ASEAN Roundup ประจำวันที่ 19-25 มิถุนายน 2565
สปป.ลาวเร่งปฏิรูป 5 รัฐวิสาหกิจยุทธศาสตร์

ประธานคณะกรรมการวางแผน การเงิน และตรวจสอบ สภาแห่งชาติเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องปฏิรูปตามกฎหมายที่บังคับใช้ 5 องค์กรยุทธศาสตร์ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos: EDL) รัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว( Lao State Fuel Company),บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) ( EDL Gen Public), รัฐวิสาหกิจการบินลาว(Lao Airlines), และ รัฐวิสาหกิจการพัฒนาการเกษตร การส่งออก-นำเข้า(Agriculture Development Export- Import)
รัฐบาลต้องประเมินผลการดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจอีก 137 แห่ง และจัดทำรายงานการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจระดับยุทธศาสตร์ทั้ง 5 แห่ง แล้วเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในสมัยสามัญครั้งต่อไป พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลจัดทำยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์การพัฒนารัฐวิสาหกิจตามกระแสสังคมนิยมอย่างยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายบุนชม อุบนปะเสิด กล่าวในการประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 มิถุนายนว่า เตรียมที่จะปฏิรูป EDL อย่างครอบคลุม แต่จะยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจยุทธ์ศาสตร์อีก 4 แห่งยังอยู่ภายใต้การปรับโครงสร้างใหม่อย่างครอบคลุม รัฐวิสาหกิจลาว รัฐวิสาหกิจการพัฒนาการเกษตรเพื่อการส่งออก-นำเข้า และรัฐวิสาหกิจเชื้อไฟลาวจะดำเนินการในสถานะบริษัทร่วมทุนกับธุรกิจในท้องถิ่นโดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลถือหุ้นอย่างน้อย 51%
ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจ 178 แห่งทั่ว สปป. ลาว คิดเป็น 0.12% ของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศ และมีทุนจดทะเบียนรวม 28 ล้านล้านกีบ คิดเป็น 6% ของทุนรวมของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศ
ในปี 2563 กระทรวงการคลังได้ประเมินความสามารถทางการเงินของรัฐวิสาหกิจและกิจการภาครัฐ-เอกชน โดยใช้ตัวชี้วัดที่บันทึกไว้ระหว่างปี 2559 ถึง 2561 และพบว่าาบริษัท 12 แห่งมีผลการดำเนินงานที่ดี อีก 17 แห่งมีผลการดำเนินงานที่รับได้ และ 12 แห่งจัดอยู่ในประเภทที่มีผลการปฏิบัติงานไม่ดี ซึ่งรวมถึงรัฐวาหกิจ 11 แห่ง
ผลการศึกษาพบว่า รัฐวิสาหกิจมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงในอนาคต ในขณะเดียวกันองค์กรที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นมีแนวโน้มที่จะมีผลประกอบการทางการเงินที่ดีขึ้น
EDL Gen จะได้รับการปฏิรูปอย่างครอบคลุมและแยกออกจาก EDL ซึ่งปัจจุบันมีหนี้สินล้นพ้นตัว
เศรษฐกิจลาวครึ่งปีแรกขยายตัว 4.3%

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ สปป. ลาวแตะระดับ 95.2 ล้านล้านกีบ เทียบเท่ากับ 49.6 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในช่วง 6 เดือนแรก เติบโตขึ้น 4.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี
นายคำเจน วงโพสี รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว ได้รายงานในสมัยสามัญครั้งที่ 3 ของสภาแห่งชาติถึงการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565
ปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม-ป่าไม้และการบริการ
การจัดเก็บรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกสูงถึง 10.6 ล้านล้านกีบ เพิ่มขึ้น 23.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของรัฐบาลมีมูลค่า 8.8 ล้านล้านกีบ คิดเป็น 27.2% ของแผน
ปริมาณเงินทั้งหมดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 18.39% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากการที่ค่าเงินกีบอ่อนค่าลง 7.78% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และ 8.43% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม และเพียงพอสำหรับการนำเข้า 4.17 เดือน
ยอดการให้สินเชื่อของภาคการธนาคารพาณิชย์คิดเป็น 54.85% ของ GDP ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.22%
นายคำเจนเสนอให้สภาแห่งชาติปรับคาดการณ์ทางการเงินบางข้อของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน หลังจากตระหนักว่าการคาดการณ์ดังกล่าวอาจไม่สมจริงสำหรับรัฐบาล
“การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เผชิญกับปัญหาและความท้าทายมากมายที่เกิดจากสถานการณ์ที่ซับซ้อนในภูมิภาคและของโลก” รัฐมนตรีคำเจน กล่าว
ลาวเตรียมผลิตข้าว 3.7 ล้านตัน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร
ลาวตั้งเป้าผลิตข้าว 3.7 ล้านตัน และจัดหาเนื้อสัตว์ ปลา และไข่ไม่น้อยกว่า 68.2 กิโลกรัมต่อคนในปีนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ นายเพ็ชร พรมพิภักดิ์ กล่าวในการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนว่า รัฐบาลมุ่งสร้างความมั่นใจให้ประเทศว่า มีความมั่นคงด้านอาหาร
กระทรวงจะส่งเสริมการผลิตภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า โดยเฉพาะปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันผลิตได้เพียง 600,000 ตันต่อปี ซึ่งน้อยกว่าความต้องการที่แท้จริง 2 ล้านตันอย่างมาก และเพื่อให้ประกันการจัดหาปุ๋ยเคมี พันธุ์พืชและสัตว์ และการผลิต อุปกรณ์สำหรับเกษตรกรในท้องถิ่น
นอกจากนี้ รัฐบาลจะมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออกตามข้อตกลงกับคู่ค้า โดยเฉพาะจีน เวียดนาม ไทย และสหภาพยุโรป หลังเปิดให้สินค้าทุกชนิดจากลาวตามที่รัฐมนตรีกล่าว
รองประธานาธิบดีเวียดนามเยือนไทยเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นางหวอ ถิ แองห์ ซวน (Vo Thi Anh Xuan) รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก (Global Summit of Women: GSW) ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2565
ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง (Strengthened Strategic Partnership) ระหว่างไทยกับเวียดนามที่คืบหน้าในทุกมิติ และสนับสนุนให้ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์สำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศ
ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้ไทยและเวียดนามเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันในสาขาอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลกัน เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ภายหลังจากทั้งสองประเทศได้เปิดพรมแดนจากการที่สถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลายลง
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณฝ่ายเวียดนามสำหรับการสนับสนุนการลงทุนของไทยในเวียดนาม และขอให้สนับสนุนนักลงทุนไทยในเวียดนามด้วยดีต่อไป และการให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยเฉพาะการลดระยะเวลาการดำเนินการที่จุดผ่านแดนสำหรับสินค้าเกษตร
ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการกระชับความร่วมมือในระดับประชาชนและท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ การใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือเมืองคู่มิตรระหว่างจังหวัดต่าง ๆ ของไทยกับเวียดนามในการส่งเสริมความร่วมมือในระดับท้องถิ่นเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับเวียดนาม เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ
เวียดนามตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในไฮฟอง

สำนักงานเขตเศรษฐกิจไฮ ฟองได้มอบใบรับรองการจดทะเบียนการลงทุนสำหรับการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Tien Thanh ในเขต Tien Lang
การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 4.5 ล้านล้านด่อง จะเริ่มในปลายปีนี้ บนพื้นที่ 410.46 เฮกตาร์ โดยคาดว่านิคมอุตสาหกรรมจะเปิดให้บริการก่อนปี 2568
ประธานสำนักงาน HEZA นายเล จุง เกียน กล่าวย้ำในพิธีมอบใบรับรอง ถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นใจในความคืบหน้าของโครงการโดยการสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยสำหรับผู้พัฒนา
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว สวนอุตสาหกรรม Tien Thanh จะส่งผลให้จำนวนสวนอุตสาหกรรมในไฮ ฟอง เพิ่มเป็น 15 แห่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 6,074.75 เฮกตาร์
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 สวนอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจของไฮ ฟอง ดึงดูดโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใหม่ 21 โครงการ รวมเป็น 438 โครงการ ในขณะที่โครงการ FDI อื่นอีก 18 โครงการมีเงินทุนเพิ่มขึ้น
เมืองไฮ ฟอง มียอดสะสม FDI ตั้งแต่ต้นปี โดยมีมูลค่าถึง 755.75 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 56.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มการลงทุนรวมกันเป็น 22.07 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ยังดึงดูดโครงการลงทุนในประเทศ 195 โครงการด้วยทุนจดทะเบียน 12.57 พันล้านดอลลาร์
อินโดนีเซียเริ่มสร้างเมืองหลวงใหม่สิงหาคมนี้

แนวคิดเมืองหลวงใหม่ที่ชนะการประกวด ที่มาภาพ: http://www.urbanplus.co.id/project/nagara-rimba-nusa-ibu-kota-negara-indonesia/
นายบุซากิ ฮาดีมุลโจโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการเคหะ (PUPR) กล่าวว่า กระทรวงจะเริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย นูซันทารา( Nusantara) ในเดือนสิงหาคมปีนี้
นายฮาดีมุลโจโน ให้ข้อมูลนี้ระหว่างต้อนรับผู้แทนเกาหลีใต้ซึ่งนำโดยนายลี ยุนซัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดูแลด้านถนน จากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่ง
ปัจจุบัน อินโดนีเซียและเกาหลีใต้กำลังร่วมมือกันในการจัดการบูรณาการระบบตรวจสอบสุขภาพโครงสร้าง (SHMS) สะพานทั่วประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทและโครงการนำร่องเกี่ยวกับระบบขนส่งอัจฉริยะ (ITS) สำหรับเขตมหานครจาการ์ตา
นายฮาดีมุลโจโน กล่าวว่า “นอกเหนือจาก SHMS และ ITS (ความร่วมมือด้าน) การศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบ พื้นฐานสำหรับถนนทางเข้าของ IKN จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญด้วย เนื่องจากเราจะเริ่มการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของ IKN ในเดือนสิงหาคม 2565”
นอกจากนี้ ความร่วมมืออีก 3 โครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบขั้นพื้นฐานสำหรับอุโมงค์ใต้น้ำในอ่าวบาลิกปาปัน ซึ่งจะใช้เป็นถนนเข้าสู่เมืองหลวงใหม่ การจัดตั้งการจัดการการก่อสร้างแบบดิจิทัลและสีเขียวในอินโดนีเซีย ตลอดจนการพัฒนาระบบข้อมูลทางพิเศษในประเทศอินโดนีเซีย
อินโดนีเซีย-มาเลเซียร่วมกองทุนสภาพคล่องเงินหยวนกับจีนและBIS

ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBOC) จะสร้างแหล่งเงินสำรองหยวน กับธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) และหน่วยงานกำกับดูแลอีก 5 แห่ง เพื่อให้สภาพคล่องแก่ประเทศที่เข้าร่วมในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน
จีนร่วมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และชิลี แต่ละประเทศ จะสมทบเงินขั้นต่ำ 15 พันล้านหยวน (2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือเทียบเท่าดอลลาร์สหรัฐ เข้ากองทุนที่เรียกว่า Renminbi Liquidity Arrangement ตามแถลงการณ์ของ PBOC เมื่อวันเสาร์ (25 มิถุนายน) โดยเงินจะเก็บไว้กับBIS
“เมื่อต้องการสภาพคล่อง ธนาคารกลางที่เข้าร่วมจะไม่เพียงแต่สามารถดึงเงินที่จ่ายเข้ากองทุน แต่ยังสามารถเข้าถึงเงินทุนเพิ่มเติมผ่านหน้าต่างสภาพคล่องที่มีหลักประกัน” แถลงการณ์ระบุ
ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นก้าวล่าสุดจากปักกิ่งในการผลักดันสกุลเงินจีนให้เป็นสากล ซึ่งท้าทายระบบการเงินทั่วโลกที่ดอลลาร์สหรัฐครอบงำ