ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเปิดเวทีเสวนา โชว์ผลงาน 8 ปี จาก คสช.ถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

นายกฯเปิดเวทีเสวนา โชว์ผลงาน 8 ปี จาก คสช.ถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

19 พฤษภาคม 2022


เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เวลา 9.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ในงานเสวนา ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน

นายก ฯ ปาฐกถาพิเศษ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม” แจงผลงาน 8 ปี จาก คสช.ถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส – เดินหน้า 4 มาตรการหลัก “เร่งลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัล-ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่-ลดคาร์บอน-ขับเคลื่อน เศรษฐกิจ BCG Model” ดึงดูดชาวต่างชาติกระเป๋าหนัก เข้าประเทศ-ย้ำคนไทย “อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียงและยั่งยืน” เพื่ออนาคตของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เวลา 9.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในงานเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม” หรือ “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี , นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย , นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , นางสาวณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี , นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี , นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนภาคเอกชน เข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้ ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงในช่วงที่เป็นรัฐบาล คสช. ได้พยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าทุกคนสามารถมีเสรีภาพทางความคิดภายใต้กรอบกฎหมายที่ผ่อนปรน โดยรัฐบาลใช้อำนาจเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม การตรวจสอบต่าง ๆ ยังคงเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระ ยืนยันการเข้ามาเป็นรัฐบาล คสช. เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศ บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และทำให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่น โดยรัฐบาลได้บริหารประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สร้างชาติให้เป็นบ้านที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ เป็นไปตามแผน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2580 ที่เป็นแผนภาพรวมใหญ่ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมเดินไปสู่เป้าหมายที่ตรงกัน พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีแผนระยะสั้น และระยะปานกลาง ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ , แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , แผนความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดการขับเคลื่อนประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์ชาติ

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นเมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 รัฐบาลได้สานต่อการบริหารงานภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกรอบเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยมีการวัดผลและทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรัฐบาลพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเดิม พร้อมทั้งมุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถ สร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต เพื่อให้สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

อีกยังทั้งสานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ รวมทั้งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก โดยการต่อยอด – ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ และมีความได้เปรียบ ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม (First S-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ , อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ , การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร

จากนั้นรัฐบาลได้ต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เกิดการลงทุนจริง ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐ ในช่วงปี 2558 – 2562 ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี เชื่อมโยงแต่ละภาคของประเทศ และเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ทุกทิศทาง ได้แก่ ทางถนน มอเตอร์เวย์ ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล รัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลงสู่ (Transform) รัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัล และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเตรียม “น้ำต้นทุน” สำหรับภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนน้ำอุปโภค-บริโภค สำหรับทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษาครอบคลุมทุกระดับ ทั้งในระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา นับตั้งแต่ปี 2562 ได้วางแนวทางส่งเสริมการศึกษาแบบ Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลิตคนยุคใหม่ เตรียมพร้อมสำหรับโลกปัจจุบัน และอนาคต

พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงการเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ว่า เป็นวิกฤติโลกครั้งที่ใหญ่ที่สุด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก โดยในช่วงเริ่มการระบาด ทั่วโลกจำเป็นต้องปิดประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุลทั้งมิติด้านสุขภาพ และมิติทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์จากความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับ และชื่นชมประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุด เป็นลำดับต้นๆ ของโลก

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ที่ทั่วโลกและประเทศไทยได้รับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนว่า ส่งผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่รอด อาทิ การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตลอดจนการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น รวมทั้งรัฐบาลได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน โดยครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตลอดจนลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน ให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ มิติการศึกษา มิติด้านรายได้ มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายว่า ประเทศไทยต้องมี การลงทุน และเตรียมความพร้อมที่จะเติบโต ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่อย่างครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ ต้องมีการลงทุน 1) เทคโนโลยีดิจิทัล 2) อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน 3) นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และ 4) ดำเนินการกำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย เพื่อให้มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศไทย ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ในทุกโอกาสที่ได้พบปะผู้นำประเทศแบบทวิภาคี หรือการประชุมสำคัญ ๆ แบบพหุภาคี รัฐบาลนำเสนอนโยบายเชิงรุก และแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ ในประเด็นหลักที่เป็น “วาระของโลก”

ในปี 2565 นี้ ก็มีความคืบหน้าในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ มีนี้

1. การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 หลังจากที่ห่างเหินกันมานานกว่า 30 ปี ทำให้เกิดความร่วมมือกับประเทศซาอุดีอาระเบีย อาทิ การท่องเที่ยว , การส่งออกอาหารสินค้าเกษตรและแรงาน ตลอดจนการลงทุนและความร่วมมือด้านพลังงาน เป็นต้น

2. ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศญี่ปุ่นได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย ในช่วงวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2565 เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือในการลงทุนใหม่ ๆ เช่น การผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ และสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆของโลก , การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ , ระบบราง , โครงข่ายดิจิตอล 5G , การพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายและเพิ่มการลงทุนในอีอีซี เป็นต้น

ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด โดยในปี 2564 นักลงทุนญี่ปุ่นได้ยื่นคำส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอคิดเป็นมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 ได้มีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีแล้วประมาณ 630 ล้านบาท

3. การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ เมื่อวันที่ 12 – 13 พฤษภาคม 2565 มีการเปิดเวทีเจรจาหารือความร่วมมือกัน ทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องส่งเสริมความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข อาทิ การวิจัยผลิตยาวัคซีน ซึ่งประเทศไทยมีศูนย์จีโนมิกส์ในอีซีซี พร้อมที่จะต่อยอดความร่วมมือในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ , SMEs , Start Up ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งไทยก็มีโครงการไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเล่ย์ (Thailand Digital Valley) ตั้งอยู่ในอีอีซีไอ รวมทั้งการต่อต้านการประมงและการค้ามนุษย์ด้วย หรือ IUU รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมซอฟต์พาวเวอร์ และส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG และประเด็นอื่นๆที่เป็นวาระการพัฒนาของโลกอีกด้วย โดยสหรัฐนั้นถือว่าเป็นคู่ค้าทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอันดับที่ 2 และเป็นแหล่งเงินทุนอันดับที่หนึ่งของอาเซียน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมใจกัน รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนเข้าใจและความไม่พอใจหลายอย่างกับวิกฤตที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี และยังมีปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตเกิดขึ้นอีก แต่รัฐบาลก็มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะนำความสุขกลับมาสู่คนไทย หรือ พี่น้องประชาชนให้ได้โดยเร็ว แต่สิ่งต่าง ๆเหล่านี้ เป็นสิ่งเราควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยภายนอก แต่รัฐบาลก็พยายามที่จะทำ เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดปลอดภัย พอเพียงและยังยืน นี่คือ สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการต่อไป

แต่สิ่งที่รัฐบาลจะสร้างความมั่นใจกับประชาชน ก็คือว่า “ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤตที่ยืดเยื้อได้ และพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้” อีกทั้งยังเตรียมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ในด้านต่าง ๆ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงติดต่อกับอาเซียนทุกประเทศในทุกๆด้านดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“ผมขออย่างเดียว คือ ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้ หรือ รัฐบาลหน้าอาจจะทำงานไม่ทันใจ ก็ขอให้เข้าใจ และให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาล และรัฐมนตรีทุกคน ที่มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน ขอเพียงให้ประชาชนได้ร่วมมือร่วมใจกัน วันนี้ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้ง หรือ การบ่อนทำลายสิ่งต่าง ๆที่เราดีอยู่แล้ว เพราะที่นี่คือประเทศไทยของเรา แผ่นดินนี้ยังมีสิ่งที่งดงามมีอนาคตดีดีรอพวกเราอยู่ และประเทศไทยก็มีสถาบันที่มีความสำคัญ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนไทยทั้งประเทศไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดความรักความสามัคคี สิ่งที่เราต้องการวันนี้ก็คือความร่วมมือ ความเข้าใจ มีจิตสาธารณะ เผื่อแผ่แบ่งปัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจและไม่เคยท้อแท้ พยายามที่จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทั้งนี้เพื่ออนาคตของประเทศไทยต่อไปอีกนานเท่านาน เพื่อลูกหลานของเรา ขอบคุณครับ” พลเอกประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้าย

ป้ายคำ :