ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Future Food of Supply Chains (5)ค้าปลีกยึดแนวปฏิบัติจัดซื้อที่เป็นธรรม โปร่งใสตรวจสอบย้อนกลับได้ เน้นสื่อสารผู้บริโภค

Future Food of Supply Chains (5)ค้าปลีกยึดแนวปฏิบัติจัดซื้อที่เป็นธรรม โปร่งใสตรวจสอบย้อนกลับได้ เน้นสื่อสารผู้บริโภค

8 กุมภาพันธ์ 2019


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การ Oxfam ในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และโครงการ SWITCH- Asia ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป จัดงานเสวนา “เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม” : Food Retails and Social Sustainability Forum: Future Food Supply Chains ซึ่งปิดท้ายด้วยการเสวนาย่อยเรื่อง “บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในนโยบายและแนวทางการจัดซื้อ”

โดยมีนางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) นางจิระณี จันทร์รุ่งอุทัย Team Leader กลยุทธ์และนโยบายด้านความยั่งยืน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์และอาหาร จำกัด นางสาวปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ ผู้จัดการอาวุโสแผนกสื่อสารองค์กร เทสโก้ โลตัส และ Mr.Fredy Guayacan Benitez Programme Manager, International Labour Organization ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของการจัดซื้อที่เป็นธรรม นโยบายและตัวอย่างกรณีศึกษาในการผสมผสาน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ไปในกลยุทธ์ความยั่งยืนเกี่ยวกับการจัดซื้อที่เป็นธรรมของธุรกิจ ดำเนินการเสวนาโดย คุณจักรชัย โฉมทองดี

แม็คโครจับมือคู่ค้าผลิตปลอดภัยได้มาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำ

นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม็คโครตระหนักและให้ความสำคัญกับการที่ผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพและปลอดภัย แต่สิ่งที่ยากคือการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะกลุ่มซีฟู้ดและโพรดิวซ์ อย่างไรก็ดีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาโครงการต่างๆเพื่อดำเนินงานเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มข้น

“แม็คโครตระหนักใน 2 เรื่อง คือ สุขภาพ และ กฎหมาย การที่จะทำให้คนเสมอภาค ในความเป็นจริงเรายกระดับได้ แต่จะให้เท่าเทียมกันได้ทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ ณ วันนี้ทุกผลิตภัณฑ์ การนำเข้าหรือส่งออกสินค้าไปต่างประเทศจะเห็นมาตรฐานของกฎหมายที่ต่างกัน การกีดกันทางการค้าก็คล้ายๆ กัน แต่เมื่อไรที่ทำงานกับคู่ค้า จะมองเขาเป็นพาร์ทเนอร์หรือเป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยากสำหรับการค้าขาย คือการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน”

นางจุฑารัตน์กล่าวว่า การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่ยากที่สุด คือ กลุ่มซีฟู้ดส์และกลุ่มโพรดิวซ์ ซึ่งเป็น Fix challenge ที่ยากเพราะ 1) shelf life 2) แรงงาน และ 3) ความรู้ หากบอกว่าคู่ค้ามีปัญหาแต่ไม่ให้ความช่วยเหลือ แสดงว่าไม่บรรลุในเรื่องเป้าหมายความยั่งยืน แม็คโครจึงมีการทำโครงการที่หลากหลาย

ยกตัวอย่างเช่นโครงการ “พี่สอนน้อง” ในเรื่องของส้ม ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเข้าส้มจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน แต่จากการตรวจสอบของเอ็นจีโอและหน่วยงานหลายฝ่ายพบว่าส้มมีสารตกค้างเป็นลำดับต้นๆ บวกกับการเปิดเสรีการค้าที่ส่งผลให้ส้มจากต่างประเทศทะลักเข้ามาในไทยและเกิดผลกระทบเรื่องการแย่งอาชีพ ประกอบกับสวนส้มบางแห่งถูกทิ้งร้าง ปล่อยพื้นที่ให้ว่างเปล่า จึงมีแนวคิดว่าจะแก้ปัญหาให้ยั่งยืน ทำให้เกษตรกรที่จบ ป.4 มาพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน

แม็คโครจึงได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง เอ็นจีโอ กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค และมหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นจากการเข้าไปให้ความรู้และปรับเปลี่ยนการใช้สารเคมีในพื้นที่เพาะปลูกส้มขนาดเล็ก ยกเลิกหรือใช้วิธีอื่นทดแทนหลังจากนั้นมีการวัดผลในเรื่องความรู้และความปลอดภัย ทั้งสินค้าปลอดภัยและเกษตรกรปลอดภัย ดูแม้กระทั่งว่าพื้นที่ในการปลูกทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ใช้แรงงานทาสหรือแรงงานเด็กหรือไม่

“เราให้ความสำคัญกับผู้ผลิตและเรื่องความเป็นธรรม การทำงานเน้นความโปร่งใสและตรวจสอบได้ มีธรรมาภิบาล มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนหากคุณไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีการกีดกันในเรื่องเพศ สิ่งสำคัญคือการให้การอบรมและมีคู่มือในเว็บไซต์ ซึ่งปีที่ผ่านมามีการเข้ามาตรวจสอบโดยใช้มาตรฐานระดับโลก นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานที่เราและผู้ผลิตตกลงและใช้ร่วมกัน เพราะการทำธุรกิจฐานรากสำคัญไม่ใช่เรื่องเงินแต่เป็นเรื่องของใจ การดูแลเขา เขามีทุกข์สุขอย่างไร เขามีปัญหาอะไร และเราจะช่วยเขาได้อย่างไร

นางจุฑารัตน์กล่าวว่า แม็คโครยังมีการพัฒนาและการันตีผลิตภัณฑ์ในชื่อ fresh branding มีเป้าหมายขั้นต่ำคือให้ผลิตภัณฑ์ผ่านมาตร ฐานตามกฎหมายไทย สร้างความมั่นใจในเรื่องสารตกค้าง โดยให้หน่วยงานราชการรวมทั้งมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยตรวจสอบตั้งแต่ฟาร์มไปจนถึงโรงคัดบรรจุ เช่น กล้วยหอม ที่เริ่มดูตั้งแต่การตั้งท้องของกล้วย มีการคัดหวีต้นๆ ให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม ส่วนหวีที่ 2-4 อาจจะแบ่งขาย 1-4 ลูก เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจของบริษัท ทั้งยังมีการทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังการสุ่มไปตรวจที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งแม็คโครใช้เงินในส่วนนี้มากพอ โดยเริ่มต้นใช้งบในการตรจสอบเมื่อ 11 ปีที่แล้ว 7 – 8 ล้านบาท ปัจจุบันใช้ 23 ล้านบาท เลือกแล็บที่ได้รับรองมาตรฐาน และเลือกใช้แล็บ 3 – 4 รายเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน

สำหรับ Own Brand ขั้นแรกคือการพัฒนา Natural brand เมื่อมีปริมาณการผลิตมากพอจะทำให้เป็นแบรนด์ของเราจะทำให้ 1) มูลค่าเพิ่ม 2) การโฆษณา การทำการตลาด การวางที่ขาย และ 3) มีผลต่อโครงสร้างต้นทุน Cost structure การทำงานกับเกษตรกรในช่วงแรกๆ เกษตรกรจะมีการลืมคำนวณค่าใช้จ่าย เช่น ค่าแรง ค่ารถ แต่สิ่งเหล่านี้แม็คโครจะเข้าไปสอน ทำให้มีการให้ความรู้โครงสร้างการคำนวณต้นทุนทำอย่างไร สำหรับเรื่องแรงงานแม็คโครได้รับรางวัลเรื่องแรงงานมาตลอด ไม่เคยมีปัญหาหรือถูกฟ้องเรื่องแรงงาน

พร้อมกันนี้ แม็คโครมีการประชุมคู่ค้าทุกปี มีการแจ้งเป้าหมายว่าจะทำอะไร ไม่มีการเอาเปรียบ โปร่งใส วัดผลได้ มีการ surprise checking เป็นระยะๆ ส่วนการจ้างงานจะมีการตรวจสอบว่ามีการเอาเปรียบแรงงานหรือไม่ รวมทั้งศึกษาความเสี่ยงทุกจุดว่ามีการปฏิบัติตามที่ตั้งนโยบายไว้หรือไม่อย่างรอบด้าน ขณะเดียวกันยังเน้นย้ำในเรื่องให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ โดยทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น Oxfam และ กรีนพีช

“โดยแบ่งเป็นระดับ 1) Critical tier one สำหรับผู้ค้าที่ถ้าไม่มีเขาเราอยู่ไม่ได้ อะไรเป็น Main item ถ้าไม่มีสินค้าดังกล่าว 2) ผู้ค้าที่เปิดบิลอาจจะมีการหลบเลี่ยงบางอย่าง และเพื่อความเป็นธรรมเราต้องตรวจสอบว่า คนขายเอามาจากบริษัทไหนและตรวจสอบ ตรวจถึง sub-contract ด้วยว่ามีการจ้างแรงงานหรือไม่ อาจจะแอบไปสัมภาษณ์และสังเกต มีการสุ่มตรวจสอบ”นางจุฑารัตน์ กล่าว

ในทุกปีมีการอัพเดท Performance ของคู่ค้า มีการทำจดหมายเชิญมาคุยเพราะสิทธิของเขาเป็นเรื่องสำคัญจึงไม่มีการนำไปบอกคนอื่น เป็นสิ่งหนึ่งในการมองแบบ Positive ซึ่งแต่ละปีมีการผูก KPI ไว้กับการจัดซื้อ มีการตรวจว่ารับทุจริตหรือไม่ มีการดูแลคนแบบพาร์ทเนอร์ และปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นตรวจสอบและรวบรวมว่ากลุ่มไหนมีปัญหา

“ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้วเรามักจะเลือกสินค้าจากความสวยก่อน แต่วันนี้มุมมองธุรกิจของแม็คโครกลุ่มเป้าหมายเป็นเป็นพ่อค้าแม่ค้า ไม่ได้มองแค่ความสวย เช่นมีโครงการส้มไทยหวานเจี๊ยบ ต้องรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้บริโภคเน้นคุณภาพและความปลอดภัย” นางจุฑารัตน์ กล่าว

“ที่สำคัญเราสื่อสารกับผู้บริโภค บางสินค้าเราผลิตเองแต่ไม่ได้มีตลอดปี เช่น แตงโม มะม่วง ถ้าเราไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ดีพอ ก็จะรณรงค์ให้กินผลิตภัณฑ์ตามฤดูกาล ทั้งที่เงินก็อยากได้ แต่ถ้าได้มาแล้วไม่ปลอดภัยก็ไม่ขายดีกว่า เราต้องจริงใจ และส่วนตัวได้ปวารณาตัวเองให้เป็นผู้ค้าและขายของที่ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค” นางจุฑารัตน์ กล่าว

เนื่องจากทุกคนแสวงหารายได้ สิ่งที่ยากคือการรวมกลุ่มและการแบ่งปันรายได้ ต้องมีแนวทางทำให้เกิดการรวมกลุ่มและมีการแบ่งผลปันประโยชน์ รวมถึงต้องมีการวางกติกาการทำงานและมาตรฐานร่วมกัน

ซีพีเอฟยึดหลัก 4Ps ตามSDG ข้อ 17

นางจีระณี จันทร์รุ่งอุทัย Team Leader กลยุทธ์และนโยบายด้านความยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า CPF ลงทุนใน 17 ประเทศ ส่งมอบอาหารคุณภาพให้คนจำนวน 3 พันล้านคน มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก คือ “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่”

รวมทั้งยังสนับสนุน SDG 17 เป้าหมาย ส่วนที่สนับสนุนโดยตรง 10 เป้าหมาย ประกอบด้วย เรื่องยุติความหิวโหย สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงข้อ17 Partnership

ทั้งนี้ การดูแลพาร์ทเนอร์หรือ Business partner อยู่ในกลยุทธ์ที่สอง สังคมพึ่งตน ตั้งเป้าหมายให้คู่ค้าเติบโตไปด้วยกันกับบริษัท ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย 5 หมื่นราย และ Contract Farming อยู่ในเป้าหมายนี้เช่นกัน โดยมีการใช้ code of conduct 4P ประกอบด้วย 1.People เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและแรงงาน 2.Products ดูแลเรื่อง food quality และ traceability ส่งเสริม SDG ในเรื่องยุติความหิวโหยและ eco system 3.Process ดูแลสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการต่างๆ ไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียและอากาศเสีย และ 4.Performance ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ทั้ง 4P จะสนับสนุนส่งเสริม SDG ข้อ 17 ร่วมมือกับคู่ธุรกิจเพื่อเติบโตไปด้วยกัน

ในส่วนของเกษตรกรรายย่อย มีการสนับสนุนให้ความรู้และเทคโนโลยีในการเพาะปลูก มีการให้ข้อมูลดาวเทียมแก่เกษตรกร เพื่อให้ทราบว่าจะเพาะปลูกในเวลาใด ใช้น้ำใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมอย่างไร รวมทั้งร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการตรวจสภาพน้ำและดินเพื่อไม่ใส่ปุ๋ยมากเกินไปจนทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเปิดจุดรับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

“เราให้ความรู้แก่เกษตรกร เป็นเพื่อนเกษตรกรเพราะคือคู่ชีวิตของเรา เริ่มจากมีระบบ traceability มีฐานข้อมูลเช็คว่าผลผลิตมาจากพื้นที่ใด บุกรุกป่าไม้หรือไม่ และหากพบว่าบุกรุกก็ไม่ใช่ว่าเราจะหยุดรับซื้อทันที แต่จะมีการลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรโดยตรง มีการตรวจสอบการใช้ปุ๋ย การใช้น้ำ และเพื่อลดต้นทุนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายวัตถุดิบทั้งห้าในประเทศไทยต้องมี traceability 100% มีการจัดการวัตถุดิบหลัก ข้าวโพด ปลาป่น มันสำปะหลัง ปาล์มออย มี CPF digital traceability system ยิงคิวอาร์โค้ดเพื่อให้รู้ว่าวัตถุดิบมาจากฟาร์มไหน ตรวจสอบคุณภาพย้อนกลับเพื่อความปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”, นางจิระณีกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการส่งมอบนโยบาย 4P ให้ผู้ผลิต 7 พันราย ซึ่งนโยบายมีการพัฒนาและปรับปรุงทุกปี สามารถค้นหาและดาวโหลดได้ภายใต้ชื่อ “นโยบายเล่มเขียว” หรือแนวปฏิบัติคู่ค้าธุรกิจ หรือสามารถค้นหาในชื่อ sustainable sourcing policy and supplier guiding principle ซึ่งเรื่องของ people จะพูดถึงเรื่องแรงงาน ชั่วโมงการทำงาน ไม่ใช้แรงงานเด็ก และต่อต้านแรงงานทาส

เทสโก้มุ่ง sustainable product จากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค

นางสาวปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ ผู้จัดการอาวุโส แผนกสื่อสารองค์กร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง food supply chain เทสโก้เน้น 2 เรื่องหลักคือ sourcing และ food waste โดยในส่วน sourcing จะทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ คือทำงานร่วมกันและการเติบโตไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อยไปจนถึงบริษัทที่ผลิตอาหารให้เทสโก้ เพื่อให้มี “sustainable product” ขายในราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ ซึ่งหลักการทำงานคำนึงถึงความยั่งยืน มุมสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และช่วยยกระดับมาตรฐานการทำงานของเกษตรกรรายย่อย

ทั้งนี้ food supply chain ในเทสโก้มี 2 กลุ่มใหญ่ คือ branded หรือสินค้ายี่ห้อต่างๆ ที่ผู้ผลิตผลิตนำมาจำหน่าย ซึ่งจะมี tesco food manufacturing standard เข้าไปตรวจสอบการผลิตทั้งหมดด้วยมาตรฐานของเทสโก้เทียบเท่ามาตรฐานของอังกฤษ

อีกส่วนที่สำคัญคือ own brand คือแบรนด์ของเทสโก้เอง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อาหารสด (fresh food) และสินค้าบริโภค (dry groceries) โดยในส่วนของอาหารสดมีการขยายโปรแกรมที่เรียกว่า “direct sourcing” ซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านคนกลาง เป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มี farm manager เข้าไปดูที่ฟาร์มของเกษตรกรโดยตรง และมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มปริมาณ direct sourcing ทุกปี

โดยปีที่ผ่านมามีการซื้อสินค้าจากเกษตรกร 240,000 ตัน เพิ่มขึ้น 20% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อเข้าถึงเกษตรกรที่อยู่ในเศรษฐกิจฐานรากของไทยมากขึ้น ยกตัวอย่างบ้านโนนเขวา จ.ขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จ มีเกษตรกร 100 คน รวมตัวกันปลูกผักจากที่เคยต่างคนต่างปลูก ไม่ได้พูดคุยกันและขายให้พ่อค้าคนกลาง ไม่มีการเจรจาราคา บางครั้งปลูกชนิดเดียวกัน บางครั้งถูกกดราคา

จนกระทั่งเมื่อเทสโก้เข้าไปทำงานด้วยความใกล้ชิด มี farm director เข้าไปช่วยวางแผนการเพาะปลูก มีการจัดการว่าจะปลูกอะไร ปลูกเมื่อไหร่ และปลูกเท่าไหร่ เทสโก้จะรับซื้ออะไรบ้าง เข้ามารับวันไหน มีการสุ่มตรวจคุณภาพและความปลอดภัยสองวันก่อนส่ง เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือเกษตรกรทราบรายได้ล่วงหน้าและป้องกันไม่ให้เกิดสินค้าล้นตลาด ช่วยลดการเกิด food waste อีกด้วย

อีกส่วนหนึ่งคือสินค้าบริโภคแบรนด์เทสโก้ ซึ่งกว่า 90% เป็นผู้ผลิตเอสเอ็มอี โดยเทสโก้ได้เข้าไปช่วยยกระดับให้ได้มาตรฐานของไทย จากนั้นจึงยกระดับไปสู่มาตรฐานยุโรป ยกตัวอย่างสินค้าที่เพิ่งเปิดตัวก็คือ ถั่วยี่ห้อเทสโก้ที่ผู้ผลิตเป็นชาวไทยเชื้อสายกระเหรี่ยงที่พิการทางสายตา ผลิตถั่วเป็นแบรนด์ของตัวเองและขายได้ในจังหวัดที่จำกัด แต่เมื่อเทสโก้เข้าไปช่วยคัดเลือกเมล็ดถั่วลิสง ฟื้นฟูโรงงาน ทำให้ผลิตถั่วภายใต้แบรนด์เทสโก้โลตัสขายได้ทั่วประเทศ ทั้งยังเพิ่มโอกาสส่งออกไปสู่เครือข่ายเทสโก้ทั่วโลก

“จากตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่าเราทำงานใกล้ชิดกับทั้งเกษตรกรและเอสเอ็มอี เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ว่าเราต้องให้เบ็ดอย่าให้แค่ปลา เพราะฉะนั้นการที่เราเข้าไป คือการเข้าไปให้ความรู้และการพัฒนา สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่ขายของกับเทสโก้ แต่เป็นการยกระดับสินค้าของตัวเองในอนาคตอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวไปสู่ตลาดอื่นๆต่อไป” นางสาวปุณฑริกา กล่าว

ILO ยกระดับการใช้แรงงานให้มีคุณภาพและเสมอภาค

Mr.Fredy Guayacan Benitez Programme Manager, Responsible Supply Chains in Asia, International Labour Organization (ILO) เล่าว่า หน้าที่ของ ILO คือการส่งเสริมความยุติธรรมสู่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการส่งเสริมสิทธิการทำงานของคนงานในอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีมาตรฐานที่เป็นแกนหลัก ในเรื่องของสรีภาพการเข้าร่วมการรวมตัว การต่อรอง การยกเลิกแรงงานทาส นอกจากนี้ยังสนับสนุนและสร้างการบริโภคอย่างยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ให้สอดคล้องกับ SDG ในเป้าหมายที่ 8 เกี่ยวข้องกับการตอบโต้ทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม คนงานมีงานทำอย่างมีคุณค่า และยังเกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ 16 ด้วย

งานของ ILO คือการสร้างการบริโภคอย่างยั่งยืนแลเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยทำงานกับผู้เล่นในเรื่องของนวัตกรรม การผลิต การบริหารความเสี่ยงในระดับโรงงาน บริษัท การปฏิบัติตามกฎหมายและความยุติธรรม เป้าหมายที่เกี่ยวกับความเสมอภาค ความเท่าเทียม ในเรื่องของห่วงโซ่อุปทาน เกี่ยวข้องกับ Supplier จำนวนมากและข้ามประเทศ มีความซับซ้อน และหลากหลาย แต่ทั้งหมดมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัท รวมทั้งมีเรื่องสิ่งแวดล้อมและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน

“สิ่งที่ทำคือพยายามแก้ปัญหาในเรื่องห่วงโซ่อุปทานให้มีความโปร่งใส เพราะมีความสนใจในเรื่องความรับผิดชอบของสังคม ซึ่งจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา มีข้อตกลงในการค้าเสรีเพื่อความเข้มแข็งของสิทธิแรงงานและมิติสังคมในการผลิตต่างๆเพิ่มขึ้น ข้อเสนอในการประชุมสัมมนาเป็นไปเพื่อการรับผิดชอบของห่วงโซ่อุปทาน หาความสัมพันธ์ที่ดีของผลิต หาทางปฏิบัติที่ดีของสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมแบรนด์ เน้นความยั่งยืนทั้งหมด ประโยคต่างๆ นี้คือความคิดเห็นที่เสนอมาเพื่อให้บริษัทและเอกชนทำงานร่วมกัน”, Mr.Fredy กล่าว

ทั้งนี้ ILO ยังดำเนินงานกับบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ทำงานที่ดีและมีคุณค่า รวมทั้งทำงานร่วมกับสหภาพยุโรปเพื่อเพิ่มความเข้าใจในวิธีปฏิบัติต่อแรงงานในหลายภาคส่วน ขณะเดียวกันยังทำงานร่วมกับภาคีต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ บริษัทในประเทศ บริษัทต่างประเทศ เอสเอ็มอี องค์กรของคนงาน สถาบันการศึกษา ทั้งในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

Mr.Fredy เน้นย้ำถึงเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) การใช้แรงงานให้มีคุณภาพและเสมอภาคว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อตรวจลงไประดับข้างล่างมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นเรื่องยากมากเท่านั้น เนื่องจากอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ส่งผลให้เกิดการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน

“อยากจะเน้นว่าหลายบริษัทโดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติที่มีการตรวจสอบย้อนกลับเป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่แม็คโคร เทสโก้ และ CPF ทำ รวมถึงในเรื่องเพศสภาวะ หญิงชายก็สำคัญ การตรวจสอบย้อนกลับการใช้แรงงาน ความเสมอภาคก็เป็นประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน”, Mr.Fredy กล่าว

ผู้ร่วมเสวนาตั้งคำถามTraceability

ตัวแทนจากกลุ่ม กินเปลี่ยนโลกและภาคีซุปเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ได้ร่วมแสดงความเห็นว่า มีความสนใจ 2 ประเด็น คือ 1) ในแง่อาหารสด โดยเทสโก้มีตัวเลขชัดเจน ข้อมูลสาธารณะผู้บริโภคเข้าถึงได้ อยากทราบของแบรนด์อื่นๆ มีสัดส่วนการทำงานกับเกษตรกรเท่าไร มีแผนและป้าหมายอย่างไร ทราบที่มาเท่าไร ซึ่งข้อมูลส่วนนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค 2) ข้อมูลที่มาของแหล่งผลิต ตามที่ผู้บริหารเล่ามา ในความเป็นจริงยังตกหล่นอยู่ บางทีสแกนไปแล้วไม่เจออะไรก็มีเยอะ การปรับปรุงข้อมูลที่เป็นสาธารณะและผู้บริโภคเข้าถึงมากขึ้น และเป็นตัวช่วยการตัดสินใจของผู้บริโภคเป็นส่วนสำคัญที่สนใจ อยากเห็นผู้บริโภคเลือกข้อมูลตามที่ห้างนำเสนอและตรวจสอบที่มาที่ไป และข้อมูลนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกสินค้าได้ตรงตามใจและมีความเป็นธรรม

ผู้ดำเนินเสวนาเสริมว่าเป้าหมายการทำงานตรงกับเกษตรกรและมีข้อมูลบูรณาการโดยเฉพาะในเรื่อง Traceability ที่ครอบคลุม

นางจิระณี จันทร์รุ่งอุทัย Team Leader กลยุทธ์และนโยบายด้านความยั่งยืน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์และอาหาร จำกัด กล่าวว่า Traceability มีการจัดการวัตถุดิบหลัก ข้าวโพด ปลาป่น มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม มี CPF Digital Traceability System ใช้ QR Code จะรู้ว่ามาจากฟาร์มไหน ตรวจสอบย้อนกลับ

นางสาวปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ ผู้จัดการอาวุโสแผนกสื่อสารองค์กร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า Traceability ในส่วนของ Own brand สามารถตรวจกลับไปได้ถึงแหล่งผลิต และยังตรวจสอบลงไปได้ถึงระดับแปลงปลูก มาจากจังหวัดใดและเก็บเกี่ยวเมื่อไร เพื่อป้องกันเรื่องปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค สำหรับสินค้าอ่อนไหว เทสโก้ได้มีการดำเนินการระบุผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงเรื่องความยั่งยืนที่สุด ในอังกฤษได้ระบุมาแล้ว 20 ผลิตภัณฑ์ เช่น กล้วย โกโก้ เนื้อ เป็นต้น เนื่องจากใน Value chain มีความเสี่ยงที่จะประนีประนอมในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ในประเทศไทยจะเริ่มระบุในปีนี้และเป็นสินค้าที่เทสโก้ดูแลใกล้ชิด

นอกจากนี้มีการเปิดเผยข้อมูลของเทสโก้ The little helps plan มีการประกาศบนเว็บไซต์ TescoPLC อยู่แล้ว อัพเดทข้อมูลทุกไตรมาส และกำลังทำการแปล The little helps plan ให้เป็นภาษาไทยทั้งหมด ณ ตอนนี้มีข้อมูลอยู่เว็บไซต์เทสโก้ทั้งหมด

นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า แม็คโคร เน้นไปที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ นอกจากการทำงานร่วมกับ Oxfam ได้มีการทำงานกับกรีนพีซ ยกตัวอย่างเช่น ทูน่ากระป๋อง เพราะทุกขั้นตอนเกี่ยวกับกฎหมายทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่าทูน่าสายพันธุ์ไหนใกล้สูญพันธุ์และสายพันธุ์ใดขายได้ หรือมาจากน่านน้ำที่ถูกต้อง และได้ปลามาจากวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ นอกจากเรื่องแรงงาน จึงมีการทำ Traceability ไว้ที่จุดขายด้วยการสแกน QR Code จะทำให้รู้ว่าเป็นปลาสายพันธุ์ไหน โดยทำใน ownbrand ก่อน คือ Aro ถึงแม้จะตรวจสอบได้แต่ก็ยังยากมาก จึงนำข้อมูลมาผูกเข้าด้วยกัน ผู้บริโภคตรวจสอบได้ที่แม็คโครทุกสาขา

นางจุฑารัตน์ กล่าวอีกว่า แม็คโครมีการพัฒนาซอฟท์แวร์ สำหรับในช่วงการเปลี่ยนผ่าน Traceabilityของราชการมาสู่แม็คโครเองมีการลงทุน ตอนนี้เจาะจงที่ Own brand ก่อน ช่วงแรกในการทำมีการปรึกษากระทรวงต่างๆ ล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสินในเรื่องของซอฟท์แวร์ รวมทั้งมีการทำร่วมกับหอการค้าและ Gistda หาแนวทางให้ถึงรายย่อยและลดขั้นตอน จึงนำไปผูกไว้กับการตรวจสอบ ถ้าสินค้าใดที่ผ่านการตรวจสอบ จึงเริ่มใส่ Traceability โดยมุ่งที่ Own brand และของที่นำเข้ามาเอง ส่วนคู่ค้าก็สามารถใช้ Traceability ของตนเอง แต่ต้องแจ้งมายังแม็คโครว่าโค้ดนั้นมีความหมายว่าอย่างไร รวมถึงมีการตรวจสอบห้องแล็บ การได้มาของผลตรวจ โดยเฉพาะโครงการในพระราชดำริทุกโครงการ

ตัวแทนจากกลุ่ม กินเปลี่ยนโลกและภาคีซุปเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ตั้งคำถามต่อว่า เป็นไปได้แค่ไหนที่ห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตจะระบุชื่อเกษตรกรและกลุ่มที่ปลูก เข้าใจว่าเป็นเรื่องยากที่จะระบุ ซึ่งเวลาที่ไปซื้อสินค้าที่เทสโก้ที่อังกฤษบอกได้ถึงชื่อคนปลูกผักชี เข้าใจว่าเกษตรกรที่นั่นน้อย แต่สามารถตั้งกลุ่มเป้าหมายได้ว่าเพราะเป็นการสร้างกระแสการตรวจสอบของผู้บริโภค

นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ต้องบอกว่าไม่น่าเป็นห่วงเพราะปัจจุบันมีกฎหมายเรื่องฉลาก การระบุที่ตั้งของแหล่งผลิต ชื่อผู้ผลิต เป็นกฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งประกาศออกมาใช้ในกลุ่มผักและผลไม้ ในกลุ่ม 40 โปรดักส์มีการบังคับให้ระบุ และขยายสินค้าออกไปอีกในอนาคต เพราะฉะนั้น จะเป็นบอกว่าผลิตจากที่ไหน ปัจจุบันนี้แม็คโครมีการระบุชัดเจนว่าผลิตจากฟาร์มไหน รวมถึงผู้รวบรวมสินค้าด้วย

ตัวแทนจาก The Minor Food Group ธุรกิจร้านอาหารถามว่า การทำคิวอาร์โค้ด ในเวลา Test back ผักต่างๆ หลังจากคัดเลือกและคัดไซส์ เราเช็คย้อนกลับไปที่ฟาร์มได้เลยจริงๆ ไหม

นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน อาจจะ One step back one step forward เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กัน ส่วนภายใน สามารถลงไปถึงเลยว่าเกษตรกรกี่รายและใช้ปุ๋ยอะไรบ้าง ทุกการใส่ปุ๋ยสามารถทราบได้ เพราะมีลิ้งค์จากซอฟท์แวร์เข้าไป ณ วันนี้ไม่ได้แชร์ให้ผู้บริโภคทั้งหมด เพราะเป็นข้อมูลที่ต้องพัฒนาร่วมกับผู้ค้าเป็นมารยาการทำงาน ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีการทำงานกับสมาคมภัตตาคารไทย ซึ่งมีการแชร์แหล่งที่มาและมีการรับรองมาตรฐานอะไรบ้าง ซึ่งคู่ค้าและลูกค้ามีสิทธิเขาถึงข้อมูลไม่เท่ากัน

Mr.Fredy Guayacan Benitez Programme Manager, International Labour Organization กล่าวว่าอยากจะเน้นว่าหลายบริษัทโดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติที่มีการตรวจสอบย้อนกลับและเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่แม็คโคร เทสโก้และ CPF ทำ รวมถึงในเรื่องเพศสภาวะ หญิงชายก็สำคัญ การตรวจสอบย้อนกลับการใช้แรงงาน ความเสมอภาคก็เป็นประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน

ผู้ดำเนินการเสวนาตั้งคำถามว่า จากการที่ส้มมีหลายเกรดหลายไซส์ เพราะซุปเปอร์มาร์เก็ตชอบวางผลไม้ ผัก ต้องหน้าตาแบบนี้ ไซส์แบบนี้ การที่จะได้มาแบบนั้นทำให้ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม และต้นทุนต่อสุขภาพมีความเสี่ยง ขอถามว่า ของดีต่อตา ของดีต่อใจ แนวทางของค้าปลีกมองเรื่องนี้อย่างไร และยุทธศาสตร์การสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้เป็นอย่างไร เช่น ผู้บริโภคอยากทานที่ผิดฤดูกาล คนขายก็อยากจะหามาขาย เราเป็นคนกลางเรารู้ว่าสินค้านี้ไม่มีในฤดูกาลนี้ เราจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจและเข้ากับมิติความยั่งยืน

นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) ตอบว่า เริ่มจากแม็คโคร ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้วมักจะเลือกจากความสวยก่อน โดย 1) มุมมองธุรกิจของแม็คโครกลุ่มเป้าหมายเป็นเป็นพ่อค้าแม่ค้า ไม่ได้มองแค่ความสวย มีโครงการส้มไทยหวานเจี๊ยบ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ของที่ธรรมชาติยังไง ตั้งแต่เกิดจนออกจากโลกใบนี้ยังไงก็ธรรมชาติแต่ถ้าสร้างและใช้สารเคมียังไงก็มีผลกับสุขภาพ ต้องรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคเน้นคุณภาพและความปลอดภัย ไม่เน้นของพรีเมี่ยม และ 2) การสื่อสารกับผู้บริโภค เราผลิตแบรนด์ของเราเอง บางสินค้าไม่ได้มีตลอดปี เช่น แตงโม มะม่วง ถ้าเราไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ดีพอ จะไปบังคับธรรมชาติให้โตและมีภายใต้ความไม่พร้อมที่จะมี จึงรณรงค์ให้กินของตามฤดูกาล ทั้งที่เงินก็อยากได้แต่ถ้าได้มาแล้วไม่ปลอดภัยก็ไม่ขายดีกว่า เราต้องจริงใจ และส่วนตัวสามีตัวเองก็เสียจากโรคมะเร็งเมื่อสองปีก่อน จึงปวารณานาให้เป็นผู้ค้าและขายของที่ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

นางจิระณี จันทร์รุ่งอุทัย Team Leader กลยุทธ์และนโยบายด้านความยั่งยืน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์และอาหาร จำกัด กล่าวว่า SDG ข้อที่ 12 เรื่องผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน การที่จะบรรลุข้อนี้ได้ ไม่สามารถมองเฉพาะผู้ผลิตได้ แต่ต้องมองที่ผู้บริโภคด้วย ให้ความรู้และแชร์ความรู้ สื่อสารไปยังผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความต้องการที่ยั่งยืน และสิ่งสำคัญที่จะบรรลุ SDG ข้อนี้ได้ ต้องให้เป็นสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการตลาดอย่างมีความรับผิดชอบก็สำคัญ

นางสาวปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ ผู้จัดการอาวุโสแผนกสื่อสารองค์กร เทสโก้ โลตัสกล่าวว่า สำหรับเทสโก้ต้องเป็นการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่มีคุณภาพดีและความต้องการของโลกที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ในส่วนของเทสโก้ที่อังกฤษมีการจัด Range ที่ชื่อว่า Perfectly Imperfect เป็นผักต่างๆ ที่หน้าตาไม่สวย อาจจะเป็นแครอทที่หงิกงอ นำมาขายในราคาอีกเทียนึงให้ผู้บริโภค เพื่อลด Food waste และแบ่งเบาภาระของเกษตรกรที่ปกติอาจจะขายไม่ได้ ในไทยเริ่มนำมาใช้แล้วเช่นกันในชื่อ สวยน้อยหน่อยอร่อยเหมือนเดิม เริ่มกับการขายกล้วยหอม ซึ่งบางครั้งที่เปลือกมีจุดสีน้ำตาล อีกส่วนหนึ่งรับซื้อกล้วยหอมที่รูปร่างไม่สวยนำมาทำเค้กกล้วยหอม