กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติผ่านระบบทางไกลภายใต้หัวข้อ EQUITABLE EDUCATION: ALL FOR EDUCATION ความเสมอภาคทางการศึกษา “ปวงชนเพื่อการศึกษา” ในวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 โดย 60 นักคิด นักปฏิรูป และนักการศึกษาที่มีอิทธิพลต่อโลกตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ร่วมหาคำตอบเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาบนความท้าทายใหม่ของโลกหลังโควิด-19 จากการพูดคุยหลากหลายหัวข้อเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับคนทั้งมวล
สำหรับการเสวนาที่เกี่ยวกับครูมีหลายหัวข้อ ซึ่งสะท้อนว่าครูมีบทบาทสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการศึกษาที่เสมอภาคให้กับเด็กทุกคน
ฟินแลนด์ได้คนเก่งเป็นครู
โดยในการเสวนา “Teacher System and Policy for the Disadvantage Groups” นางสาว Marjo Vesalainen ตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมของฟินแลนด์ กล่าวว่า อาชีพครูในประเทศฟินแลนด์เป็นอาชีพในสาขางานวิชาการ และปริญญาครูจึงเป็นปริญญาที่ดึงดูดนักเรียนที่มีความสามารถเก่งให้มาเรียนในสาขานี้ จึงสามารถเลือกนักเรียนที่ดีที่สุดมาเป็นครูได้
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่ทำการสอนคุณครูในประเทศฟินแลนด์มีประสิทธิภาพในการสอนอย่างมาก จึงทำให้ได้บุคลากรด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการสอนเด็กมาก อีกทั้งไม่มีการสอบในการศึกษาภาคบังคับ ไม่มีการเข้าไปตรวจสอบโรงเรียนไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตาม นี่เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อครูและความสามารถของครู ในการตัดสินใจพัฒนางานของตนเองและวัดผลนักเรียนของตน
“ครูในประเทศฟินแลนด์จึงมีอิสรภาพมากและเป็นอาชีพที่ได้รับความเคารพและเชื่อถือในสังคม การเปลี่ยนอาชีพจากครูไปทำอาชีพอื่นจึงค่อนข้างเห็นได้น้อย พูดได้ว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมในประเทศของเรา”
นอกจากนี้ครูในประเทศเราใช้เวลาทั้งหมดไปที่การเรียนการสอน ครูของเราจะได้ทำงานเอกสารที่น้อยและต่ำที่สุดในประเทศ OECD ดังนั้นครูจึงมีเวลาที่จะออกแบบกระบวนการการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยในประเทศฟินแลนด์ก็มีอิสรภาพในการออกแบบหลักสูตรของตนอย่างมาก ดังนั้นแม้หลักสูตรครูในแต่ละมหาวิทยาลัยจะต่างกัน แต่ก็มีแนวคิดที่อยู่ในกรอบเดียวกันที่มุ่งหวังเรื่องความสำเร็จและความสุขในการเรียนของเด็กเป็นหลัก
“คุณครูของประเทศเรามีความเป็นมือโปรและพัฒนาความสามารถตลอดชีวิตการทำงาน การพัฒนา อาชีพของครูจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรม และเนื่องจากการปฏิรูปการศึกษาเป็นการเป็นความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ท้องถิ่นและโรงเรียนจึงมีอิสรภาพอย่างมากในการจัดการศึกษารวมทั้งตัดสินใจในเรื่องการจัดการคุณภาพของการเรียนการสอนในท้องถิ่นของตนเองได้”
ครูคุณภาพรับมือวิกฤติได้
ด้าน Marjo Vesalainen ตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมของฟินแลนด์เช่นกัน กล่าวว่า ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการศึกษา จึงเริ่มต้นสนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพของครู ผู้ซึ่งต้องมาถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะให้กับนักเรียน อาชีพครูในฟินแลนด์เป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่การเป็นครูในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยอมรับว่ามีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ครูจึงไม่สามารถหยุดเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองได้ปัจจุบันฟินแลนด์ได้ปฏิรูปการศึกษาโดยได้รับความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาของครูและการเป็นครูที่มีคุณภาพ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความตระหนักว่า นอกจากจะพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพแล้ว ครูจำเป็นต้องพร้อมรับมือกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่มีพื้นฐานและความสามารถแตกต่างกัน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลฟินแลนด์ก็ได้เดินหน้าจัดทำโครงการ The Right to Learn เพื่อเสริมสร้างคุณภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับเด็กทุกคนหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมุ่งเน้นพัฒนาเด็กให้สามารถเรียนรู้ได้ตรงกับความถนัดที่แต่ละคนมี จัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นนำไปสนับสนุนโรงเรียนในช่วงที่ยังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
รวมถึงจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กที่มีความต้องการเฉพาะอีกด้วย ซึ่งได้เตรียมความพร้อมของโรงเรียนในการต้อนรับการเปิดเรียนใหม่อีกครั้ง โดยมีทั้งการเตรียมการด้านสถานที่ สุขอนามัย ความปลอดภัย ด้านโภชนาการและข้าวของเครื่องใช้ ด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่จะกลับมาโรงเรียน
ครูขยายพื้นที่เรียนรู้สู่เด็กนอกระบบ
ในหัวข้อ “Teachers as Heroes in Equity in Education” ดร.ซาดัท บี มินันดัง (Dr.Sadat B. Minandang) ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีรุ่นที่ 3 ปี 2019 ครูโรงเรียนประถมศึกษาอมิรัล เมืองโคตาบาโตซิตี จากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มรถการเรียนรู้เคลื่อนที่ “TulaKaalaman” หรือ “The Push Cart Knowledge” เพื่อใช้สำหรับออกไปจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กนอกระบบหรือเด็กในพื้นที่ยากลำบากได้แชร์ประสบการณ์จากการทำโครงการว่า TulaKaalaman เริ่มขึ้นในปี 2017 เพื่อส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียม โดยนำความรู้จากโรงเรียน เข้าสู่ชุมชน เพื่อช่วยเด็กที่ไร้โอกาสโดยเฉพาะเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะต้องออกจากโรงเรียนให้เข้าถึงการศึกษา
รถการเรียนรู้เคลื่อนที่ “TulaKaalaman” มีทั้งหนังสือ ชุดการเรียนรู้เล็กๆ สำหรับเด็กๆ ในชุมชนที่ยากจน เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะเข้าถึงการเรียนรู้ หนังสือ ความรู้การอ่านเขียนพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการแจกอาหารเพื่อให้เด็กอิ่มท้อง
“ในช่วงแรกของโครงการเราทำแบบเล็กๆ เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่มีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น ผมต้องจ่ายเงินเองทุกอย่าง แต่หลังจากที่โครงการเริ่มต้นไปได้ระยะหนึ่งแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับจากชุมชนดีมากทำให้เราขยายโครงการได้ใหญ่ขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากทางโรงเรียนหน่วยงานราชการ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ”
โครงการได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานบริการสวัสดิการสังคม ในสังกัดรัฐบาลท้องถิ่นบารังเก สำนักงานการศึกษาทางเลือก (Alternative Delivery Mode of Schools Division) ของเมืองโคตาบาโตซิตี
Tulakaalaman ดำเนินการด้วยเสาหลัก 5 ข้อ ประกอบด้วย
ข้อแรก ความรู้พื้นฐานอ่านออกเขียนได้ นับเลขได้
ข้อสอง สุขอนามัย ความสะอาด และน้ำดื่ม
ข้อสาม การศึกษาในภาวะวิกฤติ (EIE)
ข้อสี่ นโยบายการคุ้มครองเด็ก
ข้อห้า แจกอาหาร
“จากองค์ประกอบทั้งหมด สิ่งที่ต้องการให้แก่เด็กๆ เหล่านี้ คือ สิ่งสำคัญพื้นฐาน สิทธิ ให้เขาทราบถึงสิทธิของเขาเอง เช่น การให้การศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐาน สิทธิในการเรียนรู้ สิทธิในการศึกษา อีกอย่างคือ นี่คือโครงการที่ได้รับการรอคอยมากที่สุด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการแจกจ่ายอาหาร เป็นกลยุทธ์ของ Tulakaalaman เพื่อดึงดูดให้เด็กๆ เข้ามาเรียนในทุกหลักสูตรของเรา”
ดร.ซาดัทกล่าวว่า ที่กล่าวถึงช่วงที่ผ่านมาเพราะ Tulakaalaman ในตอนนี้อยู่ในระยะที่ 3 แล้ว โดยระยะที่ 1 ในช่วงปี 2560 ระยะที่ 2 ช่วงปี 2561-2562 และปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 3 กำลังดำเนินการเพื่อนำไปใช้ในโครงเสริมสร้างอาชีพเฉพาะสำหรับชุมชนบาโจว เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี
“ความท้าทายอย่างหนึ่งในการดำเนินโครงการเช่นนี้คือ เรามีเวลาและทรัพยากรที่จำกัด แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าโครงการนี้เป็นโอกาสที่ทำให้เด็กและครอบครัวได้เห็นความงดงามและความสำคัญของการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน หนึ่งในความสำเร็จของโครงการนี้คือ เมื่อตอนที่ผมเริ่มโครงการ เด็กที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดอยู่นอกระบบโรงเรียน แต่ปัจจุบันเด็กเหล่านี้ได้เข้ามาเรียนเป็นประจำและเป็นนักเรียนในระบบ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความสนับสนุนจากทุกภาคส่วน”
โรงเรียนเลือกครู
ส่วน Chua-Lim Yen Ching ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เชี่ยวชาญและอำนวยการบริหารของสถาบันครูแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวในหัวข้อ School Leadership and Management ว่า ขอยกตัวอย่างโรงเรียน NorthLight School ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กที่มีปัญหาการเรียนในระบบปกติ การเรียนการสอนจึงมีความแตกต่างและยากกว่าโรงเรียนทั่วไป
ช่วงที่จัดตั้งโรงเรียน เราแจ้งกระทรวงศึกษาธิการว่าไม่ต้องส่งครูมาประจำที่โรงเรียน แต่จะให้ครูเป็นคนเดินเข้ามาสมัครเอง การเลือกครูเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่ครูที่มีความรักต่ออาชีพและมีคุณภาพเท่านั้น แต่ต้องเป็นครูที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย เรามองว่าหากมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาจะทำให้นักเรียนสนุก มีความสุข และมาสนใจกับการเรียน นั่นคือเป้าหมายของการมีโรงเรียนแห่งนี้
การทำงานของเราจึงตั้งอยู่บนหลักคิดที่ว่า เวลาที่ต้องการจะพัฒนาสิ่งใด จะหันกลับมาดูทรัพยากรที่มีอยู่และจะจัดสรรทรัพยากรตรงกับความต้องการจริง เด็กแต่ละคนจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค โดยเด็กทุกคนต้องได้รับการพัฒนาตามศักยภาพของตนสูงสุด ขณะเดียวกันเป้าหมายของโรงเรียนไม่ได้มีไว้เพื่อเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่ที่ให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้และมีความสุขกับการเข้ามาทำงาน นำไปสู่การพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง