรกรุงเทพฯที่มีกว่า 5.8 ล้านคน รวมกับประชากรแฝงและนักท่องเที่ยวแล้วกว่า 10 ล้านคนที่ระบบสาธารณสุข กทม.ต้องรองรับ

กว่า 4 เดือนสำหรับการทำงานของทีม “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในการแก้ปัญหาสาธารณสุข โดยมี “ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ดูแลงานด้านนี้ว่าดำเนินการไปอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น “โรงพยายาลหมื่นเตียง” หรือ การยกระดับระบบการรักษาปฐมภูมิ ที่เป็นเส้นเลือดฝอยตามชุมชน ดำเนินการไปได้มากน้อยขนาดไหน

ด้วยนโยบายการทำงานแบบเส้นเลือดฝอยที่ยึดหลักการเข้าถึงชุมชนเล็ก ๆ ทำให้โรงพยาบาลหมื่นเตียง ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่หมื่นเตียงในวาระ 4 ปี แต่หากหมายถึงการสร้าง “ระบบปฐมภูมิ” ด่านหน้าที่เป็นศูนย์บริการสาธารณสุขกทม.ที่มี 69 ศูนย์ และ โรงพยาบาลอีก 12 แห่งของ กทม.ให้รองรับการรักษาได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพสำหรับคนกรุงเทพฯ

“การสร้างโรงพยาบาลขนาดหมื่นเตียง เราก็อยากทำ แต่การสร้างโรงพยาบาลหมายถึงการจัดวางระบบงบประมาณหลายพันล้าน พื้นที่ อัตรากำลัง และระยะเวลาการก่อสร้าง 4-5 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเราพร้อมสร้างแน่ แต่จริงๆแล้วความหมายโรงพยาบาล’หมื่นเตียง’ ของผู้ว่าฯไม่ได้หมายความว่าต้องสร้างโรงพยาบาลทั้งหมดหมื่นเตียง แต่คือการพัฒนาระบบที่มีอยู่ให้สามารถรองรับได้ โดยการพัฒนาระบบปฐมภูมิที่เป็นเส้นเลือดฝอยให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพเพียงพอก่อน” ผศ.ดร.ทวิดากล่าว

ยกระดับ “ศูนย์บริการสาธารณสุข” เป็นด่านหน้า “ปฐมภูมิ”

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าการมีระบบปฐมภูมิที่ดี สามารถลดการเดินทางไปโรงพยาบาลและช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้กับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลได้ และพบว่าในช่วงนั้นศูนย์บริการสาธารณสุขมีชาวบ้านเดินเข้าไปรับคำปรึกษา และรับยาจำนวนมาก การพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ให้มีประสิทธิภาพและเป็นด่านหน้าของระบบปฐมภูมิ หรือการรักษาเบื้องต้นจึงเป็นคำตอบในการยกระดับระบบสาธารณสุข กทม.

“เรากำลังประเมินว่าหลังโควิด-19 ประชาชนมองระบบปฐมภูมิ หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุขเปลี่ยนไปมั้ย คือยังเข้ามาใช้บริการอยู่หรือไม่ เพราะหลังจากนี้ มีแผนที่จะพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขบางแห่ง ที่มีพื้นที่เพียงพอ ให้มีเตียงพักรออาการก่อนที่จะส่งต่อ หรือให้กลับบ้าน”

ผศ.ดร.ทวิดา มองว่า ถ้าใช้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 ศูนย์ และสาขาย่อยอีกจำนวนหนึ่งพัฒนาให้เป็นระบบปฐมภูมิด่านหน้า หรือ ER ของโรงพยาบาล ให้ประชาชนเข้ามาตรวจวินิจฉัย พักรอดูอาการได้ หากอาการหนัก ก็ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายได้ แต่ถ้าดูแล้วอาการไม่มากก็ให้กลับบ้านได้ ซึ่งจะยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีความพร้อมจะจัดให้มีเตียงพักรอดูอาการประมาณ 10 เตียง

“เราจะเริ่มพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขบางแห่งที่มีสถานทีเพียงพอในการจัดเตียงเพื่อพักรอดูอาการ โดยจะทำให้เหมือนกัน ER ด่านหน้าของโรงพยาบาลที่ส่วนใหญ่ จะไม่ได้ค้างคืน จะพักรอดูอาการ 3-4 ชั่วโมง ถ้าอาการโอเค ก็ส่งกลับ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีต้องรักษาต่อก็ส่งไปรักษาต่อ เพื่อให้การบริการสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้พัฒนาระบบข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อปรับปรุงการเข้ามารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข จัดทำข้อมูลการเข้ามาใช้บริการว่า ศูนย์ไหนมีปริมาณผู้เข้ามารับบริการจำนวนมากอาจจะเพิ่มสาขา หรือบางศูนย์มีผู้มาใช้บริการจำนวนไม่มาก อาจจะพิจารณายุบรวมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้ารับบริการ”

ผศ.ดร. ทวิดา บอกว่า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ได้เพิ่มการบริการในด้านต่างๆ โดยพัฒนาระบบการจัดการโรคติดต่อ(โควิด-19) ได้เปิดบริการคลินิกวันเสาร์ ช่วงเดือน ก.ค.- ส.ค. 2565 ให้บริการไปแล้ว 4,946 ราย ให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุก ให้แก่กลุ่ม 608 จำนวน 16,961 ราย พร้อมทั้งเปิดคลินิกลองโควิด (Long COVID) ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง และเพิ่มเปิดบริการคลินิกหลากหลายทางเพศ(Bangkok Pride Clinic) ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่งใน 6 กลุ่มเขตและที่โรงพยาบาลสังกัดกทม. อีก 5 แห่ง

นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการศูนย์บริการบัตรคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ 9 แห่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิของคนพิการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และลดขั้นตอนกระบวนการในการขึ้นทะเบียนคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สร้างเครือข่าย รพ.เพื่อรองรับผู้ป่วยหมื่นเตียง

อย่างไรก็ตามการสร้างโรงพยาบาลขนาดหมื่นเตียงอาจต้องใช้เวลา แต่การสร้างเครือข่ายและใช้โรงพยาบาลที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ กทม.จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครเข้าถึงการรักษามากขึ้น ด้วยอัตรากำลังโรงพยาบาล 12 แห่งและศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 69 แห่ง รองรับประชากรได้เพียง 30-40 % เท่านั้น ดังนั้นการพัฒนาการรักษาเพื่อให้ครอบคลุมประชากรตามเป้าหมาย หมื่นเตียงจึงได้หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช ) ในการประสานการทำงานร่วมกัน โดย กทม.จะเป็นเจ้าภาพหลักในการรักษาระบบปฐมภูมิ ให้ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งเป็นด่านหน้า ทำงานกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐอื่นๆ รวมไปถึง รพ.เอกชน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรักษาให้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 50 %

“จากเดิมที่เรามีเตียงรองรับผู้ป่วยได้เพียง 30-40 % พอเราประสานกับกระทรวงสาธารณสุข สปสช. คลินิกอบอุ่น รพ.เอกชนอื่นๆทำให้ขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 50 % สามารถแก้ไขปัญหาบางโซน เช่น โซนเหนือ เขตสายไหม จตุจักร หลักสี่ ที่ไม่มี รพ.สังกัดกทม.อยู่เลยได้บ้าง โดยประสานกับ โรงพยาบาลทหารอากาศ(สีกัน) เพื่อเป็นแม่ข่ายประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ดังกล่าวทำให้ สัดส่วนเตียงเพิ่มจาก 50 % เป็น 70 %”

ผศ.ดร.ทวิดา บอกว่า เมื่อประสานกับ โรงพยาบาลทหารอากาศ(สีกัน) ได้เรียบร้อยก็จะสามารถแก้ไขปัญหาโรงพยาบาบทางโซนเหนือและเพิ่มสัดส่วนเตียงได้มากขึ้น70 % ส่วนที่เหลือ อีก 30 % เรากำลังพัฒนาระบบที่เรียกว่า Telemedicine ซึ่งขณะนี้เรากำลังทดสอบระบบนี้ด้วยการทำ ‘Sandbox Model’ 2 แห่งคือ ที่ ‘ดุสิตโมเดล Sandbox และราชพิพัฒน์Sandbox’

“ดุสิต – ราชพิพัฒน์” Sandbox Model เปลี่ยนระบบสุขภาพกทม.

ดุสิต Sandbox Model เปิดทดลองระบบการ แพทย์แบบ Telemedicine ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งระบบนี้ ถือเป็นการทดลองการเป็น ER ด่านหน้าของระบบสุขภาพ กทม. โดยสร้างระบบเครือข่ายที่มี รพ.วชิระพยาบาลเป็นแม่ข่าย มีศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่บางพลัด บางซื่อ พระนคร ดุสิต

ระบบการเชื่อมข้อมูลผู้ป่วยภายใน Sandbox ซึ่งในเครือข่ายทั้งหมดจะสามารถ เชื่อมข้อมูลผู้ป่วยได้ การนัดแพทย์เฉพาะทาง หรือการส่งต่อผู้ป่วย (Refer)ไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายได้ ทำให้ประชาชนใน 4 เขตสามารถใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น โดยแพทย์ในเครือข่ายสามารถเรียกข้อมูลผู้ป่วยมาดูได้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องหอบเอกสารอีกต่อไป

“หลังทดลองไป 1 เดือน ที่ดุสิตจะเน้นเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วย (Refer)ไปยัง รพ.แต่ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มฟังก์ชั่นทั้งหมด เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่ รพ.แล้วกลับบ้านแพทย์สามารถติดตามอาการได้ผ่านระบบ Telemedicine โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล”

ขณะที่ Sandbox ราชพิพัฒน์ Model พึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีรพ.ราชพิพัฒน์ เป็นแม่ข่าย และมีศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตตลิ่งชัน บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และทวีวัฒนา หัวใจของการบริการยังคงเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อข้อมูล การส่งต่อผู้ป่วย Refer และการรักษา ด้วย Telemedicine เพื่อสามารถให้คำปรึกษาสุขภาพผ่านออนไลน์ได้

นอกจากนี้ ราชพิพัฒน์ Sandbox Model ยังมี รถ Telemedicine-Ambulance ประสานงานจากศูนย์เอราวัณและเพิ่มช่องทางการติดต่อฉุกเฉินให้ประชาชน มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยบนรถฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถเข้าไปยังพื้นที่ชุมชน มีรถ Motor lance หน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อประเมินปฐมพยาบาลและกู้ชีวิตรักษาทันทีที่เกิดเหตุ และมี รถ Commu-lance ที่เป็นศูนย์บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ เจ้าหน้าที่และรถสามารถเข้าไปบริการผู้ป่วยถึงชุมชนด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถจาะเลือด ตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์

แม้การพัฒนา ราชพิพัฒน์ Sandbox Model รวมถึง ดุสิต โมเดล จะส่งผลให้ระบบบริการปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง แต่ต้องแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างการถือสิทธิ์ของผู้ป่วยที่มีทั้งสิทธิ์บัตรทอง สิทธิ์ข้าราชการ ซึ่งหากสามารถแก้ปัญหาให้ทุกสิทธิ์สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกแห่ง จะช่วยพัฒนาระบบการรักษาปฐมภูมิได้มากขึ้น

“ปัญหาของ Refer คือเรื่องสิทธิ์ในการรักษาที่มีความแตกต่างกัน แต่ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังหารือว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดย กทม.จะเป็นเจ้าภาพ ปฐมภูมิคือบริการสาธารณสุข ที่รับการรักษาทุกสิทธิ เพราะนโยบายเราชัดเจนเรื่องระบบสาธารณสุขแบบเส้นเลือดฝอยซึ่งต้องทำระบบปฐมภูมิเกิดขึ้นให้ได้ในพื้นที่ กทม.”

อนาคตระบบสาธารณสุข กทม.รักษา Telemedicine 50 เขต

สำหรับอนาคต หากทีมผู้ว่าฯชัชชาติครบวาระ 4 ปี ผศ.ดร.ทวิดา บอกว่า อยากเห็นการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยที่เป็นข้อมูลกลางในการเชื่อมต่อการรักษาใน รพ.กระทรวงสาธารณสุข รพ.เอกชน และศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 50 เขตที่เป็นด่านหน้าระบบปฐมภูมิ โดยสามารถพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย Refer แบบไม่สะดุด

“ในอนาคตจะมีการเชื่อมระหว่าง รพ.แม่ข่ายเพื่อส่งต่อคนไข้ หากเป็นกรณียากๆ โดยมีระบบเส้นเลือดฝอย เชื่อมระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่น อาสาสมัครสาธารณสุข ที่อยู่ในพื้นที่ โดยอาสาสมัครสาธารณะสุข สามารถให้ข้อมูลกับแพทย์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข และแพทย์ในศูนย์บริการสาธารณสุขเชื่อมต่อข้อมูลการรักษากับ รพ.แม่ข่ายได้”

ผศ.ดร.ทวิดา ย้ำว่า ต้องพัฒนาระบบ ‘ดุสิต Sandbox Model’ และ’ราชพิพัฒน์ Sandbox Model’ ให้เต็มพื้นที่ 50 เขต โดยผู้ป่วยและแพทย์ สามารถรับคำปรึกษาผ่าน Telemedicine นอกจากนี้ต้องพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้มีเตียงพักรอและเป็นด่านหน้าการรักษาปฐมภูมิให้ได้

ดังนั้นในอนาคตระบบสาธารณสุข กทม.จึงเป็นการเชื่อมรอยต่อระหว่างระบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ตั้งแต่ที่บ้าน ไปจนถึงโรงพยาบาลโดยทั่วถึงทุกชุมชนทุกสิทธิ์