กรมส่งเสริมสหกรณ์มอบผู้ตรวจราชการสอบข้อเท็จจริง ปมตีความ ‘การบินไทย’ หักเงิน พนง. ที่ถูกเลิกจ้างใช้หนี้สหกรณ์ พร้อมส่ง จม. ทวงหนี้สมาชิกที่ไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ หากไม่ชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 20 วัน จะถูกปลดออกจากการเป็นสมาชิกฯ
ต่อจากตอนที่แล้ว นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย พร้อมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการบินไทย จำกัด เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 เพื่อใช้สิทธิโต้แย้งคำวินิจฉัยนายทะเบียนพื้นที่ 2
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้รับหนังสือลับจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ กษ 1115/210 ลงวันที่ 19 เมษายน 2565 เรื่อง โต้แย้งคำวินิจฉัยนายทะเบียนพื้นที่ 2 ฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ส่งถึงนายนเรศ ผึ้งแย้ม และคณะ ระบุว่า ตามที่นายนเรศและคณะขอโต้แย้งผลการพิจารณาตามหนังสือสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ที่ กษ 1110/3287 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เรื่องแจ้งผลการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการเร่งรัดหนี้ กรณีหักเงินของสมาชิกสหกรณ์ที่ถูกบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เลิกจ้าง พร้อมขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 กรณีการเปิดเผยรายชื่อนายนเรศ และคณะ ให้กรรมการสหกรณ์รับทราบ ส่งผลให้ได้รับผลกระทบในการถูกเลือกปฏิบัติจากกรรมการสหกรณ์ ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอเรียนว่า “กรณีดังกล่าวได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ เขตตรวจราชการที่รับผิดชอบตรวจสอบข้อเท็จจริงตามนัยข้อร้องขอ และพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่…” จึงเรียนมาเพื่อทราบลงชื่อนายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายนเรศกล่าวว่า ประเด็นที่ตนและเพื่อนสมาชิกสหกรณ์ฯ ขอให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น หลักๆ จะมีอยู่ 2 ประเด็น คือ เรื่องแรก ขอให้ตรวจสอบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนสหกรณ์ พื้นที่ 2 ที่มีความเห็นว่า “คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ มีสิทธิแจ้งให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเงินใดๆ ที่สมาชิกสหกรณ์ผู้นั้นมีสิทธิได้รับจากบริษัทฯ มาหักชำระหนี้กับสหกรณ์ฯ ย่อมที่จะกระทำได้ ตามข้อตกลงในสัญญา…” ซึ่งในประเด็นนี้ตนและเพื่อนสมาชิกสหกรณ์ เห็นต่างจากคำวินิจฉัยของนายทะเบียนสหกรณ์พื้นที่ 2 คือ สัญญากู้เงินข้อ 8 ระบุว่า “ผู้กู้ยอมรับผูกพันตามข้อบังคับของสหกรณ์ว่า ถ้าผู้กู้ออกจากงานประจำ ผู้กู้จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบ และจัดการชำระหนี้สินซึ่งผู้กู้มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” เขียนเอาไว้แค่นี้ สัญญากู้เงิน ข้อ 8 ไม่ได้ระบุว่า “ถ้าผู้กู้ไม่จัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อผู้กู้ได้ลงชื่อรับเงินเดือน ค่าจ้าง เงินสะสม บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัทฯ จะจ่ายให้ผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมให้หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยส่งชำระหนี้ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” ประเด็นก็คือข้อความท่อนหลังนี้เขียนอยู่ในสัญญากู้เงิน ข้อ 9 เป็นกรณีของผู้กู้ประสงค์จะขอลาออกจากงานประจำ ซึ่งตนและสมาชิกสหกรณ์ไม่ได้ประสงค์จะขอลาออกจากงาน แต่ถูกบริษัทการบินไทยเลิกจ้างจึงได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เป็นคนละกรณีกัน
“คำถาม คือ ทำไมนายทะเบียนสหกรณ์ไปนำข้อความท่อนหลังของสัญญากู้เงิน ข้อ 9 มาวินิจฉัยร่วมกับ สัญญากู้เงิน ข้อ 8 ซึ่งมีความหมายและสิทธิที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในสัญญากู้เงินจึงเขียนแยกเอาไว้คนละข้อ เพราะถ้าหากมีความหมายเหมือนกัน ตามหลักการก็ควรจะเขียนรวมกันไว้ในข้อเดียวกัน ซึ่งกรณีของผมและสมาชิกสหกรณ์ฯ นั้น เป็นกรณีถูกบริษัทเลิกจ้าง เข้าใจว่าอยู่ในข่ายผู้กู้ออกจากงานประจำ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เงิน ข้อ 8 ซึ่งสัญญากู้เงินข้อนี้ ก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า ผู้กู้ยินยอมให้หักเงินดังกล่าว ชำระหนี้สหกรณ์ แต่นายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ มีสิทธิแจ้งให้บริษัทการบินไทยหักเงินของสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับจากบริษัทฯ มาใช้หนี้สหกรณ์ได้ ตรงนี้เป็นเหตุให้ผมต้องเดินทางไปใช้สิทธิโต้แย้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา หากนายทะเบียนสหกรณ์ยังยืนยันว่าวินิจฉัยถูกต้อง ก็จะไปร้องศาลปกครองเป็นขั้นตอนต่อไป” นายนเรศกล่าว
นายนเรศกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ผมและเพื่อนสมาชิก ขอให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ตรวจสอบเรื่อง การเปิดเผยเผยรายชื่อสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่ไปยื่นหนังสือร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ ให้กรรมการสหกรณ์รับทราบ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ทำให้ผมและเพื่อนสมาชิกฯ ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะถูกเจ้าหน้าที่สหกรณ์ทำหนังสือแจ้งให้นำเงินมาชำระหนี้ที่ติดค้างอยู่กับสหกรณ์ทั้งหมดภายใน 20 วัน หากสมาชิกรายไหนไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา ก็จะถูกให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ตามข้อบังคับสหกรณ์ ข้อ 42 (4) กรณีค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ย ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 2 งวด หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังกล่าวนั้นถึง 3 คราว สำหรับเงินกู้สัญญาหนึ่งๆ ผมและเพื่อนสมาชิกจึงรวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย