ThaiPublica > เกาะกระแส > ทุนนิยมที่ลงทุนทางสังคม ทำให้ฟินแลนด์ เป็นชาติมีความสุขมากที่สุดของโลกปี 2022

ทุนนิยมที่ลงทุนทางสังคม ทำให้ฟินแลนด์ เป็นชาติมีความสุขมากที่สุดของโลกปี 2022

9 เมษายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://mobile.twitter.com/happinessrpt/with_replies

เว็บไซต์ cnn.com รายงานผลการจัดอันดับของ World Happiness Report เรื่อง ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดของโลกปี 2022 ปรากฎว่า อันดับ 1 ได้แก่ ฟินแลนด์ ที่ครองอันดับ 1 นานติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 นอกจากนี้ ใน 10 อันดับแรก มีประเทศแถบสแกนดิเนเวียอีก 4 ประเทศ คือ เดนมาร์ก (2) ไอซ์แลนด์ (3) สวีเดน (7) และนอร์เวย์ (8)

ฟินแลนด์ครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนนรวม 7.8 จากทั้งหมด 10 คะแนน รายงานนี้กล่าวว่า ความสำเร็จของฟินแลนด์มาจาก ความรู้สึกเชื่อมั่นของประชาชน จากการได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากชุมชน และความไว้วาจใจกันและกันของประชาชน ที่ช่วยให้ประเทศโดยรวม สามารถแล่นไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อองค์กรรัฐ และมีความเหลื่อมล้ำต่ำ อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ก็มีน้อย

ประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้และทะเลสาบกว้างใหญ่ ยังมีชื่อเสียงเรื่องการบริการของรัฐ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐมีสูงอาชญากรรมมีอัตราต่ำ รวมทั้งความเหลื่อมล้ำ หนังสือพิมพ์ The Helsinki Times เขียนไว้ว่า “ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฟินแลนด์แตกต่างไปจากประเทศตะวันตกอื่นๆ คือความเท่าเทียมกัน สิ่งนี้กลายเป็นการให้โอกาสแก่คนทุกคน ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมอย่างไร แม้แต่คนยากจนที่สุด ก็ได้รับการศึกษา และบริการสาธารณสุขที่ดีที่สุด”

ที่มาภาพ : https://finland.fi/life-society/facts-and-feelings-do-taxes-make-finnish-people-happy/

สังคมที่ประสบความสำเร็จ

หนังสือ Social Democratic Capitalism (2020) เขียนไว้ว่า ประเทศ ก็เหมือนตัวบุคคล การมีฐานะมั่งคั่งย่อมดีกว่ายากจน ประเทศมั่งคั่งมักเป็นประชาธิปไตย รัฐมีโครงการที่ช่วยปกป้องการดำรงชีวิตของประชาชน จากแรงกระทบของปัจจัยภายนอก ส่งเสริมความสามารถ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนด้อยโอกาส ประชาชนในประเทศที่มีฐานะมั่งคั่ง จึงรู้สึกว่าตัวเองมั่นคง มีการศึกษาที่ดี มีสุขภาพที่ดี เป็นอิสระ และมีความสุข

แม้ว่า 20 ประเทศที่มั่งคั่งของโลกเรา จะมีความแตกต่างกัน แต่ประสบการณ์จากประเทศเหล่านี้ ช่วยให้มองเห็นว่า สถาบันและนโยบายที่ส่งเสริมความสำเร็จของคนภายในประเทศคืออะไร สังคมที่ประสบความสำเร็จมากสุดจะมีปัจจัยสำคัญที่ประกอบด้วย ระบบทุนนิยม ระบอบการเมืองประชาธิปไตย การศึกษาที่ดีในระดับมัธยมต้นและปลาย การมีระบบรัฐสวัสดิการที่กว้างขวาง บริการรัฐที่ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน และมีกฎเกณฑ์ควบคุมตลาดแรงงานระดับกลางๆ

Lane Kenworthy ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เรียกลักษณะของมาตรการและนโยบายดังกล่าวนี้ว่า “ทุนนิยมสังคมประชาธิปไตย” (social democratic capitalism) หรือ “ทุนนิยมที่ลงทุนทางสังคม” (social investment capitalism) ระบบนี้ช่วยปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่มีฐานะเศรษฐกิจขัดสน ส่งเสริมประชาชนให้มีความมั่งคงทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางโอกาส ประเทศที่นำนโยบายเหล่านี้ไปใช้ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน

ที่มาภาพ : https://toolbox.finland.fi/life-society/story-finland-100/

ผลพวงที่มาจากความมั่งคั่ง

Social Democratic Capitalism กล่าวว่า เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้สังคมมั่งคั่งมากขึ้น ความมั่งคั่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 อย่าง

ประการแรก ประชาชนมีแนวโน้มไม่ชอบการสูญเสีย ยิ่งมีรายได้มากขึ้น ประชาชนยิ่งยินดีที่จะซื้อประกันความเสี่ยง เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด แต่การประกันบางอย่าง เช่น ประกันรายได้เมื่ออายุมาก รัฐบาลจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่จะให้หลักประกันในด้านนี้ เช่น เยอรมันมีระบบบำนาญแก่คนสูงอายุตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1800

รัฐบาลยังมีบทบาทสำคัญในเรื่องการประกันสุขภาพแก่ประชาชน เมื่อประเทศมั่งคั่งมากขึ้น งบประมาณประกันสุขภาพก็จะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งงบด้านการศึกษาแก่นักเรียนชั้นมัธยม รัฐบาลยังดำเนินนโยบายหลักประกันในเรื่องการว่างงาน การเจ็บป่วย และการทุพลภาพ นโยบายการเคหะ การฝึกอบรมแรงงาน หรือบริการสาธารณสุขที่ทั่วถึง ดังนั้น ยิ่งประเทศมีฐานะร่ำรวยมากขึ้น รัฐสวัสดิการก็จะเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย

ประการที่ 2 เมื่อประเทศมั่งคั่งมากขึ้น ประชาชนจะต้องการสังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น การสำรวจประชามติพบว่า เมื่อคนเรามีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี ก็จะมีความต้องการด้านสิทธิพื้นฐานทางการเมือง และมีค่านิยมมนุษยธรรมสากล เช่น การที่คนเราทุกคนจะมีสิทธิ มีโอกาส และได้รับการยอมรับ อย่างเสมอภาคกัน

ประการที่ 3 ผลพวกตามมาจากความมั่งคั่งของสังคมคือ การให้ความสำคัญแก่เสรีภาพของบุคคล คนเราแต่ละคนต้องการมีเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่ตัวเองเชื่อ มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต เสรีภาพที่จะมีชีวิตอยู่กับใคร เป็นต้น เมื่อความมั่งคั่งทางวัตถุเพิ่มขึ้น ความประสงค์เรื่องเสรีภาพจะเป็นเรื่องที่สำคัญ

ที่มาภาพ : https://toolbox.finland.fi/themes/functionality-and-wellbeing/

ทุนนิยมที่ลงทุนทางสังคม

ประเทศประชาธิปไตยที่มีฐานะมั่งคั่ง โดยทั่วไป จะมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือการเมืองระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจทุนนิยม และระบบการศึกษาระดับมัธยมที่มีคุณภาพ แต่ทุนนิยมสังคมประชาธิปไตย มีจุดเด่นที่แตกต่างออกไปคือ ระบบรัฐสวัสดิการที่กว้างขวาง งานบริการของรัฐที่ส่งเสริมการมีงานทำของประชาชน และความยึดหยุ่นในการกำกับดูแลตลาดแรงงาน

หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบทุนนิยมที่ลงทุนทางสังคม คือ บทบาทงานบริการของรัฐ ที่ส่งเสริมการมีงานทำเต็มที่ของประชาชน (full employment) สวีเดนมีนโยบายนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เช่นโครงการของรัฐในเรื่องการฝีกอบรมทักษะใหม่ การฝึกทักษะสำหรับแรงงานทดแทน โครงการส่งเสริมการจ้างงานเหล่านี้ ทำให้สตรีเข้าสู่การมีงานทำมากขึ้น สิ่งนี้ช่วยทำให้คนในสังคมมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และชีวิตมีความสุข

Social Democratic Capitalism อ้างความเห็นของ John Rawls นักปรัชญาการเมืองที่มีชื่อของอเมริกา ที่เขียนไว้ในหนังสือ A Theory of Justice ว่า องค์ประกอบสำคัญที่เราพึงประสงค์ให้มีอยู่ในสังคมที่ดีคือ (1) เสรีภาพพื้นฐาน (2) ความเท่าเทียมทางโอกาส และ (3) มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคนที่ฐานะต่ำต้อย แนวคิดทุนนิยมสังคมประชาธิปไตย จึงเป็นระบบที่สร้างขึ้นมา เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้

ในเรื่องของความสุข คนที่คัดค้านโมเดลทุนนิยมสังคมประชาธิปไตย มักจะหยิบยกกรณีการฆ่าตัวตายในอัตราที่สูงของประเทศสแกนดิเนเวีย สิ่งนี้สะท้อนความไม่พอใจของคนต่อสภาพสังคมแบบรวมหมู่มากเกินไป ขาดความเป็นอิสระของปัจเจกชน ในอดีต การฆ่าตัวตายมีอัตราที่สูงในเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และสวีเดน แต่ปัจจุบันมีอัตราระดับกลางของประเทศที่ร่ำรวย สะท้อนให้เห็นว่า การเกี่ยวพันมีอยู่ไม่มาก ระหว่างนโยบายสังคมประชาธิปไตยกับอัตราการฆ่าตัวตาย เพราะว่าอาจจะมาจากปัจจัยอื่น เช่น ภาวะอากาศหนาวรุนแรง และเวลากลางคืนที่ยาวนานในฤดูหนาว

ที่มาภาพ
: dreamstime.com

นโยบาย “รายได้พื้นฐานแก่ทุกคน”

แนวคิด “รายได้พื้นฐานแก่ทุกคน (Universal Basic Income – UBI) คือแนวคิดที่รัฐจ่ายเงินแบบประจำให้แก่สมาชิกทุกคนในสังคม โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องการทำงาน แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งจากฝ่ายขาวและฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาเห็นว่า รัฐสามารถลดรายจ่ายการบริหารโครงการสวัสดิการของรัฐบาลไป ส่วนฝ่ายก้าวหน้ามองว่า ทำให้คนเรามีอิสระภาพมากขึ้น

หลักเกณฑ์ของ UBI คือ การแจกเงินให้กับประชาชนมูลค่าราว 1 ใน 4 ของรายได้ต่อคนตาม GDP ดังนั้น ในกรณีของสหรัฐฯ ก็หมายความว่า คนอเมริกันจะได้รับเงินตามโครงการ UBI ปีหนึ่ง 15,000 ดอลลาร์

Social Democratic Capitalism กล่าวว่า ณ เวลานี้ แนวคิด UBI ยังไม่เหมาะสำหรับประเทศพัฒนาและร่ำรวยแล้ว แต่ในอนาคต เมื่อปัญญาประดิษฐ์พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น จนมาถึงจุดที่หุ่นยนต์สามารถทำงานบริการที่ซับซ้อนแทนคนเราได้ และผู้บริโภคก็ยอมรับการทำงานของหุ่นยนต์ ในสภาพดังกล่าว งานสำหรับคนเราอาจมีน้อยลง รายได้พื้นฐานแก่ทุกคนอาจกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา

แต่ ณ เวลานี้ ยังไม่ควรเปลี่ยนไปสู่ระบบรายได้พื้นฐานแก่ทุกคน เพราะเรารู้ว่า ผลพวงของนโยบายสังคมประชาธิปไตย ปรากฏออกมาดีมาก ส่วนผลลัพธ์ของนโยบายรายได้พื้นฐานแก่ทุกคน ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แค่หากว่าสังคมสมัยใหม่มาถึงจุดที่ ปัญญาประดิษฐ์ทำให้เกิดการว่างงานอย่างกว้างขวาง สังคมเราอาจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องใช้นโยบาย “รายได้พื้นฐานแก่ทุกคน”

เอกสารประกอบ
World happiest country for 2022 is revealed. cnn.com
Social Democratic Capitalism, Lane Kenworthy. Oxford University Press, 2020.
World Happiness Report 2022, worldhappiness.report