ThaiPublica > เกาะกระแส > “From Strategy to Execution” … “ยุทธศาสตร์ชาติ” ทำให้เป็นจริง “ทำได้” กับ 3 นักปฏิบัติ (ตอน2)

“From Strategy to Execution” … “ยุทธศาสตร์ชาติ” ทำให้เป็นจริง “ทำได้” กับ 3 นักปฏิบัติ (ตอน2)

19 มกราคม 2022


เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ได้จัดเสวนาเรื่อง From Strategy to Execution ภายในงาน NDC Leadership Talk Series ครั้งที่ 1 โดยมีวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการบริษัท Strategy613 จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศจีน โดยมีนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ร่วมดำเนินการเสวนา

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ได้จัดเสวนาเรื่อง From Strategy to Execution ภายในงาน NDC Leadership Talk Series ครั้งที่ 1

ในตอนที่ 1 From Strategy to Execution… “ยุทธศาสตร์ชาติ” ทำให้เป็นจริง “ทำได้” กับ 3 นักปฏิบัติ (ตอน1)

“วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้นำองค์กรอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันหันไปทำงานด้านประชาสังคมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และมูลนิธิปิดทองหลังพระ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะนักกฎหมายเปรียบเทียบ ที่ไม่ได้มองแต่เพียงกฎหมายในกรอบงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น แต่มีมุมมองที่หลากหลายทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึง “โจ ฮอร์น” ที่นำประสบการณ์ในจีน มาแชร์ทั้งวิธีคิด วิธีการทำงาน ของภาครัฐและประชาชนจีน

มุมมองของทั้ง 3 ผู้นำองค์กร ทำให้เห็นถึงความท้าทายของภาครัฐในการวางแผนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มาเร็วและมาแรงให้ได้ทันท่วงที ทั้งการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานและที่สำคัญไม่แพ้กัน หลังจากวางแผนแล้ว ก็คือการขับเคลื่อนแผนให้ได้ผลอย่างที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้

โดย “วิรไท” ได้เกริ่นนำไว้ในตอนต้นของบทที่แล้วว่า การวางแผน ต้องกำหนดผลลัพธ์ให้ชัด โดยเฉพาะผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่ประโยชน์สุขของประชาชนในประเทศเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนไปของโลก ขณะที่ “ปกรณ์” เห็นว่า ภาครัฐต้องมีขนาดเล็กลง มีการออกกฎหมายน้อยลง เพื่อลดการจำกัดเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ ขณะที่ “โจ ฮอร์น” ฉายภาพจีนที่มีการวางแผนทั้งจากล่างไประดับบน และจากระดับบนลงล่าง รวมทั้งการมีขนาดของรัฐบาลกลางที่เล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของประเทศ โดยมีการกระจายอำนาจไปในระดับเมือง ระดับมณฑล ทำให้รัฐบาลกลางไม่ต้องเสียเวลา เสียกำลังคนกับเรื่องเล็กเรื่องน้อย

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนแผนนั้น วิทยากรทั้ง 3 เห็นว่าหลักนำทาง (Guiding Principles) การสื่อสาร การทำความเข้าใจ การสร้างความรับรู้ร่วมกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องสำคัญ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์

“ปกรณ์” กล่าวว่า “เป้าหมายของการทำงานของผมคือ ชีวิตที่ดีขึ้น เป้าหมายนี้มาจากภาษากฎหมาย “ความผาสุกของประชาชนคือกฎหมายสูงสุด” นี่คือเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่ต้องไปให้ถึง วิธีการ แผนงาน ต้องไปสู่เป้าหมายนี้ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจ ความรับรู้ จูงมือกันเดิน

ประเด็นคือ จะทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนอย่างไร และจะพากันจูงมือเดินไปสู่เป้าหมายข้างหน้าได้อย่างไร มันไม่ใช่ยุทธศาสตร์แบบทหาร แต่เป็นเรื่องของคนรุ่นหน้าในอนาคต เราสร้างความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ได้ถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าทำได้ การปฏิบัติจะพร้อมใจกันมาก เป็นเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง

“อย่างเรื่องที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ผมคุยกับน้องๆ ในกฤษฎีกา ให้เตรียมศึกษาล่วงหน้าไว้เลยว่า จะมีระบบภาษี ระบบการเงินการคลัง เพื่อรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างต้นในอนาคตอย่างไร ที่ต้องศึกษาล่วงหน้า เพราะคนเหล่านี้จะทำงานต่อหลังจากผมเกษียณ”

“เราต้องสื่อสารกับคนในองค์กร ว่าสิ่งที่เราจะทำเพื่ออะไร ผมให้ภารกิจไปว่า Good Governance for Better Life เพื่อให้เขารู้ว่าเขาทำอะไร หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ถ้าเราสามารถอธิบายให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร ทุกคนจะร่วมมือร่วมใจกัน และสิ่งที่เราพยายามทำกันในช่วงที่ผ่านมา ความยากลำบากในการทำงานระบบราชการปัจจุบันที่ดีขึ้นเยอะ คือ เดิมไม่ค่อยคุยกัน แต่เวลานี้มีการคุยนอกรอบ มีการนัดทานข้าว มีการสื่อสารกันคุยกัน และถ่ายทอดต่อในองค์กร ทำให้ให้เด็กในองค์กรได้สื่อสารกัน นี่เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน แล้วก็จูงมือเดินไปด้วยกัน”

นอกจากนี้ สิ่งที่วิทยากรทุกคนเห็นตรงกัน คือ ต้องลดขนาดภาครัฐ ต้องเลิกแนวคิดรัฐทำเองทั้งหมด เพราะพิสูจน์แล้วว่า ระบบเดิมที่ภาครัฐใหญ่โตมโหฬาร ไม่สำคัญแล้ว ไปต่อไม่ได้ ต้องศึกษาว่าที่อื่นเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไร รัฐมีขนาดเล็กลง มีการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ให้ส่วนภูมิภาคมากขึ้น

“แล้วปัญหาที่คนติดอยู่คือ ทุกอย่างที่ออกแบบมาจากแนวคิดที่ว่า ทุกคนคนโกง ต้องจับผิด ทำให้เราไม่สามารถริเริ่มเรื่องใหม่ๆ ได้ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะติดกับดักนี้”

นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย

ด้าน “โจ ฮอร์น” หยิบยกประสบการณ์ในฐานะที่ปรึกษาการเพิ่มทุนให้กับธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ในช่วงหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540

“ตอนปี 2540 เคยทำแผนเพิ่มทุนให้ KBank หลังจากเพิ่มทุนเสร็จ ประธานดีบีเอสบินมาไทย บอกผมว่า ยุทธศาสตร์ง่าย แต่การขับเคลื่อนยาก แผนที่ว่าง่าย คือ แบงก์ต้องเพิ่มทุน ในขณะที่แต่ละวันมีวิกฤติต่างๆ เกิดขึ้น มีปัญหาที่อาจจะทำให้แผนล่มได้ ทำให้ต้องคิดล่วงหน้า การลงมือปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่ยาก วางแผนได้ แต่ตอนวางแผนต้องคิดเผื่อกรณีเกิดเหตุต่างๆ แต่สุดท้าย แผนที่ดีที่สุดในโลก ถ้ามาเจอการทุจริต หรือแรงจูงใจที่สอดคล้องกันระหว่างสองฝ่าย แผนก็ไม่สำเร็จ วิธีคิดของผมคือ ถ้าจะวัดการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายประสบความสำเร็จ ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายจะโมโหใส่กัน เพราะเท่ากับเราทำถูกแล้ว

“แต่ที่ยากคือการหาขั้นต่อไปว่า หลังจากจบดีลแล้ว ทำอย่างไรให้แผนเดินต่อไปได้อย่างราบรื่น เพราะสองบริษัทยักษ์ที่มารวมตัวกัน เป็นบริษัทข้ามประเทศ จะมีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมเป็นปัญหาหลัก เราในฐานะที่ปรึกษาจึงอยู่ต่อ จะเรียกว่าเป็นบริการหลังการขายก็ได้”

หลักนำทาง “Guiding Principles” ต้องชัด

ขณะที่ “วิรไท” มีทั้งข้อเสนอและตัวอย่างประกอบในเรื่องการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ว่า หลักคิดสำคัญ คือ ทำแล้ว “ประชาชน หรือชาวบ้านได้อะไร” และต้องมีหลักนำทาง (Guiding Principles) ที่ขาดหายไปจากการทำแผนของประเทศ ฉะนั้น หลักนำทางต้องชัดเจนเพื่อไม่ให้แผนที่ออกมากลายเป็นต่อยอดกิจกรรมเดิมๆ โดยไม่ได้คำนึงว่ากิจกรรมนั้นทำให้ได้ตามแผนที่ต้องการหรือไม่

“หลักนำทางสำคัญมาก โดยเฉพาะการวางแผนระดับประเทศ เพราะมีความคาดหวังที่แตกต่างกัน มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมทั้งต้องมีการสื่อสารเรื่องหลักนำทางในทุกระดับ จนถึงระดับผู้ปฏิบัติงาน หลายอย่างที่มีแผน มีกิจกรรม แต่พอถึงเวลาปฏิบัติ แล้วเจอปัญหา เขาไม่รู้อะไรหลักนำทางในการตัดสินใจแก้ปัญหาเหล่านั้น ก็ต้องมีคนมาจัดการว่าจะเลือกไปทางไหน ทางซ้ายหรือทางขวา จะให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่า ซึ่งสามารถกลับไปดูที่หลักนำทางได้”

“วิรไท” ยกตัวอย่างเมื่อครั้งทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางแผนทำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตัวผลลัพธ์หรือสิ่งที่ต้องการ คือ ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีต้นทุนที่ถูกที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจแท้จริง ให้ประชาชนคนไทยได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ทำแผนระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีรายได้จากธุรกรรมการชำระเงินมากที่สุด และไม่ได้เป็นหน่วยธรกิจใหม่ แต่เป็นหน่วยธุรกิจที่มาเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งมากที่สุด และมีต้นทุนการทำธุรกรรมต่ำ

จากนั้นต้องคิดว่าหลักนำทางคืออะไร เพราะทุกอย่างที่ทำมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์ก็คือประชาชนทั่วๆ ไป แต่ไม่มีปากไม่มีเสียง ผู้เสียประโยชน์ คือ สถาบันการเงิน คนในแวดวงธุรกิจ

โดยระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เริ่มจากโครงการพร้อมเพย์ โดยหลักนำทางแรก คือ ไม่ได้ทำเพื่อเป็นรายได้ให้กับสถาบันการเงิน ต่อมาคือการลดลดต้นทุนการใช้เงินสดทั้งระบบ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก ทั้งเรื่องการจ้างคนมานับเงินทั้งที่จุดชำระเงิน สถาบันการเงินที่ต้องซื้อเครื่องนับ ซื้อประกันภัย ซื้อเครื่องเอทีเอ็ม การขนส่งเงิน เฉลี่ยต้นทุนปีละ 15,000 ล้านบาท ดังนั้นระบบที่ใช้จะต้องเปิดกว้าง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพื่อให้การต่อยอด พัฒนาระบบเศรษฐกิจอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นได้

“เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาให้ลดการใช้เงินสด สองต้องไม่ปิดกั้นเปิดกว้าง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แม้ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้ลงทุนหลัก แต่ต้องเปิดกว้าง ให้อีวอลเลต ให้บริษัทมือถือ ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย มาเชื่อมต่อได้ เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีนวัตกรรมตลอดเวลา ท้ายที่สุดข้อมูลธุรกรรมที่ได้ ประชาชนต้องได้ประโยชน์ ไม่ใช่สถาบันการเงินได้ประโยชน์ หรือบริษัทโทรคมนาคมที่ให้บริการชำระเงิน”

พวกนี้เป็นหลักนำทางที่ต้องชัดมากตอนออกแบบ ไม่เช่นนั้นทุกคนจะมาด้วยความคาดหวังที่ต่างกัน

ธนาคารพาณิชย์ก็จะบอกว่า รายได้เขาหายไปปีละหมื่นล้านบาท แต่ถ้าจะช่วยกันสร้างระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หมื่นล้านบาทตรงนั้น ต้องไปหาวิธีลดค่าใช้จ่าย แล้วแบงก์ชาติจะช่วยเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้แบงก์สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ แต่โดยข้อเท็จจริง ถ้าทำระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ แล้วคนมาใช้เพิ่มข้น ต้นทุนค่าใช้จ่ายแบงก์จะลดลงไปเอง ทั้งค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการเงิน การเปิดสาขา

นายวิรไท สันติประภพ

อีกตัวอย่างที่ “วิรไท” หยิบยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นความสำคัญหลักนำทาง คือ เรื่องคิวอาร์โค้ด ซึ่งจากการดูประสบการณ์ในจีน ที่มี 4-5 คิวอาร์โค้ด ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้ใหญ่เหมือนจีน การมีหลายคิวอาร์โค้ดจะมีปัญหามาก นอกจากนี้ ในจีน คิวอาร์โค้ดเจ้าใหญ่ไม่กี่ราย มีส่วนแบ่งตลาดรายละ 48-49% อีก 200 กว่ารายแทบไม่มีบทบาท ทำให้ไม่มีการแข่งขัน ขณะที่เจ้าใหญ่เป็นผู้ควบคุมระบบข้อมูลเศรษฐกิจ

“เราจึงออกแบบคิวอาร์โค้ดมาตรฐานขึ้นมา และเป็นครั้งแรกที่ให้ต่างชาติเข้ามาใช้คิวอาร์โค้ดนี้ได้ เพราะไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ต้องให้ทุกคนใช้ได้ มีการเชิญทั้งอเมริกันเอ็กซ์เพรส วีซ่า มาสเตอร์การ์ด เจซีบี และ Chaina Union Pay จากจีน ที่เขาบอกว่าเป็นครั้งแรกที่มาทำงานกับวีซ่า มาสเตอร์ เพราะอย่างที่ทราบว่า จีนกับอเมริกาต่างแข่งขันกัน แล้วออกแบบมาเป็น Thai standard QR code โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของ เปิดกว้างให้ใครมาใช้ก็นี้ได้

โดยหลักคิดสำคัญของการออกแบบ QR code นี้ คือเป็น open architecture ไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และใช้บริการได้ฟรี เป็นหลักคิดสำคัญมากในการออกแบบ เป็นตัวอย่างที่ว่า ถ้าจะทำกิจกรรมให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ให้เสร็จ ควรมีหลักคิดอะไรบ้าง แล้วสื่อสารลงไปในทุกระดับ โดยเฉพาะในภาครัฐ ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่

นอกจากนี้ “วิรไท” ยังยกบทเรียนเรื่องแนวคิดการให้ไทยเป็นฮับหลายเรื่องที่มีการพูดกันบ่อยครั้ง รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการชำระเงินระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่หมายความว่าธุรกรรมชำระเงินทุกอย่างให้มาเคลียร์ที่ประเทศไทย แต่รูปแบบที่ว่าจะเกิดได้จริงหรือ จะมีประเทศไหนยอม ในขณะที่แนวคิด คิวอาร์โค้ด ที่จะเชื่อมโยงกับต่างประเทศนั้น โจทย์ไม่ได้บอกว่าจะเป็นธุรกรรมกับลาว หรือสิงคโปร์ แต่โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ต่างประเทศมีมาตรฐานเดียวกับไทย จึงมีการส่งเสริมแสตนดาร์ดคิวอาร์โค้ด ซึ่งปรากฎว่าแสตนดาร์ดคิวอาร์โค้ดของไทย กำลังถูกใช้ในทุกประเทศในอาเซียน ที่ไม่ได้เรียก Thai Standard QR code แต่อยู่บนพื้นฐานที่ไทยทำไว้ เช่น กำลังเกิด SQ ที่สิงคโปร์ หรือ QR อินโดนีเซีย ส่วนกัมพูชาเขาบอกเรียกไทยคิวอาร์เลยก็ได้ ลาวก็ใช้ ทำให้เวลานี้คนไทยสามารถใช้โทรศัพท์มือถือไปชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ในประเทศอาเซียนได้ด้วยต้นทุนถูกมาก

เมื่อมีการพูดถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย “ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์” กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา ได้ตั้งคำถามขึ้นว่า แล้วจะจัดการอย่างไรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในระหว่างการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

“วิรไท” ตอบคำถามนี้ว่า การบริหารกับผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นเรื่องสำคัญมาก และเล่าย้อนไปถึงตอนตั้งไข่โครงการระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มแรกมีนักท่องเที่ยวชาวจีน สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงินค่าสินค้าในไทยผ่าน China Union Pay ที่จังหวัดเชียงใหม่

สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ ทั้งสถาบันการเงินและผู้หลักผู้ใหญ่มากบอกให้ธปท.ออกกฎหมายห้าม ปัญหาคือ จะห้ามเทคโนโลยีได้หรือ เพราะเทคโนโลยีทำให้คำว่าพรมแดนลดลงไปเรื่อยๆ และหากจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี แต่มาออกกฎหมายห้ามเทคโนโลยี จะเกิดผลข้างเคียงอะไรตามมาบ้าง

ถ้าเราจะชนะในเรื่องนี้ ไม่ให้ธุรกรรมการโอนเงินของคนไทยในประเทศไทยออกไปอยู่นอกประเทศ และได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนมาไทยด้วย สิ่งที่ไทยต้องมี คือ ระบบการชำระเงินที่สะดวกกว่า ง่ายกว่า และถูกกว่า ทำให้คนไทยมั่นใจที่จะใช้ แทนที่จะใช้ระบบของประเทศอื่นที่ไม่รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง มีปัญหาก็ไม่รู้จะโทรคอลเซ็นเตอร์หาใคร

“เรื่องแบบนี้ต้องคุยกับผู้บริหารระดับสูงสุดของแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นผลลัพธ์นี้ไปด้วยกัน ต้องยอมรับว่า หลายปัญหาที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าคุยกับผู้บริหารระดับกลางเขาจะมองไม่เห็นภาพใหญ่ ไม่เห็นสิ่งที่จะมีการขับเคลื่อน คิดง่ายๆ ว่าถ้าจะทำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าซีอีโอของแบงก์ไม่มาประชุม แล้วส่งผู้บริหารที่รับผิดชอบเรื่องการชำระเงินมา พอฟังปุ๊บ สิ่งที่เขาคิดคือ รายได้แบงก์จะหายไปเท่าไหร่ โบนัสแบงก์หายไปเท่าไหร่ ทำให้ไม่สามารถมีความเห็นร่วมกับสิ่งที่เราอยากจะทำ การสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูงสุดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วก็จะทำให้รู้ว่า เขากลัวอะไร เราในฐานะภาครัฐจะช่วยลดความกลัวของเขาได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งการให้เวลาในการปรับตัว”

“การสื่อสาร” เครื่องมือ Execution สำคัญ

ด้าน “โจ ฮอร์น” มองว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยยกประสบการณ์ในธนาคารแห่งหนึ่งมาแลกเปลี่ยน เมื่อธนาคารแห่งนั้นต้องการเปลี่ยนแปลงการทำงาน การวางแผนประชาสัมพันธ์จะไม่ใช่เพื่อให้คนภายนอกรับรู้ แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ที่มุ่งไปที่พนักงานของธนาคาร เพื่อให้พนักงานร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนแผน

ในขณะที่ประเทศจีน จะให้ความสำคัญกับผู้อำนวยการกรมประชาสัมพันธ์ ด้วยการให้ที่นั่งกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ (Politburo) ที่มีรวม 24 คน ขณะที่รัฐมนตรีคลัง ผู้ว่าแบงก์ชาติ รัฐมนตรีต่างประเทศ ของจีน ไม่ได้อยู่ใน Politburo และหน่วยงานด้านประชาสัมพันธ์จะได้งบมหาศาล

ขณะเดียวกัน จีนยังให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน แต่เนื่องจากจีนไม่มีกระบวนการเลือกตั้ง การจะได้ฟีดแบคจากประชาชนจะไม่ 100% เพราะเป็นฟีดแบคที่ได้จาก วีแชท หรือบล็อกของรัฐ จะเป็นกลุ่มคนอายุน้อย มีเวลา และใจร้อน ทำให้ไม่สะท้อนความเห็นของคนจีนโดยทั่วไป ขณะที่ช่องทางอื่นๆ จะได้ข้อมูลความเห็นยาก

ขณะที่ “ปกรณ์” เห็นพ้องในเรื่องความสำคัญของการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารกับคนในองค์กร นอกองค์กร และสาธารณชน การสื่อสารกับคนในองค์กร เพื่อสิ่งที่รู้ว่า สิ่งที่จะทำน้้น ทำเพื่ออะไร

“ผมให้มิชชั่นไปว่า Good Governance for Better Life เพื่อให้เขารู้ว่าเขาทำ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ถ้าเราสามารถอธิบายให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ทุกคนจะร่วมมือร่วมใจกัน ความยากลำบากในการทำงานระบบราชการปัจจุบัน ดีขึ้นเยอะ จากเดิมไม่ค่อยคุยกัน แต่เวลานี้สิ่งที่เราพยายามทำในช่วงที่ผ่านมา มีการคุยนอกรอบ นัดทานข้าว มีการสื่อสารกัน คุยกัน และถ่ายทอดต่อในองค์กร ให้เด็กในองค์กรสื่อสารกัน”

นอกจากนี้ยังมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ใช่เพียงแค่ประชาพิจารณ์ แต่ต้องเป็นกรอบที่ใหญ่กว่านั้น คือ การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

“สิ่งที่ทำคือ ในกระบวนการร่างกฎหมาย จะมีระบบกลางในการรับฟังความเห็นกฎหมายทุกฉบับ นอกจากระบบกลางแล้ว ก็ส่งคนไปสอบถาม โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหวังว่าทุกหน่วยงานจะจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงานด้วย และระบบกลางของกฤษฎีกาด้วย จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวล ขณะที่กระบวนการเสนอร่างกฎหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะต้องนำข้อมูลเหล่านี้แนบไปด้วยว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร ปัญหาคืออะไร พร้อมแนวทางแก้ปัญหา”

แต่ในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีจำนวนกว้างมาก ถ้าเปิดรับเฉพาะเว็บไซต์สภาพัฒน์ฯ อย่างเดียวจะไม่ได้ความคิดเห็นที่ต้องการ ฉะนั้นต้องสรรหาวิธีอื่นที่เจาะได้มากขึ้นในทุกรูปแบบ

โดยต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่หมด ไม่ใช่ทำในรูปแบบเดิมๆ คือ จัดรับฟังความเห็นในเวลาราชการ ซึ่งเป็นเวลาทำงาน ใครจะมา ปัญหาจึงไม่จบ และไม่ได้ความเชื่อถือ ควรเปลี่ยนไปเป็นการลงไปสอบถามตามบ้านหรือไม่ แล้วใช้เวลาช่วงที่ชาวบ้านว่าง นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีหลายระดับ หลายประเภท หลายช่วงวัย ต้องมานั่งคิด นั่งศึกษาว่าจะเข้าไปในแต่ละจุดอย่างไร ไม่เช่นนั้นยุทธศาสตร์ชาติจะขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน

อ่านต่อตอนที่3