ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกสะดุด สงครามยูเครน ดอกเบี้ยสหรัฐฯ เศรษฐกิจจีนชะลอ

ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกสะดุด สงครามยูเครน ดอกเบี้ยสหรัฐฯ เศรษฐกิจจีนชะลอ

5 เมษายน 2022


วันที่ 5 เมษายน 2565 ธนาคารโลกได้จัดงานแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกและประเทศไทย เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก: East Asia and Pacific Economic Update:Braving the Storms โดยดร.อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

การฟื้นฟูเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเผชิญความเสี่ยงจากสงครามยูเครน การเข้มงวดทางการเงินของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของจีน

ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก 3 ด้านซึ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงและความยากจนเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ผลกระทบจากสงครามในยูเครน ล่าสุดส่งผลกระทบต่ออุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ เพิ่มความตึงเครียดทางการเงิน และทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลดลง
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาที่สูงขึ้นจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการหยุดชะงักของอุปทานอย่างต่อเนื่องนั้น อาจกระตุ้นให้เกิดการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ถึงแม้ว่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา แต่นับว่าเร็วเกินไปสำหรับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่สมบูรณ์
  • การชะลอตัวเชิงโครงสร้างของจีน การลดปริมาณการก่อหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ท่ามกลางนโยบายปลอดโควิด อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภูมิภาค
  • เมื่อช่วงต้นปี 2565 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังจะอยู่บนเส้นทางของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจะโผล่พ้นจากระลอกการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนค่อนข้างน้อย สภาวการณ์การค้าและการเงินต่างประเทศยังคงเอื้ออำนวย และรัฐบาลของประเทศต่างๆ กำลังพิจารณาถึงการเริ่มนำมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังมาใช้ ตั้งแต่นั้นมาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้มีการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่พบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นในประเทศจีนและมีการควบคุมบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีการดำเนินกิจการเกินตัว อีกทั้ง รัสเซียก็บุกยูเครน แม้ว่าประเทศขนาดใหญ่บางประเทศอาจจะมีความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบได้ดีกว่า

    แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้แนวโน้มการเติบโตส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกลดลง คาดว่าการเติบโตในปี 2565 ของภูมิภาคนี้ จะลดลงจากในรายงานฉบับที่แล้ว ที่ร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 5 สำหรับกรณีต่ำ

    หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าลดลงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกส่วนใหญ่กลับมาฟื้นตัวต่อในไตรมาสที่ 4 ของปี2564 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1 ของปี2565 แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ประเทศในภูมิภาคนี้สามารถเติบโตโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.2 และคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5 ในปี 2565 (ภาพ O.1)อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวมีความไม่เท่าเทียมกันในหลายประเทศและภาคส่วน โดยจีน อินโดนีเซีย และเวียดนามกลับมามีผลผลิตเกินระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่กัมพูชา มาเลเซีย มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย คาดว่าจะสามารถทำได้ในปี 2565 แต่ผลผลิตในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกได้รับผลกระทบรุนแรง ที่สุด หลายประเทศคาดว่าไม่น่าจะสามารถกลับมาอยู่ที่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้แม้กระทั่งภายในปี 2566 ก็ตาม

    ด้านการประเมินรายภาคธุรกิจ พบว่าภาคเกษตร การเงิน สารสนเทศ และเทคโนโลยีการสื่อสารมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ดี แต่ผลผลิตในภาคการขนส่ง ที่พัก และการจัดเลี้ยงยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดมาก

    ในปี 2564 นอกจากประเทศจีนแล้วความยากจนในประเทศอื่นๆ ไม่ลดลง อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 คาดว่าจะมีประชากรราว 30 ล้านคน จะหลุดพ้นจากความยากจน เทียบกับเส้นความยากจนของประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูงที่ 5.50 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน

    ภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนน้อยลง ดังนั้น จึงมีข้อจำกัดในการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ยังไม่ได้สัมผัสกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่จีนมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ทั้งนี้ สายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดในปี 2564 ได้สร้างความสูญเสียอย่างมากแก่ประชากรในภูมิภาคนี้เมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19ระลอกแรกในช่วงต้นปี2563 แต่การหดตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสายพันธุ์เดลต้านั้นกลับน้อยกว่าการระบาดระลอกแรก

    อย่างไรก็ตาม สำหรับทุกประเทศ ไวรัสโควิด-19 และมาตรการที่เกี่ยวข้องยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศการลงทุนของภาคเอกชน และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกยังคงเพิ่มขึ้นแม้ต้องเผชิญกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ที่เริ่มคลี่คลาย การค้าจึงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความหวั่นวิตกที่ว่า อุปสงค์สำหรับผู้บริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศต่างๆ เช่น จีน มาเลเซีย และเวียดนามจะอิ่มตัวนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในปี 2565 ชี้ให้เห็นถึงการชะลอตัวในการเติบโตของการค้าโลก และขณะที่การค้าบริการดิจิทัลซึ่งมีความสำคัญต่อจีนและฟิลิปปินส์สามารถปรับตัวและดำเนินต่อไปได้ แต่สำหรับการท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญต่อกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกหลายแห่ง กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยนั้น กลับฟื้นตัวได้ช้ากว่ามาก

    เมื่องบประมาณซึ่งมีข้อจำกัดเริ่มหดตัวผนวกกับความจำเป็นที่ดูเหมือนจะเริ่มลดลง ส่งผลให้การสนับสนุนทางการคลังลดลงจากเฉลี่ยที่ร้อยละ 6 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 5 ในปี 2564 และคาดว่าในปี2565 จะลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ของ GDP แม้ว่าจีนจะดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญเพื่อรองรับการเติบโตก็ตาม

    ความเสี่ยงใหม่ต่อการเติบโต: 3 สถานการณ์ระหว่างประเทศ

    การดำเนินนโยบายการเงินแบบหดตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนแปลงในการเติบโตและองค์ประกอบของกิจกรรม ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน และสงครามในยูเครน กำลังกลายเป็นปัจจัยที่กำหนดสภาพแวดล้อมภายนอกสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

    การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้เกิดการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้ประเทศอื่นๆ ฟื้นตัวได้ยากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกามีความสำคัญเป็นพิเศษกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซียที่พึ่งพากระแสเงินทุนในระยะสั้นมาก ความเสี่ยงจากการไหลออกของกระแสเงินทุนอาจสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินของประเทศเหล่านี้ส่งผลให้ภาคการเงินหดตัวก่อนเวลาอันควร

    ผลกระทบจากนโยบายการเงินในสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.25% และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมากถึง -0.4 จุด ในมาเลเซีย และมากถึง -0.7 จุด ในประเทศไทย (ภาพ O.2)

    คาดการณ์ว่าการเติบโตจะชะลอตัวทั้งใน ประเทศจีนอันเนื่องมาจากการชะลอตัวเชิงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ และในสหรัฐอเมริกาซึ่งเกิดจากการชะลอตัวตามวัฏจักรของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงคาดว่าทั้งสองประเทศจะมีส่วนในการสนับสนุนการเติบโตของโลกในปี2565 และ 2566 ได้น้อยกว่าในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ผลผลิตมีการฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19อย่างไรก็ตาม ขนาดของการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจากจีนและสหรัฐอเมริกานั้น คาดว่าจะสามารถเทียบได้กับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หากการเติบโตของสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลงร้อยละหนึ่ง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมากกว่าเล็กน้อย (ร้อยละ 0.4) เมื่อเทียบกับผลกระทบจากการชะลอตัวในการเติบโตของจีน (ร้อยละ 0.3)

    วิกฤติการณ์เฉพาะในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศจีน มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่มีการพึ่งพิงการค้ากับตลาดจีนมากขึ้น ภาคการก่อสร้างถูกจำกัดโดยความพยายามในการลดการก่อหนี้ ภาคอุตสาหกรรมโดยความพยายามที่จะลดการปล่อยมลพิษ และภาคบริการโดยความพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการผูกขาดของผู้ให้บริการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาคปลายทางที่สำคัญสำหรับมูลค่าเพิ่มของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก การหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะสอดคล้องกับประมาณการการลงทุนในที่อยู่อาศัยที่ลดลงร้อยละ 10 จากปี 2563 ถึง 2565 อาจส่งผลให้การเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกลดลง 0.3 จุดในปี 2565 นอกจากนี้ นโยบายปลอดโควิด(zero-COVID) ของจีน ส่งผลกระทบเทียบเท่ากับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าต่อการบริโภคในจีนโดยเพียงแค่หนึ่งไตรมาสของปีพ.ศ. 2565 สามารถลดอัตราการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกลงถึง 0.14 จุด

    ผลกระทบจากสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดผ่านการหยุดชะงักของอุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนความเครียดทางการเงินที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นของทั้งโลกที่ลดลง แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะพึ่งพาการนำเข้าและส่งออกสินค้า บริการ และเงินทุนโดยตรงกับรัสเซียและยูเครนอย่างจำกัด แต่สงครามและการคว่ำบาตรมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น หากราคาธัญพืชเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี อาจจะมีจำนวนคนจนในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 1 จุดหรือ 1.1 ล้านคน วัดจากเส้นความยากจนของชนชั้นกลางระดับล่าง (3.2 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน)และหากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี รายได้ประชาชาติที่แท้จริงของประเทศผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์อย่างกัมพูชาและไทย อาจลดลงร้อยละ 0.7 นอกจากนี้ ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงอยู่แล้ว ผลกระทบจากสงครามอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและจะทำให้ต้องปรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาว

    วิกฤติทั้งสามด้านนี้ มีทั้งด้านที่หักล้างกันและเกื้อหนุนกัน ด้านหนึ่ง วิกฤติทางการเงินจากสงครามในยูเครนอาจทำให้ สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายการเงินแบบหดตัวช้าลงกว่าที่วางแผนไว้ แม้ว่าจะมีแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็ตาม ในทำนองเดียวกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากสงคราม อาจสามารถหักล้างกับการลดลงของราคาเนื่องจากการหดตัวของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนถึงแม้ว่าสินค้าโภคภัณฑ์จะได้รับผลกระทบจากที่ต่างจากเดิมก็ตาม ในทางกลับกัน วิกฤตแต่ละด้านจะส่งผลกระทบเชิงทางลบต่อการเติบโตทั่วโลก ผ่านการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ หากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G7 ชะลอตัวลงร้อยละ 0.9 จะทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกลดลงมากถึงร้อยละ 0.6

    ผลกระทบเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ปัญหาที่จะตามมาหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 บานปลาย โดยกว่าร้อยละ 50 ของธุรกิจในภูมิภาคที่กำลังประสบปัญหารายงานว่าจะมีการค้างชำระในปี 2564 จะเจอกับวิกฤตทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานระลอกใหม่ ภาคครัวเรือนจะมีสมาชิกกว่า 8 ล้านรายกลับไปสู่ภาวะยากจนในช่วงการระบาดของ โควิด-19 จะต้องพบกับรายได้ที่แท้จริงที่หดตัวลงไปอีกเมื่อระดับราคาพุ่งสูงขึ้น และความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจในระดับจุลภาคจะต้องประชันกับความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจระดับมหภาค รัฐบาลที่มีหนี้สินซึ่งมีหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นมากว่า 10 จุด ตั้งแต่ปี 2563 จะประสบปัญหาในการให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ภาวะตึงตัวทางการเงินและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมอย่างน้อยหนึ่งจุด อันเนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว จะทำให้พื้นที่ว่างสำหรับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหดเล็กลง และธนาคารที่เปิดรับความเสี่ยงสูงเกินไป ซึ่งมีเครดิตต่อ GDP สูงกว่าก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ประมาณร้อยละ 10 จะต้องรับมือกับความเครียดทางการเงินระลอกใหม่และความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น

    อย่างไรก็ตาม บางประเทศในภูมิภาคนี้อาจมีความสามารถในการปรับตัวมากกว่าประเทศอื่นเมื่อเผชิญกับวิกฤตเหล่านี้ เนื่องจากคุณสมบัติและความรอบคอบที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย อาจรับมือกับระดับราคาในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นได้ดีกว่าประเทศผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ฟิจิและไทย ประเทศที่ใช้มาตรการนโยบายการคลังและการเงินอย่างเข้มงวดในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ก็จะมีพื้นที่เชิงนโยบายในการตอบโต้กับผลกระทบต่างๆเช่น จีนสามารถลดดุลการคลังเชิงโครงสร้างลงได้มากถึงร้อยละ 2.6 ของ GDP ในปี 2564 ทำให้สามารถวางแผนทางการคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ในปี 2565 เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ ตรงกันข้าม มองโกเลียซึ่งมีหนี้สาธารณะเกือบร้อยละ 80 ของ GDP และอัตราเงินเฟ้อประจำปีที่สูงกว่าร้อยละ 14 มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยในการจะบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตนี้

    แต่ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ล้วนต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการเปิดกว้างทางการค้าและการเงิน หากสถานการณ์ของโลกเลวร้ายลงอย่างมาก การเติบโตของภูมิภาคนี้ในปี 2565 อาจลดลงจากร้อยละ 5.4 ที่คาดการณ์ไว้ในการ รายงานเมื่อตุลาคม 2564 เหลือร้อยละ 5 ในกรณีฐานปัจจุบัน และในกรณีต่ำจะเหลือเพียงร้อยละ 4

    โอกาสใหม่ของการเติบโต: การค้า เทคโนโลยีดิจิทัล และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    แรงจูงใจในการผลิตและการนำเข้าให้มีความหลากหลาย ซึ่งมีความชัดเจนแล้วเนื่องจากการหลีกเลี่ยงการพึ่งพาอาศัยกันหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยิ่งเด่นชัดขึ้นอีกจากสงครามและการคว่ำบาตรในปัจจุบัน แรงจูงใจในการย้ายฐานการผลิตเริ่มชัดเจนขึ้นจากค่าแรงที่แท้จริงของจีนที่เพิ่มขึ้น สาเหตุจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่วนแบ่งของประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ไม่รวมจีน ในการนำเข้าสินค้าขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ในช่วงต้นปี2561 เป็นร้อยละ 14 ในช่วงกลางปี2564 ก่อนจะเกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ในขณะที่ ในช่วงเวลาเดียวกันส่วนแบ่งของจีนลดลงจากร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 25 อย่างไรก็ตามการเติบโตของระบบอัตโนมัติกำลังเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับประเทศอื่นๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยมาเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยผลประโยชน์ที่แต่ละประเทศจะได้รับจากการกำหนดค่าห่วงโซ่คุณค่าใหม่นี้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตและการค้าของแต่ละประเทศ แต่ความได้เปรียบจากค่าแรงต่ำของประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ถูกแลกด้วยผลิตภาพแรงงานที่ต่ำในระดับที่แตกต่างกัน

    เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการผลิต และผลกระทบจากโควิด-19 ได้เร่งการแพร่กระจายของเทคโนโลยีดิจิทัลให้เร็วยิ่งขึ้น ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้น บริษัทชั้นแนวหน้ามักจะนำเทคโนโลยีที่ดีกว่ามาใช้เร็วกว่าในอดีต แต่เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถแพร่กระจายได้ช้ากว่ากับบริษัทอื่นๆ แม้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้มาบรรจบกับการใช้เทคโนโลยีพื้นฐานที่ผู้บริโภคต้องใช้งาน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ขณะเดียวกันก็มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานด้วย เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล

    การแพร่กระจายของเทคโนโลยีที่เป็นผลมาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ได้เปลี่ยนโครงสร้างของการค้าบริการด้วยในขณะที่การท่องเที่ยวและการเดินทางหยุดชะงัก การค้าบริการที่เน้นข้อมูลเข้มข้นได้เติบโตขึ้น การลงทุนในการให้บริการแบบดิจิทัลที่ดำเนินการโดยธุรกิจและผู้บริโภคในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดนั้น ช่วยลดต้นทุนการค้าระหว่างประเทศได้อย่างชัดเจนเทียบกับธุรกรรมภายในประเทศ ผลที่ได้คือ โอกาสในการค้าบริการดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าการท่องเที่ยวและการเดินทางจะฟื้นตัวได้ช้าก็ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูงอาจเพิ่มแรงจูงใจให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน และการนำเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้จะช่วยให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้น ลดการปล่อยคาร์บอนและรับมือกับความไม่มั่นคงด้านพลังงานรูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องลดการบริโภคหรือการเติบโตที่ไม่สามารถยอมรับได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในปัจจุบันจะสนับสนุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราคาเชื้อเพลิงที่สูงอาจดึงดูดให้มีการลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสงครามในยเูครนก็ส่งผลให้ปัจจัยหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น แพลเลเดียมและนิกเกิลนั้นลดลง

    ต้องดำเนินการอย่างไร?

    นโยบายการคลัง ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต่างก็ประสบปัญหาในการหาทางออกระหว่างการสนับสนุนทางการคลังเพื่อการเยียวยา การฟื้นฟู และการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับพื้นที่การคลังที่กำลังเหลือน้อยลง เช่น หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10 จุดร้อยละของ GDP ในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกส่วนใหญ่และมากกว่า 3 เท่าในฟิจิ สิ่งเหล่านี้กำลังเพิ่มแรงกดดันในการใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังแม้ว่าเศรษฐกิจจะยังฟื้นตัวได้ไม่สมบูรณ์ก็ตาม (ภาพ O.3) นอกจากนี้มาตการช่วยเหลือทางคลังที่ดำเนินการโดยหน่วยงาน เช่น รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ก็มีความเสี่ยงที่จะบ่อนทำลายศักยภาพทางการเงินของหน่วยงานเหล่านั้น วิกฤตครั้งใหม่นี้จะทำให้มีความชัดเจนในการแลกเปลี่ยน และลดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้า พลังงาน และการแพร่กระจายเทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นสำหรับการใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต ด้วยการยกระดับขีดความสามารถภายในประเทศและการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ

    สามมาตรการที่สามารถช่วยได้ ประการแรก การคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะทำให้มีพื้นที่ทางการคลังเหลือสำหรับเรื่องอื่นๆ
    ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ช่วยปกป้องครัวเรือนจากผลกระทบด้านรายได้ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการให้ความคุ้มครองทางสังคมเพิ่มขึ้นแบบถ้วนหน้าและจากผลกระทบทางด้านราคาผ่านการผสมผสานระหว่างการควบคุมราคาสินค้าและการให้เงินอุดหนุน (หรือการลดภาษี) ซึ่งมาตรการทั้งสองประเภทนี้ อาจเป็นรูปแบบเดียวที่มีอยู่ของการให้ความช่วยเหลือที่ทำได้ในระยะสั้น แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพหรือความยั่งยืนทางการคลัง ดังนั้น เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่พร้อมแล้ว การเยียวยาโดยตรงไปยังครัวเรือนที่ยากจนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้โดยไม่บิดเบือนสัญญาณราคาหรือไปให้เงินอุดหนุนคนรวย เช่น การเยียวยาตามฐานทรัพย์สินจะช่วยลดอัตราความยากจนได้มากกว่า 2 จุดร้อยละ เมื่อเทียบกับการเยียวยาแบบถ้วนหน้าที่ใช้กันทั่วไปในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ประการที่สอง การใช้ทรัพยากรของรัฐร่วมกับการปฏิรูปนโยบายการลงทุนจะสามารถส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะให้มากขึ้น

    สุดท้ายนี้ รัฐบาลควรการหาทางออกในความต้องการใช้จ่ายภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณที่เข้มงวด โดยยึดมั่นที่จะ (1) ฟื้นฟูวินัยทางการคลังผ่านการใช้กฎการคลัง ดังเช่น อินโดนีเซียที่มีแผนจะดำเนินการในปีพ.ศ 2566 และ (2) การปฏิรูปการคลังผ่านการตรากฎหมายเพื่อดำเนินการตามเงื่อนไขของมาตรการที่มัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟู เช่น กฎหมายปฏิรูปภาษีใหม่ในอินโดนีเซียที่คาดว่าจะเพิ่มรายได้ร้อยละ 1.2 ของ GDP ในระยะกลาง

    นโยบายดูแลและป้องกันความเสี่ยงระดับมหภาค ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องป้องกันความเสี่ยงจากความไม่มั่นคงทางการเงินเมื่อเผชิญกับการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบหดตัวในตลาดหลักๆ นโยบายการเงินต้องพร้อมรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อรูปแบบใหม่ แม้ว่าในปัจจุบันยังสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต่อไปได้ เนื่องจากยังมีอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ค่อนข้างสูงและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างต่ำ แม้ว่าธนาคารในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกส่วนใหญ่จะมีเงินทุนเพียงพอและมีการรายงานสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับต่ำ การวินิจฉัยเพื่อทดสอบความสามารถในการรับมือกับวิกฤตและความท้าทายในรูปแบบต่างๆ จะช่วยระบุช่องโหว่ที่อาจแฝงตัวอยู่เบื้องหลังการใช้มาตรการผ่อนปรนกฎระเบียบทางการเงิน นอกจากนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศต่างๆ ที่จะต้องทำให้มั่นใจว่าธนาคารที่มีการปล่อยสินเชื่อจำนวนมากนั้นมีเงินทุนที่เพียงพอ ดำเนินการป้องกันความเสี่ยงและขยายอายุหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สอดคล้องของสกุลเงิน (currency mismatches) และความเสี่ยงจากการต่ออายุ(rollover) เสริมสภาพคล่องและวงเงินสินเชื่อเพื่อคาดการณ์ความต้องการทางการเงินจากภายนอกที่เพิ่มขึ้น ประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศที่ไม่ยั่งยืน เช่น สปป.ลาวและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกบางประเทศ ควรมีการพัฒนากรอบการแก้ปัญหาหนี้ระหว่างประเทศให้มีประสิทธิผลมากขึ้น

    การค้า: นโยบายและโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปที่เกี่ยวข้องกับการค้าอย่างครอบคลุมจะช่วยให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในสมรภูมิการค้าโลก

      ประการแรก การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าแทนการต่อต้านนโยบายการย้ายฐานการผลิตกลับต้นทางของต่างประเทศ อาจนำไปสู่การเพิ่มรายได้แท้จริงสุทธิมากถึงร้อยละ 3 นอกจากนี้ การชะลอการจำกัดการส่งออกทั่วโลก ขณะที่ต้องเผชิญกับวิกฤตราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะสามารถหลีกเลี่ยงการสร้างเกลียวราคา (price spirals) และผลลัพธ์ในระดับโลกที่ยิ่งแย่ลงไปอีก
      ประการที่สอง การมองข้ามการค้าขายสินค้าการปฏิรูปข้อจำกัดที่ยังคงสูงอยู่ในด้านการค้า การขนส่ง การสื่อสาร และบริการทางธุรกิจอื่นๆ อาจช่วยลดต้นทุนการค้าและเพิ่มผลิตภาพทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ
      ประการที่สาม การดำเนินการตามมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานในประเทศ เช่น การให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมใหม่และหาตำแหน่งงาน จะช่วยให้ทรัพยากรบุคคลสามารถย้ายไปยังส่วนที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผลิตภาพและรายได้อีกด้วย
      ประการสุดท้าย การมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าที่ลึกซึ้งสามารถกระตุ้นการปฏิรูปในประเทศและช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้อย่างมั่นคง เช่น การที่จีนเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership – CPTPP)คาดว่าจะเพิ่มรายได้ของโลกได้ถึงสี่เท่า เป็นประมาณ 630 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับผลตอบแทนในปัจจุบันที่ประมาณ 150 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยข้อตกลงที่ลึกซึ้งอาจไม่ใช่แค่เพียงการเปิดเสรีทางการค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือทางด้านกฎระเบียบและการประสานงานด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

    การแพร่กระจายทางเทคโนโลยี: นโยบายและโครงสร้างพื้นฐาน การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในช่วงหลังโควิด-19 สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ แต่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจะต้องมีการปฏิรูปนโยบายและการให้ความช่วยเหลือ

      ประการแรกยกระดับการแข่งขันโดยการขจัดอุปสรรคในการเข้าประกอบกิจการและการเลิกกิจการของบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศตลอดจนการปฏิรูปสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการนำเทคโนโลยีไปใช้และเผยแพร่
      ประการที่สอง มาตรการเพื่อยกระดับทักษะด้านการจัดการและด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินที่จำเป็น จะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยีที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานมาใช้ในธุรกิจของตนได้
      ประการที่สาม ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับเทคโนโลยีพื้นฐานพร้อมใช้งาน การเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นที่แพร่หลาย เช่น จังหวัดทางภาคตะวันออกของจีนนั้นจำเป็นต้องขยายให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงประการสุดท้าย การขจัดความบิดเบือนภายในประเทศ เช่น การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ อาจช่วยสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้