ThaiPublica > เกาะกระแส > “บรรยง พงษ์พานิช” ชี้เมื่อประเทศไทยตกยุค สอบตกโจทย์ ‘มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน’ … แล้วจะไปต่ออย่างไร?

“บรรยง พงษ์พานิช” ชี้เมื่อประเทศไทยตกยุค สอบตกโจทย์ ‘มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน’ … แล้วจะไปต่ออย่างไร?

3 เมษายน 2022


นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 : กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(KKP) ร่วมกับสำนักข่าวเดอะ สแตนดาร์ด จัดงานสัมมนาใหญ่ในวาระครบรอบ 50 ปีของกลุ่มธุรกิจฯ “THIS IS THE END OF THE LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี” วิเคราะห์ประเทศไทยติดหล่มกับดักรายได้ปานกลาง ท่ามกลางการแตกขั้วของการเมืองโลก การพลิกผันของเทคโนโลยีที่เคยเป็นจุดขายของประเทศ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมพลังงานรอบใหม่จากภาวะโลกร้อน แนะยกระดับศักยภาพการแข่งขันและทักษะแรงงานผ่านการศึกษา ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา เพื่อกระตุ้นนวัตกรรมจากภายในประเทศ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีเสวนา ของผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนะแนวทางออกแบบสถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย ในรูปแบบ Virtual Conference

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวเปิดงานสัมมนาในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้ง กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ระดมทรัพยากรขององค์กรในการผลิตหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy ซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์กินเวลาเกินกว่าห้าทศวรรษของประเทศไทยนับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ที่อาจนับได้ว่าเป็นช่วงที่ประเทศเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจสมัยใหม่ จวบจนคลี่คลายมาเป็นสถาบัน ระบบ และกลไกต่างๆ เช่นเดียวกับที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ ทั้งยังคละเคล้าไปด้วยบทสัมภาษณ์ของหลากผู้รู้เห็นพัฒนาการดังกล่าวมากับตัว ดังที่หลายท่านอาจได้รับทราบผ่านสื่อมาบ้างแล้วในช่วงเวลาก่อนหน้างานฟอรั่มในวันนี้ อันที่จริง สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำหนังสือนี้หลายประการคือสาเหตุที่ทำให้เราจัดฟอรั่มเพื่อสื่อสารสาระสำคัญกับสาธารณะในวันนี้

ถามว่าในโลกยุคปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยคีย์เวิร์ดน่าตื่นเต้นอย่าง Metaverse, Blockchain, Artificial Intelligence, Internet of Things, Cryptocurrency ฯลฯ การมองย้อนประวัติศาสตร์ที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ปรากฎอยู่จะให้ประโยชน์อันใด แน่นอนครับ มองโดยทั่วไปเทคโนโลยีที่เราเพิ่งมีในวันนี้ ไม่ใช่เทคโนโลยีที่มีอยู่เมื่อวาน หรือพูดได้ว่าไม่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ กระนั้น มองในมุมกลับ สิ่งที่เรามีอยู่วันนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งใดเลย นอกจากการดำเนินต่อเนื่องมาจากสิ่งของที่มีอยู่ในวันก่อนหน้า

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์ในแบบที่มีความหมายที่สุด จึงเป็นมากกว่าเพียงการศึกษาอดีตที่จบไปแล้ว แต่เป็นการทำความเข้าใจตัวเราในวันนี้บนแกนของกาลเวลาที่กำลังมุ่งไปสู่อนาคต ว่าเราคลี่คลายหรือล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไร มีสิ่งใดเป็นศักยภาพและข้อจำกัด โดยหากเราศึกษาอดีตได้ดีก็น่าเชื่อว่าอนาคตของเราจะได้ประโยชน์และเป็นไปในทางที่ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนดีขึ้น

ในทางกลับกัน การทิ้งอดีตให้ศูนย์หายและไม่ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ คงทำให้ช่วงเวลาที่พวกเราทุกคนกำลังดำรงอยู่เป็นช่วงเวลาที่สูญเปล่า หรือแย่กว่านั้น คือจุดเริ่มต้นของความตกต่ำในการมองย้อนหลังจากกาลเวลาข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากการทำโครงการหนังสือนี้คือ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ของที่สามารถชั่งตวงวัดได้ตายตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนดั่งวิทยาศาสตร์ แต่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปเพราะเอกสารและข้อมูลใหม่ แต่อีกส่วนที่ทำให้ประวัติศาสตร์หรืออย่างน้อย ๆ ก็ความหมายของประวัติศาสตร์เปลี่ยนไป ก็คือการตั้งคำถามของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เอง

โดยส่วนตัวผมเอง ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังรุมล้อมประเทศเราไม่ว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง หากเราตั้งคำถามต่ออดีตด้วยความมุ่งหมายที่จะหาเส้นทางสำหรับอนาคต คำถามสำคัญที่เราต้องถามก็คือ สำหรับเป้าหมายใหญ่ของการพัฒนาประเทศไหน ๆ ที่อาจรวบยอดด้วยสามคำว่า “มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน” พัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมาของประเทศเราคืบหน้าในเป้าเหล่านี้เพียงใด ผมขออนุญาตเลือกกล่าวถึงข้อเท็จจริงบางชิ้นภายในมุมกล้องนี้เท่าที่เวลาจะอำนวย พอเป็นเชื้อสำหรับการถกเถียงต่อยอดต่อไป ไม่ว่าในเวทีเสวนาในวันนี้ หรือเวทีอื่นๆ

ประการแรก ในมิติของ “ความมั่งคั่ง” ประเทศไทยเป็น developing country มาตั้งแต่มีนิยามคำนี้มากกว่า 50 ปีที่แล้ว และวันนี้เราก็ยังเป็น developing country เราตั้งสภาพัฒน์ฯ ในปีเดียวกันกับที่สิงคโปร์ตั้ง Economic Development Board ที่มีเป้าหมายเหมือนกันในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญ ดังนั้น ไทยกับสิงคโปร์เริ่มต้นที่จุดพอๆ กัน มาวันนี้สิงคโปร์มีรายได้ต่อคนต่อปีเป็น 54,920 เหรียญสหรัฐฯ ของเรา 7,040 เหรียญสหรัฐฯ ต่างกัน 8 เท่า แพนกล้องห่างออกไปในเวลาถัดมา ในปี 2522 ซึ่งเป็นปีที่ เติ้งเสี่ยวผิง ประกาศนโยบายเศรษฐกิจจีนใหม่ ตอนนั้นจีนมีรายได้ต่อคนต่อปีไม่ถึง 1 ใน 3 ของไทย แต่ตั้งแต่ปี 2554 เขาได้แซงเราไป

ดังนั้น ในขณะที่ประเทศไทยในทุกวันนี้ เจริญในแบบที่คนรุ่นปู่รุ่นทวดจะไม่มีวันจินตนาการออก ในมุมกล้องที่มองกว้างครอบคลุมเพื่อนข้างเคียง และมองยาวกินเวลาเป็นหลักกึ่งศตวรรษ ประเทศไทยของเราต้องตระหนักว่าฝีเท้าของเรา ยังจำเป็นต้องเร่งเร้ากว่านี้ หากเราหวังจะมีที่ยืนที่สมศักยภาพในวันข้างหน้า

ต่อไปคือมิติของ “ความทั่วถึง” หากวัดการกระจายรายได้ต่อคนต่อปี โดยการเอารายได้ของคนร้อยละ 20 ข้างบนหารด้วยรายได้ของคนร้อยละ 20 ข้างล่าง จะพบว่าสัดส่วนการกระจายรายได้ของไทยคงที่มาตลอดเกือบ 30 ปี คืออยู่ที่ 7 – 8 เท่า ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 4-5 เท่า บางประเทศอยู่ที่ 3 เท่าก็ยังมี แปลว่าคนข้างบนกับคนข้างล่างในสังคมนั้นมีรายได้ห่างกันแค่นั้น อย่างไรก็ตาม จำนวนเท่าที่ห่างมิใช่ความตกต่ำในตัวมากเท่ากับประเด็นว่า หากเราถือว่ารายได้คือตัวแทนของผลผลิตของประชากรคนหนึ่งๆ การที่คนส่วนบนสามารถสร้างผลผลิตได้มากกว่าคนข้างล่างถึง 8 เท่า

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราถ้าไม่ได้แปลว่าคนส่วนบนมีอัจฉริยภาพที่เหนือกว่าโดยกำเนิด หรือคนข้างล่างงอมืองอเท้าอยู่เป็นปกติ ก็ย่อมแปลได้ว่าองค์ประกอบของสังคมเราที่อำนวยให้คนๆ หนึ่งสร้างผลผลิตได้ นอกเหนือจากสมองและสองมือสองเท้าของเขา ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษาก็ตาม โอกาสทางการเข้าถึงเงินทุนหรือทรัพยากรอื่น ๆ ก็ตาม แตกต่างกันอยู่ถึง 8 เท่า ซึ่งต้องเรียกว่าล้มเหลวในมิติของความทั่วถึงอย่างสิ้นเชิง

ท้ายที่สุด คือมิติของ “ความยั่งยืน” จริงๆ มิตินี้มันของสืบเนื่องมาจากสองข้อก่อนหน้าอยู่แล้ว หากทั่วถึงโดยไม่มั่งคั่ง ก็ไม่น่าจะยั่งยืน หรือหากมั่งคั่ง โดยไม่ทั่วถึง ช้าเร็วก็จะไม่ยั่งยืนเช่นกัน ดังนั้น หากทั้งสองข้อก่อนหน้าเรายังมีปัญหา ก็เป็นไปโดยสภาพอยู่แล้วที่เป้าหมายข้อนี้จะต้องร่นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากจะยกตัวอย่างเฉพาะเรื่อง ประเทศไทยมีข้อดีในมิติความยั่งยืนคือ สินค้าที่เราผลิตเป็นสินค้าปฐมภูมิ รองรับความผันผวนได้ดีกว่า สินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญสามารถผลิตได้ในประเทศทั้งหมด สินค้าส่งออกก็มีความหลากหลาย กระนั้น สถานการณ์ในระยะหลังได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าแม้ด้วยความยั่งยืนยืนพื้นอย่างนี้ หากมีแรงกระทบจากภายนอกที่ยิ่งใหญ่พอก็อาจกระเทือนเราอยู่ดี

โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่เราเคยถือว่าเป็นของตาย กลับดิ้นได้และหายไปได้ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่หายไปด้วยการแพร่ระบาดโควิด ตลาดการส่งออกที่อาจถูกบีบคั้นจากการแบ่งขั้วครั้งใหม่ หรือสินค้าที่เราผลิตได้ถึงวันตกยุคทั้งด้วยเทคโนโลยีหรือเกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อม

นั่นก็คือการวิเคราะห์ถึงพัฒนาการเศรษฐกิจของเราจากมุมของเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน แม้ว่าอาจจะหยาบและย่นย่อไปบ้างตามข้อจำกัดของเวลา แต่อย่างที่ได้เรียนตอนต้น การมองประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศผ่านโจทย์ของความมั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน ก็เป็นเพียงการมองประวัติศาสตร์แบบหนึ่งในหลายๆ แบบ เหมือนชิ้นเค้กที่แปรรูปไปได้ตามวิธีที่เราเลือกหั่น ดังนั้น ท่านที่ตั้งคำถามต่างออกไปก็อาจได้แง่มุมการเรียนรู้ที่แปลกออกไป บนเนื้อเค้กหรือพื้นฐานของข้อเท็จจริงตั้งต้นใกล้เคียงกัน และผมคิดว่านั่นคือประโยชน์สำคัญประการหนึ่งของหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy ที่พยายามรวบรวมชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่กระจัดกระจายให้มาเป็นกลุ่มก้อนรอการหั่นเฉือนและวินิจฉัยจากทุกท่าน

เหนือสิ่งอื่นใด ใจความสำคัญของหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy อาจไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาข้อเท็จจริงในเล่มอย่างเดียว แต่แสดงอยู่ที่ปกของหนังสือนั่นเองครับ เราตั้งชื่อหนังสือว่า The Making of the Modern Thai Economy เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเค้กที่เราเห็นวันนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร หรือเราจะเฉือนวินิจฉัยมันในแง่มุมใด สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียง The Making หรือกระบวนการก่อร่างสร้างสรรค์อันยังไม่สิ้นสุดและยังเกิดขึ้นอยู่แม้ในทุกขณะที่เราท่านกำลังพูดอยู่นี้ และเพียงการตระหนักถึงความข้อนี้ ผมว่าก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรามีความหวังสำหรับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอนาคตหรืออาจใช้คำว่า ‘สถานีต่อไป’ ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ดังที่ยกมาเป็นชื่องาน This Is the End of the Line สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี ในวันนี้

บางท่านอาจรู้สึกว่าชื่อ This Is the End of the Line หดหู่ไปบ้าง แต่ผมขอยืนยันครับว่าคำว่า This Is the End of the Line ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคำพิพากษาที่ตายตัวแต่อย่างใด หากเราทุกท่านใส่ Question Mark และมองประโยคนี้ไม่ใช่ในฐานะประโยคบอกเล่า แต่ในฐานะของประโยคคำถามอันเร่งด่วน และครุ่นคิดหาคำตอบร่วมกัน

ประเทศไทยไปต่อไม่ได้แล้วจริงหรือไม่? และหากเราไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น เราต้องทำอย่างไร?

หากเราร่วมคิดค้นโดยความตระหนักถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์อย่างนี้ Next station, Opportunities ยังน่าจะเป็นไปได้เสมอสำหรับประเทศของเรา