ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ความยั่งยืนที่ประเมินค่าได้และแนวโน้มธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า

ความยั่งยืนที่ประเมินค่าได้และแนวโน้มธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า

2 ตุลาคม 2017


บรรยากาศเวที CSR ASIA SUMMIT 2017 ที่จัดขึ้นที่โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปีที่วนกลับมาจัดในประเทศไทย

เป็นที่คาดการณ์กันว่าในอีก 30-40 ปีประชากรในประเทศยากจนจะเพิ่มขึ้น 30-40%  พร้อมกับอายุของประชากรก็จะยืนยาวขึ้น ความเชื่อทางการเมืองกำลังสวิงอย่างสุดขั้วระหว่างความคิดแบบขวาจัดและซ้ายจัด การมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างให้เกิดปรากฏการณ์ทางธุรกิจอย่าง อูเบอร์ อาลีบาบา ฯลฯ  และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงอากาศอย่างสุดขั้ว เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นสถานการณ์ที่ เดวิด กาลิโป ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผลกระทบ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ด้านการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (UNDP Impact Investing) เรียกสิ่งนี้ว่า “ทางสองแพร่ง” ซึ่งกำลังผลักให้เราทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง

โดยเขากล่าวตอนหนึ่งระหว่างการประชุม CSR Asia Summit 2017 ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ว่า “ โลกกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาปรับเปลี่ยนเปลี่ยนครั้งสำคัญ มันเป็นเหมือนทางสองแพร่ง ที่พบเจอกับการเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก ที่ทำให้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งรัฐบาล สถาบันการศึกษาและธุรกิจ กำลังเผชิญความท้าทาย”  

เดวิด กาลิโป ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผลกระทบ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ด้านการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (UNDP Impact Investing)

“การวิเคราะห์และรับมือกับอนาคตเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน” เป็นประเด็นของการคุยกันบนเวทีในปีนี้ โดยเวที CSR Asia ถือเป็นเวทีด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย ที่มีมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งรวมผู้นำทางความคิดและธุรกิจ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรและความยั่งยืน มากกว่า 500 คนในแต่ละปี ในการวิเคราะห์และถกแถลงถึงมุมมองและประเด็นสำคัญๆ ด้านความยั่งยืนที่ต้องผลักดัน การจัดประชุม CSR Asia ที่ประเทศไทยในครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งที่ 2 ของการกลับมาจัดที่ประเทศไทย เวทีนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสลับสับเปลี่ยนไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียมาตั้งแต่ปี 2550

ทั้งนี้บนเส้นทางที่ปรึกษาด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรและเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญของแนวคิดนี้ในภูมิภาคเอเชีย ริชาร์ด เวลฟอร์ด ประธานและผู้ก่อตั้ง CSR Asia เชื่อว่า การเติบโตในภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ปีก่อน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก ทว่า ภายใต้ความก้าวหน้าที่ว่า เขาบอกว่ายังมีช่องว่างอีกมากที่จะต้องทำ “ไทยพับลิก้า” ได้คุยกับเขาหลังพิธีเปิดงานวันแรกเริ่มต้นขึ้น

“ธุรกิจทุกวันนี้ทำเกี่ยวกับความยั่งยืนอยู่เยอะแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องที่ยังสามารถทำได้อีกเยอะเช่นกัน โดยต้องมองว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่า ความท้าทายหรือปัญหามีอะไรบ้าง และต้องคาดการณ์ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้”

ธุรกิจวันนี้ผสมผสานเรื่องนี้เข้าไปในแผนกลยุทธ์ธุรกิจ เรามอง ESG (Environment, Social, Governance) และนำไปใช้ในฐานะเครื่องมือประเมินการบริหารความเสี่ยง แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ที่ผ่านมาเราอาจจะมองการบริหารความเสี่ยงโดยมองสิ่งที่ผ่านมามากไปกว่าการคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การย้ายจากการมองสิ่งที่เคยเกิดขึ้น การปฏิบัติตามกฎระเบียบไปสู่การเป็นเชิงรุกและคาดการณ์ จึงเป็นโจทย์ของการประชุมประจำปีครั้งนี้ในประเทศไทย

โดยการประชุมตลอด 2 วันเป็นการวิเคราะห์ถึงประเด็นต่างๆ ที่ต้องรับมือ โดยเฉพาะความพยายามในการผลักดันประเด็นสำคัญ “เรากำลังสำรวจว่าบริษัทต่างๆ มีความตระหนักอย่างไรถึงความสัมพันธ์กันของผลประโยน์ทางธุรกิจที่ประเมินค่าได้กับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน”  หัวข้อสำคัญต่างๆ ในที่ประชุมมีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิทธิมนุษยชน  สิทธิเด็ก ผู้หญิง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ต้องมองไปข้างหน้าและหาทางรับมือกับอนาคต โดยมีผู้นำทางความคิดและภาคธุรกิจในภูมิภาครวมถึงแบรนด์ชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น หัวเหว่ย อาดิดาส ไมโครซอฟต์ H&M อิเกีย ฯลฯ องค์กรพัฒนาเอกชนและผู้ปฏิบัติงานทางสังคมมาร่วมงาน

แนวโน้มในอีก 10 ปีข้างหน้า

ในบทความของเขาที่ชื่อ “Future – proofing sustainable business” ที่ริชาร์ดเขียนก่อนหน้านี้ ระบุว่า สำหรับธุรกิจ การรับมือกับอนาคตคือ กระบวนการของการคาดการณ์อนาคตและการพัฒนาแนวทางแก้ไขเพื่อลดผลกระทบเชิงลบในขณะที่ใช้ประโยชน์จากผลกระทบเชิงบวกจากความกดดันและวิกฤติของเหตุการณ์ในอนาคต โดยหัวใจสำคัญของกลยุทธ์และการปรับตัวของธุรกิจในอนาคตจึงจำเป็นที่ต้องมุ่งมั่นเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

กระบวนการเริ่มต้นธุรกิจได้เร็วขึ้นมาก แต่กลไกของความล้มเหลวก็ทำงานได้เร็วขึ้นเช่นกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ คุณสามารถสื่อสารผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ช่องทางเดียวกันก็จะกระจายข่าวเกี่ยวกับความไม่พอใจ เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต การทำลายสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งของชุมชน ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

มีหลักฐานการวิจัยที่ชี้ชัดว่า ธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นธุรกิจที่ดีที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับสังคม ในขณะเดียวกันก็สร้างผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์จะตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างนวัตกรรมต่อเนื่อง อันที่จริงนวัตกรรมเกี่ยวกับความยั่งยืน สามารถให้บริษัทที่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันใหม่ในสามระดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และแบบจำลองทางธุรกิจ เพื่อสร้างคุณค่ามุ่งเน้นที่จะต้องมีทางเลือกที่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า สังคม และแรงบันดาลใจ ทำให้โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรม โดยบริษัทที่ออกแบบกระบวนการผลิตของตนให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการดำเนินการ รวมถึงห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด โดยเน้นถึงประสิทธิภาพการแข่งขันและการผนวกรวมเข้าด้วยกัน รูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืนอื่นๆ จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับวิธีการดำเนินธุรกิจและความสามารถของบริษัทในการส่งมอบทางออกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับปรัชญาธุรกิจใหม่

ความท้าทายของธุรกิจคือการมองหาโอกาสและใช้โอกาสจากปัญหาที่เราเผชิญอยู่ เช่น การเติบโตของประชากรก็ส่งผลให้ฐานผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น และถ้าประชากรเหล่านั้นเป็นประชากรที่ยากจน ธุรกิจก็ต้องมองหาโอกาสในการพัฒนาสินค้าสำหรับคนจำนวนมากเหล่านั้น เพราะว่าเราควรจะมองหาความเสี่ยงเพื่อพลิกให้เป็นโอกาส และเรื่อง “ความยั่งยืน” (Sustainability) เป็นสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจจริงๆ ไม่ใช่แต่การวิเคราะห์ความเสี่ยง แต่เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ เช่น บริษัทที่ทำงานกับคนจนในห่วงโซ่อุปทาน บริษัทเหล่านั้นกระตุ้นให้ชาวนา เกษตรกร สร้างผลผลิตให้ได้มากขึ้น ส่งผลกับห่วงโซ่อุปทานให้มีอุปทานมากขึ้น ซึ่งทำให้เป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย บริษัททุกบริษัทต้องการให้ห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่เจริญเติบโต ไม่ล้มเหลว สามารถแข่งขันได้ และมีคุณภาพสูง อีกตัวอย่าง เป็นเหมือนการสร้างโอกาสในการพัฒนาสำหรับคนจน เพื่อให้เขาสามารถซื้อได้และเป็นการสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้คนที่อยู่ในฐานรากของปิรามิด (bottom of pyramid) สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อย

“วันนี้มันไม่สำคัญอีกแล้วว่าเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า CSR, CSV, sustainability, SD มันเป็นนิยามที่เราใช้สลับสับเปลี่ยนกัน การที่จะเรียกมันว่าอะไรไม่สำคัญไปกว่าการนำมันไปใช้อย่างไรในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือเรากำลังคาดเดาอนาคตและตอบสนองความต้องการในอีก 10 ปีข้างหน้า” 

Citizen Footprint และความยั่งยืนที่ประเมินค่าได้

ดูเหมือนเดวิด กาลิโป ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผลกระทบ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ด้านการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (UNDP Impact Investing) จะเห็นด้วยกับมุมมองของริชาร์ด เดวิดให้ความเห็นเกี่ยวกับ “การปรับตัวของธุรกิจ” เมื่อถูกตั้งคำถามจากด้านล่างเวทีถึง “บนทางสองแพร่ง” ที่เขากล่าวตอนต้น

ในมุมของเขา “สิ่งที่ธุรกิจต้องก้าวข้ามไปคือการมุ่งเน้นแค่ลูกค้าแล้วไปมุ่งเน้นพลเมืองหรือประชาชน เพราะพวกเขาก็คือลูกค้าในอนาคต ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า ถ้าไม่อย่างนั้นคุณก็พลาด ซึ่งการปรับตัวอย่างรวดเร็วมีผลต่อการเจริญเติบโตของบริษัท แต่ว่าสิ่งสำคัญมากที่ต้องดูคือคุณภาพของความสำเร็จด้วย”

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในก้าวแรกของการสร้างคุณภาพความสำเร็จต้องมาจาก “การวัดผลกระทบ” (impact) ให้ได้ โดยเฉพาะในประเด็นทางสังคมที่ทำ ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เราพูดถึง “ความรู้สึกที่ดี” (feel good) แต่เราต้องการทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น การที่ CSR ประเมินค่าได้จะทำให้เข้าไปอยู่ในธุรกิจและทำให้เกิดประสิทธิภาพได้

ที่ผ่านมามีตัวอย่างของบริษัทใหญ่ในโลกที่ให้ความสำคัญกับ “ผลกระทบต่อพลเมือง” เช่น เอสเค ที่เกาหลีใต้ ยูนิลีเวอร์ ฯลฯ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การมุ่งเน้นผลกระทบต่อพลเมืองจะทำให้เกิดตลาดใหม่ เช่น การที่คนที่อาจไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนจากสถาบันการเงิน แต่การเกิดขึ้นของไมโครไฟแนนซ์ หรือฟินเทค สามารถตอบโจทย์ได้

ว่าด้วยกระบวนการรับมือกับอนาคต

ริชาร์ด เวลฟอร์ด ประธานและผู้ก่อตั้ง CSR Asia

การเติบโตอย่างรวดเร็วของ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ในเอเชียสะท้อนผ่านการลงทุนที่ยั่งยืนซึ่งเพิ่มขึ้น 20% ต่อปี โดยในปี 2559 ที่ผ่านมามีการใช้เงินในส่วนนี้มากถึง 1.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าภายใน 5 ปีจากนี้จะไปแตะระดับล้านล้าน การเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งจะเป็นตัวเร่งไปสู่การปรับตัว

ริชาร์ด เวลฟอร์ด ประธานผู้ก่อตั้ง CSR Asia ให้ข้อแนะนำสำหรับ 10 เรื่องสำคัญในการพัฒนากระบวนการรับมือกับอนาคตของธุรกิจนั้น ประกอบด้วย

1. สร้างจุดมุ่งหมายทางสังคม: บริษัทที่จะอยู่รอดระยะยาว ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการเห็นผลงานทางสังคมและค่านิยมร่วมกันมากกว่าการทำกำไร บริษัทต้องใส่จุดมุ่งหมายทางสังคมไว้ในตำแหน่งการแข่งขันของบริษัท

2. มองในภาพกว้างและติดตามแนวโน้ม: บางส่วนของแนวโน้มนั้นเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ไม่ยาก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นที่ได้รับการจัดอันดับอย่างต่อเนื่องจากการประเมินผลกระทบของธุรกิจ

3. ติดตามปัจจัยที่มีอิทธิพลและคาดการณ์ความต้องการในอนาคต: ธุรกิจต้องตระหนักถึงสาเหตุและการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจส่งผลต่อความคาดหวังทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สื่อออนไลน์  ที่อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อม โดยต้องจินตนาการจากประสบการณ์ให้เห็นถึงผลกระทบของปัจจัยเหล่านี้ในอุตสาหกรรมที่คุณทำงาน

4. ฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่อย่าเชื่อเสมอว่าการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่องถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการหาแรงบันดาลใจในอนาคต แม้เราต้องฟังและตอบสนองแต่อย่าเชื่อถึงการคาดการณ์ในอนาคตของพวกเขา คุณแค่ต้องรู้จักพวกเขาให้ลึกและจินตนาการถึงอนาคตหากพวกเขาจะปฏิบัติตนในแบบที่แตกต่างออกไปอนาคต

5.ประเมินความเสี่ยงในอนาคต: แม้จะไม่สามารถคาดเดาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็สามารถใช้ขั้นตอนบางอย่างเพื่อเตรียมตัวให้ดีขึ้นได้ โดยพยายามค้นหาความเสี่ยงและจุดที่อาจสร้างความล้มเหลวในธุรกิจได้ อย่างไรก็ตาม เราอาจจะคาดเดาได้ถึงกฎหมาย การกำกับดูแล แต่อาจจะเป็นเรื่องยากในการคาดเดาความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

6.สร้างบรรยากาศให้นวัตกรรมได้เจริญเติบโต:  โดยธุรกิจต้องพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์และพยายามหาแนวคิดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และแบบจำลองทางธุรกิจ

7.พัฒนาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์: โดยทำงานร่วมกับคู่ค้าภายนอกที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ ซึ่งจะสามารถสร้างความร่วมมือในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

8. นำมุมมองจากภายนอกเข้ามาท้าทายโลกของคุณ: เป็นความเสี่ยงของธุรกิจที่จะมืดบอดจากการมองและประเมินสถานการณ์จากแค่มุมมองของตัวเอง การพึ่งพาคนนอก เช่น  ผู้เชี่ยวชาญ นักนวัตกรรม ฯลฯ เพื่อเสริมมุมมอง จะสร้างโอกาสในการรับมืออนาคต

9. กำหนดอนาคตด้วยตัวเอง: ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลง บทบาทสำคัญของธุรกิจในฐานะตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงนอกจากจะมีเป้าหมายทางสังคม มีการพัฒนาทฤษฎีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องสื่อสารผ่านความคิดผู้บริหาร ดังนั้นในฐานะคนทำงานคุณก็เป็นคนหนึ่งที่อาจจะเป็นผู้มีอิทธิพลในการกำหนดอนาคตของบริษัท

10.เปลี่ยนจากแบรนด์ไปที่เป้าหมายของแบรนด์: การที่แบรนด์อยู่มานานหลายทศวรรษไม่ได้แปลว่าเหมาะกับตลาดในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงไม่เคยเกิดขึ้นรวดเร็วเกินไป แต่ธุรกิจจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบริหารความเสี่ยงด้วย ESG และหาทางออกธุรกิจด้วยนวัตกรรมที่ทำกำไร โดยวิธีที่ดีที่สุดในการเป็นมหาเศรษฐีนั้นไม่ใช่แค่รวยแต่คือการช่วยคน 1 พันล้านคนต่างหาก