ปิติคุณ นิลถนอม
ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนที่นำไปสู่สงครามทำให้แต่ละประเทศต่างเฝ้าระวังโดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่เป็นสมาชิกนาโต้ รวมถึงประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศยูเครนและรัสเซีย
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลกก็เป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ไม่น้อย เพราะแน่นอนการรบพุ่งที่เกิดขึ้นนั้นย่อมทำให้เกิด supply shock ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ลำดับที่ 3 ของโลก ในขณะที่ยูเครนก็เป็นผู้ส่งออกข้าวโพดลำดับที่ 6 ของโลกเช่นกัน นี่เป็นเพียงการมองอย่างเร็วๆ ซึ่งจริงๆ แล้วส่งผลกระทบในวงกว้างกว่านั้นมาก โดยเฉพาะในระยะยาวที่นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าประเทศต่างๆ ย่อมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงและการทหารมากขึ้นจากวิกฤติครั้งนี้ นั่นย่อมหมายความว่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ควรจะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็ย่อมถูกโยกไปใช้ในวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงด้วย ทำให้การพัฒนาที่ควรจะเป็นไปตามครรลองย่อมถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
นอกเหนือจากต้นทุนของสงครามและผลกระทบในระยะยาว เมื่อมองสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านี้ก็เป็นภาพที่สลดหดหู่ โดยเฉพาะภาพความเสียหายของตึกรามบ้านช่อง สิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิด การโจมตีเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางทหาร ส่งผลให้ภาพข่าวที่ออกมานั้นน่าเศร้าใจยิ่งนัก และไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้
เมื่อสิ่งที่ไม่คาดคิดมาเกิดขึ้นในยุคดิจิทัลเช่นนี้แล้วภูมิทัศน์ของสงครามเลยมีความแตกต่างจากสงครามในอดีต แน่นอนการใช้ข้อมูลข่าวสารในการต่อสู้กันเป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่สื่อสารกันอย่างรวดเร็วผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ก็ย่อมทำให้คู่ขัดแย้งและพันธมิตรใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนแบบ real time ดังจะเห็นได้จากการใช้การทูตทวิตเตอร์ หรือ twiplomacy ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ ที่น่าสนใจคือฝั่งยูเครนมีการใช้ทวิตเตอร์ในการร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ ซึ่งแน่นอนได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากกรณี Mykhailo Fedorov รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงปฏิรูปดิจิทัล ขอใช้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมสตาร์ลิงก์จาก Elon Musk และได้รับการตอบสนองในทันที
นอกเหนือความเคลื่อนไหวและท่าทีของบุคคลที่มีตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาลของคู่ขัดแย้งรวมถึงพันธมิตรแล้ว ในมุมของการนำเสนอข่าวสารนั้น สื่อมวลชนทั่วโลกต่างรายงานข่าวกันอย่างแข็งขัน รวมถึงประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆ ที่มีโทรศัพท์มือถือและเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวที่สามารถส่งข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบสังคมออนไลน์ให้ชาวโลกได้เห็น แม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวรายงานสดจากสถานที่เกิดเหตุจริงๆ
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางข้อมูลมหาศาลนี้คือ ข้อมูลใดบ้างที่เป็นข้อมูลจริง ข้อมูลใดคือข้อมูลเท็จ เพราะการสื่อสารข้อมูลออกไปแม้จะไม่มีเจตนาแต่ภาษาที่ใช้ หรือมุมกล้องที่ถ่าย ก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้ ซึ่งรวมถึงผู้ที่เชื่อโดยสุจริตแล้วส่งต่อข้อมูลนั้นด้วย (misinformation) นับประสาอะไรกับผู้ที่ต้องการบิดเบือนข้อเท็จจริงก็ย่อมสามารถเติมแต่ง ใส่สีตีไข่ลงไป (disinformation) รวมถึงเผยแพร่ข่าวปลอม (fake news) ได้โดยง่าย
ปรากฏการณ์ของข่าวสารที่ถูกบิดเบือนในช่วงนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของ Hiram Johnson อดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ว่า เมื่อสงครามเกิดขึ้นคนเจ็บตัวคนแรกคือความจริง – “The first casualty when war comes is truth”
หลังเกิดความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน การส่งต่อข้อมูลที่คลาดเคลื่อนที่เห็นได้ชัดก็น่าจะเป็นกรณีที่รายการข่าวของสำนักข่าวใหญ่แห่งหนึ่งได้นำเสนอข่าวโดยใช้ข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันในโลกออนไลน์ว่ายูเครนสร้างข้อมูลเท็จกรณีอ้างว่ามีคนตายจากการรุกรานของรัสเซีย โดยกล่าวหาว่าสิ่งที่อยู่ในถุงดำใส่ศพนั้นเป็นคนที่ยังไม่ตาย
แต่ที่ไหนได้ ภาพข่าวดังกล่าวเป็นภาพข่าวของสำนักข่าว OE24 ที่นำเสนอภาพการประท้วงเรื่องโลกร้อนในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งหากไปตรวจสอบต้นตอของคลิปเจ้าปัญหาที่เป็นคลิปเต็มแล้ว ก็จะทราบได้ว่ามันไม่ใช่เหตุการณ์ในยูเครนเลย เพราะข่าวดังกล่าวมีตัวอักษรขึ้นว่า Wien ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันหมายถึงกรุงเวียนนา
อย่างไรก็ตาม บรรดาแฟนานุแฟนที่เชื่อในเนื้อหาของข่าวปลอมนี้เพราะถูกจริต เนื่องจากมีใจโอนเอนเข้าข้างทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว ก็มีตัวเร่งจากอคติที่เรียกว่า confirmation bias จนทำให้เกิดสภาวะ “มือลั่น” ส่งต่อไปอย่างกว้างขวาง โดยไม่ตรวจสอบ เป็นผลให้เกิดความสับสนในสังคมไปกันใหญ่

ทั้งนี้ หากพิจารณาดูข่าวปลอมนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นการปลอมแบบไม่เนียนต้องเรียนมาใหม่ หรือเรียกว่า cheap fake ซึ่งจริงๆ หากวางอคติลง ไม่ด่วนสรุปและแชร์ออกไป แล้วตรวจสอบดูสักนิดก็จะรู้ได้ไม่ยากว่ามันไม่จริง
ดูแหล่งที่มา ไม่ดูแค่พาดหัว ดูความน่าเชื่อถือของผู้เขียน แสวงหาหลักฐานสนับสนุน ตรวจสอบวันที่ ดูเจตนาผู้เขียนว่าจงใจทำเพื่อล้อเลียนหรือไม่ การเตือนตนเองให้ระวังอคติ การถามผู้เชี่ยวชาญ นำภาพไปค้นหาโดยใช้ serch engine หรือใช้บริการเว็บเพจที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอม เป็นวิธีง่ายๆ ในการไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม

แต่สิ่งที่น่ากลัวคือข่าวปลอมที่แนบเนียนหรือที่เรียกว่า deepfake ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อย่างปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการบิดเบือนข้อมูลอย่างสมจริง โดยเฉพาะการสร้างให้คนมีชื่อเสียงพูดในสิ่งที่ผู้กระทำต้องการ
ในสถานการณ์ความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซียก็มีการใช้ข่าวปลอมลักษณะนี้ในการโจมตีฝั่งตรงข้าม เช่น กรณีการใช้ AI สร้างอวาตาร์ของ Volodymyr Zelenskyy ประธานาธิบดียูเครน เพื่อให้กล่าวประกาศยอมแพ้

deepfake ลุกลามมาถึงการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่จากเดิมใช้วิธีการโน้มน้าวโดยการพูดข่มขู่ หรือหลอกลวงมาเป็นการใช้แอปพลิเคชันสร้างภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่เครื่องแบบและขยับปากพูดตามเสียงปลายสายที่ดูคล้ายกับเจ้าหน้าที่คนนั้นพูดอยู่จริงๆ เพื่อหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อว่าคนที่กำลังวิดีโอคอลกับตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่มิจฉาชีพกล่าวอ้าง
ในประเด็นนี้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. Government Accountability Office ได้ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา หลังปรากฏกรณีการตัดต่อภาพวีดีโอของประธานาธิบดี Zelenskyy ที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้น โดยได้เผยแพร่ผลการศึกษาและวิธีการตรวจสอบข่าวปลอมที่เป็น deepfake ว่าจะสังเกตและ “จับไต๋” ได้อย่างไร
ในรายงานฉบับดังกล่าวอธิบายว่า deepfake คือภาพวิดีโอ รูปถ่าย หรือไฟล์เสียง ที่ทำให้เหมือนจริงผ่านปัญญาประดิษฐ์ ที่ถูกสอนให้จดจำข้อมูลและรูปแบบต่างๆ ซึ่งใช้เทคโนโลยีอย่าง autoencoders และ generative adversarial networks (GANs)
กระบวนการนี้สามารถเปลี่ยนหน้า ปรับแต่งรูปหน้า เพื่อสร้างให้บุคคลใดพูดในสิ่งที่บุคคลนั้นไม่เคยพูดเลยได้ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ การสลับหน้าไปเลย (face swapping) โดยนำหน้าของนาย ก มาใส่แทนหน้าของนาย ข ส่วนอีกวิธีคือการบิดเบือนหน้า (face manipulation) โดยการนำการแสดงออกทางสีหน้าแววตาและรูปปาก ไปใส่ในหน้าของบุคคลอื่น เพื่อให้บุคคลนั้นแสดงสีหน้าแววตาและพูดในสิ่งที่ต้องการ

รายงานอธิบายต่อไปว่า deepfake มักจะใช้ในสื่อที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามก ซึ่งผู้หญิงมักตกเป็นผู้เสียหาย นอกจากนี้ยังมีการใช้เพื่อประโยชน์ในการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร การสร้างข่าวปลอม การสร้างกระแสการเลือกตั้ง การก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม รวมถึงการใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามจิตวิทยา (psychological warfare) ซึ่งส่งผลเสียอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการทำลายความเชื่อมั่นสาธารณะหรือ public trust
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งก็มีประโยชน์อยู่บ้างบางประการ เช่น ในวงการบันเทิง การที่สามารถใช้หน้าดาราไปใส่แทนหน้าผู้อื่นในกรณีที่นักแสดงไม่สามารถทำการแสดงได้ เช่น ไม่สบายหรือเป็นฉากเสี่ยงตาย หรือในกรณีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ทำให้ลูกค้าสามารถนำหน้าของตนไปใส่ในภาพบุคคลอื่นเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อเสื้อผ้า เป็นต้น
รายงานระบุต่อไปว่า คนทั่วไปที่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันโดยปกติก็สามารถสร้าง deepfake ได้ โดยใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่มีให้ดาวน์โหลดกันอยู่ทั่วไป จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากหากใช้ในวัตถุประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากในการที่จะสังเกตสังกาบรรดาข้อมูลข่าวสารที่รับมา ก่อนที่จะเชื่อและส่งต่อเสมอ โดย GAO ได้อธิบายวิธีการจับไต๋ deepfake ลักษณะนี้ว่า ในบางกรณีที่มีความแนบเนียนและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมากในการทำ อาจจำเป็นต้องใช้ AI ในการจับผิด ทำนองหนามยอกเอาหนามบ่ง เช่น Microsoft และ Intel ได้เปิดตัวเครื่องมือในการตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 2020 แต่ในสถานะประชาชนคนธรรมดาที่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันโดยปกติทั่วไปก็สามารถสังเกตได้ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การสังเกตการกะพริบตาที่ผิดธรรมชาติ รูปปากที่ไม่เป็นธรรมชาติในเวลาพูด ต่างหูที่ไม่เข้าคู่กัน เป็นต้น

ในขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ สถานการณ์ความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซียยังคงตึงเครียดอยู่ ได้แต่หวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีในเร็ววัน ซึ่งสถานการณ์ที่มีข่าวสารอัปเดตจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน การเสพสื่ออย่างมีสติและลดอคติลงบ้าง ไม่ว่าจะลำเอียงเพราะ รัก โกรธ หลง หรือกลัว ก็น่าจะทำให้เห็นอะไรมากขึ้น เข้าอกเข้าใจมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทำให้มีสติในการคิดก่อนที่จะแชร์ต่อมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ความรู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ (digital literacy) อย่าง AI ที่นำมาบิดเบือนข้อมูลแบบ deepfake นอกจากจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้แยกแยะข่าวจริงข่าวปลอมออกแล้วยังถือเป็นเกราะป้องกันการถูกหลอกลวงจากพวกแก๊งคอลเซนเตอร์ที่หาวิธีใหม่ๆ มาหลอกเราได้ทุกเมื่อเชื่อวันอีกด้วย
ข้อมูลประกอบการเขียน
Oil Production by Country – Worldometer (worldometers.info)
World Corn Production: Ranking of Countries (USDA) – Beef2Live | Eat Beef * Live Better
https://www.tnnthailand.com/news/tech/106292/
https://guides.lib.umich.edu/c.php?g=283063&p=4471741
https://www.standard.co.uk/news/world/ukraine-russia-war-how-spot-fake-news-misinformation-fact-check-sources-b988226.html
https://foreignpolicy.com/2022/03/08/ukraine-propaganda-war/
https://www.oe24.at/video/news/wien-demo-gegen-klimapolitik/509553935
https://nypost.com/2022/03/17/deepfake-video-shows-volodymyr-zelensky-telling-ukrainians-to-surrender/https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/167834
https://twitter.com/USGAO/status/1504557186550226947?t=mbNIMXHLka1f68jDJ3mjxQ&s=19
https://www.gao.gov/products/gao-20-379sp?utm_source=twitter&utm_medium=social&utm_campaign=gpi