ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกเตือนรับมือสงครามการค้ากระทบมากกว่าที่คาด – ชี้ถึงจุดสูงสุดเศรษฐกิจการค้าโลก แนะเอเชียรับบทผู้นำโลกรักษา “ระเบียบการค้าเสรี”

ธนาคารโลกเตือนรับมือสงครามการค้ากระทบมากกว่าที่คาด – ชี้ถึงจุดสูงสุดเศรษฐกิจการค้าโลก แนะเอเชียรับบทผู้นำโลกรักษา “ระเบียบการค้าเสรี”

5 ตุลาคม 2018


เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Economic Update: EAP) ฉบับที่ 2 ของปี ในหัวข้อ “Navigating Uncertaintyนายชูเดียร์ แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่าภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นบวกและคิดว่าจะเติบโตได้ในระดับนี้ในระยะข้างหน้า แม้ปัจจัยแวดล้อมภายนอกจะไม่เอื้อต่อการเติบโตก็ตาม โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโต 6.3% ในปี 2561 ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2560 จากเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงเติบโตในระดับปานกลาง เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเข้มแข็งในปี 2561 แต่ความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้ามีมากขึ้นจาก 6 เดือนที่แล้วที่ได้ประเมินไว้ โดยหลังจากปี 2561 ที่การเติบโตสูงกว่าที่คาดไว้ตอนแรก รวมไปถึงการเติบโตของการค้าโลกเร็วที่สุดตั้งแต่ปี 2553 การเติบโตของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะกลับมาทรงตัว ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาจะกลับมาเติบโตในระดับเดียวกันกับปี 2560 แต่อาจจะช้ากว่าที่คาดไว้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เห็นได้จากการค้าโลกได้ชะลอตัวลงไปก่อนแล้ว ด้านราคาสินค้าก็มีความแตกต่างกัน ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรกลับลดลง ความเสี่ยงในระยะข้างหน้าที่เพิ่มขึ้นจาก 6 เดือนที่แล้วได้แก่ สงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่อาจจะเร็วกว่าที่คาด และความผันผวนปั่นป่วนในตลาดการเงิน” นายชูเดียร์กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของจีนจะเติบโตระดับปานกลางที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2561 หลังจากเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปี 2560 เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งไม่รวมประเทศจีน คาดว่าจะเติบโตคงที่ที่ร้อยละ 5.3 ในช่วงปี 2561-2563 จากการบริโภคภายในประเทศ เศรษฐกิจของประเทศไทยและเวียดนามคาดว่าจะเติบโตอย่างเข้มแข็งในปี 2561 ก่อนจะชะลอตัวลงในปี 2562-2563 เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกสุทธิได้ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังเติบโตคงที่จากแนวโน้มการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น

ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะยังคงชะลอตัว แต่ทว่าการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ส่วนเศรษฐกิจของมาเลเซียจะเติบโตลดลง อันเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงหลังจากมีการยกเลิกโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 2 โครงการ การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา สปป.ลาว มองโกเลีย และเมียนมา ยังเข้มแข็งและเติบโตเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 6 ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2563 เศรษฐกิจของประเทศติมอร์-เลสเตคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ส่วนปาปัวนิวกินีคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2562 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนเศรษฐกิจของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกคาดว่าจะคงมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะมีความเปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติสูง

“สงครามการค้า” เริ่มตั้งเค้า อาจกระทบมากกว่าที่ประเมิน

นายชูเดียร์กล่าวต่อไปว่า หากมองไปข้างหน้ามีความเสี่ยงที่ต้องติดตามหลักๆ ของภูมิภาคอยู่ 2 ประเด็น

1.มาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น ถ้าหากสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการการค้าไปยังจีน โดยเฉพาะในเรื่องการการลงทุนของจีนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศหรือกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค การเติบโตของภูมิภาคจะได้ผลกระทบอย่างมาก และหากมาตรการกีดกันไปถึงจุดที่กระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนโดยตรง จะยิ่งกระทบกับการเติบโตของภูมิภาคมากกว่าเดิม ผ่านการส่งออกสินค้าและบริการจากภูมิภาคไปยังจีน ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดเริ่มเห็นการเติบโตของการค้าที่ชะลอตัวลงและองค์การการค้าโลกก็เริ่มประเมินว่าอาจจะลดลงได้มากกว่านี้อีก และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจะทำให้อุปสงค์ในสินค้าทั่วโลกของจีนลดลงด้วย การค้าโลกนอกจากจะกระทบกับการส่งออกของแต่ละประเทศแล้ว อีกมุมหนึ่งอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนและกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจทางอ้อมได้ด้วย

2.ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก ซึ่งจะเป็นผลกระทบจากการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับปกติของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักที่รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาดเมื่อหลายเดือนที่แล้ว เนื่องจากการปรับตัวลดลงของการว่างงานและเงินเฟ้อที่ปรับขึ้น ขณะที่ตลาดการเงินในบางมุมกลับปรับดอกเบี้ยตามช้ากว่า

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์แบบนี้อาจจะเปลี่ยนในท้ายที่สุด ถ้าหากเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเร็วกว่านี้ และอาจจะลั่นไกให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากภูมิภาคนี้ ประเทศที่เปิดเข้าสู่ระบบการเงินโลกมากอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย อาจจะมีความเสี่ยงต่อการไหลออกของเงิน

นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังสามารถ “ติดต่อ” กันจากประเทศเกิดใหม่หนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งที่ห่างกันข้ามโลกได้ แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แต่การ “ติดต่อ” เป็นของจริง และสามารถดึงเงินทุนไหลออกได้อย่างมหาศาลและรวดเร็วจากภูมิภาค ซึ่งรวมไปถึงการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนที่รวดเร็วมาก สิ่งสำคัญคือการหานโยบายต่างๆ ในการรับมือ ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดมากในยุคที่สหรัฐอเมริกายังคงขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้

“สำหรับผลกระทบมาตรการการค้าต่อภูมิภาคในปี 2561 จะยังค่อนข้างทรงตัว และนั่นทำให้หากดูประมาณการณ์เศรษฐกิจจะพบว่าการปรับครั้งนี้ไม่ค่อยมีการลดลงเลย และเพิ่มขึ้นในบางประเทศ แต่มันก็มีสัญญาณของเมฆหมอกที่เห็นมาไกลๆ ที่ขอบฟ้า และสิ่งสำคัญที่สุดในนั้นคือการค้าโลกจะลดลง ในปี 2560 การค้าโลกยังคงเข้มแข็งมากๆ แต่ตอนนี้ทั่วโลกเราได้เห็นการชะลอตัวลงแล้ว และองค์การการค้าโลกก็ชี้ว่ามันจะลดลงไปมากกว่านี้อีก และเราคิดว่ามันจะเริ่มต้นกระทบในระบบเศรษฐกิจจริงๆ ในปี 2562 และหลังจากนั้น ทำให้ทำไมในรายงานครั้งนี้เราถึงเน้นย้ำความจำเป็นของผู้กำหนดนโยบายที่จะรับมือกับความเสี่ยงนี้ และพร้อมที่จะดำเนินการทันทีเพื่อจัดการหากความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นมาจริงๆ” นายชูเดียร์กล่าว

นายชูเดียร์กล่าวว่า รายงานได้เสนอแนวทางสี่ประการสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังนี้

  1. ลดความเสี่ยงระยะสั้น และสร้างนโยบายที่จะลดผลกระทบ การใช้นโยบายกำกับดูแลมหภาคสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของภาคการเงิน ลดความผันผวนจากตลาดทุน และจัดการกับความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะสามารถช่วยประเทศต่างๆ ให้ซึมซับและปรับตัวรับปัจจัยภายนอกได้ นอกจากนี้ นโยบายการคลังที่เข้มงวดจะช่วยรักษาหรือสร้างกันชนเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจขาลงในอนาคตได้โดยไม่กระทบกับความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ
  2. การเพิ่มข้อตกลงเปิดระบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศตามกฎเกณฑ์เป็นสองเท่า รวมถึงการรวมตัวด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้มากกว่าเดิม เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถได้รับประโยชน์จากการเพิ่มความเข้มข้นของสิทธิพิเศษตามข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ และกำแพงภาษีต่ำ นอกจากนี้ ยังสามารถเลี่ยงความตึงเครียดทางการค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ด้วยการเจรจาการค้าแบบทวิภาคี หรือเจรจาผ่านองค์การการค้าโลก (WTO)
  3. การปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึก รวมถึงการเปิดเสรีในภาคส่วนที่สำคัญ การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน และการกระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขัน การช่วยให้ SMEs สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงระหว่างบริษัทในประเทศกับบริษัทต่างชาติสามารถแข่งขันกันได้จะช่วยลดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาดและสร้างงานที่ดีได้
  4. การสร้างความเข้มแข็งให้กับความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในกลุ่มเป้าหมาย ระบบการประกันสังคมที่มีความยั่งยืนทางการเงิน การพัฒนาการเข้าถึงบริการก่อนคลอดและการดูแลเด็กในวัยก่อนเรียนให้ดีขึ้น การให้ทรัพยากรแก่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กันดาร รวมถึงการลดช่องว่างในการเข้าถึง และคุณภาพทางการศึกษา

“ประเด็นที่อยากจะทิ้งท้ายไว้คือ การคาดการณ์ในครั้งนี้อาจจะยังดูดีอยู่ แต่จริงๆ แล้วมีความเสี่ยงต่างๆ ที่ยังไม่ได้นำเข้าสู่การประเมินนี้ เหมือนเมฆหมอกอยู่ที่ปลายขอบฟ้า ตรงนี้ผู้กำหนดนโยบายต้องเตรียมรับมือทั้งในมิติของความพร้อมที่ครบถ้วนและความยืดหยุ่นที่จะรับผลกระทบต่างๆ ได้ ประเด็นหนึ่งที่เน้นย้ำคือการเปิดระบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ภูมิภาคจะรับมือกับการกีดกันมาตรการทางการค้าคือการมองหามาตรการที่จะไปชดเชยสิ่งอาจะเกิดขึ้นนอกภูมิภาค หาโอกาสที่จะเชื่อมโยงกันเองมากขึ้น เรายังระบุในรายงานว่าภูมิภาคจะต้องรับบทใหญ่ที่สุดคือเป็นผู้นำในการรักษาระบบโลกแบบนี้และระบบการค้าโลก และผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญที่ภูมิภาคนี้จะต้องทำ ภูมิภาคนี้สามารถทำได้มากกว่านี้ โดยการเชื่อมโยงที่มากไปกว่าภาษีสินค้า แต่เชื่อมโยงไปถึงภาคบริการและมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี” นายชูเดียร์สรุป

นายชูเดียร์ แชตตี้ (ซ้าย) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (ที่มา:แฟ้มภาพ)

เตือนไทยรับมือความเสี่ยง “สงครามการค้า-ความไม่แน่นอนการเมือง”

ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจไทย รายงานระบุว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งในไตรมาส 2 ในปี 2561 จากการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะในสินค้าคงทน เนื่องจากความมั่นใจของผู้บริโภคและรายได้ของเกษตรกรที่ดีขึ้น การลงทุนของเอกชนก็ปรับตัวดีขึ้นช้าๆ การเติบโตในครึ่งปีแรกของปี 2561 เติบโตสูงถึง 4.8% สูงสุดตั้งแต่ปี 2556 พื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงทรงตัว (Stable) ด้วยเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงกว่า 1% เล็กน้อย บัญชีเดินสะพัดเกินดุลและเสถียรภาพระบบการเงินยังคงทรงตัวจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการกระจายตัวของประเภทหนี้ที่มากขึ้น ภาคการส่งออกสินค้าและบริการยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เติบโตถึง 6.4% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ด้วยการสนับสนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดดิสก์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกบริการหรือการท่องเที่ยวลดลง 3.1% จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาลดลงจากฐานที่สูงในปีที่แล้ว

ในรายละเอียด อุปสงค์ภายในประเทศแสดงให้เห็นสัญญาณที่เข้มแข็งขึ้นของการฟื้นตัว การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวมากกว่า 4.5% เป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2556 นำโดยกำลังซื้อทั้งแรงงานในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยในกลุ่มแรงงานในภาคเกษตรกรมได้รับการชดเชยจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะลดลง การลงทุนในภาคเอกชน ทั้งภาคก่อสร้าง เครื่องจักร และอุปกรณ์ ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องที่ 3.2% ในไตรมาส 2 ของปี 2561 เทียบกับ 1.7% ของปี 2560 การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ 4.9% หลังจากแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตต่างๆ หรือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังคงขยายตัว และสุดท้ายความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังคงฟื้นตัวจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ชัดเจนขึ้น

ความยากจนยังคงลดลงต่อเนื่อง ในฐานะหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคนี้ ไทยยังคงมีระดับความยากจนที่น้อยที่สุด (วัดจากระดับรายได้ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่เลยจากเส้นความยากจนขึ้นมาเล็กน้อย (วัดจากระดับรายได้ 5.5 ดอลลาร์ต่อวัน) ประเทศไทยยังคงมีความยากจนในระดับนี้ที่ 7.1% ณ ปี 2559 ซึ่งคล้ายคลึงกับประเทศมาเลเซียที่ร่ำรวยกว่าเช่นกัน ในแง่ของความไม่เท่าเทียมแม้ว่าจะเป็นความท้าทาย ค่าเฉลี่ยรายได้ของคนที่ยากจนที่สุด 40% สุดท้ายของประชากรยังคงเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ ซึ่งทำให้ระยะยาวความไม่เท่าเทียมน่าจะลดลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคส่วนใหญ่ และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำอาจจะกระทบต่อกระบวนการนี้

ประมาณการณ์เศรษฐกิจของไทยคาดว่าจะนำโดยปัจจัยภายในประเทศ การเติบโตคาดไว้ที่ 4.5% ในปี 2561 จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของเอกชนและการลงทุนภาครัฐที่เร่งขึ้นมา ทั้งโครงสร้างขนาดใหญ่และการใช้จ่ายของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และนำไปสู่การลงทุนของเอกชนที่ 3.9% อย่างไรก็ตามจะลดลงในปี 2562 และปี 2563 เหลือ 3.9% การส่งออกคาดว่าจะลดลงหลังจากการค้าโลกได้ผ่านจุดสูดสุดไป การลงทุนภาครัฐอาจะลดลงหลังจากเติบโตไปแล้วในปี 2561 จากความเป็นไปได้ที่บางโครงการจะล่าช้าจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่

เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคคาดว่าจะทรงตัว ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังคาดว่าจะอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อไป เงินเฟ้อทั่วไปคาดกว่าจะไม่หลุดจากกรอบเป้าหมาย 1-4% ด้วยการคาดการณ์ของสาธารณชนและการฟื้นตัวที่ทยอยเกิดขึ้น นอกจากนี้ นโยบายการเงินและการคลังยังมีพื้นที่นโยบายเพียงพอที่จะดำเนินนโยบายขยายตัวได้มากกว่านี้หากต้องการ ความเข้มแข็งของพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล การมีสำรองระหว่างประเทศที่สูง จะช่วยให้ไทยสามารถรองรับความปั่นป่วนในการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ เช่น ในช่วงวิกฤติในตุรกี ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงตั้งแต่สิ้นปี 2560 ถึง 15 สิงหาคม 2561 เพียง 1.65% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก (ที่มา: แฟ้มภาพ)

สำหรับความเสี่ยงและความท้าทาย รายงานระบุว่าความเสี่ยงด้านต่ำของไทยคือความไม่แน่นอนในอุปสงค์จากต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังผ่านจุดสูงสุดไป การเพิ่มขึ้นของบรรยากาศการกีดกันทางการค้าและการชะลอตัวในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะกระทบต่อการส่งออกและทำให้เอกชนชะลอการลงทุน ความเสี่ยงด้านที่ 2 คือการชะลอการลงทุนของเอกชน เนื่องจากกังวลความไม่แน่นอนด้านการเมือง แม้ว่าความเชื่อมั่นจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับช่วงปี 2555 ก็ถือว่ายังอ่อนแออยู่มาก นักลงทุนเอกชนยังคงกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและผลกระทบต่อแผนการลงทุนภาครัฐและความต่อเนื่องในนโยบายเศรษฐกิจที่อาจจะพลิกกลับด้านได้ โดยเฉพาะโครงการอีอีซีและทางรถไฟจะเป็นจุดสำคัญที่จะกระตุ้นความเชื่อมั่นของเอกชนขึ้นมาได้

นายชูเดียร์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยเติบโตช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาคหลายปีที่ป่านมา แต่ในปีนี้การเติบโตจะเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาที่ 4.5% ขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่สามารถผลักดันออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลางการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาคุณภาพแรงงานผ่านการศึกษาจะเป็นประเด็นสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เรื่องความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างประเทศ ไทยเคยเป็นประเทศที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากก่อนวิกฤติปี 2540 และแม้หลังจากวิกฤติประเทศไทยก็กลับมาสร้างแรงดึงดูดการลงทุนกลับมาได้ แต่พอเวลาผ่านไปด้วยค่าแรงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงประเทศอื่นๆ ก็พัฒนาประเทศสร้างปัจจัยการดึงดูดการลงทุนมากขึ้น ไทยก็ต้องแข่งขันกันดึงดูดความน่าสนใจของการลงทุนพวกนี้มากขึ้น ข้อแนะนำคือก็ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และทุนมนุษย์ ซึ่งพวกนี้จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนได้ดีกว่าค่าแรงถูก”

ชี้ “ประมาณการณ์” ยังไม่รวมสงครามการค้าอาจจะชะลอมากกว่า 3.9%

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า สาเหตุที่ประมาณการปรับลดลงในปี 2562 และปี 2563 ลดลงไปค่อนข้างมากจากปี 2561 แต่หากไปดูจะพบว่ากลับไปเติบโตในระดับเดียวกับปี 2560 ซึ่งในปีนั้นมีโครงการภาครัฐหลายโครงการที่ชะลอตัวและเลื่อนมาก่อสร้างในปี 2561 ประกอบกับการส่งออกที่ในช่วงครึ่งปีแรกที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้มาก ขณะที่การลงทุนและการบริโภคก็ฟื้นตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน ปัจจัยเหล่านี้ที่ประกอบกันทำให้ในปี 2561 เติบโตสูงขึ้นมาอย่างชัดเจน แต่พอมองไปข้างหน้าจะเห็นว่าการค้าโลกที่ชะลอลงย่อมจะกระทบต่อการส่งออก

ขณะที่การลงทุนเองก็จะกลับไปในระดับปกติ ทำให้ปัจจัยใน 2 ปีต่อจากนี้จะเน้นไปที่ปัจจัยภายในมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่นโยบายการคลังและการเงินของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่สูง เทียบกับหลายประเทศรอบข้าง ทั้งหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ต่ำ มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง มีบัญชีเดินสะพัดสูง มีเงินเฟ้อต่ำ และสามารถใช้นโยบายเหล่านี้เพิ่มเติมได้อยู่ ประกอบกับควรจะเน้นการค้าขายภายในภูมิภาคเพื่อรองรับบรรยากาศการกีดกันทางการค้าในอนาคต

หากดูในอนาคตความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าเรายังไม่ได้รวม เพราะประมาณการณ์เราดูสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดและสิ่งที่ชัดเจนตอนนี้คือยังไม่มีความเสี่ยงเรื่องการค้า แต่เราแค่ดูการชะลอตัวของสหรัฐอเมริกาและยุโรป เราก็จะเห็นแล้วว่าตัวเลขการค้ามันชะลอตัวลง ถ้าดูเพื่อนบ้านมันก็เห็นภาพการชะลอตัวลง เห็นชัดว่าทุกประเทศชะลอลงข้างหน้า ปีนี้จะเป็นปีที่ถือว่ามันสูงสุดแล้ว เพราะมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในมาส่งเสริม แต่มองไปข้างหน้าภายนอกมันจะเริ่มลดลง ประมาณการ 3.9% ก็ยังไม่รวมความเสี่ยง มันก็เป็นไปได้ว่าอาจจะสูงขึ้นหรือลดลงกว่านี้ ถ้าเพิ่มเรื่องสงครามการค้าจีนอาจจะตอบโต้อะไรสักอย่างก็ลดลงก็เป็นไปได้ ทำให้น้ำหนักความเสี่ยงของโลกจะเบ้ไปด้านต่ำ แล้วถ้าสงครามการค้ามา อาจจะส่งผลให้จีนชะลอลง ถ้าจีนลงเพื่อนบ้านพวกเราก็จะลง ส่วนของไทยถ้ามองระยาวยาวๆ ไปข้างหลังจะไม่เหมือนที่อื่น เพราะ 20 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถไม่ได้ลงทุนภาครัฐมาก พอตอนนี้มันก็มีแนวโน้มไปทางบวกมากขึ้นสวนทางกับหลายประเทศในมุมนี้อยู่ และปัจจัยพื้นฐานเราก็ยังดีที่สุดในภูมิภาค” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว