ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดรายงาน Doing Business 2019 ธนาคารโลก – ไทยอันดับหล่นมาที่ 27- การขอใช้ไฟ-การชำระภาษีอันดับดีขึ้น

เปิดรายงาน Doing Business 2019 ธนาคารโลก – ไทยอันดับหล่นมาที่ 27- การขอใช้ไฟ-การชำระภาษีอันดับดีขึ้น

31 ตุลาคม 2018


ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pan.ananapibut

รายงาน Ease of Doing Business ประจำปี 2019 เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 27 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ด้วยคะแนน 78.45 เพิ่มขึ้น 1.06 คะแนน แต่ตกลงไปหนึ่งอันดับจาก 26 ในปี 2018

รายงาน Doing Business 2019: Training for Reformวัดความยากง่ายในการทำธุรกิจประจำปีจัดทำโดยธนาคารโลก เป็นรายงานครั้งที่ 16 วัดความยากง่ายของการทำธุรกิจในแต่ละประเทศ ใน 190 ประเทศทั่วโลกในด้านหลัก คือ การเริ่มต้นธุรกิจ, การขออนุญาตก่อสร้าง, การขอใช้ไฟฟ้า, การจดทะเบียนทรัพย์สิน, การได้สินเชื่อ, การคุ้มครองผู้ลงทุน, การชำระภาษี, การค้าระหว่างประเทศ, การแก้ปัญหาการล้มละลาย,การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา

ในปีนี้ประเทศไทยยังคงทำอันดับได้ดีในด้านการขอใช้ไฟฟ้าได้อันดับสูงที่ 6 ของโลกเลื่อนขึ้นจากอันดับ 13 ในปีก่อน รองลงมาคือการคุ้มครองผู้ลงทุน ได้อันดับ 15 ดีขึ้นจากอันดับ 16 ปีก่อน, การแก้ปัญหาการล้มละลาย ได้อันดับ 24 เลื่อนขึ้นจากอันดับ 26, การชำระภาษี ได้อันดับ 59 ดีขึ้นจากอันดับ 67, การจดทะเบียนทรัพย์สิน ได้อันดับ 66 ดีขึ้นจาก 68 การบังคับให้เป็นไปตามสัญญาตกลงไปที่ 35 จากอันดับ 34, การเริ่มต้นธุรกิจ ได้อันดับ 39 ตกลงจากอันดับ 36, การได้รับสินเชื่อได้อันดับ 44 จากอันดับ 42, การขออนุญาตก่อสร้าง ได้อันดับ 67 จาก 43, และการค้าระหว่างประเทศ ได้อันดับ 59 จาก 57

เมื่อพิจารณาจากคะแนนที่ได้ พบว่าการขอใช้ไฟฟ้าได้คะแนนสูงสุด 98.57 คะแนน โดยมีขั้นตอนขอใช้ไฟเพียง 3 ขั้นตอน มีระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและมีอัตราค่าไฟฟ้าที่โปร่งใส

ในปีนี้มีการเปลี่ยนชื่อคะแนนจาก Distance to frontier: DTF หรือคะแนนจากประเทศที่ดีที่สุด มาเป็นคะแนนความยากง่าย (Ease of Doing Business Score) แต่ยังมีคะแนน 100 คะแนนเหมือนเดิม

ด้านที่ได้คะแนนรองลงมาคือ การเริ่มต้นธุรกิจที่ 92.72 คะแนน ตามมาด้วยการค้าระหว่างประเทศ 84.65 คะแนน จากการใช้เวลาการจัดการเอกสารเพื่อการส่งออกเพียง 11 ชั่วโมงและการจัดการเอกสารเพื่อการนำเข้า 4 ชั่วโมง ส่วนการชำระภาษีได้ 77.72 คะแนน จากการพัฒนาใช้ระบบอิเลคทรอนิคส์ และมีการชำระภาษี 21 ครั้งต่อปี ขณะที่การแก้ปัญหาการล้มละลายได้ 76.64 คะแนน, การคุ้มครองผู้ลงทุน 75 คะแนน, การขออนุญาตก่อสร้าง 71.86 คะแนน, การได้รับสินเชื่อ 70 คะแนน, การจดทะเบียนทรัพย์สิน 69.47 คะแนน และการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา 67.91 คะแนน

ในปีนี้ประเทศไทยมีตัวชี้วัดที่อันดับเพิ่มขึ้น 5 จาก 10 ตัวชี้วัด โดยที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ การชำระภาษีที่อันดับเพิ่มขึ้นถึง 8 อันดับ ตามด้วยการขอใช้ไฟฟ้าที่เลื่อนขึ้นมาถึง 7 อันดับ การคุ้มครองผู้ลงทุน การจดทะเบียนทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาการล้มละลาย ต่างเพิ่มด้านละ 2 อันดับ ขณะที่การได้รับสินเชื่อลดลง 2 อันดับ, การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงลดลง 1 อันดับ การขออนุญาตก่อสร้าง 24 อันดับ และการค้าระหว่างประเทศ ลดลง 2 อันดับ การเริ่มต้นธุรกิจลดลง 3 อันดับ

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pan.ananapibut

เอเชียปฏิรูปมากอันดับเลื่อนขึ้นเป็นแถว

ข้อมูลที่ใช้การวัดความยากง่ายเป็นข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2018 สำหรับภาพรวมการวัดความยากง่ายในการทำธุรกิจปีนี้ พบว่า จีนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยอันดับเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 อันดับมาที่ 46 ติดอันดับ 50 ประเทศแรกเป็นครั้งแรก

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pan.ananapibut

นอกจากนี้มาเลเซียก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเช่นกัน ติดอยู่ในท้อป 20 จากการติดอันดับที่ 15เลื่อนขึ้นมาถึง 9 อันดับ

ในภูมิภาคเอเชีย 25 ประเทศ มี 2 ประเทศที่ติดท้อป 10 ได้แก่ สิงคโปร์ที่ติดอันดับ 2 ฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีนติดอันดับ 4 จากอันดับ 5 ในปีก่อน สำหรับประเทศในภูมิภาคที่ติดอันดับท้ายคือ เมียนมา ที่อยู่ในอันดับ 171 และติมอร์เลสเต้ อันดับ 178 ส่วนอินโดนีเซียติดอันดับ 73 ฟิลิปปินส์ติดอันดับ 124 และเวียดนามอยู่ที่อันดับ 69

ประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกทำได้ดีในด้านการขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า โดยทั้งสองด้านมีอันดับเฉลี่ยที่ 79 และทำได้ดีในด้านการได้รับสินเชื่อ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การขอใช้ไฟฟ้าสำหรับคลังสินค้าสร้างใหม่ใช้เวลา 65 วัน และมีต้นทุน 625%ของรายได้ต่อประชากร เทียบกับค่าเฉลี่ย 86 วันและต้นทุน 1229% ของรายได้ต่อประชากร ในระดับโลก

อย่างไรก็ตามในด้านการเริ่มต้นธุรกิจยังมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่สิงคโปร์ทำได้ดีจนติดอันดับ 3 ของโลกเพราะใช้เวลาเพียงครึ่งวันและมีค่าใช้จ่าย 0.4% ของรายได้ต่อประชากร ส่วนที่ลาวใช้เวลา 174 วัน ติดอันดับ 180 ในด้านนี้ ส่วนกัมพูชามีค่าใช้จ่าย 47% ของรายได้ต่อประชากรจึงอยู่ที่อันดับ 185

ในจำนวน 25 ประเทศมี 16 ประเทศที่ดำเนินการปฏิรูปและนับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่ภูมิภาคนี้ปฏิรูปมากถึง 43 ด้าน จีนนับว่าเป็นประเทศที่มีการปฏิรูปมากเป็นอันดับสองถึง 7 ด้านในรายงาน Doing Business 2019

ที่มาภาพ: http://www.doingbusiness.org/content/dam/doingBusiness/media/Annual-Reports/English/DB2019-report_print-version.pdf

ประเทศไทยได้ปรับปรุงระบบการชำระภาษีให้ง่ายขึ้นด้วยการพัฒนาเพิ่มเติมระบบออนไลน์ให้คำนวณภาษีและกรอกแบบฟอร์มภาษีนิติบุคคลออนไลน์

มาเลเซียปฏิรูป 6 ด้านและทำให้การเริ่มต้นธุรกิจง่ายขึ้นด้วยให้ระบบการลงทะเบียนออนไลน์สำหรับภาษีสินค้าและบริการ รวมทั้งปรับปรุงการโอนทรัพย์สินให้ง่ายขึ้นด้วยการใช้ระบบออนไลน์ที่ค้นหาทรัพย์สินได้ในหน้าเดียว

อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามมีการปฏิรูป 3 ด้านเท่ากัน

ที่มาภาพ: http://www.doingbusiness.org/content/dam/doingBusiness/media/Annual-Reports/English/DB2019-report_print-version.pdf