ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินอีกครั้ง 1.0% ลงมาที่ระดับ 0% รวมทั้งได้ซื้อหลักทรัพย์ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มอีกอย่างน้อย 700 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการอย่างฉุกเฉินเพื่อดูแลเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
การลดดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้เป็นการดำเนินการเชิงรุกนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2008 เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดเงินและทำให้ต้นทุนการกู้ยืมต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากธุรกิจในประเทศได้หยุดดำเนินการ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ธนาคารกลางได้ลดดอกเบี้ยลง 1.0% ลงมาที่ 0% ส่งผลให้ดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต (Fed Fund Rate) ลงมาอยู่ที่ 0-0.25% จาก 1-1.25%
นอกจากนี้เฟดยังได้ประกาศนำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือ quantitative easing หรือ QE ที่ได้ใช้ช่วงวิกฤติการเงินกลับเข้ามาใช้ มาตรการ QE เป็นโครงการที่ซื้อพันธบัตรเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้ลดลงและให้ตลาดมีสภาพคล่อง รวมทั้งยังได้ให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศขอกู้ผ่านหน้าต่างการเงินได้ถึง 90 วัน รวมทั้งกู้เงินเพื่อปล่อยต่อให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับครัวเรือนที่ต้องการเพื่อความอยู่รอด
เริ่มตั้งแต่วันนี้ (16 มีนาคม 2020) ธนาคารพาณิชย์สามารถขอกู้จากเฟดได้ในอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มั่นใจว่าจะมีเงินเพียงพอในการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งครัวเรือนที่น่าจะมีปัญหาสภาพคล่องในอีกไม่นาน
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวในการแถลงซึ่งใช้เวลา 42 นาทีว่า “ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจต้องทำในสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากชะงักงันของเศรษฐกิจ เราได้เตรียมความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่หลากหลายเพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับครัวเรือนและธุรกิจ”
นายพาวเวลล์กล่าวว่า ผู้บริหารเฟดได้ประชุมร่วมกันในบ่ายวันอาทิตย์ เพราะคาดว่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอีกหลายเดือนข้างหน้า รวมทั้งการเติบโตที่ติดลบของเศรษฐกิจในไตรมาสสอง จึงมีเป้าหมายที่จะทำในสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อช่วยให้ประเทศฝ่าฝันรอดพ้นจากช่วงวิกฤติ และช่วยให้กลับสู่ภาวะปกติอย่างแข็งแรงหลังจากที่การชะงักงันจากการระบาดของไวรัสลดลง
ในการแถลง นายพาวเวลล์ได้พยายามที่จะย้ำว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะที่ดีก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัส และโดยส่วนตัวยังรู้สึกว่าสบายดี ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19
“แนวโน้มเศรษฐกิจยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละวัน และขึ้นอยู่กับการแพร่กระจายของไวรัส เป็นสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้” นายพาวเวลล์กล่าว
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกดดันให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้แสดงความยินดีที่เฟดลดดอกเบี้ยลงและกล่าวว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ทำให้เขามีความสุข
ในอีกหลายเดือนข้างหน้า เฟดจะซื้อพันธบัตรเพิ่มอย่างน้อย 700 พันล้านดอลลาร์ ภายใต้มาตรการ QE โดยเงินส่วนใหญ่ 500 พันล้านดอลลาร์จะซื้อพันธบัตรรัฐบาล ส่วนที่เหลือจะซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับสินเชื่อที่อยูอาศัยเพื่อรักษาเสถียรภาพของสินเชื่อบ้าน
การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟดเมื่อวานนี้เป็นการดำเนินการแบบฉุกเฉินครั้งที่ 2 ที่ได้ลดดอกเบี้ยลงเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2020 และการอัดฉีด 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เข้าตลาดพันธบัตรในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอ และคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำมากไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัส
“เฟดคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในช่วง 0-0.25% จนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจรอดพ้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” เฟดระบุในแถลงการณ์
นายพาวเวลล์ยังได้ประกาศการดำเนินการร่วมกับธนาคารกลางอื่นทั่วโลก โดยได้ขยายการกู้โดยตรงระหว่างกัน (dollar swap) ให้กับประเทศหลักๆ ทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ ยุโรป แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้ประเทศเหล่านี้มีดอลลลาร์ในมือเพียงพอ ซึ่งก็เป็นมาตรการฉุกเฉินเดียวกันกับที่เฟดได้ใช้ในปี 2008
การปลดพนักงานเริ่มมีขึ้นทั่วประเทศ ทั้งในธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดย่อม หลังจากยอดขายลดลงอย่างมาก ขณะที่ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) อยู่ในช่วงขาลง (bear market) หลังจากที่ลดลง 20% เป็นประวัติการณ์
นายแดเนียล ดิมาร์ติโน บูท ผู้ก่อตั้ง Quill Intelligence และอดีตที่ปรึกษาของธนาคารกลางสาขาดัลลัส ให้ความเห็นว่า “สิ่งที่เฟดดำเนินการไม่ใช่เพียงการเปิดท่อช่วยชีวิตธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นท่อช่วยชีวิตที่ยาวอีกด้วย เฟดพยายามที่จะบอกต่อธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดย่อมว่า สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้หากต้องการ”
การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟดเมื่อวันอาทิตย์อาจจะไม่เพียงพอ และอาจจะต้องใช้มาตรการอื่นเพิ่มเติมอีก ขณะที่เฟดเพิ่มการซื้อหลักทรัพย์ และดำเนินการอื่นๆ เพื่อกดดันดอกเบี้ยลง แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าเฟดจะใช้แนวทางใดเพิ่มเติมที่จะพยุงเศรษฐกิจ
ตลาดซื้อล่วงหน้าสหรัฐฯ ได้ร่วงลงอย่างแรงจนต้องใช้ circuit breaker พักการซื้อขาย เพราะการที่ธนาคารกลางใช้มาตรการรุนแรง ทำให้กังวลมากขึ้นว่าเศรษฐกิจย่ำแย่กว่าที่ประเมินไว้
ทางด้านธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้งแบงก์ออฟอเมริกา, แบงก์ออฟนิวยอร์ก, เมลลอน ซิตี้กรุ๊ป, โกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกนเชส, มอร์แกน สแตนลีย์ และเวลส์ ฟาร์โก ประกาศตามหลังการลดดอกเบี้ยของเฟดว่า จะหยุดซื้อหุ้นคืนและใช้เงินมาปล่อยกู้ให้กับลูกค้าแทน
แถลงการณ์ของธนาคารชั้นนำนี้ระบุว่า “การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เป็นความท้าทายที่ไม่ได้คาดมาก่อนของเศรษฐกิจโลก ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ มีความสามารถและมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนลูกค้าที่มาใช้บริการ ลูกค้าที่มีสัญญากับธนาคาร รวมทั้งประเทศชาติ”
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เรียกร้องให้เฟดใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นการจ่ายเงินให้กับผู้กู้เพื่อมาขอสินเชื่อ ขณะที่ประชาชนและธุรกิจที่เป็นผู้ฝากเงินต้องจ่ายเงินสำหรับการฝากเงินมากกว่าที่จะได้รับดอกเบี้ย ซึ่งทั้งธนาคารกลางสหภาพยุโรปและธนาคารญี่ปุ่นได้ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งผลที่ได้ก็มีทั้งบวกและลบ
นายโดนัลด์ โคห์น อดีตรองประธานเฟดในช่วงวิกฤติการเงิน 2008 ให้ความเห็นว่า “อัตราดอกเบี้ยติดลบไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง แต่เฟดได้ใช้เครื่องมือที่ใหญ่ที่สุดที่มี คือ เครื่องมืออัตราดอกเบี้ย ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และหากว่าเฟดใช้ดอกเบี้ยติดลบ ก็จะไม่สามารถลงไปต่ำกว่าศูนย์ได้”
นายโคห์นกล่าวว่า ธนาคารกลางยังสามารถซื้อพันธบัตรเพิ่มได้อีกและอาจจะใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อขยายเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ แต่ก็ต้องมีการดำเนินการจากสภาคองเกรสด้วยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเฟดในการช่วยเหลือผู้บริโภคและธุรกิจขนาดย่อมโดยตรง
หลังจากที่เฟดลดดอกเบี้ยในสองสัปดาห์ก่อน มีแรงเทขายในตลาดหุ้นเพราะเกรงว่าเศรษฐกิจจะทรุดตัวลงเร็วมากกว่าที่คาด และตลาดหุ้นทั่วโลกเช้าวันจันทร์นี้จะร่วงลงแรง
นายคริส รัปคีย์ หัวหน้าเศรษฐกรที่ MUFG Bank ระบุในบทวิเคราะห์ว่า “เฟดและธนาคารกลางอื่นได้ออกมาพยุงเศรษฐกิจโลก บางครั้งการแทรกแซงอย่างมากของเฟด ทำให้เกิด panic sell หรือการขายแบบตื่นตระหนกในตลาด เพราะแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่รุนแรงและความกังวลของเฟดถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ”
แม้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเห็นด้วยว่า เฟดสามารถรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ต้องผ่านกฎหมายเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนที่ตกงานและคนต้องกักตัวอยู่กับบ้าน
นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้สภาคองเกรสและทำเนียบขาวใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดูแลผู้ใช้แรงงานและธุรกิจจากการทรุดตัวของเศรษฐกิจ ในวันเสาร์ที่ผ่านมาสภาคองเกรสได้ให้ความเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับด้านสาธารณสุขและแรงงานที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน
นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ได้พูดคุยกับประธานเฟดทุกวัน ทั้งสองหน่วยงานทำงานอย่างใกล้ชิด และกระทรวงการคลังอาจจะขอให้สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบเพิ่มเครื่องมือให้เฟดมากขึ้นเพื่อดูแลเศรษฐกิจ เนื่องจากกฎหมายดอดด์-แฟรงก์ (Dodd-Frank legislation) ได้จำกัดอำนาจธนาคารกลางและกระทรวงการคลัง จึงต้องการให้แก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้มากขึ้น
“เครื่องมือบางเครื่องมือได้ถูกจำกัด และผมกำลังที่จะขอให้สภาคองเกรสพิจารณาใหม่” นายมนูชินกล่าว
นายพาวเวลล์ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า เฟดยังมีเครื่องมือเพียงพอที่จะใช้ในการดูแลเศรษฐกิจทั้งในช่วงวิกฤติและช่วงการฟื้นตัวหลังจากผ่านพ้นการระบาดของไวรัส และกล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ได้ขอให้สภาคองเกรสพิจารณาให้เครื่องมือเพิ่มเติม
ทั้งนี้เฟดได้ยกเลิกการประชุม วันที่ 17-18 มีนาคมนี้ที่กำหนดไว้หลังการประชุมฉุกเฉินวันอาทิตย์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือประชุมทางไกลหลายชั่วโมง
บีโอเจใช้มาตรการการเงินเพิ่มเติม
ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น(Bank of Japan) ได้ตัดสินใจใช้มาตรการเงินเพิ่มเติมในการประชุมฉุกเฉินเช้าวันนี้หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐญลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 1% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อคืนนี้ ด้วยความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่หรือ โควิด-19บีโอเจยังได้ตัดสินใจเพิ่มการซื้อตราสารหนี้เอกชนรายปีเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านเยน และประกาศแผนปล่อยเงินกู้แก่ภาคเอกชนฉบับใหม่
การประชุมของบีโอเจมีขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น Fed Fund Rate ลงมาที่ระดับ 0%-0.25% ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2-15
นอกจากนี้ธนาคารกลาง 6 ประเทศซึ่งรวมถึงบีโอเจ ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางสหภาพยุโรป ออกมายืนยันว่าจะประสานงานกันเพื่อให้สภาพคล่องเงินดอลลาร์มีอย่างต่อเนื่อง
นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผู้นำของกลุ่มประเทศ G-7 จะประชุมฉุกเฉินผ่านระบบทางไกล(video conference) ในเวลา 23.00 น.วันนี้(16 มีนาคม) ตามเวลาท้องถิ่นในญี่ปุ่น เพื่อหารือเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสทั่วโลก ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยว ค้าปลีกและภาคการผลิต
นายฮารุฮิโต คุโรดะ ผู้ว่าการ ธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ในแถลงการณ์ฉุกเฉินว่า บีโอเจจะทำทุกวิ๓ถีทางที่จะรักษาสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพของตลาดเงิน อย่างไรก็ตามเข้อมูลศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวก็เพิ่มแรงกดดันให้บีโอเจต้องใช้มาตรการเพิ่มขึ้น
ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เศรษบกิจญีปุ่นติดลบ 7.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงอย่างรวดเร็วในรอบมากกว่า 5 ปีเป็นผลจากการปรับขึ้นภาษีการขายและผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นในปีก่อน
นักวิเคราะห์จำนวนมาก กังวลว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลกจะติดลบในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้ ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อุบัติขึ้นในจีนที่แรกในปลายปีก่อน
อีกทั้งมีการมองกันว่าบีโอเจแทบจะหมดเครื่องมือนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ลดดอกเบี้ยระยะสั้นให้ลดลงที่ระัดบ -0.1% ในเดือนมกราคม 2016 รวมทั้งเพิ่มวงเงินซื้อ กองทุน ETF(Exchange Traded Funds) ต่อปีเป็น 6 ล้านล้านเยนจาก 3.3 ล้านล้านเยน
แก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 16 มีนาคม 2563