ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน World Development Report 2019 ยุคใหม่ของสภาพงาน ธุรกิจ และทักษะ

รายงาน World Development Report 2019 ยุคใหม่ของสภาพงาน ธุรกิจ และทักษะ

28 กันยายน 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : worldbank.org

ในหนังสือชื่อ 21 Lessons for the 21st Century ผู้เขียน Yuval Noah Harari ที่โด่งดังจากหนังสือ Sapiens กล่าวว่า เราคาดคิดไม่ออกว่า ในปี 2050 สภาพการทำงานจะมีหน้าตาอย่างไร แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เครื่องจักรกลที่สามารถเรียนรู้ และหุ่นยนต์ จะเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานทุกประเภท ตั้งแต่การทำโยเกิร์ต ไปจนถึงการสอนการเล่นโยคะ

แต่ก็มีความเห็นที่ต่างกันเรื่องลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นเร็วขนาดไหน บางคนเชื่อว่า ภายใน 1-2 ทศวรรษนี้ การงานที่คนนับพันล้านคนกำลังทำอยู่อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่มีคนอีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่า ในระยะยาว ระบบอัตโนมัติจะสร้างงานแบบใหม่ขึ้นมา และจะนำความรุ่งเรืองมาสู่คนเราทุกคน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องมีเหตุมีผลที่จะคาดการณ์ว่า พัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะแตกต่างจากอดีต การที่เครื่องจักรกลมีความสามารถในการเรียนรู้จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

สภาพงานที่เปลี่ยนไป

ที่มาภาพ : wikipedia.org

รายงานประจำปีของธนาคารโลก World Development Report ปี 2019 ที่จะพิมพ์ขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ก็เป็นเรื่อง “สภาพที่เปลี่ยนไปของการทำงาน” (The Changing Nature of Working) รายงานกล่าวว่า สังคมมนุษย์วิตกกังวลมาตลอด ที่นวัตกรรมใหม่ๆ จะนำไปสู่การว่างงานอย่างกว้างขวาง ในประเทศมั่งคั่งและรายได้ปานกลาง งานด้านอุตสาหกรรมที่อาศัยแรงงานคน ได้ถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีลักษณะที่มีความสำคัญบางอย่าง เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้องค์กรธุรกิจสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว บริษัทธุรกิจแบบแพลตฟอร์มสามารถยกระดับจากธุรกิจสตาร์ทอัปในท้องถิ่นขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก โดยมีพนักงานและสินทรัพย์ไม่มาก ธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถขยายตลาดและเข้าถึงลูกค้าอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดลู่ทางโอกาสแก่ผู้ประกอบการจำนวนมากมาย แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้อยู่ในประเทศอุตสาหกรรม หรืออยู่ในพื้นที่การผลิตอุตสาหกรรม

เมื่อเทียบกับธุรกิจดั้งเดิม ธุรกิจแบบแพลตฟอร์มขยายตัวได้รวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ บริษัท IKEA ของสวีเดนตั้งขึ้นในปี 1943 ใช้เวลา 30 ปีก่อนจะขยายธุรกิจไปทั่วยุโรป และใช้เวลา 70 ปีก่อนที่จะมียอดขาย 42 พันล้านดอลลาร์ แต่บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง Alibaba ของจีน สามารถเข้าถึงลูกค้า 1 ล้านคน ภายใน 2 ปีแรก มีบริษัทผู้ผลิตสินค้าในเครือ 9 ล้านราย และมีรายได้ 700 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 15 ปี

สภาพที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ทำให้รัฐ บริษัทธุรกิจ และคนงาน ต้องหันมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแบบใหม่ เช่น บริษัทเดนมาร์กหันมาใช้เทคโนโลยี 3D เพื่อความได้เปรียบในการผลิตอุปกรณ์การฟัง รัฐบาลอินเดียลงทุนมากในสถาบันเทคโนโลยีทั่วประเทศ ทำให้อินเดียเป็นผู้นำด้านธุรกิจไฮเทค ส่วนเวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก ทำให้คนงานเวียดนามมีโอกาสพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ

แม้จะสร้างโอกาสใหม่ๆ แต่เทคโนโลยีดิจิทัลก็ทำให้การดำเนินธุรกิจที่เป็นอยู่เกิดการชะงักงัน (disruption) ราคาเครื่องจักรกลที่ถูกลงทำให้เกิดความเสี่ยงที่ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทำงานแทนคนงานที่ทักษะต่ำและเป็นงานแบบจำเจ การว่างงานที่เกิดจากเทคโนโลยีจึงสร้างความกังวลมาตลอดนับจากอดีต

World Development Report 2019 รายงานว่า ในช่วงการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ คนงานบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ บริษัท Foxconn Technology Group ในจีน สามารถลดคนงานลง 30% หลังจากนำหุ่นยนต์มาใช้ เมื่อหุ่นยนต์มีราคาถูกลง ผู้ผลิตจะเริ่มย้ายการผลิตมาอยู่ใกล้ตลาดมากขึ้น ปี 2017 บริษัท Adidas ย้ายโรงงานผลิตรองเท้า กลับมาเยอรมันและสหรัฐฯ โดยอาศัยเทคโนโลยี 3D Printing ทำให้โรงงานในเวียดนาม ลดคนงานได้กว่าหนึ่งพันคน

งานด้านบริการก็เสี่ยงต่อระบบอัตโนมัติ บริษัท Baidu ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน กำลังดำเนินการกับ King Long Motor Group เพื่อสร้างรถยนต์ไร้คนขับ ให้บริการในเขตนิคมอุตสาหกรรม นักวิเคราะห์การเงินก็กำลังประสบปัญหาการเลิกจ้าง Sberbank ธนาคารใหญ่สุดของรัสเซีย อาศัยปัญญาประดิษฐ์มาทำงานการอนุมัติเงินกู้ได้ถึง 35% และจะเพิ่มเป็น 70% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ฝ่ายกฎหมายของ Sberbank อาศัย “ทนายหุ่นยนต์” เข้ามาทำงานแทนนักกฎหมาย 3,000 คน ส่วนพนักงานประจำสำนักงาน จะลดจาก 59,000 คนในปี 2011 เหลือ 1,000 คนในปี 2021

ที่มาภาพ : unsplash.com

สภาพธุรกิจที่เปลี่ยนไป

ในอดีต ธุรกิจดำเนินงานภายในกรอบพรมแดนของประเทศใดหนึ่ง และทำการผลิตทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบัน พรมแดนธุรกิจกว้างขวางมากขึ้น ข้อตกลงการค้าเสรีและต้นทุนของการค้าข้ามพรมแดนที่ลดลง ทำให้ธุรกิจหันไปซื้อชิ้นส่วนการผลิตจากแหล่งอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า บริษัทฟอร์ดมอเตอร์เคยมีสวนยางพาราอยู่ในอเมริกาใต้ เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานยางรถยนต์ของตัวเอง ทุกวันนี้ IKEA จัดหาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ผ่านการประมูลออนไลน์ ผู้ผลิตทั่วโลก กลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกของ IKEA

ที่ผ่านมา ธุรกิจยักษ์ใหญ่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนามาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะเป็นภาคธุรกิจที่รองรับแรงงานที่ออกจากภาคเกษตร บริษัทยักษ์ใหญ่เป็นคนบุกเบิกการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำการผลิตที่เกิดความประหยัดต่อหน่วย ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากสินค้าราคาถูกลง การจ้างงานที่เป็นแบบทางการล้วนมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น

แต่ World Development Report 2019 กล่าวว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การค้าขายออนไลน์กำลังมาแทนที่บรรดาร้านค้าที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า เป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงลูกค้ากับธุรกิจแบรนด์เนมต่างๆ ทำให้แบรนด์เนมเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสร้างรายได้แก่เจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์ม บริษัท JD Finance ของจีน นำข้อมูลที่ได้จากการซื้อขายผ่าน platform มาสร้างโมเดลเพื่อประเมินการปล่อยเงินกู้

ธุรกิจแพลตฟอร์มเกิดขึ้นทุกประเทศในโลก และขยายตัวอย่างรวดเร็ว บริษัทการศึกษาของจีนชื่อ VIPKID ตั้งขึ้นในปี 2013 สามารถทำให้นักเรียนจีน 200,000 คน สามารถเรียนภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัวกับครูภาษาชาวอเมริกัน 30,000 คน บริษัทฟินเทค Ant Financial ในเครือของกลุ่ม Alibaba ใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้า ทำให้สามารถอนุมัติเงินกู้แก่ลูกค้าได้ใน 1 วินาทีนับจากที่ลูกค้าได้ยื่นเรื่องขอกู้เงิน โมเดลเงินกู้นี้เรียกว่า “3-1-0” คือ การยื่นเรื่อง 3 นาที การดำเนินงาน 1 วินาที และปิดเรื่อง 0 วินาที นับจากปี 2014 ผู้ประกอบการรายย่อยจีนได้รับเงินกู้ไปแล้ว 4 ล้านกว่าราย

ธุรกิจแพลตฟอร์มยังสร้างโอกาสธุรกิจทันทีทันใดให้กับผู้ประกอบการ นับจากปี 2009 บรรดาผู้ค้าปลีกออนไลน์รายย่อยของจีน ได้ไปเปิดร้านอยู่บน Taobao.com เกิดเป็นหมู่บ้านเรียกว่า Taobao Village พ่อค้าหมู่บ้านนี้จะผลิตสินค้าบริโภค สินค้าเกษตร และหัตถกรรม ที่ตัวเองมีความได้เปรียบ สร้างงานขึ้นมากกว่า 1.3 ล้านงาน และยังสามารถดึงคนหนุ่มสาวกลับมาบ้านเกิด เพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจออนไลน

ที่มาภาพ : worldbank.org

ทักษะที่อนาคตต้องการ

World Development Report 2019 รายงานว่า ธุรกรรมการผลิตแบบอัตโนมัติ ทำให้สภาพงานเปลี่ยนไป รวมทั้งทักษะที่งานในอนาคตมีความต้องการ ความต้องการทักษะที่เป็นความสามารถในการเรียนรู้ (cognitive skills) และทักษะด้านพฤติกรรมสังคม (socio-behavioral skills) จะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความต้องการทักษะงานเฉพาะด้านที่แคบๆ จะลดน้อยลง ทักษะเรื่องความสามารถในการปรับตัวในการทำงานจะมีเพิ่มมากขึ้น งานในทุกด้านจะต้องการทักษะในการคิดวิเคราะห์กับการแก้ปัญหา และทักษะในการสร้างสรรค์และความตระตือรือร้น

ระบบอัตโนมัติจะทำให้งานบางอย่างล้าสมัยไป ในเวลาเดียวกัน นวัตกรรมก็ทำให้เกิดงานประเภทใหม่ขึ้นมา หนังสือ 21 Lessons for the 21st Century ยกตัวอย่างว่า อากาศยานไร้คนขับทำให้ไม่ต้องการนักบินอีกต่อไป แต่ปฏิบัติการของอากาศยานไร้คนขับ 1 ลำ เหนือน่านฟ้าประเทศซีเรีย กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องอาศัยคนทำงาน 30 คน และอีก 80 คนเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ในอินเดีย มีคนทำงานเป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชัน 4 ล้านคน เมื่อ 30 ปีที่แล้วยังไม่มีงานประเภทนี้

ในอนาคต ทักษะของแรงงานแบบไหนที่ตลาดจะมีความต้องการน้อยลง ตัวอย่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วแสดงให้เห็นถึงการแบ่งขั้วของงาน งานที่ขยายตัวมากขึ้นคืองานที่ต้องการทักษะสูงและทักษะต่ำ ส่วนงานที่อาศัยทักษะระดับกลาง ความต้องการของตลาดจะลดน้อยลง ความต้องการแรงงานที่มีทักษะการเรียนรู้จะมีมากขึ้น เช่น การวิจัยระดับสูง หรือพนักงานเตรียมอาหาร ที่ระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ได้ยาก ส่วนความต้องการงานปกติที่ทำตามขั้นตอน ใช้ทักษะระดับกลาง เช่น การป้อนข้อมูล จะลดลง เพราะหันไปใช้ระบบอัตโนมัติ

World Development Report 2019 กล่าวว่า การมีพื้นฐานทางทักษะถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาต่อยอดการสร้างทักษะด้านการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ และการปรับตัว สำหรับเด็กนักเรียน พื้นฐานทักษะดังกล่าวก่อรูปขึ้นมาในช่วงการเรียนระดับประถมและมัธยม แต่การสร้างพื้นฐานของทักษะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในบรรดาโรงเรียนของประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง

นอกเหนือจากนี้ การทำให้แรงงานมีการปรับตัวด้านทักษะ ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายนอกระบบการศึกษา และระบบการจ้างงานเป็นทางการ การพัฒนาทักษะให้กับแรงงาน ในสภาพที่งานเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างทักษะใหม่ให้กับแรงงาน จึงเกี่ยวพันโดยตรงกับประเทศกำลังพัฒนา ที่ประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น

เอกสารประกอบ
World Development Report 2019, World Bank
21 Lessons for the 21st Century, Yuval Noah Harari, Vintage, 2018.