ThaiPublica > คนในข่าว > “กุลิศ สมบัติศิริ” ภารกิจ 3 ปีกรมศุล “สะสาง – อำนวยความสะดวกการค้า – รื้อระบบใส่ความโปร่งใส ลดทุจริตคอร์รัปชัน “

“กุลิศ สมบัติศิริ” ภารกิจ 3 ปีกรมศุล “สะสาง – อำนวยความสะดวกการค้า – รื้อระบบใส่ความโปร่งใส ลดทุจริตคอร์รัปชัน “

28 กันยายน 2018


นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร

วันที่ 30 กันยายนนี้เป็นวันสุดท้าย ในการปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมศุลกากรของนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตลูกหม้อกรมบัญชีกลาง ที่ถูกโยกมานั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร หน่วยงานจัดเก็บภาษีขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทั้งบนดินและใต้ดิน จนหน่วยงานแห่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “แดนสนธยา” แต่ก็เป็นที่หมายปองของคนคลัง

“กุลิศ” เป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ไม่เคยผ่านงานด้านการจัดเก็บภาษีมาก่อน หลังจากที่ถูกส่งมากำกับดูและงานที่กรมศุลกากร ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – วันที่ 30 กันยายน 2561) ได้เข้ามาสะสาง จัดระเบียบ วางระบบกติกาความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน

ดังนั้นก่อนที่นายกุลิศย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ามีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับ “กุลิศ สมบัติศิริ” ซึ่งออกตัวตั้งแต่ครั้งมารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรว่า “ผมไม่รู้เรื่องกรมศุลฯลย เป็นกรมที่ผมไม่เคยคิดว่าจะถูกส่งให้มาดูแลงานที่นี่ ผมเติบโตมาจากกรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับผม เพราะเป็นกรมจัดเก็บภาษีที่มีความหลากหลาย และเป็นหน้าด่านในการทำหน้าที่จัดเก็บภาษีให้กับกรมอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต”

นายกุลิศกล่าวว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า กรมศุลกากรเป็นกรมที่มีความหลากหลาย จัดเก็บภาษีแทนหน่วยงานอื่น หรือเป็นหน่วยงานด่านแรก เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเจอกับเรื่องจิปาถะ ต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่นให้กระทรวงมหาดไทย กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีนำเข้าจริงๆ แค่ 19% ของรายได้ทั้งหมด ที่เหลืออีก 81% กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีหรือรายได้ให้หน่วยงานอื่น

กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานหน้าด่าน ต้องดูแลปัญหาทุกเรื่อง ก่อนที่ผมมาอยู่ที่กรมศุลกากร ช่วงนั้นก็มีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการว่าภาคธุรกิจเดินไม่ได้ เพราะกรมศุลกากรเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ และทุกคนก็เตือนผมว่ากรมนี้มีเรื่องผลประโยชน์ และมีการใช้ดุลพินิจในการตีความตัวบทกฎหมาย เมื่อผมได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ก็ได้รับมอบนโยบายจากกระทรวงการคลังให้มาแก้ไขปัญหาที่นี่ ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ สร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ

สะสางสภาพปัญหากรมศุลกากร

หลังจากที่มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการหลายราย เช่น ผู้ประกอบการบางราย นำเข้าสินค้าชนิดนี้เป็นประจำ อยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ศุลกากรตีความเปลี่ยนพิกัด และกักสินค้าของผู้ประกอบการเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีผู้นำเข้าบางราย ขอให้กรมศุลกากรวินิจฉัยพิกัดของสินค้าที่กำลังจะนำเข้าล่วงหน้า วินิจฉัยเสร็จเรียบร้อย สินค้านำเข้าส่งมาถึงด่านศุลกากร ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ประจำการอยู่ที่ด่านฯ มีความเห็นแตกต่างจากสำนักพิกัดอัตราศุลกากร กรมศุลกากร แม้ผู้นำเข้าจะแสดงหลักฐานคำวินิจฉัยล่วงหน้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรแล้วก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ที่ด่านฯ ก็ไม่สนใจ ทำการประเมินภาษีผู้นำเข้า หากจะนำสินค้าออกจากด่านศุลกากร ต้องจ่ายภาษีอัตราสูงสุด หากไม่จ่าย ก็เอาสินค้าออกจากด่านศุลกากรไม่ได้ ต้องจ่ายคลังเก็บสินค้าเพิ่ม ผู้นำเข้าไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ ก็มาทำเรื่องขออุทธรณ์ต่อกรมศุลกากร

ช่วงปี 2546-2554 มีคำร้องขออุทธรณ์ภาษีที่ยังไม่ได้ตอบผู้เสียภาษี ค้างเป็น 10,000 เรื่อง ช่วงที่ผมไปตรวจเยี่ยมสำนักพิกัดอัตราศุลกากร ตั้งแต่หน้าลิฟต์เข้าไปในห้องผู้บริหารฯ เต็มไปด้วยเอกสารมัดๆ เต็มไปหมด ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จัดประชุมกันทุกๆ 3 เดือน พิจารณาคำร้องขออุทธรณ์ได้เต็มที่ไม่เกิน 10 เรื่อง บางกรณีถูกดองเรื่องเอาไว้ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2558 ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยเลย ปรากฏว่าผู้นำเข้าขอถอนเรื่อง ยอมจ่ายค่าภาษี เพราะไม่อยากมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร

นี่ก็คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรมศุลกากรช่วงปี 2558 ก่อนที่ผมเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร

หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งที่นี่ ผมก็มาสานต่องานที่ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ทำค้างเอาไว้ ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง คือ ภารกิจผลักดัน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 จนกระทั่งกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้

นายกุลิศ สมบัติศิริ

“สำนักพิกัดฯ” กระดูกสันหลังกรมศุลฯ

ขอกลับมาที่เรื่องคน ช่วงที่ผมมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของสำนักพิกัดอัตราศุลกากร พบว่างานที่สำนักฯ นี้เยอะมากจนไม่มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรคนไหนอยากย้ายมาทำงานที่หน่วยนี้ เพราะถือว่าเป็น “กองใน” ทุกคนอยากไปประจำการอยู่ตามด่านศุลกากรมากกว่าจะมาอยู่ที่ “กองใน” อย่างเช่น สำนักแผนและการต่างประเทศ, สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล, สำนักบริหารกลาง, สำนักพิกัดอัตราศุลกากร, สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร เป็นต้น โดยเฉพาะสำนักพิกัดอัตราศุลกากร ทั้งที่งานเยอะมาก แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานหนัก

“หากการนำเข้าสินค้าถูกต้อง ตรงตามพิกัดและอัตราภาษีมาตั้งแต่เริ่มต้นนำเข้า มันจะไม่มีปัญหาพิพาทหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะฉะนั้น สำนักพิกัดอัตราศุลกากรจึงเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของกรมศุลกากร ที่ควรได้รับการแก้ไขปรับปรุง”

พอมาทำงานที่นี่ ผมก็เริ่มตั้งทีมงานขึ้นมาแก้ไขปัญหา โยกย้ายคนที่เคยทำงานที่สำนักพิกัดอัตราศุลกากรออกไปประจำการตามด่านศุลกากร ดึงคนที่มีความรู้เคยไปทำงานที่องค์การศุลกากรโลก (WCO) กลับมาเป็นผู้อำนวยการ จัดทำแอปพลิเคชันที่เรียกว่า “HS Check” ขึ้นมา รวมทั้งวางระบบฐานข้อมูลสืบค้นผลคำวินิจฉัยประเภทพิกัดศุลกากร (Tariff e-Service) เพื่อให้ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองว่าสินค้าที่นำเข้ามากรมศุลกากรตรวจสอบอย่างไร รวมทั้งนำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เคยตีความ ทั้งกรณีการนำเข้า-ออก และความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากร โพสต์ลงในแอปพลิเคชัน

สร้างพันธมิตรศุลกากร – ดูแลธุรกิจรายสาขา

“กุลิศ” เล่าว่าช่วงที่ทำงานอยู่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่นี่ก็จะมีการแบ่งงานให้ข้าราชการแต่ละคนดูแลรับผิดชอบงานเป็นกลุ่มสาขา หรือที่เรียกว่า “account officer: AO” เช่น ดูแลสาขา ไฟฟ้า พลังงาน ขนส่ง เป็นต้น

“ผมได้นำแนวคิดนี้มาใช้ที่นี่ สร้างพันธมิตรศุลกากรขึ้นมา (customs alliances: CA) ในอดีตเมื่อเอกชนมีปัญหาไม่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ เช่น จับสินค้าของผู้นำเข้าเสร็จ เขาก็มาอุทธรณ์เสร็จ มาตามเรื่อง ถามใครก็ไม่มีใครตอบคำถามได้ โยนไปสำนักนี้ ให้ไปสำนักนั้น กลับมาสำนักนี้ใหม่อีก สุดท้ายไม่ได้คำตอบ สินค้าของผู้นำเข้าก็ถูกดองเอาไว้ 10 ปี ดังนั้น แนวในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง มันจะต้องไม่มีปัญหาพิพาทกันตั้งแต่ก่อนนำเข้า เมื่อนำสินค้าเข้ามาผ่านด่านศุลกากร ต้องถูกพิกัด เสียภาษีถูกต้อง จะได้ไม่ต้องมานั่งร้องเรียนกัน โดยมี AO ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ ผมก็ฝึกเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ประมาณ 30 คน ทำหน้าที่ AO โดยแบ่งงานตามหมวดสินค้าที่นำเข้าประมาณ 70% ของรายการสินค้านำเข้าทั้งหมด เช่น เครื่องจักร, เหล็ก, รถยนต์, เกษตรกรรม, เภสัชกรรม, วิตามิน, พลาสติก, ไอที จัดเป็นหมวดๆ จากนั้นจัดข้าราชการเข้าไปดูแลบริษัท จากนั้นผมก็เดินสายหาสมาชิก เพื่อมาเป็นพันธมิตรกับศุลกากร ผมตระเวนไปที่หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย หอการค้าไทย-อเมริกัน, หอการค้าไทย-ญี่ปุ่น, หอการค้าไทย-เกาหลีใต้ และสมาคมนักธุรกิจยุโรป เชิญมาเป็นสมาชิก”

ช่วงกลางเดือนกันยายน 2561 กรมศุลกากรมีนักธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้ามาเป็นสมาชิก 454 บริษัท สมาชิกเหล่านี้เมื่อเกิดข้อสงสัยว่า สินค้าที่นำเข้ามามีถิ่นกำเนิดสินค้าถูกต้องหรือไม่ ต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรอย่างไร ได้รับยกเว้นภาษีตามข้อตกลง FTA หรือไม่ เจ้าหน้าที่ AO กลุ่มนี้ ก็จะเข้ารับแก้ปัญหาเบื้องต้นก่อน แต่ถ้ายังมีปัญหาให้วินิจฉัย ก็จะส่งให้ AO ที่มีความเชี่ยวชาญประจำการอยู่ที่กรมศุลกากรคอยให้ความเห็นและคำแนะนำ เช่น กรณีแบบนี้เคยมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ไม่ต้องสำแดง หรือมีหลักในการพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างไร คิดภาษีอย่างไร พิกัดไหน เป็นต้น ตั้งแต่วันนั้นที่เริ่มตั้งทีมแก้ไขปัญหาจนถึงปัจจุบัน แก้ปัญหาไปได้กว่า 300 เรื่อง คือไม่ต้องมานั่งจับผิด ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ ผมถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร

และจากการที่กรมศุลกากร พยายามเน้นในเรื่องการอำนวยความสะดวก และเปิดให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ปีนี้กรมศุลกากรก็ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2561 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในหมวด “ภาครัฐเพื่อประชาชน: Good Governance for Better Life” สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (open governance) ระดับดีเด่น

ช่วงเดือนตุลาคมเราต้องลุ้นผลการให้คะแนนของธนาคารโลกอยู่เหมือนกันว่าปีนี้จะดีขึ้นหรือไม่ แต่ปีที่ผ่านมาธนาคารโลกก็จัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยดีขึ้น บริการของกรมศุลกากรก็ดีขึ้น ปีที่แล้วจัดอันดับไทยเพิ่มขึ้นไป 1 อันดับ แต่คะแนนไม่ได้ลด เพียงแต่ประเทศอื่นทำได้ดีกว่าไทย จึงแซงหน้าไป ปีที่แล้วกรมศุลกากรทำเรื่องเสนอธนาคารโลกไปว่าจะดำเนินโครงการนั้น โครงการนี้มีหลายเรื่องมาก ธนาคารโลกแจ้งกลับมาว่าให้ทำต่อไป ส่วนในปีนี้กรมศุลกากรลงมือปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรมออกมาหลายเรื่อง ผมก็หวังว่าโครงการพันธมิตรกรมศุลกากรจะได้รับการสานต่อไป ที่ผ่านมาผมเดินสายไปก็พบกับสมาคมต่างๆ ทุก 3 เดือน โดยอธิบดีกรมศุลกากรจะไปพบสมาคมต่างๆ เอง และก็ถามว่ายังคงมีปัญหาอะไรกับศุลกากรไหม ถ้ามีก็นำกลับมาแก้ไข

นายกุลิศ สมบัติศิริ

ตั้งเพดานจ่ายเงินสินบน-รางวัลนำจับไม่เกิน 5 ล้าน ลดแรงจูงใจ

ส่วนเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ศุลกากร ตอนเข้ามารับตำแหน่งที่นี่ ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานถ้อยคำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมเข้ามาสานต่อในช่วงที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายศุลกากรให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวาระที่ 2 ช่วงนั้นมีการตั้งคณะกรรมาธิการ สนช. ขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมาย โดยมีอธิบดีกรมศุลกากร เป็นกรรมาธิการร่วมกับสมาชิก สนช., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และตัวแทนภาคเอกชน เข้าร่วมพิจารณา ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงไปหลายมาตรา เช่น เรื่องสินบนรางวัลนำจับ สมมติว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับกุมสินค้าพร้อมค่าปรับเป็นเงิน 100 ล้านบาท ที่ผ่านมานั้นต้องนำส่งคลัง 45 ล้านบาท จ่ายเงินสินบนรางวัลให้สายหรือผู้แจ้งเบาะแส 30 ล้านบาท และเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมไปจนถึงอธิบดีกรมศุลกากรอีก 25 ล้านบาท

ร่างกฎหมายเดิม ให้ปรับลดเงินสินบนรางวัลที่จ่ายให้สายสืบ จาก 30 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท และปรับลดเงินรางวัลเจ้าหน้าที่จาก 25 ล้านบาท ลดเหลือ 20 ล้านบาท เมื่อนำร่างกฎหมายส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเสนอให้จำกัดวงเงินทั้ง 2 ส่วนเอาไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่พอเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ สนช. จำกัดวงเงินเบิกจ่ายไว้ไม่เกิน 5 ล้านบาท กล่าวคือ เงินรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส 20% ของมูลค่าสินค้ารวมค่าปรับ แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท และจ่ายให้เจ้าหน้าที่ผู้จับกุม 25% ของมูลค่าสินค้ารวมค่าปรับ แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท เช่นกัน

ทั้งนี้เพื่อลดแรงจูงใจ ที่ผ่านมาก็มีปัญหาเลี้ยงให้อ้วน หมายถึงพบความผิดตั้งแต่ปีแรก แต่ก็ไม่ไปจับ ปล่อยให้เวลาผ่านไป เพื่อให้ได้ค่าปรับเยอะๆ จาก 100 ล้านบาท กลายเป็น 1,000 ล้านบาท เพื่อจะที่สายสืบจะได้เงินสินบนรางวัล 30% ของค่าปรับ ส่วนเจ้าหน้าที่ได้เงินรางวัล 25% ของค่าปรับ แต่วันนี้กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว สมมติว่าจับสินค้าหลีกเลี่ยงภาษี รวมค่าปรับ คิดเป็นมูลค่า 100 ล้านบาท เดิมเงินเข้าหลวง 45% กฎหมายใหม่เพิ่มเป็น 90% เข้าหลวงทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีผู้แจ้งเบาะแส ก็จะส่งเข้าคลัง 95% เหลือ จ่ายเป็นเงินรางวัลให้เจ้าหน้าที่แค่ 5% เท่านั้น

ตรวจ-จับ-ผิด ต้องไม่เกิน 3 ปี

นอกจากนี้ ในกฎหมายใหม่ยังกำหนดเรื่องระยะเวลาในการตรวจสอบและประเมินภาษีไม่เกิน 3 ปี เพื่อป้องกันปัญหาตามที่กล่าวข้างต้น คือ “ขุนให้อ้วน” นั้น กฎหมายใหม่จะนับจากวันที่สินค้าเข้าท่าเทียบเรือบวกอีก 3 ปี หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจไม่พบความผิด จบ… หากเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรต้องสงสัย ต้องตรวจให้เจอใน 3 ปี ถ้าไม่เจอ จบ แต่ถ้าภายใน 3 ปี ปรากฏว่าพบเบาะแสน่าจะทำความผิด เจ้าหน้าที่มาขออธิบดีกรมศุลกากรขยายเวลาได้อีก 2 ปี รวมทั้งหมด 5 ปี ส่วนกรณีพบเบาะแสการกระทำความผิดภายใน 3 ปี แต่ไม่สามารถปิดสำนวนคดีได้ ก็มาขอขยายเวลาได้อีก 2 ปี ถ้ายังตรวจไม่พบอะไรอีก ก็จบ แต่ถ้าพบความผิดและดำเนินคดีแล้ว แต่ยังไม่จบ ขอขยายเวลาต่อไปได้อีก 5 ปี รวมเป็น 10 ปี เหมือนกับกฎหมายทั่วไปที่มีอายุความ 10 ปี

ดัดหลังนำเข้ารถมือ 2 สำแดง “สินค้าผ่านแดน” ไม่ส่งออกใน 1 เดือน “ยึด”

รวมทั้งยังแก้ไขเรื่องปัญหาสินค้าผ่านแดน ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการสั่งสินค้าจากญี่ปุ่นมาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งต่อไปประเทศเมียนมา เช่น รถยนต์พวงมาลัยซ้าย ซึ่งขับในประเทศไทยไม่ได้ ก็ต้องส่งสินค้าผ่านแดนไปขายต่างประเทศ ที่ผ่านมาผมเคยพาคณะกรรมาธิการฯ สนช. ดูงานที่บริเวณชายแดน ปรากฏว่ารถยนต์เหล่านี้ไม่ได้ส่งออก แต่กองอยู่ตามชายแดน สร้างเป็นเต็นท์รถ หมายความว่า ไม่มีคนสั่งของจริง เอาของเข้ามาแล้วมากองอยู่ที่ชายแดน ทำธุรกิจคล้ายๆ เต็นท์ขายรถยนต์มือ 2 โดยให้ผู้ซื้อจากเมียนมาหรือปากีสถานข้ามฝั่งมาดูรถยนต์ ซึ่งสินค้าตกค้างอยู่ในประเทศไทยนานมาก

แต่กฎหมายใหม่นั้น ผู้ประกอบการที่แจ้งกรมศุลกากรว่าเป็นสินค้าผ่านแดน ต้องนำสินค้าออกไปจากประเทศไทยภายใน 1 เดือน ถ้าไม่ออกไปภายใน 1 เดือน ยึดตกเป็นของแผ่นดิน หรือ ถ้าไม่ส่งออกไป (re-export) ภายในกำหนด ถือเป็นการขายในประเทศ ก็ต้องเสียภาษี ที่ผ่านมาทำกันเยอะมาก เปิดเป็นเต็นท์รถ ดองกันมา 5 ปีก็มี 10 ปี จนกว่ารถจะขายได้

ส่วนเขตปลอดอากร (free trade zone) สินค้าที่นำเข้ามาอยู่ในเขตนี้ ต้องนำมาบรรจุ ผสม ประกอบเพื่อส่งออก กฎหมายเดิมนั้น ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น แต่ถ้าผลิตเสร็จ นำออกมาขายในประเทศ ต้องเสียภาษีเสมือนการนำเข้า สำหรับกฎหมายใหม่นั้น ถ้านำสินค้าเข้ามาในเขตนี้ ยังไม่ต้องขอใบอนุญาต ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าขายในประเทศเมื่อไหร่ ก็ต้องใบอนุญาตต่างๆ และเสียจ่ายภาษีด้วย

ข้อพิพาทเอกชน 180 วัน มีคำตอบ แก้คดีถูกดอง ชี้ค้างเป็น 10,000 คดี

นอกจากนี้เรื่องระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องขออุทธรณ์ กรณีเกิดข้อพิพาทกับเอกชน เดิมพิจารณากันนานมาก 5-10 ปีก็ยังไม่จบ กฎหมายใหม่กำหนดว่าต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากยังไม่ได้คำตอบฟ้องศาลได้ทันที อย่างที่ผมกล่าวข้างต้น คือ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จัดประชุม 3 เดือนครั้ง และมีอยู่เพียงคณะเดียว แต่ในกฎหมายใหม่ แยกเป็น 3 คณะ คือ คณะที่ดูแลงานทางด้านพิกัดอัตราภาษีศุลกากร, คณะที่ดูแลเรื่องราคาศุลกากร และคณะที่ดูแลเรื่องข้อพิพาทด้านกฎหมาย โดยมีอธิบดีกรมศุลกากรนั่งเป็นประธานทุกคณะ จัดประชุมเดือนละ 2 ครั้ง สามารถหาข้อยุติได้เดือนละ 40 เรื่อง จากเดิมนั้น 3 เดือนประชุมครั้ง ได้ข้อยุติแค่ 10 เรื่อง แต่อย่างไรงานมันก็เยอะอยู่ดี เพราะมีเรื่องค้างการพิจารณาเป็น 10,000 เรื่อง ปีที่แล้วทั้งปีจัดประชุมไป 26 ครั้ง สามารถพิจารณาหาข้อยุติได้ 1,300 เรื่อง

“ผมแนะนำว่าให้ใช้ big data จัดกลุ่ม เช่น บริษัทเดียวกัน นำเข้าสินค้าชนิดเดียวกัน แต่นำเข้ามาในเวลาที่แตกต่างกัน แต่สินค้าอยู่ในพิกัดเดียวกัน ก็ต้องตีความหรือวินิจฉัยเป็นแนวทางเดียวกัน เป็นต้น ตอบหรือวินิจฉัยครั้งเดียว 10 กรณี เคลียร์สินค้าได้ถึง 1,000 ใบขน หรือสินค้าชนิดนี้เคยวินิจฉัยไว้กับบริษัทนี้แล้ว แต่มีอีกบริษัทนำเข้าสินค้าเหมือนกัน พิกัดเดียวกัน ใช้ big data นำข้อมูลมาดู ตอบข้อหารือหรือวินิจฉัย ครั้งเดียวแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการได้หลายราย ผมจึงสั่งให้ทำฐานข้อมูลคำร้องขออุทธรณ์ขึ้นมา ซึ่งจะช่วยลดงาของกรมศุลกากรไปได้มาก”

ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายศุลกากร คือ ใบอนุญาต “ตัวแทนออกของ” หรือ shipping กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร มันมีความใกล้เคียงกันมากจนแยกกันไม่ออก ยกตัวอย่าง บางกรณีมีตัวแทนออกของไปอ้างว่าศุลกากรเรียกเงิน ทางบริษัทเองก็ไม่อยากจะไปติดต่อกับศุลกากร มอบอำนาจให้ตัวแทนออกของไปดำเนินการทั้งหมด ปรากฏศุลกากรไม่ได้เรียกเงิน แต่ตัวแทนออกของเรียกเงินเอง ตรงนี้จึงต้องมีการออกใบอนุญาตให้ตัวแทนออกของ หากตรวจพบพฤติกรรมดังกล่าว ก็ต้องเพิกถอนใบอนุญาต เรื่องนี้ผมยังทำไม่เสร็จ คงต้องฝากอธิบดีกรมศุลกากรคนใหม่มาสานงานนี้ต่อไป

วางระบบ Pre-Arrival ยื่นใบขนสินค้า จ่ายภาษีล่วงหน้า

นายกุลิศเล่าต่อว่า”ระหว่างที่กรมศุลกากรปฏิรูปงานด้านกฎหมาย ผมก็ต้องเตรียมวางโครงสร้างพื้นฐานงานระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายและระเบียบวิธีปฏิบัติ พิธีการศุลกากรที่เปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่กระบวนการยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้า (pre-arrival processing) ก่อนที่เรือหรืออากาศยานจะเข้ามาถึงที่ท่าเรือหรือท่าอากาศยาน”

สมมติว่าสินค้าออกจากท่าเรือประเทศจีน หรือ เครื่องบินออกจากประเทศญี่ปุ่น ผู้นำเข้าสามารถส่งข้อมูลบัญชีสินค้าเรียกว่า “manifest” เป็นอิเล็กทรอนิกส์มาที่กรมศุลกากรก่อนได้ พอมาถึงท่าเรือ เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ตรวจสอบบัญชีรายการสินค้า ใบขนสินค้า และราคาเป็นอย่างไร บริษัทเคยมีประวัติทำผิดหรือไม่ สินค้ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่เครื่องบินหรือเรือจะเข้าเทียบท่าล่วงหน้า 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องตอบว่าสินค้าของผู้นำเข้าต้องสำแดงหรือไม่ ถ้าไม่มีความเสี่ยงก็ไม่ต้องสำแดง แต่ถ้ามีความเสี่ยง ก็ต้องขอเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตรวจสอบ กรมศุลกากรจะแจ้งให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนออกของทราบล่วงหน้า ปัจจุบัน ทุกสนามบิน ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ ใช้ระบบ pre-arrival processing แล้ว

“เดิมมีปัญหาว่าผู้นำเข้าไม่ได้ส่งบัญชีรายการสินค้าล่วงหน้า เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือ ก็ต้องเขาคิวรอเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบ กรณีขนส่งทางอากาศก็เช่นเดียวกัน พอสินค้ามาถึงท่าอากาศยาน ยื่นใบขนสินค้าตรงนั้น ตรวจสอบกันตรงนั้นเลย แต่ระบบใหม่ กรมศุลกากรจะตรวจสอบล่วงหน้าก่อนเครื่องบินหรือเรือเข้าเทียบท่า ระบบใหม่นี้ผมส่งไปให้ธนาคารโลก ประเมินผลเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ doing business ด้วย เพราะระบบนี้ใช้เป็นมาตรฐานขององค์การศุลกากรโลกที่ทุกประเทศนำมาใช้กันในปัจจุบัน”

เรื่องถัดมาได้สร้างระบบฐานข้อมูลสืบค้นผลคำวินิจฉัยประเภทพิกัดศุลกากร (tariff e-service) คือระบบวินิจฉัยพิกัดภาษีล่วงหน้า สมมติ บริษัทต้องการนำเข้าสินค้าชนิดหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าอยู่พิกัดไหน ก็สามารถยื่นเรื่องผ่านระบบ tariff e-service เพื่อขอให้สำนักพิกัดอัตราศุลกากรวินิจฉัยล่วงหน้าว่าสินค้าที่นำเข้าอยู่ในพิกัดไหน จากนั้นก็พิมพ์ออกมา เพื่อนำไปยื่นให้นายตรวจศุลกากรพิจารณาตรวจปล่อยสินค้า ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกโดยสำนักพิกัดอัตราศุลกากรส่วนกลาง นายตรวจอย่าจับนะ เปรียบเทียบกับในอดีต ผู้นำเข้าหรือตัวแทนออกของต้องมาทำเรื่องขอให้กรมศุลกากรวินิจฉัยพิกัดล่วงหน้า บางกรณีสินค้านำเข้ามาแล้ว 1 ปียังวินิจฉัยไม่เสร็จเลย ปัจจุบันผู้นำเข้าสามารถยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยพิกัดล่วงหน้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้นำเข้าสามารถสแกนเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้ประกอบการพิจารณาได้ ไม่ต้องมายื่นเอกสารที่กรมศุลกากร และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องตอบผู้นำเข้าภายใน 30 วัน แต่ถ้าเป็นเรื่องเทคนิค ยุ่งยากสลับซับซ้อน กรมศุลกากรต้องทำเรื่องถามองค์การศุลกากรโลก (WCO) กรณีนี้ต้องใช้เวลา 60 วัน กรณีที่เป็นสินค้าปกติ ไม่สลับซับซ้อนมาก ผู้นำเข้าสามารถมาใช้บริการระบบสืบค้นพิกัดล่วงหน้า (HS Check) ในรูปแบบ mobile application ได้ด้วย หากมีค่าธรรมเนียม ก็ต้องจ่ายผ่านระบบ e-payment ทั้งหมด ทุกอย่างติดต่อกันด้วยอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ผู้ประกอบการไม่ต้องมาพบเจ้าหน้าที่ หรือมาขอให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัยเป็นการส่วนตัว

จากนั้นได้วางระบบเชื่อมโยงใบกำกับการขนย้ายสินค้า และแบบขอนำตู้สินค้าขาออก ผ่านเข้าเขตศุลกากร (e-matching) ซึ่งเริ่มใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 เดิมทีนั้น คนขับรถบรรทุกสินค้าต้องนำบัญชีรายการสินค้าที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์มายื่นให้กับเจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย 1 ฉบับ ให้กรมศุลกากรอีก 1 ฉบับ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสินค้า ซึ่งกรมศุลกากรเองก็มีข้อมูลใบขนสินค้า แต่ไม่ได้แบ่งหรือแชร์ข้อมูลให้กับการท่าเรือฯ พอสินค้ามาถึงก็ต่างคนต่างตรวจ เสียเวลาไปอีก 3 นาที แต่ปัจจุบันกรมศุลกากรแชร์ข้อมูลให้กับการท่าเรือ เมื่อสินค้ามาถึงก็ตรวจร่วมกัน จ่ายค่าธรรมเนียมให้การท่าเรือฯ ให้กรมศุลกากรพร้อมกันไปทีเดียวเลย เอาสินค้าโหลดขึ้นเรือ ก็สามารถขนสินค้าออกนอกราชอาณาจักรได้เลย

ปัจจุบันกรมศุลกากรได้เชื่อมโยงข้อมูลกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว สามารถช่วยลดเวลาในการตรวจสอบสินค้า จาก 3 นาที เหลือ 20 วินาที ส่วนนี้กรมศุลกากรได้ทำรายงานถึงธนาคารโลกเช่นเดียวกัน สามารถลดค่าใช้จ่ายให้เอกชนได้ปีละ 700 ล้านบาท และสามารถลดงานด้านเอกสารปีละ 15 ล้านฉบับ

รวมทั้งพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรว่าด้วยการถ่ายลำทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-transition) ยกตัวอย่าง นำเข้าสินค้าจากประเทศสิงคโปร์มาลงท่าเรือชั่วคราว เพื่อถ่ายลำเรือส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 เช่น ดูไบ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น การทำธุรกิจประเภทนี้เปรียบเสมือนพ่อค้าคนกลาง เดิมต้องยื่นเอกสารต่อกรมศุลกากรทั้งหมด 19 รายการ เพื่อขอย้ายสินค้าจากเรือที่มาจากสิงคโปร์ ถ่ายขึ้นเรืออีกลำหนึ่ง เพื่อส่งไปประเทศที่ 3 ปัจจุบันยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องนำเอกสารมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรแล้ว ล่าสุดมีผู้ประกอบกิจการถ่ายลำเรือมาใช้บริการ e-transition ประมาณ 300 ราย

นายกุลิศเล่าต่อว่าจากนั้นผมก็มาจัดทำโครงการศึกษาพิธีการศุลกากรแบบเรียบง่าย สำหรับ e-commerce (simplified e-commerce customs procedure: SeCCP) ช่วงเดือนธันวาคม 2560 – เดือนสิงหาคม 2561 มีสินค้า e-commerce ถูกส่งเข้ามาทางประเทศไทย 14.5 ล้านหีบห่อ เฉพาะเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียวเข้ามา 1.9 ล้านหีบห่อ

ปัจจุบันสินค้า e-commerce ที่นำเข้ามาในประเทศไทย หากมีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ผู้นำเข้าเกือบทุกรายจึงแยกสินค้าออกไปเป็นชิ้นๆ เช่น กระเป๋าใบละ 300 บาท เสื้อผ้าใช้แล้ว 100 บาท ทำให้มีปริมาณการนำเข้าเยอะมาก โดยไม่มีการตรวจสอบ ปรากฏว่าผมได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจสอบ โดยในข้อมูล big data สินค้าที่แจ้งว่าราคา 200-300 บาท พอเปิดออกมาดู พบว่าเป็นแบรนด์เนม เช่น กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า ราคาขายตามเว็บไซต์ชิ้นละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ถูกส่งมาทางไปรษณีย์ที่หลักสี่

ในอนาคตสินค้าที่ถูกส่งมาทางไปรษณีย์ต้องถูก X-ray ทั้งหมด แต่ตอนนี้เครื่อง X-ray ที่ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่มีแค่ 1 เครื่อง กำลังจะสั่งซื้อมาเพิ่มอีก 2 เครื่อง ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามาทางไปรษณีย์มีมูลค่า 100-300 บาท จริงตามที่แจ้งหรือไม่ หากมีมูลค่าเกิน ก็จับเสียภาษี ผ่าน QR code มี e-payment ก่อนถึงจะนำสินค้าออกไปได้ ที่ผ่านมากรมศุลกากรก็ใช้เครื่อง X-ray ตรวจสอบสินค้า บางครั้งตรวจพบ “สินค้าต้องห้าม ต้องกำกับ” เช่น กัญชา ยาไอซ์ ก็นำเข้ามาที่หัวลำโพง และหลักสี่ก็เคยตรวจจับได้ นี่คือประโยชน์ของเครื่อง X-ray เรื่องนี้ถือว่าเป็นภารกิจเร่งด่วน การจัดซื้อจึงใช้เงินสนับสนุนภารกิจ ไม่ต้องรองบประมาณ คาดว่าจะได้เครื่อง X-ray ช่วงกุมภาพันธ์ 2562

และจากการใช้ข้อมูล big data มาทำการตรวจสอบ พบว่า ผู้นำเข้าสินค้า e-commerce สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศส่งมาที่ตู้ ปณ. เดียวกัน เดิมกรมศุลกากรก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่เมื่อนำข้อมูล big data มาวิเคราะห์และตรวจสอบย้อนหลัง พบว่ามีการนำเข้ามามากจนผิดปกติ จึงขอข้อมูลไปรษณีย์จากประเทศต้นทางมาตรวจสอบ พบว่าก่อนส่งเข้ามาที่ประเทศไทยสินค้ามีป้ายราคาติดอยู่ 40,000 บาท แต่พอสินค้าส่งมาถึงศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ของกรมศุลกากร ป้ายราคาที่ติดมาจากต่างประเทศ ถูกเจ้าหน้าที่ฉีกออก ผมก็สั่งให้กักสินค้าเอาไว้ หากจะนำสินค้าออกจากด่านไปรษณีย์หลักสี่ ก็ต้องจ่ายค่าภาษีและค่าปรับให้เรียบร้อยก่อน รวมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย

สำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กรมศุลกากรก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่เข้ามาในเขต EEC เช่น อาลีบาบาจะเข้ามาลงทุนในเขตพื้นที่ดังกล่าวนี้ สินค้าประเภทไหนจะนำเข้ามาขายในประเทศ ต้องขอใบอนุญาตหรือเสียภาษีอย่างไร คลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อส่งออกไปประเทศที่ 3 ต้องทำอย่างไร สินค้าของสตาร์ทอัปไทยที่จะขายผ่านอาลีบาบาต้องทำอย่างไร ผมวางแผนเตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว

ส่วนเรื่องการคืนภาษี (refund tax) ตามมาตรา 19 ทวิ กฎหมายใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็นการคืนภาษีตามมาตรา 29 ทวิ ตอนนี้ก็คืนภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้เหมือนกับกรมสรรพากร การติดต่อราชการกับกรมศุลกากรไม่ต้องยื่นประชาชน หรือที่เรียกว่า “zero copy” กรมศุลกากร เริ่มดำเนินการมา 2 เดือนแล้ว พวกสินค้าผ่านแดน กรมศุลกากรใช้ระบบ e-lock ติดอยู่ที่ตู้คอนเทนเนอร์ตั้งแต่ต้นทางส่งถึงปลายทางใช้คีย์การ์ดเปิด ส่วนระหว่างทางเปิดไม่ได้

การตรวจปล่อยสินค้าcheck & balance

การตรวจปล่อยสินค้า ผมให้ใช้ระบบตรวจร่วม เพื่อให้มีการ check & balance ระหว่างกัน จากเดิมมีนายตรวจศุลกากรคนเดียว ทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้า รวมทั้งนำระบบ National Single Window (NSW) ซึ่งเป็นระบบการให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ (G2G, G2B และ B2B) สำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ โดยมีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธานฯ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกภาคเอกชนในการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากส่วนราชการต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล หลักการคือ กรอกข้อมูลครั้งเดียว (single form) ข้อมูลจะไปปรากฏที่หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตทั้งหมด เมื่อผู้ประกอบการได้ใบอนุญาตจากส่วนราชการที่กำกับดูแลการนำเข้าสินค้ามาแล้ว เพียงแต่กรอกตัวเลขใบอนุญาต กรมศุลกากรต้องตรวจปล่อยสินค้าทันที

ในอดีตเคยไปกักสินค้าผู้นำเข้าไว้ 1 เดือน ผู้นำเข้าต้องไปติดต่อขอรับเอกสารใบอนุญาตนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกรมปศุสัตว์ นานเป็นเดือนกว่าจะนำสินค้าออกจากด่านศุลกากรได้ ปัจจุบันไปกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตนำเข้าจากส่วนราชการที่กำกับดูแลเพียงครั้งเดียว ข้อมูลใบอนุญาตจะออนไลน์มาที่กรมศุลกากร ไม่ต้องยื่นเอกสารต่อกรมศุลกากร นายตรวจศุลกากร สามารถอนุมัติตรวจปล่อยสินค้าได้ทันที

ด้านการป้องกันและปราบปราม ผมตั้งหน่วยข้อมูลการข่าวขึ้นมา และให้ใช้ big data ตรวจและวิเคราะห์ ที่ผ่านมาภายในกรมศุลกากรไม่ได้มีการแชร์ข้อมูลกัน การตรวจจับ ประเมินความเสี่ยง ในยุคของผมใช้ฐานข้อมูล big data เช่น นำข้อมูลคนไทยที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทยมาทำการตรวจสอบ พบว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีคนไทยกลุ่มหนึ่งเดินทางไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 30 ครั้ง กลุ่มนี้จะอยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (watchlist) ก็ประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสายการบิน เมื่อผู้โดยสารกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาถึงที่ท่าอากาศยาน ก็ต้องขอตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระ ผมใช้ big data แทนวิธีการสุ่มตรวจแบบหว่านแห หรือใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการสุ่มตรวจ ผมวางระบบ “custom intelligence center” สร้างฐานข้อมูล จัดทำประวัติโปรไฟล์

ยกตัวอย่าง กรณีลักลอบนำเข้ากระเทียมบรรทุกใส่ตู้คอนเทนเนอร์เข้ามา จากเดิมก็สามารถผ่านด่านศุลกากรไปได้ เวลาผ่านไป 2 เดือน นำเข้าสินค้ามาอีก แต่เปลี่ยนไปใช้บริการด่านศุลกากรอื่น ถูกจับได้ข้อมูลรายนี้จะถูกส่งเข้า center profile ด่านศุลกากรทั่วประเทศทราบข้อมูลทั้งหมด ครั้งต่อไป หากผู้ประกอบการรายนี้นำสินค้าเข้ามาอีก เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ประจำอยู่ที่ด่านศุลกากร ก็จะมีฐานข้อมูลที่จะใช้ในการตรวจสอบ

ทั้งหมดก็เป็นผลงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของนายกุลิศ สมบัติศิริ คนคลังที่ถูกส่งมาแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันภายในกรมศุลกากร โดยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ในทำงาน ปฏิรูปกฎหมาย อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ โปร่งใสเป็นธรรม เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ยกระดับมาตรฐานศุลกากรไทยเทียบเท่ามาตรฐานโลก เพื่อก้าวเข้าสู่ Customs 4.0

  • เปิดจดหมาย สตง. ถึง “บิ๊กตู่-คลัง” แจงที่มา คำสั่งยกเลิกใบขนน้ำมัน “เชฟรอน”
  • รัฐทวงภาษีคืนจากเชฟรอนกว่า 2,000 ล้านบาท
  • กรมศุลฯ ส่ง DSI สั่งฟ้อง “ซุปเปอร์ซาร่า” สำแดงเท็จนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี หลักฐานจีนมัดไม่ได้ผลิตมาเลเซีย
  • “ซุปเปอร์ซาร่า” ฝันสลาย ศาลจังหวัดพัทยายกเลิกคำสั่งให้กรมศุลฯ ปล่อยรถเมล์เอ็นจีวี 99 คัน
  • กรมศุลฯ โชว์หลักฐานมัด “ซุปเปอร์ซาร่า” สำแดงเท็จ-นำเข้ารถเมล์ NGV ผลิตจีนทั้งคัน – นายกรัฐมนตรียืนยัน “ไม่รับ” ขสมก. แจ้งบอกเลิกสัญญาฯ 9 ก.พ. นี้