ThaiPublica > คอลัมน์ > Cowboy Bebop ความฉาบฉวยทางวัฒนธรรม

Cowboy Bebop ความฉาบฉวยทางวัฒนธรรม

12 ธันวาคม 2021


1721955

สารภาพว่าผู้เขียนเองเพิ่งได้ดู Cowboy Bebop (1998) ฉบับแอนิเมะ ระหว่างกำลังดูฉบับเน็ตฟลิกซ์ที่เพิ่งสตรีมมิ่งเมื่อ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากตงิด ๆ กับเวอร์ชั่นฮอลลีวูดที่มันช่างสูตรสำเร็จเสียเหลือเกิน จนพบว่ามันต่างกันราวกับจักรวาลคู่ขนาน ทั้งที่ทั้ง 2 ฉบับมีเนื้อเรื่องที่แทบจะคล้ายกัน แม้จะมีสลับฉากหรือรวบฉากบ้าง แต่วางอยู่บนแกนเรื่องเดียวกัน มีฉากภาพจำแทบจะเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว แต่กลับให้บรรยากาศที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

เนื้อเรื่อง

โดยรวม Cowboy Bebop เป็นจักรวาลในปี 2071 หรือ 50 ปีหลังจากที่โลกแหลกสลาย(อันหมายถึงปี 2021 ซึ่งคือปีนี้)จนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ มนุษย์จึงอพยพไปอยู่ตามดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะ ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมขึ้นระหว่างดวงดาวจนต้องมีตำรวจอวกาศ (ISSP) คอยปราบปราม ทีนี้พระเอก สไปค์ สปีเกล (จอห์น โช) จึงมีหน้าที่เป็น คาวบอย หรือนักล่าผู้ร้ายเพื่อไปขึ้นเงินรางวัลตามประกาศจับของตำรวจ (หรืออีกนัยคือ สังคมโลกอนาคตในเรื่องนี้มีรูปแบบคล้ายยุคบุกเบิกตะวันตก อันมีชื่อเรียกไซ-ไฟแนวนี้ว่า Space Western เหมือนอย่างตัวละคร ฮัน โซโล หรือ แมนดาโลเรียน ใน Star Wars หรือหนัง-ซีรีส์ Westworld รวมถึงมังงะ Cobra) เขามีคู่หูอีกคนคือ เจ็ท แบล็ค (มุสตาฟา ชาเคียร์) และนางนกต่อจอมแสบ เฟย์ วาเลนไทน์ (ดานิเอลลา พิเนดา) กับแฮคเกอร์เด็กหญิงจอมแก่น เอ็ด (เอเดน เพอร์คินส์) ที่ในฉบับคนแสดงจะโผล่มาตอนท้ายเรื่อง รวมถึง ไอน์ สุนัขปรับแต่งพันธุกรรมอัจฉริยะ ทั้งหมดคือทีมฝั่งพระเอกบนยานอวกาศที่มีชื่อว่า “บีบ็อป”

ตัวละครมีปมอดีตเท่าที่เล่าได้คือ เจ็ท เคยเป็นตำรวจแต่ลาออกเพราะโดนเพื่อนตำรวจด้วยกันแย่งเมีย ส่วน เฟย์ เป็นชาวโลกที่รอดมาได้อย่างหวุดหวิดตอนโลกแตก และ สไปค์ มีความลับที่บอกใครไม่ได้แม้แต่เพื่อน แต่คนดูจะรู้คร่าว ๆ ว่าเขามีคนรักเก่า คือ จูเลีย (เอเลน่า ซาติน) ที่ตอนนี้กลายเป็นแฟนของ วิคเชียส (อเล็กซ์ แฮสเซลล์) ศัตรูตัวฉกาจในองค์กร เรดดราก้อน ซินดิเคท

FYI บีบ็อปคืออะไร?

ตอนนี้เรารู้กันแล้วว่า คาวบอย คืออาชีพนักล่าค่าหัว แต่ทีนี้อะไรคือ บีบ็อป ในชื่อเรื่อง บีบ็อป, รีบ็อป หรือ บ็อป เป็นสไตล์รูปแบบหนึ่งของดนตรีแจส ถูกพัฒนาขึ้นในช่วง 1940s โดยมีนัยว่าเพื่อต่อต้านสไตล์แบบ สวิง เพราะสวิงเป็นจังหวะสำหรับโชว์สเต็ปแดนซ์ ขณะที่สไตล์บีบ็อปมีความซับซ้อนด้านทำนอง หรือแนวประสานและการด้นสดที่มีชั้นเชิงมากกว่า ทำให้เกิดความแปลกแปร่งต่างไปจากปกติ เหมาะสำหรับการดื่มด่ำฟังอย่างจริงจัง มากกว่าออกลีลาเต้นรำอย่างฉาบฉวย กระทั่งในช่วงยุค50-60s คำว่าบ็อปยังถูกเรียกรวมถึงสไตล์อื่น ๆ ที่กำเนิดขึ้นมาแยกย่อยหลังจากนั้น อาทิ คูลแจส, ฮาร์ดบ็อป, โซลแจส, ฟังก์ สรุปง่าย ๆ ว่า บีบ็อป คือการยกระดับเพลงแจสให้กลายเป็นศิลปะ และไม่ให้เป็นไปในเชิงพาณิชย์อย่าง สวิง มากเกินไป ดังนั้นเพลงประกอบที่ใช้ใน Cowboy Bebop คือสไตล์บีบ็อปทุกเพลง อันมีนัยถึงการยกระดับแอนิเมะเรื่องนี้ให้มีชั้นเชิงทางศิลปะมากกว่าจะหยิบของฝรั่งมาดัดแปลงอย่างฉาบฉวยด้วยเช่นกัน

มีแต่เปลือกแต่ขาดจิตวิญญาณ

ต้องยอมรับว่าส่วนตัวผู้เขียนชื่นชมความพยายามของทีมสร้างฉบับเน็ตฟลิกซ์ ที่พยายามจะไม่ให้มันดูฝรั่งจนเกินไป นับตั้งแต่ให้ตัว สไปค์ เป็นนักแสดงเอเชีย มีคนผิวสีบ้าง สเปน แม็กซิกันหลากเชื้อชาติตามต้นฉบับ ที่ดีงามสุด ๆ คือชุด ฉากใดใดสวยงามตามท้องเรื่องจนรู้สึกว่าแหม่เสื้อผ้าทุกคนเนี้ยบเกิ๊น ผมเรียบแปล้ไม่มีเขรอะเลย ทั้งที่ในแอนิเมะก็บอกแหละว่าพวกคาวบอยไม่ได้ร่ำรวย ทำงานกินแกลบเข้าเนื้ออยู่หลายจ๊อบ อาจจะมีแค่ เฟย์ คนเดียวที่เป็นสาวนักช็อป ส่วนตัวเลยแอบคิดว่าถ้าชุดฝั่งคาวบอยจะยับยู่เกรอะกรังผมเผ้ายุ่งเหยิงไปบ้าง หรือดูปลอมเปลือกไม่ดูแพงอย่างนี้ก็น่าจะเข้าท่ากว่า เพราะตอนนี้เหมือนฉบับเน็ตฟลิกซ์จะเป็นได้แค่จับนักแสดงมาแต่งคอสเพลย์

ขณะที่บรรยากาศของแอนิเมะมันช่างคล้าย Galaxy Express 999 (1978) หรือ Cobra (1982) ที่ท่องอวกาศไปเจอผู้คนหลากหลายแบบ ได้เรียนรู้ตกผลึกไปด้วยปรัชญาต่าง ๆ ตามประสบการณ์ชีวิต แต่ละตอนของแอนิเมะ Cowboy Bebop มีชื่อตอนเกี่ยวกับเพลงแจสแนวบีบ็อป อาทิ “Ballad of Fallen Angels” “Waltz for Venus” หรือ “Boogie Woogie Feng Shui” ขณะที่ชื่อตอนของฉบับคนแสดงก็มีเหมือนกัน เช่น “Cowboy Gospel” “Venus Pop” หรือ “Dog Star Swing” ซึ่งถ้าไปถามผู้รู้ทางดนตรีจะพบว่า แบบฝรั่งมันช่างฉาบฉวยและไม่ได้สื่ออะไรถึงสไตล์แจสแบบบีบ็อปเอาเสียเลย ขณะที่ฉบับแอนิเมะแต่ละตอนก็บรรเลงตามริทึ่มบรรยากาศของชื่อตอนที่กลายเป็นธีมของตอนนั้น ๆ ไปเลย

ดังนั้นเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่แนวหญิงร้ายชายเลว ปมรักหักเหลี่ยม หรือจุดตัดระหว่างความใคร่กับความถูกต้องอย่างแนวนีโอนัวร์ทั่วไปเท่านั้น แต่มันลุ่มลึกลุ่มรวยไปด้วยบรรยากาศแบบแจสที่มีชั้นเชิงให้ดื่มด่ำใคร่ครวญไปอย่างสุนทรีย์ราวกับเฝ้ามองความเป็นไปอันแสนธรรมดาของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์”

หลายต่อหลายตอนในฉบับแอนิเมะใช้ท่อนดนตรีแจสแทนเสียงความรุนแรง อย่างในขณะระเบิดบึ้ม หรือยิงกันกระสุนฟิ้วเลือดสาดค่อย ๆ หยดลอยกระพริบวิบวับช้า ๆ ในอวกาศ มันพูดถึงบาดแผล ปมลึกในอดีต ความเจ็บแค้น การทรยศ และทางเลือกที่ส่งผลให้แต่ละตัวละครโดดเดี่ยวแปลกแยก ความเหนื่อยหน่ายในชีวิตที่จำทนต่อความซ้ำซากจำเจ

ในแบบหนัง existential อันเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์สุดวิเศษในยุค50-90s ที่เชื่อว่าน่าจะมีอิทธิพลไม่น้อยต่อแอนิเมะปี1998 ชุดนี้ เช่น Ikiru (1952) 2001: a Space Odyssey (1968) The Holy Mountain (1973) Taxi Driver (1976) Stalker (1979) Blade Runner (1982) Subway (1985) Akira (1988) Chungking Express (1994) Fallen Angels (1995) Crash (1996) Perfect Blue (1997) ซึ่งตั้งคำถามถึงจิตวิญญาณเสรี ความปรารถนาแห่งตัวตนที่แท้จริง ความหวังว่าสักวันจะหลบลี้หนีไปจากจุดเดิม เพื่อชีวิตที่ต่างออกไป หรือโลกอาจเปลี่ยนแปลง(แต่โลกไม่เคยเปลี่ยน) และนั่นคือสาเหตุที่ตัวละครอย่าง สไปค์ เปรยถึงความตายอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลไปสู่การตัดสินใจในตอนจบของฉบับแอนิเมะ ขณะที่ สไปค์ ในฉบับคนแสดงกลายเป็นแค่ไอ้หนุ่มคลั่งรักแต่เปล่ากลวง เมื่อฉบับเน็ตฟลิกซ์เลือกจะจบอีกแบบที่ไม่ให้อะไรมากไปกว่าความเหวอชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

…อย่าเอามาแต่เปลือก โปรดเอาจิตวิญญาณมาด้วย

กลายเป็นว่าฉบับคนแสดงดูเป็นการ์ตูนไปเลย ขณะที่ฉบับการ์ตูนกลับมีชีวิตมีมิติบรรยากาศของความเป็นคนมากกว่า

ความเห็นจากชาวญี่ปุ่น

ลองหันมาฟังความเห็นของชาวญี่ปุ่นแท้ ๆ ที่ได้ดูแอนิเมะนี้ตอนเด็ก ๆ บ้าง เซย์จิ นาคาซาว่า นักข่าวจากเว็บ soranews24 ให้ความเห็นต่อ 2 เวอร์ชั่นนี้ว่า “คุณเห็นได้ชัดเลยว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พยายามอย่างหนักที่จะประดิดประดอยซีรีส์ฉบับคนแสดงนี้ออกมาให้ดีที่สุด แต่มันกลับตื้นเขินเกินไปในการทำความเข้าใจตัวละคร อย่างตัว เจ็ท ของเน็ตฟลิกซ์นี่ตลอดเวลาเขาเอาแต่คุยเรื่องลูกของเขา ใช่แหละที่ในแอนิเมะมีตอนหนึ่งย้อนกลับไปเล่าอดีตรักของเจ็ท แต่ความยากลำบากต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมาของเจ็ทมันสัมพันธ์กับเรื่องของ เกียรติและความภักดี จนทำให้เขาสูญเสียครอบครัว ซึ่งไม่ใช่ปัญหาระหองระแหงภายในครอบครัวอย่างในซีรีส์ คือขณะที่เจ็ทในแอนิเมะพยายามอย่างหนักที่จะไม่ยึดติดกับความรักโลภโกรธหลง แต่เจ็ทในเน็ตฟลิกซ์เป็นได้แค่พ่อที่พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

“ส่วนสไปค์ก็ไม่ใช่สไปค์คนเดียวกับในแอนิเมะเลย มันประหลาดมากที่สไปค์ของเน็ตฟลิกซ์สาดกระสุนและฆ่าคนได้ไวมาก ก็ถูกแหละที่ในแอนิเมะตัวละครนี้จะใช้อาวุธหนักอะไรก็ตามที่เขามี แต่เขาไม่ใช่คนพร้อมที่จะฆ่าคนโดยไม่ยั้งคิด แม้กระทั่งตอนที่เขาเจอลูกสมุนของศัตรูตัวฉกาจ จะเห็นได้ว่าเขาเลือกยิงเฉพาะคนที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งแทนด้วยการยิง ส่วนใหญ่เราจึงจะเห็นสไปค์ใช้สกิลกังฟูของเขามากกว่าด้วยซ้ำ สิ่งนี้มันติดในใจผมตลอดเวลา”

“สำหรับตัวละครเฟย์ วาเลนไทน์ คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่าถ้าย้อนไปในช่วงยุค90 ตอนการ์ตูนเรื่องนี้ออนแอร์ใหม่ ๆ โอตาคุบางคนไม่ค่อยชอบเฟย์เพราะเธอไม่ได้น่ารักเลย คำพูดคำจาของเธอมันถ่อยจริง ๆ เธอขี้เหวี่ยง และชอบพูดจาข่มขู่คนอื่นตลอดเวลา แต่เธอก็ยังเป็นผู้หญิงที่ฉลาดอีกด้วย คิดไตร่ตรองอยู่เสมอ ผมรักแง่มุมความฉลาดของเธอ สำหรับผมการได้เฝ้าดูตัวละครนี้ทำให้เห็นมิติที่เธอจะค่อย ๆ ฉายเสน่ห์ออกมาให้เห็น แต่เหมือนฉบับเน็ตฟลิกซ์จะทำให้เธอเป็นแค่ตัวละครแข็งแกร่ง แห้งแล้งไม่มีอะไรดึงดูดใจเลย ยังกับตัวละครที่ชอบมีอยู่ในหนังแอ็คชั่นฮอลลีวูดทั่วไป”

“ในซีรีส์จะมีฉากหนึ่งที่วิคเชียสต้องเลือกว่าจะยิงจูเลียคนรักของเขาหรือไม่ ซึ่งเขาลังเล ไม่เลย นี่ไม่ใช่วิคเชียสในแอนิเมะ แถมก่อนหน้าฉากนี้เขายังพล่ามเพ้อว่ารักเธอมากแค่ไหน แต่วิคเชียสในแอนิเมะคือตัวละครที่เต็มไปด้วยบาดแผลจากการถูกหักหลัง มันคือจุดเปลี่ยนให้เขากลายเป็นคนเถื่อนดิบ เต็มไปด้วยความคลั่งแค้น วิคเชียสชัดเจนว่าไม่ใช่ตัวละครที่มีความโรแมนติกต่อจูเลียเลย และการที่ทั้งคู่มาคบกันก็เพื่อหลอกใช้ประโยชน์จากกันและกันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเขาถูกบังคับให้ต้องยิงจูเลียเพื่อทดสอบความภักดี เขาจะทำมันทันทีโดยไม่ต้องคิดเลย นั่นแหละคือสิ่งที่วิคเชียสเป็น เขาโยนทุกอารมณ์ความเป็นมนุษย์ทิ้งไปหมดแล้ว”

“การทำให้วิคเชียสมีบาดแผลร้ายลึกก็เพื่อจะปูทางไปสู่ฉากไคลแม็กซ์ในฉบับแอนิเมะ แล้วแม้แต่ตัวจูเลียที่ปรากฎในแอนิเมะไม่กี่ครั้ง แต่คนดูก็สามารถรับรู้ได้ถึงความซับซ้อนที่จูเลียเข้าใจความเจ็บปวดของวิคเชียส แต่ส่วนตัวผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในฉบับเน็ตฟลิกซ์ไม่ได้นำไปสู่อะไรนอกจาก ความรักน้ำเน่า จูเลียในแอนิเมะเจ้าเล่ห์ เห็นแก่ตัว แต่ก็เป็นผู้หญิงแกร่งซึ่งผมไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เลยในเวอร์ชั่นเน็ตฟลิกซ์”
“ถ้าจะให้ผมอธิบายประโยคเดียวสำหรับเวอร์ชั่นเน็ตฟลิกซ์คือ พวกเขาพยายามให้สิ่งต่าง ๆ พูดพล่ามตลอดเวลาในสิ่งที่ตัวละครจะไม่มีวันพูดออกมาเลยในฉบับแอนิเมะ…แต่ฉบับเน็ตฟลิกซ์ก็ทำให้ผมยิ่งชื่นชมความซับซ้อนของฉบับแอนิเมะมากขึ้นไปอีก ฉบับคนแสดงมีงานโปรดัคชั่นที่ดีมากก็จริง แต่พอได้ดูผมกลับคิดตลอดเวลาว่าบางอย่างมันไม่ถูกต้อง ตอนผมดูแอนิเมะครั้งแรกสมัยเป็นเด็กมัธยม มันเต็มไปด้วยตัวละครเฟี้ยว ๆ บทสนทนาเท่ ๆ ที่ได้อิทธิพลมาจากหนังฝรั่ง ทุกอย่างรวมกันทำให้รู้สึกว่า โคตรเจ๋งเลยว่ะ! มันเลยดูขัดแย้งนิดหน่อยเมื่อกลายเป็นฉบับฮอลลีวูดที่หลายอย่างหายไปเลยในชั้นบรรยากาศของเรื่อง”

ความเป็นมา

โปรเจ็คต์ Cowboy Bebop ผลิตโดยสตูดิโอแอนิเมชั่น Sunrise โดยทีมสร้างที่ใช้นามแฝงว่า Hajime Yatate (อันมาจากบทกวีของ มัตสึโอะ บาโช (1644-1694) คำว่า “ยาตาเตะ” หมายถึงชุดหมึกและพู่กัน ส่วน “ฮาจิเมะ” แปลว่า การเริ่มต้น) ที่มีผู้กำกับคือ ชินอิจิโร วาตานาเบะ โดยโปรเจ็คต์นี้เขาป็นผู้กำกับเดี่ยวครั้งแรก (หลังจากเคยกำกับร่วมใน Mobile Suit Gundam 0083: Stardust Memory ในปี1991และ Macross Plus ในปี1994)

เริ่มจากแผนกของเล่น Bandai สปอนเซอร์รายใหญ่วางแผนจะผลิตของเล่นยานอวกาศชิ้นใหม่ จึงมาเสนอให้ วาตานาเบะ สร้างผลงานแอนิเมะอย่างไรก็ได้ด้วยโจทย์ว่า “ขอให้มันมียานอวกาศอยู่ในเรื่อง” เขาเริ่มด้วยการวาดเมืองให้มีส่วนผสมระหว่าง นิวยอร์ก กับ ฮ่องกง แต่เมื่อพัฒนาเรื่องไปเรื่อย ๆ Bandai กลับรู้สึกว่าโปรเจ็คต์นี้ไม่น่าจะขายของเล่นได้จึงถอนตัว ก่อนที่ Bandai Visual จะเข้ามาเสียบแทน

ความต่างของรายหลังนี้คือไม่ได้คาดหวังจะขายพวกตัวต่อพลาสติก แต่ Bandai Visual เน้นผลิตหนัง วิดีโอ มังงะทีวี วิดีโอเกมส์ และเพลงประกอบเป็นหลัก ทำให้วาตานาเบะมีอิสระมากขึ้นในการผลิตผลงาน เนื่องจากเป้าหมายของเขาไม่ใช่แค่จะทำการ์ตูนสำหรับเด็ก แต่ต้องการเข้าถึงกลุ่มผู้ใหญ่ที่เข้าใจความซับซ้อนและมีประสบการณ์ชีวิตที่มากพอด้วย ระหว่างผลิตผลงานชิ้นนี้ วาตานาเบะบอกกับทีมทั้งหมดว่า “ผลงานชิ้นนี้จะเป็นที่จดจำไปอีก 3 ทศวรรษ” ขณะที่ในทีมบางคนสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ปัจจุบันมันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ครั้งหนึ่งวาตานาเบะให้สัมภาษณ์ติดตลกว่า “ไม่รู้ผมเอาความมั่นใจมาจากไหน แต่ถ้าตอนนั้น Bandai Visual ไม่ยื่นมือเข้ามา ป่านนี้ผมคงเป็นพนักงานเก็บตังค์ในร้านซูเปอร์มาเก็ตไปแล้ว”

ชื่อบีบ็อปก็ต้องมีเพลงบีบ็อป

วาตานาเบะ เลือก โยโกะ คันโนะ ที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน เธอเป็นนักแต่งเพลงแอนิเมชั่นหลายเรื่อง (ภายหลังเธอถูกเลือกให้ไปทำเพลงประกอบภาพยนตร์ของฮิโรคาซึ โคเรเอดะ ผู้กำกับรางวัลคานส์ ในหนังปี2015 เรื่อง Our Little Sister) แล้วด้วยความตั้งใจที่จะอิงเรื่องนี้กับสไตล์เพลงแจส หลายต่อหลายตอนกลายเป็นว่าเพลงแต่งออกมาก่อนจึงค่อยเล่าเรื่อง สร้างตัวละคร แต่วาตานาเบะก็สังเกตว่า คันโนะ ไม่ได้ทำตามโจทย์ที่เขาวางเอาไว้แต่แรก เขาเล่าว่า “เธอใช้ตัวเองเป็นแรงบันดาลใจ แล้วแต่งเพลงไปตามภาพในจินตนาการของเธอเอง พอแต่งเสร็จเธอก็จะกลับมาบอกว่า นี่แหละเพลงแบบที่ Cowboy Bebop ต้องการ” ส่วนคันโนะก็ยิ่งงงหนัก เพราะหลายครั้งที่วางแผนกันว่า เพลงจะโผล่มาตรงนั้นตรงนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าบ่อยครั้งเพลงมันดันไปโผล่ในจุดที่เธอไม่คาดคิดมาก่อน แต่เธอก็รู้สึกว่าไม่มีตอนไหนเลยที่ใช้เพลงของเธออย่างไม่เหมาะสม

วาตานาเบะเล่าต่อว่า “หลายต่อหลายครั้งผมได้แรงบันดาลใจจากเพลงของเธอ แต่ช่วงครึ่งหลังของแอนิเมะ เธอก็แต่งเพลงใหม่ ๆ ออกมาทั้งที่เราไม่ได้ขอ ซึ่งถ้าในการทำงานแบบมืออาชีพ สิ่งที่คันโนะทำถือเป็นการยอมรับไม่ได้และให้อภัยไม่ได้เลย แต่ในที่สุดกลายเป็นว่าเพลงพวกนั้นฮิตระเบิดไปเลย การทำงานระหว่างเราเลยเหมือนเกมเดาใจกันและกัน พอจบซีรีส์แอนิเมะ เธอได้ออก 7 อัลบัมเพลงประกอบ, 2 ซิงเกิล และอีก 2 เวอร์ชั่นขยาย กับอีก 2 อัลบัมรวม ทั้งหมดร่วม 13แผ่น” (ปัจจุบันยังมีเพิ่มเติมอีกทั้ง อัลบัมรีมิกซ์ อัลบัมแจมกับศิลปินอื่น อัลบัมคัฟเวอร์ ซิงเกิลการกุศล รวมถึงอัลบัมรวมฮิต และเป็นแผ่นไวนิลอิดิชั่นพิเศษในวาระครบ 20 ปี แถมล่าสุดยังมี เวอร์ชั่นประกอบเน็ตฟลิกซ์อีกด้วย)

ดังไกลจนกลายเป็นตำนาน

ระหว่างหนังไตรภาคที่ 2 ของ The Matrix: Reloaded (2003) ลงโรงฉายในเดือนพฤษภาคม แล้วปล่อยให้คนดูค้างเติ่งรอ Revolutions ภาคต่อไปที่จะมาในเดือนพฤศจิกายนปีนั้นเอง ในเดือนมิถุนายนคู่พี่น้องวาชอวสกี้ผู้กำกับก็ออกผลงานหนังสั้น 9 ตอน The Animatrix ที่คัดสรรมาแต่ยอดฝีมือด้านแอนิเมะและในบรรดานั้นมีอยู่ 2 ตอนคือ “Kid’s Story” กับ “A Detective Story” กำกับโดย ชินอิจิโร่ วาตานาเบะ

ไม่แค่นั้นในปี2017 เขายังได้รับเลือกให้กำกับหนังสั้น Blade Runner Black Out 2022 (2017) หนึ่งในหนังสั้น 3 เรื่องที่เป็นเหตุการณ์เล่าเชื่อมต่อระหว่าง Blade Runner (1982) เวอร์ชั่นของ ริดรีย์ สก็อต และ Blade Runner 2049 (2017) ของเดนิส วิลเลอเนิฟ อีกด้วย แถมล่าสุดยังขึ้นแท่นเป็นครีเอทีฟโปรดิวเซอร์ให้กับ ซีรีส์แอนิเมชั่น 13 ตอนที่ร่วมสร้างระหว่าง ญี่ปุ่น-อเมริกา ใน Blade Runner: Black Lotus (2021) ฉบับรุนแรงสุด ๆ ที่เพิ่งออนแอร์ไปเมื่อ 14 พฤศจิกายนนี้เองผ่านทางช่องสำหรับผู้ใหญ่ Adult Swim
คำถามคือทำไมหนังดัง ๆ ในตำนานเหล่านี้ถึงเลือก วาตานาเบะ นั่นก็เพราะ Cowboy Bebop ได้ไปฉายไกลถึงอเมริกาแถมยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแอนิเมะที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลอีกด้วย

แต่แอนิเมะไม่เคยฉายครบเลยในครั้งแรก

Cowboy Bebop เมื่อแรกฉายในญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ถึง 26 มิถุนายน 1998 ช่วงเวลาเด็กกลับจากโรงเรียนตอน 4 โมงเย็นพอดี ด้วยเหตุผลด้านความรุนแรง จากทั้งหมด 26 ตอน ฉบับแอนิเมะได้ออนแอร์แค่ 12 ตอนคือ 2, 3, 7-15 และ18 กับตอนพิเศษอีก 1 ตอน กระทั่งเดือนตุลาคมในปลายปีเดียวกันนั้นมันถึงเพิ่งได้ฉายครบทุกตอนเฉพาะทางช่องเคเบิลแบบจ่ายเงิน Wowwow จากนั้นก็ตระเวนไปฉายในแถบเอเชีย(ที่ส่วนใหญ่ไม่มีการเซ็นเซอร์ด้านความรุนแรง)

กระทั่งเดือนตุลาคมปี1999 แอนิเมะชุดนี้ก็ได้ฉายในอิตาลีเป็นประเทศนอกเอเชียเป็นครั้งแรก แต่ฉายในโปรแกรมดึกหลัง 3 ทุ่มสำหรับผู้ใหญ่ดูเท่านั้น จากนั้นก็ได้ไปฉายต่อในอเมริกาแต่จำกัดเฉพาะช่วง Adult Swim หรือโปรแกรมรอบดึกหลังเที่ยงคืนเฉพาะผู้ใหญ่ ตั้งแต่ 2 กันยายน 2001 แม้กระนั้นก็ตามทางช่องก็ยังตัดข้ามตอนที่ 6, 8 และ22 ออกไปอยู่ดี แต่คราวนี้ไม่ใช่ด้วยเหตุผลด้านความรุนแรงเท่านั้น แต่เพราะมันดันเป็นช่วงวินาศกรรม 9/11 ตึกเวิร์ลเทรดถล่ม ทางช่อง Cartoon Network เกรงว่าตอนเหล่านั้นจะส่งผลสะเทือนใจต่อผู้ชมชาวอเมริกันในช่วงนั้น กว่าที่มันจะได้ฉายครอบ 26 ตอน ต้องผ่านการรีรันไปในรอบที่ 3 แล้วจากนั้นมันก็ได้วนฉายซ้ำในอเมริกาอีก 4 ปี ระหว่างนั้นก็ไปฉายในช่องผู้ใหญ่ที่ฝั่งอังกฤษ ก่อนจะกลับมาสหรัฐที่นับตั้งแต่ปี 2007 มันก็ถูกเรียกร้องให้กลับมาฉายใหม่อย่างน้อยปีละ 1 รอบ กระทั่งมีการรีมาสเตอร์เป็นฉบับHDในปี2015 จากนั้นก็กระจายไปออสเตรเลีย ยุโรป

และเป็นไปดังที่ผู้กำกับคาดไว้ว่ามันจะดังไปอีก 3 ทศวรรษ นี่เพิ่งครบ 20 ปีไปไม่นาน ซีรีส์นี้มีทั้งฉบับเกมส์เพลย์ มังงะฉบับญี่ปุ่นที่วาดก่อนออนแอร์ และฉบับการ์ตูนฝรั่งที่เพิ่งมาวาดเพิ่มเมื่อไม่กี่ปีนี้ มีฉบับหนังลงโรงในชื่อ Cowboy Bebop: Knockin’ On Heaven’s Door (2001) และมีในเน็ตฟลิกซ์ที่ทั่วโลกสามารถดูได้ในปัจจุบัน กระทั่งถูกดัดแปลงเป็นฉบับคนแสดงในปีนี้เอง ภายใต้การพัฒนาโปรเจ็คต์และเขียนบท โดย คริสโตเฟอร์ ยอสต์ ผู้เขียนบท Thor: The Dark World (2013), Thor: Ragnarok (2017) และซีรีส์ The Mandalorian (2019)

กวาดรางวัลและคำชม

ตั้งแต่แรกเริ่มออนแอร์ในปี1989 นักวิจารณ์ชื่อดังชาวญี่ปุ่น คีธ รี กล่าวชื่นชมว่า “เป็นแอนิเมชั่นชุดที่โดดเด่นที่สุด โดยเฉพาะเพลงประกอบที่เปลี่ยนแวดวงเจ-ป๊อปที่เคยเหมือนเป็นแค่ไม้ประดับให้กลายเป็นเนื้อหาหลักของแอนิเมะ” / ในปี1999 นิตยสารออสเตรเลีย Hyper รีวิวเทคะแนนให้ 9.5 จาก 10 / Anime News Network เว็บข่าวในแคนาดา ให้เรต A+ และอวยว่า “เป็นหนึ่งในแอนิเมะที่ได้รับความนิยมและยกย่องอย่างล้นหลามที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นแอนิเมะที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ก้าวผ่านทุกแนวอย่างมีชั้นเชิง มีคุณภาพเทียบได้กับภาพยนตร์ เขียนบทซับซ้อน และดนตรีไพเราะเหลือเชื่อ นับเป็นหมุดหมายที่ผู้ชมจะยังคงจดจำหลังจากอีกหลายเรื่องถูกลืมไปแล้ว เป็นหนึ่งในแอนิเมะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล และสำคัญที่สุดแห่งยุค90s” / THEM เว็บรีวิวแอนิเมะให้คะแนนเต็ม 5 ดาว และกล่าวว่า

“เป็นแอนิเมะที่ทำให้หนังฮอลลีวูดอับอาย เป็นสิ่งหายากและน่าตะลึงอย่างมากที่ได้ดู เหนือความยอดเยี่ยมทั้งโครงเรื่องซับซ้อนละเอียดอ่อน ที่มาพร้อมธีมเพลงที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

นอกจากนั้นยังกวาดรางวัลกรังปรีซ์ 2 ปีซ้อนทั้งปี 1998 และ1999 ร่วมถึง สไปค์ สปีเกล และเฟย์ วาเลนไทน์ คือตัวละครนำชายและหญิงยอดเยี่ยมทั้ง 2 ปีซ้อน เช่นกันกับเพลงประกอบ และนักพากย์ เมกุมิ ฮายาชิบาระ ในบทเฟย์ / ปี2004 นิตยสาร Newtype US โหวตให้ Cowboy Bebop เป็นอันดับ 2 (รองจาก Neon Genesis Evangelion) อีกทั้งเป็นหนึ่งในซีรีส์แอนิเมะที่มีความเชื่อมโยงกับสังคม และทรงอิทธิพลมากที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา / ในปีเดียวกันนั้น Cinefantastique นิตยสารแนวไซ-ไฟ สยองขวัญ และแฟนตาซี ลิสต์ให้เป็น 1 ใน 10 แอนิเมชั่นที่สำคัญที่สุด พร้อมระบุว่า “เป็นการผสมผสานที่ลงตัวที่สุดระหว่างแนวนัวร์ วัฒนธรรมและดนตรี” / ปี2007 Anime Insider ของอเมริกายกให้เป็นอันดับหนึ่งตลอดกาลของ 50 แอนิเมะที่ดีที่สุดตลอดกาล / ปี2011 เพลงประกอบเรื่องนี้ยังถูกยกเป็นอันดับ1 ตลอดกาลของเพลงประกอบแอนิเมชั่น และ สไปค์ สปีเกล ถูกจัดในอันดับ 4 จาก 25 ตัวละครแอนิเมะยอดนิยมตลอดกาล

ไรอัน จอห์นสัน ผู้กำกับซีรีส์เยี่ยมอย่าง Breaking Bad (2010-2013), หนังนีโอนัวร์สุดกระแทกใจ Brick (2005), หนังไซ-ไฟไอเดียล้ำ Looper (2012), หนังไซ-ไฟแฝงปรัชญา Star Wars: The Last Jedi (2017)และสุดยอดหนังหักมุมชิงออสการ์ Knives Out (2019) ให้สัมภาษณ์ว่า “Cowboy Bebop มีอิทธิพลต่อเขาอย่างมากในการเขียนบทและกำกับ”

FYI สไปค์ อาจเป็นญาติกับ โคนัน

ตอนเขียนโครงเรื่องแอนิเมะ Cowboy Bebop วาตานาเบะได้แรงบันดาลใจมาจาก Lupin the Third (มังงะ1967-1969 และ1977-1981) ที่เล่าถึงหลานรุ่นที่ 3 ของ ลูแปง (1905) จอมโจรผู้ยิ่งใหญ่จากนิยายฝรั่งเศส โดย มัวไรซ์ เลอบรานซ์ และวาด สไปค์ สปีเกล ขึ้นมาจากเค้าโครงหน้า ผมเผ้ายุ่งเหยิง กับบุคลิกและการแต่งตัวแบบนักแสดง ยูสุเกะ มัตสึดะ ผู้รับบทนักสืบ ชุนซากุ คุโด ใน Detective Story (ซีรีส์ปี 1979-1980) ตัวละครที่ในการ์ตูนเฟรนไชส์ Detective Conan เล่าว่าพระเอก โคนัน เอ็นโดงาวะ (มาจากชื่อ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ผู้เขียน เชอร์ล็อค โฮมส์ รวมกับ แรมโป เอ็นโดงาวะ นักเขียนแนวลึกลับ สืบสวนชาวญี่ปุ่น) มีชื่อจริงว่า ชินอิจิ คุโด ที่ผู้แต่งโคนันอิงมาจาก นักสืบชุนซากุ คุโด

FYI Cowboy Bebop VS City Hunter

สิ่งนี้ไม่เคยมีคำตอบ แต่หลายชาวเน็ตตั้งคำถามว่าเหตุใดตัวละครใน Cowboy Bebop (1998) ช่างมีความคล้ายคลึงในหลายแง่มุมกับ City Hunter (1985) มังงะแอนิเมะสุดคลาสสิคอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะถ้าเอาตัวละครหลักทั้งหมดมาเทียบกัน นอกจากจะมีบุคลิกคล้ายกันแล้ว ทั้งคู่ยังจบแบบไม่แฮปปี้เหมือนกันอีก รวมถึง City Hunter ยังมีเพลงประกอบแนวแจสเจ๋ง ๆ รวมกันมากถึง 13 อัลบัมด้วย

สปอยล์

ฉากจบจุกจี๊ดในฉบับแอนิเมะ เล่าเรื่องตาขวาของ สไปค์ ที่เป็นชีวจักรกลและมีความสามารถมองเห็นอดีต ทำให้ฉากจบ สไปค์ มองเห็น จูเลีย จากไปด้วยตาซ้ายอันเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ตาขวาของเขาเห็นภาพย้อนกลับไปในอดีต ขณะที่คนดูไม่แน่ใจในสิ่งที่เห็นว่าตกลงแล้ว สไปค์ ยังมีชีวิตอยู่หรือแค่ฝันไป

เมื่อปี 2013 ผู้กำกับฉบับแอนิเมะ ชินอิจิโร วาตานะเบะ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมอยากให้ผู้ชมตีความเอาเองตามแต่คนดูปรารถนา แค่เพราะว่าผมใส่บางอย่างลงไปไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเชื่อตามที่เห็น แล้วถ้าผมพูดเจาะจงว่ามันคืออย่างไหนกันแน่ มันก็จะกลายเป็นคำตอบอย่างเป็นทางการ ซึ่งผมหลีกเลี่ยงตลอดมาที่จะตอบ เพราะมันจะไม่เหลืออะไรให้ผู้คนได้ขบคิด ในอดีตผู้คนดูผลงานของผมแล้วโต้ตอบผมด้วยไอเดียที่เหนือชั้นกว่าเรื่องราวที่ผมคิดเอาไว้ก็มี ดังนั้นผมคิดว่าเป็นการดีกว่าที่จะปล่อยให้ผู้คนได้ใช้จินตนาการของพวกเขาเอง”

หากใครดูทั้ง 2 ฉบับจบแล้ว เทียบกันเฉพาะฉากจบที่ไม่เหมือนกันก็พอ ฉบับไหนมีความ “บีบ็อป” มากกว่ากัน