ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อมูลเว็บไซต์หางานบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด

ข้อมูลเว็บไซต์หางานบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด

16 มิถุนายน 2017


เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู [email protected]
วรประภา นาควัชระ [email protected] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปภัสสร แสวงสุขสันต์ [email protected] ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “Big Data บอกอะไรได้บ้างเกี่ยวกับตลาดแรงงานไทย” และ Discussion Paper ฉบับเต็มเรื่อง “Glancing at Labour Market Mismatch with User-Generated Internet Data” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=4412

ท่านผู้อ่านเคยใช้เว็บไซต์หางานบ้างไหมคะ หากท่านผู้อ่านเคยใช้หรืออย่างน้อยเคยเปิดเข้าไปดูเล่น ๆ บ้าง ก็จะเห็นว่าเว็บไซต์เหล่านี้มีนายจ้างมาโพสต์ตำแหน่งงานที่ว่างเพื่อหาผู้สมัคร และนอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องการหางานมาโพสต์ประวัติการทำงานหรือ resume ทิ้งเอาไว้ด้วย โดยวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์หางานก็เพื่อเป็นพื้นที่ให้ตำแหน่งงานที่ว่างกับผู้ต้องการหางานมาเจอกัน หรือง่ายๆ ก็คือทำหน้าที่เป็นตลาด (market) ให้ผู้ที่ต้องการจะซื้อแรงงานกับผู้ที่ต้องการจะขายแรงงานมาเจอกัน

โดยปัจจุบันในเมืองไทยมีเว็บไซต์หางานอยู่หลายที่ เช่น jobbkk, jobthai, jobsdb, jobtopgun หรือ jobthaiweb ฯลฯ ซึ่งจำนวนตำแหน่งงานที่ว่างและจำนวน resume ที่แต่ละเว็บไซต์ประกาศอยู่มีเยอะถึงเป็นหลักหมื่นหลักแสนเลยทีเดียว โดยข้อมูลเหล่านี้เกิดจากการที่นายจ้างและผู้สมัครงานมาโพสต์ไว้เองตามความต้องการที่จะจ้างงานและความต้องการที่จะหางานจริงๆ

นอกจากนี้ ข้อมูลบนเว็บไซต์เหล่านี้ยังมีการอัปเดตแบบ real-time โดยผู้ใช้ โดยหากอยากจะใช้ภาษาเก๋ไก๋ก็อาจจะพอเรียกข้อมูลเหล่านี้ว่า Big Data ได้ เนื่องด้วยข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลค่อนข้างใหญ่ (volume) มีความเร็วแบบ real-time (velocity) และมีรูปแบบที่หลากหลาย (variety)

ข้อมูลนี้บอกอะไรได้บ้าง? และข้อมูลนี้มีประโยชน์อย่างไร?

เนื่องด้วยข้อมูลตำแหน่งงานที่ว่าง หรือ job post บ่งบอกถึงความต้องการจะจ้างของนายจ้าง ดังนั้นข้อมูล job post จึงบอกถึงอุปสงค์ (demand) ของตลาดแรงงาน ส่วนข้อมูล resume บ่งบอกถึงความต้องการที่จะขายแรงงานของผู้สมัครงาน ดังนั้น ข้อมูล resume จึงบอกถึงอุปทาน (supply) ของตลาดแรงงาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราสามารถเห็นภาพในแง่มุมต่างๆ ของตลาดแรงงานในรูปแบบ real-time เช่นตามที่จะเล่าให้ฟังดังนี้

1) มิติด้านเวลา – มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในตลาดแรงงาน

อยากจะขออธิบายประเด็นข้อนี้ด้วยการยกตัวอย่าง หากยังจำกันได้เมื่อต้นปี 2013 เป็นช่วงที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ท่านผู้อ่านลองนึกภาพตามว่าเมื่ออยู่ๆ ค่าแรงที่นายจ้างต้องจ่ายและค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับถูกปรับขึ้น ความต้องการที่จะจ้างงานของนายจ้างและความต้องการที่จะหางานของผู้สมัครงานในตลาดแรงงานน่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร จากภาพที่ 1 ซึ่งเป็นภาพของความตึงตัวของตลาดแรงงาน (labor market tightness) แยกตามภาค ซึ่งคำนวณได้จากจำนวน job post หารด้วยจำนวน resume จะพบว่าความตึงตัวของตลาดแรงงานลดลงอย่างเห็นได้ชัดช่วงปี 2012-2014 แปลว่าจำนวนตำแหน่งงานที่ว่างต่อจำนวนคนที่หางานลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลานี้

2) มิติด้านพื้นที่ – อุปสงค์อยู่ที่ไหน อุปทานอยู่ที่ไหน

ปกติแล้วเวลานายจ้างมาโพสต์ตำแหน่งงานที่ว่าง เว็บไซต์หางานจะให้กรอกข้อมูลว่าบริษัทตั้งอยู่ที่ไหนและต้องการผู้สมัครที่มีคุณสมบัติอย่างไร ส่วนด้านการโพสต์ resume ของผู้หางานในเว็บไซต์หางานก็จะให้กรอกข้อมูลว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติอย่างไรและต้องการทำงานที่จังหวัดใด การนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ก็จะสามารถทำให้เราเห็นได้ว่าบางพื้นที่อาจมีความต้องการผู้สมัครที่มีคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ต้องการผู้ที่สมัครที่จบ ปวส. เป็นจำนวนมาก แต่ผู้สมัครที่จบ ปวส. อาจไม่ได้ต้องการจะไปทำงานที่พื้นที่นั้น ทำให้เราเห็นถึงปัญหาว่าตำแหน่งงานที่ว่างกับผู้สมัครที่ยังหางานไม่ได้ จับคู่กันไม่ได้เพราะเหตุใด

3) มิติเชิงคุณภาพ – เช่น ประเด็นด้านการเลือกปฏิบัติทางเพศและอายุ

ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดเจนว่า ในประกาศสมัครงานนายจ้างจะไม่สามารถระบุเพศ (รวมไปถึง สีผิว อายุ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ฯลฯ) ได้ เพราะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ ดังนั้น เวลานายจ้างมาโพสต์ตำแหน่งงานที่ว่าง ก็ยังมีการระบุเพศและอายุอยู่ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากเว็บไซต์หางานพบว่า การระบุเพศและอายุนี้มีอยู่ในงานหลายประเภท และแทบจะทุกระดับการศึกษา เป็นเรื่องน่าคิดว่าในภาวะที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยและการขาดแคลนแรงงาน ควรแล้วหรือที่นายจ้างจะมีการเลือกปฏิบัติในการเลือกรับผู้สมัครเข้าทำงาน โดยมีการเลือกเพศและเลือกอายุของผู้สมัคร ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับระดับความสามารถของผู้สมัครในการเข้าทำงานนั้นๆ

จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าข้อมูลจากเว็บไซต์หางานนั้นบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด และสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะและต่อเนื่อง เพื่อที่เราจะสามารถวิเคราะห์สภาวะตลาดแรงงานได้ในลักษณะ real-time ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ที่สำคัญต่อไป

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์