ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > KKP ตั้งเป้าสินเชื่อโต 8-12% ตั้งสำรองเพิ่มรับโควิดลากยาว

KKP ตั้งเป้าสินเชื่อโต 8-12% ตั้งสำรองเพิ่มรับโควิดลากยาว

29 กรกฎาคม 2021


จากซ้าย นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP แถลงผลประกอบการครึ่งปีแรก 2564 ในงานแถลงข่าวรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมว่า ภาพรวมธุรกิจของทั้งกลุ่มธุรกิจฯ เติบโตได้ดี ทั้งในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุน มีกำไรสุทธิ 2,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับปี 2563 ในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อขยายตัวขึ้นร้อยละ 6.6 จากเมื่อสิ้นปี 2563 โดยเฉพาะในกลุ่มของสินเชื่อที่มีหลักประกัน (collateralized) เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย หรือสินเชื่อสำหรับบรรษัทกลุ่มที่มีเครดิตดี นับเป็นผลสำเร็จจากกลยุทธ์การเติบโตอย่างระมัดระวัง ซึ่งช่วยรักษาผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนการควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจตลาดทุน มีผลประกอบการที่ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ซึ่งยังคงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งและได้รับผลดีจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจจัดการกองทุน ที่มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำหรือการจัดการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 และร้อยละ 12 ตามลำดับ ธุรกิจวาณิชธนกิจ ที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมของการดำเนินการธุรกรรมขนาดใหญ่ในครึ่งปีแรกเสร็จสิ้น และธุรกิจการลงทุนโดยตรงที่มีรายได้เบ็ดเสร็จกว่า 1,103 ล้านบาท

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรโดยรวมมีความแข็งแรงจากแหล่งที่มารายได้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจตลาดทุนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากเท่าภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดซึ่งยังมีความไม่แน่นอนและอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในอนาคต ธนาคารจึงยังคงตั้งสำรองอยู่ในระดับที่สูง โดยสำหรับไตรมาส 2/2564 เป็นจำนวน 1,378 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีการพิจารณาตั้งสำรองพิเศษ (Management Overlay) รวมอยู่ด้วย

ปัจจุบันมีสำรองส่วนเกินค่อนข้างสูง ประมาณ 5,000 ล้านบาทหรือประมาณ 160% ของ NPLs ถือว่าเกินสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนสูงไว้แล้ว

“การระบาดระลอกใหม่ที่เริ่มขึ้นหลังสงกรานต์กระทบต่อผลประกอบการของกิจการโดยทั่วไปในไตรมาสสอง ลูกค้าสถาบันการเงินส่วนหนึ่งมีปัญหา แต่สำหรับเราต้องเรียกว่าเป็นครึ่งปีแรกที่ดี และไตรมาสสองที่ดีมาก เพราะยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และบางกลุ่มได้รับผลบวก เช่น การส่งออก โลจิสติกส์ อาหารที่ส่งได้ และค้าปลีกบางประเภท บริษัทใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบเต็มที่ยังสามารถรักษาคนไว้ได้ เราอยุู่กับโควิดมาปีกว่า เราจึงกลยุทธ์เลือกที่จะโต โดยในธุรกิจธนาคารเลือกที่จะโตในสินเชื่อ และเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบ้าน ที่เห็นชัดว่ามีผลกระทบน้อยกว่าสินเชื่อประเภทอื่น”

นายอภินันท์กล่าวว่า การที่เลือกแนวทางนี้ เพื่อให้ธุรกิจมีรายได้ส่วนหนึ่งมาสนับสนุนพยุงผลกระทบจากสินเชื่อส่วนที่เสียหาย เพราะหากสินเชื่อมีปัญหาและมุ่งไปที่การแก้ปัญหา ไม่ได้มุ่งการทำธุรกิจ ก็จะไม่มีรายได้มาอุ้มชูความเสียหาย ฐานสินเชื่อที่ขยายตัวจะช่วยให้ตัวเลขต่างๆ เช่น หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-performing loan:NPL)เมื่อเทียบกันแล้วลดลง

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การระบาดที่เลวร้ายลง อาจจะทำให้พื้นที่มีมีโอกาสทางธุรกิจในครึ่งปีหลังลดลง

“พื้นที่ธุรกิจในครึ่งปีหลังถูกกระชับลงแน่นอน จากเดิมที่มีโอกาสภายใต้การใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ แต่ครั้งนี้กระทบกว้างขึ้น เพราะฉะนั้นมีผลกระบสองส่วน ส่วนแรกที่คือ กลุ่มที่ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วในช่วงปีกว่า ก็อาจจะรู้สึกว่าแย่ลง ขอบเขตของผลกระทบกว้างขึ้น ส่วนที่สองการปล่อยสินเชื่อใหม่ก็จะเล็กลง ในสถานการณ์ปัจจุบัน การล็อกดาวน์ การติดเชื้อที่มีมากขึ้น มีความพยายามของผู้ประกอบการห้างร้านที่ยังมีเวลธ์ส่วนหนึ่ง มีงบดุลที่ดีพยายามช่วยกันพยุงสถานการณ์ ไม่ได้ลดการจ้างงาน หากสถานการณ์ลากยาว อาจจะมีกลุ่มที่ลดการจ้างงานหรือไม่จ้างเพิ่ม”

ทั้งนี้ สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในระยะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่าส่งผลกระทบไม่สม่ำเสมอกันสำหรับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม กลุ่มธุรกิจฯ จึงยังตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อรวมแบบระมัดระวัง ในกลุ่มที่มีศักยภาพที่ร้อยละ 8-12 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสินเชื่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ อีกทั้งยังเตรียมพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่”

ด้านนายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่า “ในสถานการณ์โควิด-19 การรักษาการเติบโตในสินเชื่อกลุ่มที่มีคุณภาพและมีความสามารถที่จะชำระหนี้จะช่วยรักษาอัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้น กลยุทธ์ด้านสินเชื่อของธนาคารคือการเติบโตแบบระมัดระวังในกลุ่มที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิต และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างมาก ก็คือการให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ไม่ว่าสินเชื่อรายย่อย หรือสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะภายใต้สมมติฐานว่าสถานการณ์อาจดำเนินติดต่อไปเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ ธนาคารได้ใช้ข้อมูลการชำระหนี้ของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาออกแบบมาตรการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ที่สุด โดยปัจจุบัน ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในทุกประเภทสินเชื่อคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร”

ในครึ่งปีแรกสินเชื่อรายย่อยขยายตัว 9.5% มาจากสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบ้านเป็นหลัก มุ่งไปที่ลูกค้าที่มีมีอันดับเครดิตที่ดีเป็นส่วนใหญ่
ด้านสินเชื่อจำนำทะเบียนมีน้อยมาก เนื่องจากเริ่มให้บริการ กำลังประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีโอกาสประกอบกับการประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ จึงยังไม่เร่งขยาย

ในครึ่งหลังของปียังคงยึดแนวทางการขยายสินเชื่อเช่นเดียวกับครึ่งปีแรกคือ ในตลาด niche segment และบางอุตสาหกรรมที่ยังปล่อยสินเชื่อได้

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ให้รายละเอียดผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2564 ว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากครึ่งปีแรก 2563 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 936 ล้านบาท ในส่วนของ ปริมาณการตั้งสำรองสำหรับปี 2564 มีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 160.1 นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 7,624 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 จากครึ่งปีแรก 2563 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ร้อยละ 17.89 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1จะเท่ากับร้อยละ 13.51

ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีจำนวน 285,000 ล้านบาท มีสินเชื่อเช่าซื้อ 140,000 ล้านบาทคิดเป็น 47-48% ของสินเชื่อรวม สินเชื่อบ้านมีจำนวน 30,000 ล้านบาทคิดเป็น 10% ของสินเชื่อรวม