ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน WTO สงครามรัสเซีย – ยูเครน กับความมั่นคงอาหาร-ผลกระทบการค้าโลก

รายงาน WTO สงครามรัสเซีย – ยูเครน กับความมั่นคงอาหาร-ผลกระทบการค้าโลก

22 เมษายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.wto.org/english/res_e/booksp_e/imparctukraine422_e.pdf

นับจากประวัติศาสตร์ สงครามเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การผลิตด้านการเกษตรชะงักงันมาตลอด แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีผลกระทบทั้งต่อตลาดสินค้าเกษตรทั่วโลก และต่อความมั่นคงด้านอาหาร เพราะทั้งสองประเทศเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตสินค้าเกษตร สงครามที่ดำเนินมานาน 8 สัปดาห์จึงส่งผลกระทบชัดเจนในหลายด้าน

สงครามทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของยูเครนชะงักลงไป การเพาะปลูกในอนาคตก็มีปัญหาไม่แน่นอน สินค้าเกษตรในตลาดโลกราคาพุ่งสูงขึ้น ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากคือประเทศที่อาศัยการส่งออกสินค้าเกษตรและปุ๋ยจากรัสเซียและยูเครน ในอดีต โลกเราเคยประสบปัญหาอุปทานสินค้าเกษตรขาดแคลนมาหลายครั้ง ทำให้ราคาสูงขึ้น แต่ในครั้งนี้ สงครามในยูเครนทำให้เกิดการชะงักงัน 2 ด้านพร้อมกัน คือตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวสาลีและน้ำมันพืช และปัจจัยการผลิตด้านการเกษตร คือปุ๋ย

บริบททางยุทธศาสตร์

รายงานที่เพิ่งเปิดเผยขององค์การการค้าโลก (WTO) ชื่อ The Crisis in Ukraine กล่าวว่า สงครามในยูเครนเป็นสิ่งที่อันตราย และทำให้เกิดต้นทุนที่สูงแก่โลกเรา เป็นปัจจัยสร้างความเปราะบางแก่เศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น จากปัญหาที่มีอยู่แล้ว คือการแพร่ระบาดของโควิด-19

กรณีของยูเครน ความเสียหายต่อเศรษฐกิจและชีวิตประชากรสูงมาก รายงานขององค์การ UNDP ระบุถึงการคาดกการณ์ของรัฐบาลยูเครนว่า โครงสร้างพื้นฐานและสินทรัพย์ทางวัตถุถูกทำลายไปเป็นมูลค่ากว่า 100 พันล้านดอลลาร์ UNDP ก็ประเมินว่า ธุรกิจของยูเครนปิดตายไปแล้วกว่า 50% หากสงครามดำเนินไปนานมากขึ้น ประชากรถึง 90% จะเผชิญกับความยากจน นักเศรษฐศาสตร์ของ WTO ประเมินเบื้องต้นว่า GDP ของยูเครนในปี 2022 จะติดลบ 25%

ที่มาภาพ : https://www.npr.org/sections/pictureshow/2022/04/04/1090784495/photos-russian-attacks-leave-catastrophic-scenes-as-many-flee-or-are-displaced

ผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตร

รัสเซียและยูเครนมีบทบาทไม่มากต่อเศรษฐกิจโลก ยกเว้นในบางสาขาของเศรษฐกิจที่สำคัญ การส่งออกสินค้าของรัสเซียมีสัดส่วน 2.2% ของโลก และ GDP มีสัดส่วน 1.7% ของโลก ส่วนการส่งออกสินค้าของยูเครนมีสัดส่วน 0.3% และ GDP มีสัดส่วน 0.2% ทั้งสองประเทศทำการค้าหลักกับยุโรปและเอเชีย

รายงานของ WTO ระบุว่า ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และผลิตภัณฑ์ดอกทานตะวัน แต่สงครามทำให้การส่งออกผ่านท่าเรือทางทะเลดำเกิดการชะงักงันมาก แอฟริกาและตะวันออกกลางมีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะการนำเข้าธัญพืชกว่า 50% มาจากรัสเซียและยูเครน หากไม่มีการหยุดยิง ชาวนายูเครนจะไม่สามารถกลับไปเพราะปลูกในฤดูใบไม้ผลิ ผลผลิตในอนาคตก็จะลดลงมาก

ราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ เช่น ข้าวสาลี เพิ่มขึ้น 25-30% และถั่วเหลือง 35% จะกระทบต่อประเทศที่นำเข้าสุทธิสินค้าอาหาร โดยเฉพาะประเทศรายได้ต่ำ สำหรับประเทศเหล่านี้ อาหารและพลังงานมีสัดส่วนที่มากในตะกร้าการบริโภคทั้งหมดของประเทศ รวมทั้งครอบครัวคนยากจนในประเทศเหล่านี้

สินค้าอาหารอื่นๆ ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนไม่ได้ส่งออกก็มีราคาพุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะเป็นสินค้าที่สามารถทดแทนธัญพืชของรัสเซียและยูเครน เช่น นับจากต้นปี 2022 ข้าวมีราคาเพิ่มขึ้น 12% ผลกระทบที่มีต่อภาคการเกษตรที่กว้างขวาง คือ ราคาปุ๋ยพุ่งสูงขึ้น เพราะรัสเซียเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่สุด มีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 15% รัสเซียประกาศว่าจะระงับการส่งออกปุ๋ย แต่ไม่ชัดเจนว่าใช้กับทุกประเทศ หรือว่าเฉพาะประเทศที่คัดค้านสงครามยูเครน ส่วนข้าวโพดและข้าวบาร์เลย์ใช้เป็นอาหารสัตว์เป็นส่วนใหญ่ จึงไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร

ที่มาภาพ : https://www.wto.org/english/res_e/booksp_e/imparctukraine422_e.pdf
ที่มาภาพ : https://www.wto.org/english/res_e/booksp_e/imparctukraine422_e.pdf

ปริมาณปุ๋ยที่ลดลงในตลาดโลก จะกระทบต่อเกษตรกร เพราะปริมาณและคุณภาพของผลผลิตจะลดน้อยลง นอกจากนี้ นับจากต้นปี 2022 ราคาปุ๋ยเริ่มพุ่งสูงขึ้น เพราะพลังงานมีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมี การส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซีย มีส่วนแบ่ง 9.4% การส่งออกของโลก ส่วนการส่งออกก๊าซธรรมชาติ มีส่วนแบ่ง 20% ของโลก

โดยสรุป ภาวะหยุดชะงักในตลาดสินค้าอาหาร จะมีผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก โดยเฉพาะราคาที่สูงขึ้นของธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมัน ตัวอย่างจากอาหรับสปริงแสดงให้เห็นว่า ราคาอาหารที่พุ่งขึ้น ทำให้เกิดการไร้เสถียรภาพทางการเมือง

ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม

รัสเซียและยูเครนยังเป็นซัพพลายเออร์ที่สำคัญบางอย่างในเรื่องห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม การส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าของรัสเซีย มีสัดส่วน 4.6% ของโลก ส่วนการส่งออกเหล็กกล้าของยูเครนมีสัดส่วน 2.2% ของโลก

รอยเตอร์รายงานว่า บริษัทรถยนต์มีโรงงานผลิตชิ้นส่วน 38 แห่งในยูเครน แต่นับจากเกิดวิกฤติ โรงงานการผลิตในยูเครนก็ปิดลง ระบบการขนส่งก็หยุดชะงักลงไป เรือบรรทุกสินค้าหันเหออกจากท่าเรือในยูเครนไปประเทศอื่นแทน เพราะความเสี่ยงมากขึ้น

แต่การส่งออกวัตถุดิบอาจมีสภาพแตกต่างออกไป โดยเฉพาะแร่โลหะใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และเซมิคอนดักเตอร์ รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่แพลเลเดียม (palladium) รายใหญ่สุด ที่ใช้ผลิตเครื่องฟอกท่อไอเสียรถยนต์ (catalytic converter) โดยครองตลาด 43% ในสหรัฐฯ 45% ในญี่ปุ่น และ 38% ในเกาหลีใต้ และ 26% ในเยอรมัน การหยุดชะงักด้านซัพพลายของแร่โลหะแพลเลเดียม จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากการปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์

ที่มาภาพ : https://www.wto.org/english/res_e/booksp_e/imparctukraine422_e.pdf

ผลกระทบจากการคว่ำบาตรรัสเซีย

รายงาน The Crisis in Ukraine กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรรัสเซียว่า การคว่ำบาตรทางการเงิน เช่น ขัดขวางการที่รัสเซียจะใช้เงินตราต่างสำรอง หรือการห้ามธนาคารรัสเซียบางแห่งมีธุรกรรมกับระบบการชำระเงิน SWIFT ทำให้ค่าเงินรูเบิลตกลงอย่างหนัก ซึ่งนัยก็คือ การที่กำลังซื้อของเงินสกุลรูเบิลลดต่ำลง

J.P. Morgan คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจรัสเซียจะ -7% ในปี 2022 เพราะฉะนั้น การคว่ำบาตรจะสร้างภาระอย่างมากแก่ครัวเรือนคนรัสเซีย บางประเทศเริ่มใช้มาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย ซึ่งผลกระทบยังไม่ชัดเจน เพราะการส่งออกอาจหันไปตลาดอื่นแทน ทำให้ไม่กระทบมากต่อปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลก ในระยะยาว การเพิ่มการผลิตพลังงานจากประเทศอื่นสามารถชดเชยได้ รวมทั้งการอาศัยแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

ธนาคาร Sberbank และ Gazprom ของรัสเซียยังไม่ถูกห้ามการเข้าร่วมในระบบ SWIFT ทำให้ยังสามารถทำธุรกรรมการเงินในเรื่องการส่งออกพลังงานของรัสเซีย บริษัทรัสเซียยังสามารถใช้ระบบการชำระเงินของจีนที่เรียกว่า China’s Cross-Border Interbank Payment System (CIPS) แต่เป็นระบบการชำระเงินด้วยเงินหยวน ส่วนคนรัสเซียทั่วไป สามารถใช้บริการธุรกิจโอนเงิน แต่มีค่าใช้จ่ายมาก และไม่สามารถโอนเงินจำนวนมาก และรัสเซียสามารถหันไปใช้ระบบการค้าต่างตอบแทน

ในเรื่องการคว่ำบาตรทางการค้า บางประเทศเสนอให้มีการยกเลิกสิทธิพิเศษของรัสเซีย จากฐานะชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง หรือ MFN (most-favored-nation) จุดนี้ยังไม่ชัดเจนว่า สินค้านำเข้าจากรัสเซียจะถูกเก็บภาษีในอัตราเท่าใด ปัจจุบัน สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าจากเกาหลีเหนือในอัตรา 37% หากเป็นอัตรา MFN จะอยู่ที่ 4%

สำหรับการแก้ปัญหาผลกระทบจากสงคราม ที่มีต่อการความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลกนั้น International Food Policy Research Institute เสนอว่า การคว่ำบาตรทางการค้าและการเงินต่อรัสเซีย จะต้องยังคงยกเว้นกับผลิตภัณฑ์อาหารและปุ๋ย สินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของการส่งออกทั้งหมดของรัสเซีย หากทำการคว่ำบาตรกับสินค้าดังกล่าว จะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก

เอกสารประกอบ
The Crisis in Ukraine: Implications of the war for global trade and development, World Trade Organization, 2022.