ThaiPublica > เกาะกระแส > ILO คาดโควิด-19 แรงงานนอกระบบ 1,600 ล้านคนทั่วโลกตกงาน

ILO คาดโควิด-19 แรงงานนอกระบบ 1,600 ล้านคนทั่วโลกตกงาน

8 พฤษภาคม 2020


เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ออก รายงานเพิ่มเติม ถึงผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 (ซึ่ง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 มีตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะ 2.8 ล้านรายใน 210 ประเทศ)  ต่อภาคแรงงานกว่า 5,000 ล้านคน สืบเนื่องจากมาตรการปิดเมืองที่ถูกใช้ไปทั่วโลกระหว่างรอคอยการวิจัยวัคซีน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบถึง 1,600 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงในภาคเศรษฐกิจที่ถูกกระทบมากที่สุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

“แรงงานทั้งชายและหญิงในภาคแรงงานนอกระบบเหล่านี้ต้องการรายได้เพื่อเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัว ซึ่งพวกเขาส่วนใหญ่ไม่สามารถพึ่งพาการชดเชยรายได้ของทางการหรือเงินออมได้อย่างเพียงพอ การไม่ทำงานและอยู่บ้านหมายถึงการสูญเสียงานและการมีชีวิตอยู่ การต้องเลือกว่าจะตายจากความหิวโหยหรือโรคระบาดกลายเป็นสิ่งที่ดูหลุดโลกที่แรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ และโชคไม่ดีนักเรากำลังพูดถึงแรงงานจำนวนมหาศาลด้วย” รายงานระบุ

ในปี 2563 มีแรงงานกว่า 2,000 ล้านคนที่ทำงานอยู่นอกระบบ หรือคิดเป็นกว่า 62% ของแรงงานทั่วโลก และสำหรับประเทศรายได้ต่ำ แรงงานนอกระบบเหล่านี้คิดเป็น 90% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ (67% สำหรับประเทศรายได้ปานกลาง และเพียง 18% ของประเทศรายได้สูง) และแรงงานหญิงในประเทศรายได้ต่ำเหล่านี้มักจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าวมากกว่าแรงงานชายในประเทศเดียวกันด้วย

สถานการณ์แบบนี้ยังเกิดขึ้นในภาคธุรกิจนอกระบบด้วย ซึ่งคิดเป็น 80% ของธุรกิจทั้งหมดในโลก ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนและมักจ้างงานแรงงานทักษะต่ำกว่า 10 คนที่ก็ไม่ได้จดทะเบียนหรืออยู่ในระบบต่างอย่างใด รวมไปถึงแรงงานจากสมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ โดยเฉพาะแรงงานหญิง และไม่มีระบบประกันสังคมหรือมาตรการป้องกันที่เหมาะสมในสถานที่ทำงาน

“แรงงานเหล่านี้มักจะมีผลิตภาพที่ต่ำ ทำให้มีอัตราการออมและลงทุนที่ต่ำ และไม่สามารถรองรับแรงกระแทกจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ และมักจะถูกกีดกันออกไปจากมาตรการการช่วยเหลือทางการเงินระยะสั้นของรัฐด้วย”

ตกงานผลัก “แรงงานนอกระบบ” ครึ่งหนึ่งสู่ความยากจน

จากการประมาณการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า การสูญเสียงานหรือรายได้จากงาน โดยที่หากไม่มีแหล่งรายได้อื่นๆ เลยจะทำให้มีแรงงานนอกระบบตกสู่ความยากจนโดยเปรียบเทียบ คือมีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของคนอื่นๆ ในประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่ง เพิ่มขึ้นอีก 21% จากแรงงานนอกระบบทั้งหมดในปัจจุบันสำหรับประเทศรายได้ปานกลาง และสำหรับประเทศรายได้สูงและรายได้ต่ำจะเพิ่มขึ้นถึง 52-56% โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ เช่น โรงแรม อาหาร ค้าปลีกค้าส่ง บางส่วนอยู่ในภาคการผลิต เช่นเกษตรกรที่เน้นผลิตขายคนเมือง

“นอกจากนี้ ความท้าทายเรื่องระบบโลจิสติกส์และการขนส่งระหว่างห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะในระหว่างประเทศหรือการขนส่งภายในประเทศที่ถูกสั่งห้าม อาจจะส่งผลไปถึงอุปทานของอาหารที่ทำให้แรงงานนอกระบบเหล่านี้มีปัญหาการเข้าถึงอาหารอีกด้วย ตลาดอาหารนอกระบบหรือเหล่าสตรีทฟู้ดมีบทบาทสำคัญมากที่รับประกับความมั่นคงทางอาหารให้แก่ผู้คน ทั้งในฐานะแหล่งอาหารและแหล่งระบายสินค้าของเกษตรกรต่างๆ ซึ่งหากถูกปิดไปจะกระทบกับคนจำนวนมาก” รายงานระบุ

แรงงานนอกระบบเสี่ยงติดเชื้อมากกว่า

อีกประเด็นคือความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของแรงงานนอกระบบ แม้ว่าพวกเขาจะหยุดอยู่บ้านก็ตาม แต่ด้วยสภาพบ้านที่แออัดและสุขาภิบาลที่ไม่ดีพอของชุมชนเมือง อาจจะทำให้มาตรการรักษาระยะห่างและความสะอาดแทบเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การขาดน้ำสะอาดจนทำให้ไม่สามารถล้างมือได้ รวมไปถึงต้องออกไปตามหาแหล่งน้ำสะอาดก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ ขณะที่ในชนบท แรงงานบางส่วนอาจจะเข้าไม่ถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคและมาตรการป้องกันที่ดี รวมไปถึงขาดเครื่องมืออุปกรณ์ในการป้องกัน เช่น หน้ากากหรือสถานที่ล้างมือ

“คนเหล่านี้ต้องเผชิญความเสี่ยงจะเจ็บป่วยมากกว่าอยู่แล้ว และโควิด-19 ได้เพิ่มความเสี่ยงเพิ่มเติมลงไปอีก หากพวกเขาเหล่านี้เจ็บป่วย ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีและรวดเร็ว หรือขาดการรับประกันรายได้ให้พวกเขาจนทำให้เขาไม่อยากจะเข้ารับการรักษา ยิ่งทำให้การระบาดจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น รวมไปถึงหากเข้าถึงได้ก็อาจจะนำไปสู่ความยากจนที่มากขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันมีคนกว่า 100 ล้านคนต่อปีที่ต้องเจอสถานการณ์แบบนี้”

ธุรกิจถูกผลักออกนอกระบบมากขึ้น

มาตรการที่จำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชนและการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทันทีมีผลอย่างมากต่อธุรกิจในเศรษฐกิจนอกระบบ ตัวอย่างเช่น การสูญเสียรายได้ที่เคยมีของธุรกิจนอกระบบ เนื่องจากพวกเขามักจะไม่มีการออมหรือกันชนทางการเงินที่เพียงพอ ทำให้เจ้าของธุรกิจเหล่านี้ไม่มีทางเลือกนอกจากปิดกิจการทั้งชั่วคราวและถาวร และนำไปสู่การตกงานของแรงงานและความยากจนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อีกด้านหนึ่ง อาจจะกระทบต่อการใช้แรงงานเด็กที่เพิ่มขึ้น หรือการเข้าเรียนของเด็กที่ลดลง เนื่องจากขาดทุนทรัพย์

อีกประเด็นหนึ่งคือ ภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการก็อาจจะปิดตัวลงเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี เนื่องจากวิกฤติแบบนี้มักจะมีผลกระทบที่ยาวนาน และการฟื้นตัวมักจะใช้เวลายาวนานและไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งสุดท้ายจะค่อยๆ ผลักกลุ่มเอสเอ็มอีออกไปสู่เศรษฐกิจนอกระบบในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานตนเอง หรือเปิดธุรกิจขนาดเล็กลงอย่างไม่เป็นทางการ

สุดท้ายผลกระทบของโควิด-19 ที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการย้ายแรงงานจากภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากไปสู่ผลกระทบน้อย ยิ่งทำให้ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบและเปราะบางอยู่แล้วยิ่งเปราะบางลงไปอีก และทำให้เศรษฐกิจนอกระบบยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

“แม้ว่ามาตรการปิดเมืองจะถูกยกเลิกไป แต่มันยังมีความไม่แน่นอนอยู่ดี โดยเฉพาะความเสี่ยงของการกลับมาแพร่ระบาดอีกรอบ อะไรแบบนี้ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปเตรียมเก็บเงินออมรองรับแทน รวมไปถึงการลงทุนของธุรกิจที่ลดลง เมื่อรวมกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจจะรุนแรง เริ่มตั้งแต่อุปสงค์ที่ลดลง การผลิตที่ลดลง และการจ้างงานที่ลดลงในที่สุด ประเด็นสำคัญคืออาจจะกระจายเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบกลับมายังภาคเศรษฐกิจนอกระบบอีกครั้งเป็นวัฏจักรแบบนี้” รายงานระบุ

ทางออกต้องมองทั้งสองด้านพร้อมกัน

รายงานให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายว่ามาตรการตอบสนองไม่สามารถแยกมาตรการทางสาธารณสุขกับเศรษฐกิจออกจากกันได้ และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องวางกลยุทธ์ควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการลดโอกาสการรับเชื้อของแรงงานและครอบครัว รวมไปถึงการแพร่กระจายมันต่อไป การรับประกันว่าผู้ติดเชื้อต้องเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีและรวดเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป ต้องสนับสนุนรายได้หรืออาหารแก่ประชาชนและครอบครัว เพื่อชดเชยการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากมาตรการข้างต้น และสุดท้ายต้องลดและป้องกันความเสียหายที่อาจจะขึ้นกับเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะมาตรการคงรักษาการจ้างงานไว้ให้ได้

“รัฐบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างออกมาตรการทั้งการเงินและการคลังให้ความช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนใหญ่ยังละเลยธุรกิจนอกระบบ เนื่องจากพวกเขาอยู่พ้นไปจากการมองเห็นของรัฐบาล การละเลยภาคเศรษฐกิจนอกระบบแบบนี้นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวชะงัก อาจจะทำให้ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ด้วย”