ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. เผยผลการศึกษา “เงินเฟ้อไทยมาจากไหนกันแน่” โต้แนวคิด “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร”

ธปท. เผยผลการศึกษา “เงินเฟ้อไทยมาจากไหนกันแน่” โต้แนวคิด “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร”

30 สิงหาคม 2012


ประเด็นความเห็นต่างเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินระหว่าง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท. (กกท.) กำลังเป็นประเด็นร้อนที่อาจสร้างความขัดแย้งใน ธปท. โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งรองผู้ว่าการ ธปท. ที่จะว่างลง 2 ตำแหน่ง ในสิ้นเดือนกันยายน 2555 นี้

เนื่องจาก นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพนโยบายการเงิน เกษียณอายุ 60 ปี และนายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ รองผู้ว่าการด้านบริหาร ที่ลาออกก่อนเกษียณ 1 ปี เพื่อไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แทนผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝากคนปัจจุบัน ที่จะหมดวาระการปฏิบัติงานในวันที่ 1 กันยายน 2555

ทั้งสองตำแหน่งมีความสำคัญเพราะเป็นกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วย นั่นหมายความว่า ถ้าคณะกรรมการ ธปท. ตอบ “No” กับรายชื่อคนในที่ ดร.ประสารเสนอให้พิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ ธปท. ในวันที่ 30 สิงหาคม นี้ ตำแหน่งรองผู้ว่าการ ธปท. ที่ว่างอยู่อาจตกเป็นของคนนอกที่คิดต่างจาก ธปท. ที่สำคัญจะได้นั่งเป็นกรรมการนโยบายการเงินด้วย หากเป็นตามนั้น แม้ ดร.วีรพงษ์จะเปลี่ยนความคิดคนใน ธปท. ไม่ได้ แต่อาจเปลี่ยนแนวทางนโยบายการเงินก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเห็นต่างของผู้ว่า ธปท. กับประธานคณะกรรมการ ธปท. เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ในเชิงวิชาการ ว่าแนวคิดการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับไทย ควรเป็นอย่างที่ ดร.วีรพงษ์บอกว่า “นโยบายการเงินแบบกำหนดกรอบเงินเฟ้อ “ใช้ไม่ได้” แล้ว หรือไม่

เนื่องจากประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด และเงินเฟ้อไทยมาจากปัจจัยด้านอุปทานและมาจากต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันแพง ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของนโยบายการเงินที่จะควบคุมได้

หรือควรเป็นอย่างที่ ดร.ประสารชี้แจงว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ธปท. ดำเนินการมากว่า 10 ปี ยังใช้ได้และเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย

จากปมเรื่องนี้ ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธปท. โดย นางสาวโชติมา สิทธิชัยวิเศษ, นางสาววรารัตน์ เขมังกรณ์ และนายอธิพงษ์ สายแก้ว ได้ทำการศึกษาและนำเสนอเป็นบทความวิชาการชื่อ “เงินเฟ้อไทยมาจากไหนกันแน่” เพื่อตอบข้อสงสัยดังกล่าว

สาระสำคัญของการศึกษาระบุว่า ปัจจัยที่กำหนดเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่มาผ่านมา มาจากเงินเฟ้อคาดการณ์ และอุปสงค์ส่วนเกินในประเทศ ซึ่งปัจจัยทั้งสองรวมกันมีน้ำหนักถึงร้อยละ 70 ขณะที่ปัจจัยด้านอุปทานมีผลประมาณร้อยละ 20-40

เงินเฟ้อไทย
ที่มา: ธปท.

ผลการศึกษายังพบว่า แม้ปัจจัยด้านอุปทาน เช่น จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นบางช่วง แต่ผลก็หมดไปอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 ไตรมาส และแทบจะไม่เคย “หล่อเลี้ยง” ให้เงินเฟ้อค้างอยู่ได้นาน ดังนั้น ผลของปัจจัยด้านอุปทานจึงมีเพียงพอประมาณเท่านั้น ไม่ได้มากที่สุดอย่างที่เราอาจรู้สึก

ขณะที่เงินเฟ้อที่มาจากการคาดการณ์ของผู้คนและปัจจัยด้านอุปสงค์นี้ แม้จะไม่สร้างผลรุนแรงทันทีเหมือนเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปทาน แต่กลับน่ากลัวกว่า เพราะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคน จนวกกลับมาสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและ “หล่อเลี้ยง” ให้ค้างอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และหากมีปัจจัยด้านอุปทานมากระทบ ผลต่อเงินเฟ้อก็จะไม่หมดไปอย่างรวดเร็วเหมือนเคย ถึงตอนนั้นประชาชนจะเดือดร้อน ธุรกิจจะไม่ลงทุน และ กระทบถึงความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศด้วย

บทสรุปของผลการศึกษานี้คือ “แม้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยด้านอุปทานและราคาในตลาดโลกจะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก แต่แท้จริงแล้วเงินเฟ้อไทยส่วนใหญ่มาจากปัจจัยที่นโยบายการเงินมีหน้าที่ดูแลโดยตรง”

บทความ “เงินเฟ้อไทยมาจากไหนกันแน่” ฉบับเต็ม