ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ประยุทธ์” ใช้เงินอีกก้อน กว่า 88,400 ล้าน กู้วิกฤติโควิด-19 ด้วยการ “โยกงบประมาณ”

“ประยุทธ์” ใช้เงินอีกก้อน กว่า 88,400 ล้าน กู้วิกฤติโควิด-19 ด้วยการ “โยกงบประมาณ”

5 มิถุนายน 2020


หลังจากเงินก้อนแรกในการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้สภาพคล่องของตนเองจัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และกองทุนพยุงเสถียรภาพของตลาดหุ้นกู้เอกชน ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

คิวต่อไปก็คือ “พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ….” ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563

ที่มาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ได้เตรียมไว้ใช้สำหรับแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้งบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นส่วนที่เหลืออยู่เข้าไปแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง วงเงินงบกลางที่เตรียมเอาไว้ 96,000 ล้านบาท ถูกใช้ไปจนหมดเกลี้ยง ไม่เหลือเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่มีอำนาจที่จะโอนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายมาใช้ได้ เนื่องจากติดข้อจำกัดของกฎหมายงบประมาณ จึงต้องยกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณขึ้นมาใช้ในการโยกงบฯ จากหน่วยงานต่างๆ มาใส่ไว้ในงบกลาง

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ประชุม ครม. ก็มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ พ.ศ. …. พร้อมกับหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เพื่อมาใส่ไว้ในงบกลาง ซึ่งมีหลักการดังนี้

    1) รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่มีการเบิกจ่าย และไม่มีข้อผูกพัน หรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เมษายน 2563 เช่น ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ และการดำเนินกิจกรรม (event)

    2) รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย เช่น รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เมษายน 2563 และ/หรือไม่สามารถลงนามได้ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 รายการที่สามารถชะลอการดำเนินการโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2563

    3) กรณีหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อัยการ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับงบประมาณเป็นเงินอุดหนุน และเงินทุนหมุนเวียนที่พิจารณาเห็นว่ารายการ หรือกิจกรรมที่ได้รับงบประมาณ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของการตั้งงบประมาณ หรือมีเงินรายได้ เงินรายได้สะสม คงเหลือเพียงพอต่อการดำเนินภารกิจของหน่วยงานทดแทนเงินงบประมาณที่ได้รับ โดยใช้หลักเกณฑ์และแนวทางตามข้อ 1) และ 2) โดยอนุโลม

ส่วนรายการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการ ที่ไม่ถูกโอนเข้ามาอยู่ในร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. มีลักษณะดังนี้

    1) รายการในลักษณะรายจ่ายประจำ เพื่อการจัดสวัสดิการแห่งรัฐ หรือค่าใช้จ่ายรายหัวตามสิทธิพื้นฐานจากการบริการของรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานของหน่วยรับงบประมาณ โดยเฉพาะในลักษณะค่าจ้างเหมาบริการต่าง ๆ

    2) รายการในลักษณะรายจ่ายลงทุนที่เป็นงานดำเนินการเอง ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน รายการผูกพันตามสัญญา รายการที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ขยายระยะเวลา และรายการที่มีลำดับความสำคัญสูง หากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือส่งผลกระทบต่อประชาชน

    3) แผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้งที่สำนักงบประมาณได้พิจารณา และนำเสนอ ครม. รับทราบ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563

    และ 4) รายการและงบประมาณที่มีภารกิจด้านสาธารณสุข และภารกิจที่เกี่ยวเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้งโดยตรง

จากนั้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 สำนักงบประมาณนำเสนอรายการปรับโอนงบประมาณจากส่วนราชการต่างๆ ส่งให้ที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบ ชุดแรกวงเงิน 100,395 ล้านบาท ปรากฏว่ามีการตัดงบฯ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” วงเงิน 2,400 ล้านบาท, งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข 1,233 ล้านบาท และงบฯ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอีก 200 ล้านบาท รวมอยู่ในรายการด้วย ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกมาประท้วง แต่ที่สุดทางสำนักงบประมาณก็ได้ตัดออกไป ภายหลังรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2563 คงเหลืองบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ที่จะถูกโอนมาไว้ที่งบกลางแค่ 88,452 ล้านบาทเท่านั้น

  • ตามหางบฯ ฉุกเฉินสู้วิกฤติโควิด -19 วงเงิน 96,000 ล้านบาท
  • “ประยุทธ์” นัดหารือผ่อนปรนสถานการณ์ฉุกเฉิน 28 เม.ย.นี้ – มติ ครม. เพิ่มผู้มีสิทธิรับ 5 พันเป็น 14 ล้านคน
  • นายกฯ สั่ง ศบค. ตรวจสถานที่ก่อนคลายล็อกฯ เฟส 2-มติ ครม. เห็นชอบกรอบใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้าน
  • ตัดงบจริง 1.6% ของงบประมาณรวม

    สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า กางข้อมูลจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับล่าสุดว่า หน่วยงานใดหรือแผนงานใดที่ถูกตัดงบประมาณเพื่อโอนเข้าสู่งบกลางมากที่สุด จากข้อมูลวงเงินที่จะถูกโอนงบประมาณ 88,452.6 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 4.14% ของงบประมาณรวมทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 48,566.38 ล้านบาท (3.03% ของงบรายจ่ายประจำทั้งหมด) และงบลงทุน 39,886.22 ล้านบาท (7.46% ของงบลงทุนทั้งหมด)

    ในรายละเอียด แม้ว่าจากตัวเลขของกระทรวงการคลังนับเป็นกระทรวงที่จะต้องโอนงบประมาณมากที่สุด วงเงิน 36,100.59 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.5% ของวงเงินทั้งหมดของกระทรวง แต่งบประมาณนี้ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณสำหรับชำระคืนหนี้ที่อยู่ในงบประจำของกระทรวงถึง 35,303 ล้านบาทจากงบชำระคืนหนี้ทั้งหมด 89,170.4 ล้านบาท หรือ 39.59% ของงบชำระคืนต้นเงินกู้ทั้งหมด (หากหักวงเงินชำระหนี้ฯ ออกไป กระทรวงการคลังจะต้องโอนงบประมาณเพียง 797.59 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.32% ของงบกระทรวงทั้งหมด)

    ดังนั้น หากหักส่วนนี้ออกไปแปลว่า งบของหน่วยงานต่างๆ จะถูกตัดไปเพียง 53,149.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.66% ของงบประมาณรวมทั้งหมดเท่านั้น แบ่งเป็นงบตามแผนงานบูรณาการ 13,256.49 ล้านบาท และงบของหน่วยงานจริงๆ อีก 39,893.11 ล้านบาท และทำให้งบประจำที่จะถูกตัดลดลงเหลือ 13,263.38 ล้านบาท (0.83% ของงบประจำทั้งหมด) ขณะที่เม็ดเงินและสัดส่วนของงบลงทุนที่ถูกตัดยังคงเท่าเดิม

    นับเม็ดเงิน “กลาโหม” ถูกตัดมากสุด

    หากไม่นับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหมจะกลายเป็นหน่วยงานที่ถูกตัดงบประมาณมากที่สุดที่ 18,022.94 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.78% ของงบกระทรวงทั้งหมด รองลงมาคือกระทรวงคมนาคมที่ถูกตัดงบประมาณ 11,165.55 (6.34% ของงบกระทรวงทั้งหมด), กระทรวงศึกษาธิการถูกตัด 4,991.8 ล้านบาท (1.36% ของงบกระทรวงทั้งหมด), กระทรวงมหาดไทยถูกตัด 3,474.21  ล้านบาท (0.99% ของงบกระทรวงทั้งหมด) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถูกตัด 2,606.27  ล้านบาท (2.41% ของงบกระทรวงทั้งหมด)

    สำหรับงบรายจ่ายประจำ กระทรวงกลาโหมยังคงเป็นหน่วยงานที่ถูกตัดงบประมาณมากที่สุดที่ 2,875.5 ล้านบาท (1.77% ของงบรายจ่ายประจำของกระทรวงทั้งหมด), รองลงมาคือกระทรวงศึกษาธิการที่ถูกตัดงบ 1,818.1 ล้านบาท (0.53% ของงบรายจ่ายประจำฯ) และจังหวัดและกลุ่มจังหวัดถูกตัดงบ 1,760.38 (35.50% ของงบรายจ่ายประจำฯ), สำนักนายรัฐมนตรี ถูกตัดงบ 1,099.79 ลัานบาท (3.88% ของงบรายจ่ายประจำฯ) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกตัดงบ 1,052.11 ล้านบาท (2.58% ของงบรายจ่ายประจำ)

    ส่วนงบลงทุน เช่นเดียวกัน กระทรวงกลาโหมถูกตัดงบ 15,147.44 ล้านบาท (21.84% ของงบลงทุนทั้งหมดของกระทรวง), รองลงมาคือ กระทรวงคมนาคม ถูกตัดงบ 10,994.22 ล้านบาท (6.72% ของงบลงทุนฯ), กระทรวงศึกษาธิการถูกตัดงบ 3,173.69 ล้านบาท (14.54%ของงบลงทุนฯ), กระทรวงมหาดไทยถูกตัดงบ 2,937.23 ล้านบาท (3.66% ของงบลงทุนฯ) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,554.17 ล้านบาท (2.31% ของบลงทุนฯ)

    เทียบสัดส่วน “กลุ่มจังหวัด-ดิจิทัล” ถูกตัดมากกว่า

    หากดูเป็นสัดส่วนของงบประมาณที่ถูกตัดจะพบว่า จังหวัดและกลุ่มจังหวัดกลายเป็นหน่วยงานที่ถูกตัดงบประมาณเป็นสัดส่วนมากที่สุด โดยถูกตัดงบไป 10.75% ของงบประมาณทั้งหมดของหน่วยงาน โดยงบรายจ่ายประจำและงบลงทุนถูกตัด 35.5% และ 4.17% จากงบทั้งหมด ตามลำดับ รองลงมาคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ถูกตัดงบไป 9.75% ของงบประมาณทั้งหมดฯ โดยแบ่งเป็นงบประจำและงบลงทุนที่ถูกตัด 9.56% และ 10.34% ของงบประมาณทั้งหมดฯ ตามลำดับ

    กระทรวงกลาโหมตามมาเป็นที่สาม ขณะที่อันดับ 3-4 คือกระทรวงคมนาคมที่ถูกตัดงบไป 6.34% ของงบประมาณทั้งหมดฯ และกระทรวงพาณิชย์ที่ถูกตัดงบไป 4.72% ของงบประมาณทั้งหมด

    อีกประเด็นที่น่าสนใจคือมีหน่วยงานที่ถูกจัดงบประจำถึง 10% มีเพียงจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเท่านั้น ขณะที่มีหน่วยงานที่ถูกตัด “งบลงทุน” ถึง 10% มีเพียง 5 หน่วยงานเท่านั้น ได้แก่ กระทรวงกลาโหมที่ 21.84%, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 18.16%, กระทรวงศึกษาธิการ 14.54%, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 10.34% และกระทรวงอุตสาหกรรม 10.21%

    “ศก.ฐานราก-สังคมสูงวัย-พัฒนาการศึกษา” ถูกตัดงบมากสุด

    ขณะที่ในงบประมาณที่ถูกตัด 84,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณตามแผนงานบูรณาการที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ เป็นเม็ดเงิน 13,256.49 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.76% ของงบประมาณตามแผนงานบูรณาการทั้งหมด 230,058.4 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 2,166.39 ล้านบาท และงบลงทุน 11,090.1 ล้านบาท

    โดยหากนับเม็ดเงิน แผนงานการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์จะถูกตัดงบประมาณมากที่สุด 6,129.72 ล้านบาท  รองลงมาคือแผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนงานพัฒนาพื้นที่ระดับภาคที่ 2,084.74 ล้านบาท และ 1,198.11 ล้านบาท ตามลำดับ

    หากเทียบจากสัดส่วนของงบประมาณทั้งหมดตามแผนงานบูรณาการจะพบว่า แผนงานที่ถูกตัดงบเป็นสัดส่วนมากที่สุดคือแผนงานพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากที่ 17.63% ของงบประมาณทั้งหมดตามแผนงานฯ หรือเป็นเม็ดเงิน 532.11 ล้านบาท รองลงมาคือแผนงานเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย และแผนงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ ที่ถูกตัดงบไปเป็นสัดส่วน 17.12% และ 12.77% ตามลำดับ (เม็ดเงิน 147.9 ล้านบาท และ 166.67 ล้านบาท)

    อย่างไรก็ตาม ภายหลังนายกรัฐมนตรีเดินสายพบปะภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ล่าสุดนายกฯ ได้สั่งการให้ส่วนราชการต่างๆ ใช้งบประมาณที่มีอยู่จัดประชุมสัมมนาตามโรงแรมต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะที่งบฯ เดินทาง จัดประชุม สัมมนา จัดอีเวนต์ ถูกตัดและโอนมารวมอยู่ใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ เกือบหมดแล้ว คำถามคือ ส่วนราชการจะเอางบฯ จากไหนมาใช้จ่าย…

  • นายกฯ สรุปเดินสายพบเอกชน รวม “ทีมประเทศไทย” แก้ปัญหาปากท้อง