ThaiPublica > เกาะกระแส > From Strategy to Execution… “ยุทธศาสตร์ชาติ” ทำให้เป็นจริง “ทำได้” กับ 3 นักปฏิบัติ (ตอน1)

From Strategy to Execution… “ยุทธศาสตร์ชาติ” ทำให้เป็นจริง “ทำได้” กับ 3 นักปฏิบัติ (ตอน1)

19 มกราคม 2022


เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ได้จัดเสวนาเรื่อง From Strategy to Execution ภายในงาน NDC Leadership Talk Series ครั้งที่ 1 โดยมีวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการบริษัท Strategy613 จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศจีน โดยมีนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ร่วมดำเนินการเสวนา

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ได้จัดเสวนาเรื่อง From Strategy to Execution ภายในงาน NDC Leadership Talk Series ครั้งที่ 1

การเสวนาหัวข้อ “From Strategy to Execution” เป็นเวทีชวนพูดคุย ชวนคิดการทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทำอย่างไรที่จะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่ทำได้จริง ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการจริงๆ ซึ่งวิทยากร 3 ท่านที่คัดสรรมา ล้วนมีประเด็นร่วมที่นายทวีลาภตั้งข้อสังเกตไว้ว่า มีความเข้าใจเรื่องที่เป็น “วิถีพื้นฐาน” เริ่มจากนายวิรไท ที่หลังจากพ้นตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ได้มาทำงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ทั้ง 2 มูลนิธิทำงานพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ โดยอาศัยศาสตร์พระราชาตามหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นการทำงานในพื้นที่โดยให้ประชาชนเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เกิดการขยายผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างยั่งยืน ที่นายวิรไทเห็นว่าจะเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างยั่งยืน และจะโยงกับเรื่องยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวข้อเสวนาในวันนี้ นอกจากนี้ได้ทำเรื่องการศึกษามากขึ้น โดยมองว่าสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และได้ร่วมในคณะทำงานการปฏิรูปกฏหมายระยะเร่งด่วน เพื่อยกเครื่องกฏหมายสำคัญๆของประเทศที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

ขณะที่นายปกรณ์ จบนิติศาสตร์มหาบัณฑิต หรือ Master of Laws The University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย นอกจากเป็นนักกฏหมายที่เป็นกรรมการหลายคณะมากแล้ว อีกด้านหนึ่งเป็นนักเขียน มีบล็อกส่วนตัวที่เขียนวิเคราะห์เรื่องราวปรากฏการณ์ของสังคม ปกรณ์เล่าว่า ถูกสอนให้เป็นนักกฎหมายเปรียบเทียบที่จะไม่ได้ดูเฉพาะตัวกฎหมายของประเทศนั้นมาตั้ง แล้วมาเทียบกับประเทศนี้ว่าของเขามี ของเราไม่มี แล้วลอกมา แต่ที่ต้องการมากสุดคือคนที่รอบรู้ ทำให้นักกฎหมายเปรียบเทียบต้องรอบรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งความเป็นมาเป็นไปในประวัติศาสตร์ ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม แล้วนำมาเปรียบเทียบกฎหมายได้ และไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีกฏหมายเหมือนกันตลอด การศึกษาหรือติดตามเรื่องนี้ นักฏหมายเปรียบเทียบจะถูกฝึกให้เป็นนักสังเกตการณ์สังคม

“ผมถูกฝึกให้เป็นนักสังเกตการณ์สังคม มอนิเตอร์เรื่องราวต่างๆ ตลอด มีะไรเกิดขึ้น และมีอะไรเปลี่ยนไป เห็นอะไรก็หยิบมาเป็นประเด็นได้ และเป็นคนขี้รำคาญ ขี้หมั่นไส้ ก็จะหยิบมาเขียนในบล็อกของผม ยกตัวอย่าง วันหนึ่งหลังจากจอดรถข้างๆ รถเครื่องขายเครื่องดื่ม เห็นเขาตักทั้งน้ำตาล ทั้งนมข้น ใส่กาแฟเย็น ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า นอกจากโควิดแล้วเรายังมีโรคไม่ติดต่อ ก็เลยยกมาเขียน… คือมาจากการสังเกต แล้วไม่ได้ใช้ภาษาราชการ แต่ใช้ภาษาชาวบ้านอ่าน เพราะถือว่าผมเป็นชาวบ้านคนหนึ่ง”

ส่วน โจ ฮอร์น นั้น เป็นที่รู้จักกันดีในฐานหลานตาของนายสังข์ พัธโนทัย เกิดและเติบโตในจีน และแม้จะเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่โจ พาครอบครัวไปจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 พร้อมส่งลูก 2 คนเข้าโรงเรียนท้องถิ่นในจีน ด้วยแนวคิดที่ว่า นอกจากได้เรียนภาษาจีนแล้ว ลูกจะได้รับรู้แนวคิดของคนจีนด้วย

“จีนตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงมหาศาล ผมตัดสินใจเอาครอบครัวไปด้วย ลูก 2 คนให้เด็กเข้าโรงเรียนจีนในท้องถิ่น เป็นจีนล้วน จีนคอมมิวนิสต์เลย โรงเรียนเดียวกับที่ผมเคยเรียนตอนเด็กๆ ได้เรียนรู้เยอะมาก เด็กไม่ได้ได้แค่ภาษา เพราะภาษาเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ แต่ได้เรียนรู้นิสัยจีน ให้ไปเรียนโรงเรียนเขาเลย ลูกต้องไปแย่งของเล่นกับเด็กจีนถึงจะรู้ คนเล็กอายุ 7 ขวบ ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าทุกปัญหาสามารถแก้ได้ด้วยการเล่าเรื่องเหมาเจ๋อตุง เพราะวันหนึ่งเขาลืมทำการบ้าน ลูกก็ไปบอกในห้องว่า จะขอแชร์เรื่องเหมาเจ๋อตุงให้เพื่อนๆฟัง ปรากฎว่า การบ้านที่ลืมทำ ครูบอกไม่เป็นไรแล้ว ส่วนคนโตอายุ 10 ขวบ วันหนึ่งกลับบ้าน ถามผมว่า ทำไมสิ่งที่เจ้าหน้าที่พูด ตรงข้ามกับสิ่งที่เขาจะทำ คือมีสุภาษิตจีน ว่า สิ่งที่เราพูด เราพูดเป็นตรงกันข้าม เป็นวิธีมองหลายอย่างที่จีน ว่าอะไรที่ตรงกันข้ามมันสมเหตุสมผลไหมและจริงๆก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล การเรียนโรงเรียนจีน ทำให้ลูกผม เข้าใจความเป็นจีนมากขึ้น”

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ร่วมดำเนินการเสวนา

นายทวีลาภ สรุปช่วงแนะนำตัวครั้งนี้ว่า แต่ละท่านมีความเข้าใจในเรื่องที่เป็นวิถี ที่เป็นพื้นฐาน การเข้าใจวิถีพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) คือต้องมองจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน พร้อมทั้งตั้งคำถามชวนเสวนาว่า แต่ละคนมองเรื่องยุทธศาสตร์อย่างไร การคิดยุทธศาสตร์ มีความท้าทาย มีการออกแบบที่ต้องเปลี่ยนไปอย่างไรในโลกสมัยใหม่

แผนยุทธศาสตร์ “ผลลัพธ์-เป้าประสงค์” ต้องชัด

“วิรไท” เริ่มด้วยการให้น้ำหนักที่สำคัญที่สุด คือ การวางแผนต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และคนวางแผนต้องยอมรับว่า อนาคตจากนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะมีความเป็น VUCA คือมีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือสูงมาก ( V-Volatility, U -Uncertainty ,C-Complexity ,A- Ambiguity) ทำให้หลายเรื่องที่เคยเชื่อ เคยคุ้นชิน เคยเรียนมา เริ่มไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เครื่องมือ มาตรการหลายอย่างที่ทำ เริ่มไม่ได้ผลอย่างที่เคยเชื่อ และโลก VUCA ไม่ได้ส่งผลระดับมหภาคเท่านั้น แต่ลงไปถึงวิถีชีวิตของคนทุกคน ฉะนั้นทุกยุทธศาสตร์ ทุกแผนที่จะมีผลลัพธ์คือ ต้องไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคน จึงจะเกิดผล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน

การวางแผนจะต้องมีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นคนในองค์กรหรือนอกองค์กร การจะให้ได้ผลลัพธ์ ต้องมีการถกเถียงเรื่องผลลัพธ์มากๆ ว่าต้องการผลลัพธ์อะไร เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ต้องยอมรับว่าเราคาดเดาอนาคตไม่ได้ การทำแผน คนทำแผนมักจะยึดติดกับ baseline จะคิดว่าอนาคตจะเป็นแบบนี้ ขณะที่โลกได้เปลี่ยนโครงสร้างทุกรูปแบบอย่างหนัก ในทุกมิติ

ดังนั้นถ้าแผนที่วางไม่คิดถึงผลลัพธ์ ไม่คิดถึงเป้าประสงค์ที่ชัดเจน จะออกมาเป็นแผนกิจกรรม หรือเป็นการต่อยอดสิ่งที่เคยทำมาแล้ว โดยไม่ได้กลับไปดูว่าที่สิ่งเคยทำมาจะสอดคล้องกับบริบทในอนาคตหรือไม่

การคิดเรื่องผลลัพธ์ การคิดเรื่อง outside in การคิดทำแผนให้คล่องตัว ทันการณ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก รวมทั้งเวลาวางแผนต้องให้ความสำคัญกับ scenario ที่เกิดขึ้น และปรับตัวให้เท่าทันกับ scenario ต่างๆ ได้ ซึ่งการทำ scenario ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมองจากข้างนอกเข้ามา มองถึงตัวแปรสำคัญๆ ที่กำลังจะเปลี่ยน

“วิรไท” มองว่าการทำแผนยุทธศาสตร์ ต้องกลับไปที่วิธีคิดซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น และยอมรับว่าเรามองข้างนอกน้อยไป ไม่ได้เข้าใจวิธีคิดลึกๆของข้างนอกที่มีผลต่อบริบทการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญปัญหาใหญ่คือเราติดกรอบความคิดเดิมๆ เพราะเรามีการทำแผนมากมาย

“วิรไท” กล่าวว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่ระบบราชการไทยยังติดกับกรอบวิธีคิดแบบเดิม เช่น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 จะเห็นว่า ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับ (hub) เช่น การเป็น HUB ในกลุ่มประเทศ CLMV ประเด็นคือ ประเทศรอบบ้านอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางหรือไม่ การที่ไทยเป็นฮับแล้วจะให้คุณค่าอะไรได้บ้างกับประเทศรอบข้างในลักษณะ win-win และแนวคิดอาจไม่ใช่การเป็นฮับแล้วมี spoke โดย spoke ต้องพึ่งตัวฮับแล้ว เพราะโลกปัจจุบันเป็นโลกของ network เป็นโลกของความเชื่อมโยง รวมทั้งหลายเรื่อง เวียดนามไปไกลกว่าไทย และในอนาคต CLMV ไทยจะอยู่ข้างหลังแทน

นายวิรไท สันติประภพ

“หรือการที่ไทยอยากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล คำถาม คือ ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล คือ เป็นอะไร เราจะเอา ดาต้าเซ็นเตอร์มาตั้งในไทยเยอะๆ ให้เปลืองไฟของไทยหรือ เพราะใช้พลังงานเยอะมาก ขณะที่ดิจิทัลปัจจุบันเป็นโลกของ network เป็นโลกที่ไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีบัญชีกลาง แต่ประเทศไทยยังอยากจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจดิจิทัล มันเหมือนกับที่ไทยเคยตั้งเป้าการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค เมื่อก่อน 10-15 ปีที่แล้ว ไทยเคยเป็นศูนย์กลางการบิน เครื่องบินจากยุโรปไปออสเตรเลีย ต้องแวะไทยกับสิงคโปร์ แค่นั้น 2 ฮับนี้ ได้ส่วนแบ่งตลาดมา 45% แต่วันนี้เครื่องบิน บินได้ไกล ไม่ต้องหยุดพักและเกิดฮับใหม่ๆ ในประเทศตะวันออกกลางที่ราคาน้ำมันถูกกว่า ไม่ต้องเสียภาษี แล้วเรายังอยากเป็นศูนย์กลางในบริบทแบบนี้ มันไม่ใช่”

“นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า โลกมันเปลี่ยนมาก และเปลี่ยนจาก paradigm เดิม และทั้งหมดเวลาพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์ เราให้น้ำหนักน้อย กับการคิดให้ตกผลึก บริบทข้างหน้า และผลลัพธ์ที่อยากให้เกิดขึ้น เรามักจะข้ามไปที่กิจกรรมเลย ไปต่อยอดแนวคิดแบบเดิมๆ ทำให้ติดกับดักของกรอบความคิดของเรา”

ระบบกฏหมายต้องทำให้ “คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น” ไม่ใช่จำกัดเสรีภาพ-ความคิดสร้างสรรค์

ด้าน “ปกรณ์” มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า สิ่งที่นักยุทธศาสตร์ชาติต้องมี คือ การเข้าใจบริบทสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือมีการสำรวจสภาวะแวดล้อม และไม่ใช่สำรวจสภาวะแวดล้อมเฉพาะในประเทศ หรือในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น เพราะโลกปัจจุบัน เป็นโลกที่ไม่มีพรมแดน เกิดอะไรขึ้นในมุมหนึ่งของโลกจะส่งผลกระทบไปทั่ว

“เวลานี้ผมกังวลเรื่องยูเครน คาซัคสถาน ที่ยูเครนมีการประท้วง มีปัญหาเรื่องท่อแก๊ส ท่อส่งน้ำมัน ผมกังวลว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ เทขายน้ำมันในแทงก์ ทำให้วันนี้ราคาน้ำมันไปแตะ 84 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว ผมเป็นนักกฎหมายที่ไม่ควรรู้เรื่องนี้ใช่มั้ย แต่นี่คือสิ่งที่นักกฎหมายเปรียบเทียบต้องรู้”

ความท้าทายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง คือ องค์กรภาครัฐที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ยังยึดติดกับวิธีการทำงานแบบเดิม ทำให้เวลาวางเป้าหมาย ปัญหาอันดับแรกคือ ไม่รู้ว่าไทยอยู่ตรงไหนของโลก ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนของสถานการณ์ ซึ่งสำคัญมาก และเรายังทำงานเหมือนที่เคยทำ ทั้งที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนเร็วมาก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา รวมถึงระบบกฎหมาย โดยต่างประเทศเป็น deregulation หรือ self-regulate ตั้งแต่ปี 1980 เริ่ม open governance ที่อังกฤษ สหรัฐ แม้กระทั่งโซเวียต ก็เป็น perestroika and glasnost รวมถึงจีนในปี 1980 ที่เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่งแรก มีการเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยน paradigm หรือกระบวนทัศน์ไปหมดแล้ว แต่ของไทยยังลอกของเก่า เน้นการทำแบบเดิมๆ ระบบกฎหมายไทยยังเป็น control system ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลก เพราะทุกคนกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่เรากลัวไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนทุกวัน เปลี่ยนตลอดเวลา เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปให้ได้ จะตั้งรับอย่างไร

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ระบบกฎหมายต้องเป็นระบบที่ทำอย่างไรให้ “ชีวิตคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” การร่างกฏหมายแต่ละฉบับ ไม่ใช่คิดว่าพอมีปัญหาก็ร่างกฏหมายเป็นอันดับแรก เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่จำเป็น ไม่ต้องมีกฎหมาย เพราะกฏหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพคน การออกกฎหมายจำกัดความคิดสร้างสรรค์ และส่งผลให้ไม่เกิดนวัตกรรม หรือ innovation ใหม่ๆ อีกด้วย ทำไมเราไม่ปล่อยให้เดินไปสักพัก เพราะเรารู้แนวทาง หลักการว่าเราจะคุมอย่างไร มอนิเตอร์ใกล้ชิด แล้วค่อยออกกฏหมายมาคุม ไม่ใช่ไปกำกับตั้งแต่แรก ดังนั้นเราต้องเข้าใจบริบทและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพราะโลกมันเปลี่ยน เปลี่ยนเร็วมาก อะไรที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งของโลก มันก็กระทบถึงอีกมุมหนึ่งได้ ดังนั้นเราต้องรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

และในทางตรงกันข้าม การออกกฎหมายเยอะๆ มันไปขยายภารกิจของรัฐอีกด้วย พอจำกัดสิทธิเสรีภาพคน รัฐต้องส่งคนไปดูแล ภารกิจของรัฐขยายไปเรื่อยเปื่อยไปในเรื่องที่ไม่ควรจะเสียเวลา แล้ว mind set ที่มีมาตลอด คือ เวลาเกิดเรื่องอะไรขึ้นมา ก็จะบอกว่า เรื่องนี้ไม่มีกฎหมาย แล้วก็มาเร่งให้ออกกฎหมาย พอบอกว่ามีกฎหมายอยู่แล้ว ก็จะได้คำตอบว่า มีไม่พอ

“ทวีลาภ” กล่าวต่อว่า”อยากฟังมุมคุณโจ ว่าเวลาไปปรึกษาธุรกิจ ต่างๆ เวลาที่เขาพยายามมองปัจจัยที่กระทบว่าเขาจะรอดไม่รอด จากการเป็นที่ปรึกษา หรือในจีน เรื่องยุทธศาสตร์เขาทำอย่างไร”

แผนยุทธศาสตร์ต้องมี “โหมดหยิน-โหมดหยาง”

ด้าน “โจ ฮอร์น” เล่าว่าประสบการณ์การวางยุทธศาสตร์ในประเทศจีน ที่จะมี 2 โหมด คือ โหมดหยิน และโหมดหยาง โดยโหมดหยาง จะผ่านกระบวนการจากระดับล่างขึ้นบน มีการวิเคราะห์จุดอ่อนว่าอยู่ตรงไหน แล้วส่งมาที่ DRC หรือศูนย์วิจัยของรัฐบาล จากนั้นไป NDRC ที่เหมือนสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย มีหน้าที่วางแผน แล้วนำแผนที่ได้ไปสาธิตใน 3-4-5 เมือง ใช้เวลา 2-3 ปีก่อนสรุปเป็นนโยบาย ของไทยอาจจะเริ่มจากจุดเล็กก่อนแล้วค่อยขยาย ส่วนโหมดหยิน เคาะออกมาเลยคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนคิดแล้วสั่งให้ทำเลย แต่มักจะเป็นนโยบายระยะสั้น ที่ต้องใช้เร่งด่วน ซึ่งมีถูกบ้างผิดบ้าง หากผิดก็แก้ ถูกก็ทำต่อ

“สำหรับเราให้คำแนะนำลูกค้าธุรกิจระดับใหญ่ที่ปักหลักอยู่นาน 5-10 ปี เราต้องดูไปข้างหน้าว่านโยบายจีนในระยะข้างหน้าว่าจะไปทางไหนบ้าง ค่อยวางตัวเราให้ถูกที่”

นอกจากนี้ รัฐบาลกลางของจีนมีขนาดเล็กมาก ถ้าเทียบกับรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาที่มี 1 ล้านคน ไม่รวมทหาร ขณะที่จีนมีขนาด 4 เท่าของอเมริกา แต่รัฐบาลกลางของจีน ที่ไม่รวมตำรวจ ทหาร สื่อ จะมีเพียง 1 แสนคน

นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการบริษัท Strategy613 จำกัด

“รัฐบาลจีนเล็กมาก ดังนั้นเขาไม่มีเวลาจะไปคุมอะไร การดู KPI จะไปอยู่ที่ระดับมณฑล ผู้ว่าคนไหนทำตรงเป้าก็โปรโมตเป็นเลขาธิการพรรค เพราะเขาไม่มีเวลา ไม่มีคนมาบริหารประเทศลึกขนาดนั้น แล้วระดับที่มีงบจริงๆ คือ ระดับเมือง แต่แม้รัฐบาลกลางจีนจะเล็ก แต่ภาครัฐใหญ่ จนต้องมีคำสั่งห้ามเพิ่มหน่วยงานทุกระดับ การเพิ่มหน่วยงานเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่าง เทียนจิน ที่อยู่ใกล้ปักกิ่ง ที่เทียนจินจะมีทั้งเลขาธิการพรรคและผู้ว่ามณฑล หรือนายกเทศมนตรีของเมือง โดนกักตัวทั้งคู่ แต่เมืองสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น สรุป คือเราสามารถลดจำนวนคนที่มาบริหารเราได้มาก เพราะขนาดระดับเลขาธิการพรรคกับผู้ว่ามณฑล ถูกคุมตัว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารเมือง และจีนชอบคุมมาก เช่น ให้มีลูกได้ 2 คน แต่คนคุมจะเป็นระดับล่าง”

“ปกรณ์” เสริมว่า “จากที่คุณโจพูด เราต้องรู้วิธีคิด รู้โครงสร้างของเขา(จีน) ไม่ใช่รู้แค่แอคชั่นของเขา ถามว่าจริงๆในระบบจีน เรารู้โครงสร้างระบบการจัดการของเขามากน้อยแค่ไหน เรารู้วิธีการ ขบวนการคิดของเขาเป็นอย่างไร เราไม่รู้อย่างที่คุณโจพูด การที่ได้เรียนรู้ถึงวิธีคิด และโครงสร้าง กระบวนการทำงานของจีน ที่ผ่านมาจะดูแต่ผลลัพธ์ของจีน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ในฐานะนักกฏหมายเปรียบเทียบที่ได้รู้ ดังนั้นการลอกโครงสร้างการบริหารแผ่นดินของจีนหรือฝรั่ง ที่เราไปลอกมา มันลอกกันไม่ได้ ที่มาต่างกัน ยุทธศาสตร์ของจีนเหมือนบู้ตึ้ง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ เข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง การดำเนินนโยบายหยินและหยาง จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก”

ขณะที่ย้อนกลับมาดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ล่าสุดแผนที่ส่งขึ้นมา 80-90% จะเหมือนเดิม วิธีคิดแบบเดิม แล้วกำหนดแผนงาน โครงการ เพื่อของบประมาณ เท่านั้น หรือขอตั้งหน่วยงานใหม่ เคยมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอตั้งหน่วยงานใหม่ 50 หน่วยงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ว่าจะต้องมีความคล่องตัวขึ้น ถ้าตั้งหน่วยงานใหม่เป็นร้อยๆ ประเทศแย่ เพราะมีแต่ต้นทุน

เช่นเดียวกับ “วิรไท” ที่เห็นว่า การที่รัฐบาลกลางของจีนเล็ก ทำให้ไม่เสียเวลาไปกับเรื่องที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยใหญ่มากขึ้น รวมศูนย์มากขึ้น หากปล่อยให้โตอย่างนี้เรื่อยๆ จะทำให้เกิดปัญหาภาระการคลังแน่นอน

อ่านต่อตอนที่2