ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เตรียมร้องศาลปกครอง ‘การบินไทย’ หักเงิน พนง.ใช้หนี้สหกรณ์ฯ ชอบหรือไม่?

เตรียมร้องศาลปกครอง ‘การบินไทย’ หักเงิน พนง.ใช้หนี้สหกรณ์ฯ ชอบหรือไม่?

19 เมษายน 2022


อดีตประธานสหภาพการบินไทยฯ ร้อง “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” พร้อมใช้สิทธิโต้แย้ง หลังกรมส่งเสริมสหกรณ์วินิจฉัย กรณีบริษัท การบินไทยหักเงินชดเชยเลิกจ้างพนักงาน เคลียร์หนี้สหกรณ์ ฯ ทำได้-ถูกต้องตามสัญญาเงินกู้-ระเบียบข้อบังคับ-กฎหมายสหกรณ์ ย้ำหากสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์พื้นที่ 2 ยืนยันความเห็นเดิม ขั้นตอนต่อไปเตรียมร้องศาลปกครองชี้ขาด คำวินิจฉัยนายทะเบียนสหกรณ์ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ส่งผลทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งบริษัท การบินไทย ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยเปิดโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 มีผู้สมัครใจประสงค์จะลาออกไปแล้วกว่า 7,000 คน ทั้งนี้ เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการประสบความสำเร็จ และบริษัทสามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ จากนั้นในช่วงกลางปี 2564 บริษัท การบินไทย ก็ได้ออกประกาศเลิกจ้างพนักงาน ลอตแรกจำนวน 508 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และลอตที่ 2 จำนวน 854 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยบริษัท การบินไทย ยอมจ่ายเงินชดเชย และเงินอื่นๆตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างจนถึงวันสุดท้ายของการทำงาน , วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ , ค่าชดเชย , ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จให้กับพนักงาน หลังจากหักภาษี ณ ที่จ่าย และหนี้สินที่พนักงานยังค้างอยู่กับบริษัทฯ หรือ สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด

นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย

ต่อมา นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย และสมาชิกสหกรณ์ฯที่ถูกบริษัทการบินไทยเลิกจ้างจำนวนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ฯ มีมติ ให้บริษัทการบินไทย หักเงินชดเชยจากการเลิกจ้างในวันที่บริษัทเลิกจ้างโดยทันที ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ ทำให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างและยังเป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯกลุ่มนี้ เกิดประเด็นข้อสงสัย และคำถามตามมาว่า การหักเงินของสมาชิกสหกรณ์ฯที่ถูกบริษัทการบินไทย เลิกจ้างนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญาเงินกู้ , ข้อบังคับของสหกรณ์ฯ ข้อ 19 , ข้อ 34 (3) , ข้อ 44 และ มาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 หรือไม่ อย่างไร

ร้อง “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” สอบ ‘การบินไทย’ หักเงิน พนง.ใช้หนี้สหกรณ์ฯ

พนักงานกลุ่มนี้จึงรวมตัวกันไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่กำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ พิจารณาวินิจฉัยกรณีการหักเงินของสมาชิกสหกรณ์ที่ถูกบริษัทการบินไทยเลิกจ้างนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ ระเบียบข้องบังคับของสหกรณ์ และกฎหมายหรือไม่ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงส่งเรื่องดังกล่าวนี้ไปให้สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 หรือ นายทะเบียนสหกรณ์ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

สหกรณ์ทวงหนี้สมาชิกที่ไปร้องกรมส่งเสริมฯ-ให้ออกจากสมาชิก

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดหนี้ ชุดที่ 45 ครั้งที่ 28/2564 ได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเร่งรัดหนี้ของสหกรณ์ฯ แจ้งกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯที่ไปร้องเรียนหน่วยราชการ โดยการออกจดหมายเรียกเก็บหนี้สมาชิกสหกรณ์ที่ไปร้องเรีนหน่วยราชการคืนทั้งจำนวนภายใน 20 วัน จำนวน 218 ราย จำนวน 483 ฉบับ ทั้งนี้ ฝ่ายเร่งรัดหนี้ได้ออกหนังสือโดยวิธีส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 แจ้งกลุ่มสมาชิกที่ไปร้องเรียนหน่วยงานราชการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจากการตรวจสอบใบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ (ใบสีเหลือง) ที่ส่งกลับมายังสหกรณ์ พบว่ามีจำนวน 167 ราย ที่ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด จึงขออนุมัติเสนอสมาชิกดังกล่าวออกจากการเป็นสมาชิก ตามข้อบังคับสหกรณ์ ฯ ข้อ 42 (4) ค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าต้นเงิน หรือ ดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลาถึง 2 งวด หรือ ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังกล่าวนั้นถึง 3 คราว สำหรับเงินกู้สัญญาหนึ่งๆ

กรมส่งเสริมสหกรณ์แจงผลการวินิจฉัย

ต่อมา นายโกญจนาท มายะการ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ได้ส่งหนังสือที่ กษ 1110/3287 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 แจ้งผลการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการเร่งรัดหนี้ กรณีหักเงินสมาชิกสหกรณ์ที่ถูกบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เลิกจ้าง ส่งถึงนายนเรศ ผึ้งแย้ม และพวก ตามที่เคยไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

โดยสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพ พื้นที่ 2 พิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามระเบียบสหกรณ์ว่าด้วยการบังคับชำระหนี้ พ.ศ. 2559 ข้อ 5 กำหนดว่า เมื่อสมาชิกพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานบริษัท หรือ พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิก และยังมีหนี้สินในฐานะผู้กู้ค้างชำระอยู่กับสหกรณ์ฯ ให้สหกรณ์บังคับชำระหนี้ตามลำดับดังนี้

    5.1) กรณีสหกรณ์ต้องนำเงินค่าหุ้น เงินฝาก เงินอื่นใดอันสมาชิกพึงได้รับจากสหกรณ์ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือ เงินรายได้อื่นใดที่ได้รับจากบริษัทไปชำระหนี้ ให้สหกรณ์นำเงินค่าหุ้น เงินฝาก เงินอื่นใดอันสมาชิกพึงได้รับจากสหกรณ์ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือ เงินรายได้อื่นใดที่ได้รับจากบริษัทไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินทุกประเภทเป็นอันดับแรก
    5.2) กรณีมีเงินเหลือจากข้อ 5.1 ให้สหกรณ์นำไปชำระหนี้เงินกู้ที่มีบุคคลค้ำประกันเฉลี่ยตามส่วนมากและน้อยแห่งหนี้ก่อน หากมีเงินเหลือให้นำไปชำระหนี้ที่ตนได้รับภาระค้ำประกันไว้ ส่วนเงินกู้ที่ใช้หลักทรัพย์เป็นประกันให้ได้รับชำระหนี้เป็นลำดับสุดท้าย

ยันการบินไทยหักเงิน พนง.ใช้หนี้สหกรณ์ ตามสัญญา-ความยินยอมผู้กู้

ส่วนหนังสือยินยอมให้หักเงินชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ฯ ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ 2542 เป็นกรณีที่สมาชิกสหกรณ์ฯได้ทำหนังสือต่อบริษัทการบินไทย เพื่อแสดงเจตนายินยอมให้บริษัทฯหักเงินของสมาชิกสหกรณ์ส่งชำระหนี้แก่สหกรณ์ฯได้ เมื่อสมาชิกพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานบริษัทฯ และสหกรณ์ได้แจ้งยอดหนี้ที่สมาชิกสหกรณ์ค้างชำระตามสัญญากู้เงินไปยังบริษัทการบินไทย บริษัทฯจึงชอบที่จะส่งเงินใด ๆ ที่สมาชิกสหกรณ์มีสิทธิได้รับจากบริษัทฯมาให้แก่สหกรณ์ เพื่อหักชำระหนี้โดยอ้างหนังสือให้ความยินยอมของสมาชิกสหกรณ์ฯได้

นอกจากนี้ ตามข้อสัญญาที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้ เมื่อปรากฏข้อความในสัญญาเงินกู้ ข้อ 8 กำหนดว่า “ผู้กู้ยอมรับผูกพันตามข้อบังคับของสหกรณ์ว่า ถ้าผู้กู้ออกจากงานประจำ ผู้กู้ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบ และจัดการชำระหนี้สิน ซึ่งผู้กู้มีอยู่ต่อสหกรณ์ฯให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เมื่อต้องเหตุด้วยการออกจากงานประจำ” และตามข้อบังคับสหกรณ์ฯ ข้อ 34 (3) และข้อบังคับสหกรณ์ฯ ข้อ 44 กำหนดว่า “แต่ถ้าไม่ได้ลาออกจากสหกรณ์ฯ ก็ยังคงเป็นสมาชิกสหกรณ์” ประกอบกับสัญญาเงินกู้ ข้อ 9 กำหนดว่า “ถ้าผู้กู้ไม่จัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อผู้กู้ได้ลงชื่อรับเงินเดือน ค่าจ้าง เงินสะสม บำเหน็จ บำนาญ หรือ เงินอื่นใดที่บริษัท หรือ ผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัทจะจ่ายให้ผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมให้หักเงินดังกล่าว เพื่อชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยส่งชำระหนี้ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” แม้ในข้อสัญญาเงินกู้จะไม่มีข้อความตอนสุดท้ายว่า “เว้นแต่กรณีที่พนักงาน หรือ เจ้าหน้าที่นั้น ยังคงเป็นสมาชิกสหกรณ์อยู่” ซึ่งแตกต่างจากข้อ 19 แห่งข้อบังคับสหกรณ์ฯที่กำหนดว่า “ความผูกพันของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ผู้กู้หรือผู้ค้ำประกัน ผู้กู้ หรือ ผู้ค้ำประกันต้องรับผูกพันตามข้อบังคับนี้ ถ้าตนประสงค์จะขอโอน หรือ ย้าย หรือ ลาออกจากการเป็นพนักงาน หรือ เจ้าหน้าที่ ตามข้อ 34 (3) จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบ และจัดการชำระหนี้สิน ซึ่งตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เว้นแต่กรณีที่พนักงาน หรือ เจ้าหน้าที่นั้น ยังคงเป็นสมาชิกสหกรณ์อยู่ ก็ตาม”

แต่เมื่อสมาชิกและสหกรณ์ฯสมัครใจยินยอมที่จะกำหนดข้อตกลงในสัญญาเงินกู้ให้แตกต่างจากข้อ 19 แห่งข้อบังคับสหกรณ์ฯ ทั้งข้อบังคับสหกรณ์ฯดังกล่าว มิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนที่บังคับให้สมาชิก และสหกรณ์ ฯต้องปฏิบัติตามโดยเด็ดขาด โดยไม่สามารถทำสัญญาตกลงยกเว้นได้ สมาชิกสหกรณ์ฯจึงต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้ แม้จะยังเป็นสมาชิกของสหกรณ์ ฯอยู่ก็ตาม

ดังนั้น คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ จึงมีสิทธิแจ้งให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเงินใดๆที่สมาชิกสหกรณ์ผู้นั้นมีสิทธิได้รับจากบริษัท ฯมาหักชำระหนี้กับสหกรณ์ฯ ย่อมที่จะกระทำได้ ตามข้อตกลงในสัญญา มิได้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบ หรือ คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ จึงไม่เข้าเหตุที่นายทะเบียนสหกรณ์ จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ 2542 เพิกถอน หรือ สั่งการ ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อพกพร่องแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 9.00 น. นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย และสมาชิกสหกรณ์ฯ ยื่นหนังสือถึงนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อใช้สิทธิโต้แย้งคำวินิจฉัยของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์

อดีตประธานสหภาพ ฯร้อง รมช.เกษตร-ใช้สิทธิโต้แย้งคำวินิจฉัย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย พร้อมกับสมาชิกสหกรณ์ ฯ ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นครั้งที่ 2 เพื่อมาใช้สิทธิโต้แย้งคำวินิจฉัยของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 (นายทะเบียนสหกรณ์) ฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ตามที่กล่าวข้างต้น โดยนายนเรศ กล่าวว่า หลังจากพนักงานบริษัทการบินไทยถูกเลิกจ้าง ตามกฎหมายแรงงานแล้ว ทุกคนก็ควรต้องได้รับเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง 400 วัน แต่ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ เงินชดเชยจากการเลิกจ้างของพนักงานถูกบริษัทการบินไทยหักชำระหนี้สหกรณ์ฯทั้งหมด ทั้ง ๆที่ พนักงานที่ถูกบริษัทการบินไทย เลิกจ้าง ยังคงสถานะภาพการเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯอยู่ จากนั้นสหกรณ์ฯก็ทำหนังสือมาเรียกเก็บหนี้ส่วนที่เหลือจากสมาชิกสหกรณ์ที่ไปร้องเรียนกรมส่งเสริมสหกรณ์ก่อนหน้านี้ โดยให้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือคืนทั้งหมดภายใน 20 วัน ทั้ง ๆที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จะต้องชำระหนี้ และสัญญาเงินกู้ก็ไม่ได้เขียนไว้ จึงเป็นเหตุให้ตนและเพื่อนสมาชิกสหกรณ์ฯ ต้องมาร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์อีกครั้ง หลังจากที่สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพ พื้นที่ 2 มีคำวินิจฉัยว่า “คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ จึงมีสิทธิแจ้งให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเงินใดๆที่สมาชิกสหกรณ์ผู้นั้นมีสิทธิได้รับจากบริษัทการบินไทยมาหักชำระหนี้กับสหกรณ์ฯ ย่อมที่จะกระทำได้ ตามข้อตกลงในสัญญา”

กางสัญญากู้เงิน โต้คำวินิจฉัยนายทะเบียนฯ

นายนเรศ กล่าวว่า ประเด็นที่ตนและเพื่อนสมาชิกสหกรณ์พนักงานบริษัทการบินไทย ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของกรมส่งเสริมสหกรณ์ พื้นที่ 2 ที่ระบุว่า สหกรณ์ฯมีสิทธิแจ้งให้บริษัทการบินไทย หักเงินของสมาชิกสหกรณ์ฯได้รับจากบริษัทการบินไทย มาชำระหนี้ที่ติดค้างอยู่กับสหกรณ์ได้นั้น ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปดูที่สัญญาเงินกู้ ข้อ 8 (ดูสัญญาเงินกู้ประกอบด้านล่าง) เขียนเอาไว้ว่า “ผู้กู้ยอมรับผูกพันตามข้อบังคับของสหกรณ์ว่า ถ้าผู้กู้ออกจากงานประจำ ผู้กู้จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งผู้กู้มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” เขียนไว้แค่นี้ คราวนี้มาดูความหมายของคำว่า “ผู้กู้ออกจากงานประจำ” ตนเข้าใจว่ามีความหมายครอบคลุมไปถึงการออกจากงานทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้กู้ประสงค์จะขอลาออกจากงานประจำ หรือ สมัครใจลาออก หรือ ถูกบริษัทเลิกจ้างด้วย ส่วนสัญญาเงินกู้ ข้อ 9 ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์นำใช้ในการวินิจฉัยนั้น ระบุว่า “ถ้าผู้กู้ประสงค์จะขอลาออกจากงานประจำตามข้อบังคับ 34 (3) ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบด้วย และต้องจัดการชำระหนี้ซึ่งมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นก่อน ถ้าผู้กู้ไม่จัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อผู้กู้ได้ลงชื่อรับเงินเดือน ค่าจ้าง เงินสะสม บำเหน็จ บำนาญ หรือ เงินอื่นใดที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัทฯจะจ่ายให้ผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมให้หักเงินดังกล่าว เพื่อชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยส่งชำระหนี้ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

นายนเรศ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ผมและเพื่อนสมาชิกสหกรณ์ ฯอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ สัญญาเงินกู้ ข้อ 9 น่าจะใช้กับกรณีของผู้กู้ที่ประสงค์จะขอลาออกจากงานประจำ ซึ่งผมและสมาชิกสหกรณ์ฯคนอื่นๆ ไม่ใช่ผู้กู้ที่ประสงค์จะขอลาออกจากงานประจำ แต่พวกผมน่าจะเป็นผู้กู้ที่ถูกบริษัทการบินไทย เลิกจ้าง ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ ข้อ 8 เพราะพวกผมและเพื่อนสมาชิกสหกรณ์คนอื่นๆไม่เคยรู้เนื้อ รู้ตัวมาก่อนว่าจะถูกเลิกจ้าง นี่คือความหมายของคำว่า “เลิกจ้าง” กับคำว่า “ลาออกเอง” ซึ่งจะมีความหมายและสิทธิที่จะได้รับเงินเยียวยาจากนายจ้างแตกต่างกัน

ประเด็นถัดมา คือ ในสัญญาเงินกู้ ข้อ 8 กำหนดว่า “ผู้กู้ยอมรับผูกพันตามข้อบังคับของสหกรณ์ว่า ถ้าผู้กู้ออกจากงานประจำ ผู้กู้จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งผู้กู้มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” ข้อ 8 เขียนไว้แค่นี้ สัญญาเงินกู้ ข้อ 8 ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า “ถ้าผู้กู้ไม่จัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อผู้กู้ได้ลงชื่อรับเงินเดือน ค่าจ้าง เงินสะสม บำเหน็จ บำนาญ หรือ เงินอื่นใดที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัท ฯจะจ่ายให้ผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมให้หักเงินดังกล่าว เพื่อชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยส่งชำระหนี้ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” ซึ่งข้อความท่อนหลังนี้เขียนอยู่ในสัญญาเงินกู้ ข้อ 9 ซึ่งเป็นกรณีของผู้กู้ที่ประสงค์จะขอลาออกจากงานประจำ หรือ “ลาออกเอง”

“เหตุที่สัญญาเงินกู้ข้อ 8 ไม่ได้ระบุข้อความดังกล่าวเอาไว้ ตนเข้าใจว่าบริษัท การบินไทย ในอดีตเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องใส่ถ้อยคำดังกล่าวนี้ไว้ในสัญญาเงินกู้ ข้อ 8 แต่มาเขียนแยกเอาไว้ในสัญญาเงินกู้ ข้อ 9 กรณีผู้กู้ประสงค์จะลาออกจากงานประจำ ซึ่งอาจจะได้งานใหม่ที่ดีกว่า ก่อนที่พนักงานจะออกจากงานต้องเคลียร์หนี้สินที่ติดค้างกับสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นก่อน แต่ถ้าไม่จัดการเคลียร์หนี้สินให้เรียบร้อย พนักงานที่ประสงค์จะขอลาออก หรือ ผู้กู้ยินยอมให้หักเงินที่ได้รับจากบริษัทการบินไทยใช้หนี้สหกรณ์ฯได้”

สัญญาเงินกู้ ข้อ 8 ไม่ได้กำหนดให้หักเงิน พนง.ใช้หนี้

“ถามว่าการที่สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ฯ พื้นที่ 2 นำข้อความท่อนหลังที่อยู่ในสัญญา ข้อ 9 ซึ่งเป็นกรณีของผู้กู้ที่ประสงค์จะขอลาออกจากงานประจำ มาใช้ในการวินิจฉัยกรณีการหักเงินของสมาชิกสหกรณ์ฯที่ถูกบริษัทการบินไทย เลิกจ้าง ซึ่งอยู่ในข่ายผู้กู้ออกจากงานประจำตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 8 เป็นคนละกรณีกันนั้นถูกต้องหรือไม่ อย่างไร อีกทั้งในสัญญาเงินกู้ ข้อ 8 ก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า หากพวกผมไม่ชำระหนี้ที่ติดค้างกับสหกรณ์ให้เสร็จสิ้น ผู้กู้ยินยอมให้บริษัทการบินไทยหักเงินใช้หนี้สหกรณ์ ผมขอย้ำอีกทีว่าในสัญญาเงินกู้ ข้อ 8 ไม่มีคำว่า “ผู้กู้ยินยอมให้หักเงิน” เหมือนข้อความท่อนสุดท้ายของสัญญากู้เงิน ข้อ 9 เลย พวกผมจึงเข้าใจว่าบริษัทการบินไทย หรือ สหกรณ์ฯ ไม่น่าจะใช้สิทธิความยินยอมตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ 2542 ที่อยู่ช่วงท่อนท้ายของสัญญาเงินกู้ ข้อ 9 มาใช้หักเงินชดเชยของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างได้ ซึ่งกระบวนการที่ถูกต้องนั้น ควรต้องส่งฟ้องศาล เพื่อบังคับให้ผู้กู้ชำระหนี้ หากผู้กู้ หรือ สมาชิกสหกรณ์ที่ถูกบริษัทการบินไทย เลิกจ้าง ไม่จัดการเคลียร์หนี้สินที่ติดค้างอยู่กับสหกรณ์ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนออกจากงาน แต่ไม่ใช่มาให้นายจ้างหักเงินชดเชยของพวกผมใช้หนี้สหกรณ์ทันที” นายนเรศ กล่าว

เวลา 13.00 น. ของวันเดียวกันนั้น อดีตสมาชิกสหกรณ์ฯ ยื่นหนังสือต่อนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้สิทธิโต้แย้งคำวินิจฉัยของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เตรียมร้องศาลปกครองชี้ขาด-คำวินิจฉัยนายทะเบียนชอบหรือไม่

นายนเรศ กล่าวต่อว่า วันนี้ผมและเพื่อนสมาชิกสหกรณ์ จึงมายื่นหนังสือถึงนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์อีกครั้ง เพื่อใช้สิทธิโต้แย้งคำวินิจฉัยของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 กรณีการหักเงินสมาชิกสหกรณ์ที่ถูกบริษัทการบินไทย เลิกจ้าง เพื่อให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ พิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยใหม่อีกครั้ง หากกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังยืนยันคำวินิจฉัยเดิมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 นั้นถูกต้องแล้ว พวกผมก็จะไปร้องศาลปกครองตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป เพื่อขอให้ศาลพิจารณาคำวินิจฉัยของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 กรณีการหักเงินสมาชิกสหกรณ์ที่ถูกบริษัทการบินไทย เลิกจ้างนั้น เป็นการพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

สั่งสอบเลือกตั้งประธานสหกรณ์ฯผ่าน ZOOM

นอกจากนี้ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้แจ้งความคืบหน้ากรณีนายวีรยุทธ ทวนคงและพวก ยื่นหนังสือร้องเรียน กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จัดการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ZOOM) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 ทำให้สมาชิกสหกรณ์หลายรายไม่สามารถกดปุ่มลงมติเลือกตั้งได้ จึงขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจสอบการจัดประชุมดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 2564 และ พ.ร.บ.สหกรณ์ 2542 หรือไม่ อย่างไร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้แล้ว และได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว หากตรวจพบว่ามีการกระทำผิดอันอาจทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์ หรือ สมาชิก ให้ใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป พร้อมแจ้งผลการตรวจสอบให้นายวีรยุทธ ทวนคง และพวกรับทราบด้วย

  • เรื่องวุ่นๆ “สหกรณ์การบินไทย” สมาชิกร้องเพิกถอนการเลือกตั้ง “ประธาน-กรรมการ”
  • ป้ายคำ :