ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > CIRCO Hub Thailand ชวน Rethink Together ผนึกกำลังภาคธุรกิจ ภาครัฐ เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

CIRCO Hub Thailand ชวน Rethink Together ผนึกกำลังภาคธุรกิจ ภาครัฐ เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

29 มกราคม 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

CIRCO Hub Thailand โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม แห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT: Global Compact Network Thailand) จัดสัมมนาออนไลน์ “Rethink Together: Co-creating Circular Economy with Circular Design” แลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดำเนินงาน ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ระหว่างภาครัฐ และภาคธุรกิจ ภายใต้ โครงการศึกษากระบวนการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 400 คน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเปิดงานและแถลงภาพวิสัยทัศน์ Circular Economy ประเทศไทยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) ในประเทศไทยมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ในส่วนของภาครัฐ รัฐบาลได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง และมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะด้านนโยบาย แต่มีการผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงด้วย ประกอบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในภาคีทำงานร่วมกับนานาชาติ และเราได้ประกาศเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 เพราะฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันเพื่อไปสู่เป้าหมายนี้ ผ่านกลไกหลายอย่างรวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ภาครัฐเองก็พยายามที่จะปรับปรุงรูปแบบการทำงานในหน่วยงานภาครัฐให้อยู่ในลักษณะ Close Loop เชื่อมต่อให้ทุกภาคส่วนทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

“Circular Design หรือการออกแบบหมุนเวียน เป็นกระบวนการที่เข้ามาสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกัน ในส่วนของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะมีหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น (Extended Producer Responsibility: EPR) หรือทำให้วัสดุเหลือใช้เข้าสู่วงจรการผลิตได้ นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการทำให้เกิดมาตรการจูงใจสนับสนุนให้เกิดตลาดสินค้าเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย ในส่วนของ สอวช. ได้ทำ Policy Forum ร่วมกับเครือข่าย Thai-SCP ที่ท้ายที่สุดจะได้ข้อมูลมาทำเป็นสมุดปกขาว CE Innovation Ecosystem 2030 เพื่อให้เห็นเป็นภาพรวมการทำงานในด้านนี้ ที่จะมีระบบเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร” ดร. กิติพงค์ กล่าว

ด้านนางสาวธันยพร กริชทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคที่โลกกำลังดำเนินเข้าสู่วิถีใหม่ เส้นทางของเศรษฐกิจและพฤติกรรมของผู้คนในสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในวันนี้ ความยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจ อยู่รอด เติบโต ท่ามกลางความผันผวนเปลี่ยนแปลง CIRCO Hub Thailand อยากเห็นธุรกิจไทย “ก้าวนำด้วยการออกแบบหมุนเวียน” ด้วยพลังความคิดให้รอบด้านอย่างสร้างสรรค์ GCNT จึงมุ่งมั่นส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย ด้วยนวัตกรรมทางความคิดแบบ Circular Design ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีสายตาแบบ “นวัตกร” มองเห็นโอกาสใหม่จากวัสดุธรรมดาที่เหลือจากการใช้งาน เปลี่ยนทรัพยากรที่เคยสูญเสียไปให้กลายเป็นของที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยใช้กระบวนการของหลักสูตร CIRCO จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมากกว่า 1,000 ราย ในทั่วโลก สามารถปรับเปลี่ยนโมเดลเป็น Circular Business ได้จริง

นางสาวธันยพร กริชทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

ในงานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ต่างขนาดหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตร CIRCO-Circular Design Thailand รุ่นที่ 1-4 ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงบนเส้นทาง การเรียนรู้ การปรับวิธีคิด และประสบการณ์ในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ หรือสร้างผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบ หมุนเวียนของตนเอง เพื่อสะท้อนเสียงจากคนทำงานตัวจริงไปยังภาครัฐถึงโอกาสและความท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ของภาคธุรกิจในประเทศไทย

Rethink – การออกแบบระบบใหม่ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมและได้ประโยชน์ใช้สอยเดิม โดยบริษัท เอสซีจี เคมิคอลล์ จำกัด ได้แบ่งปันการปรับเปลี่ยนแนวคิด เรื่องการปรับตัวของธุรกิจที่สนใจทำงานเรื่อง CE โดยเป็น Design Catalyst Team ให้กับลูกค้า และบริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) แชร์ประสบการณ์การปรับเปลี่ยนวิธีคิดร่วมกับ Supply Chain โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Packaging) โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการอาหาร โดยเริ่มจาก house brand ก่อน พร้อมทั้งชักชวนองค์กรอื่นให้ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน (Rethink Partnership)

Reuse – บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลเลอรี่ จำกัด ได้ให้มุมมองของ REUSE ในแง่การใช้ซ้ำให้ครบวงจรของอายุผลิตภัณฑ์ เช่น PLAN TOY พบว่าอายุใช้งานของของเล่นสั้น จึงริเริ่มโครงการการให้เช่าของเล่น เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้เข้าถึงของเล่นเด็กที่มีคุณภาพ หรือบริษัท เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ซึ่งมีการสูญเสียจากการแปรรูป จึงใช้การออกแบบเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด และการใช้หลักทำให้ทน ใช้วัสดุแปรรูป และการซ่อมแซม เพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำให้มากที่สุด

Reduce – บริษัท ชิวกรีน จำกัด ปรับเปลี่ยนวัสดุและเปลี่ยนการออกแบบ Packaging ใหม่ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพิ่มการสื่อสารให้กลุ่มลูกค้า ในเรื่องการในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม บริษัท พริ้นติ้ง โซลูชั่น จำกัด ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยเน้น Mechanics Design และทำความเข้าใจในเรื่องวัสดุให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ ด้านโรงแรมศิวาเทล มุ่งเน้นการลดและการใช้ประโยชน์จากเศษอาหารเหลือทิ้งจากโรงแรม โดยเริ่มการคิดจาก Back to Basic โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบเมนูอาหาร ไปจนถึงการนำเศษอาหารไปเพิ่มมูลค่า เช่น การทำปุ๋ย

Renew & recycle – บริษัท สุเอซ เซอร์วิสเซล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
ได้แบ่งปันมุมมองว่า ควรมองทั้งระบบห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ให้สามารถปิดวงจรได้ ไม่เพียงแค่ในสายการผลิตปกติเท่านั้น เช่น แดรี่โฮม ต้องการยกระดับจาก go green ไปสู่ go circular ด้วยการสร้างคุณค่าจากทรัพยากรการผลิต ที่ใช้ไม่คุ้ม เช่น การนำน้ำเสียในฟาร์มโคนมไปเลี้ยงสาหร่ายที่เป็นอาหารของไลเคน และนำไปเป็นอาหารในฟาร์มกุ้งก้ามกราม

ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน BCG Model สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการออกแบบนโยบายของประเทศไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนจะต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วย Key Projects/Focus Sectors และนำแบบอย่างความสำเร็จไปขยายผลในกลุ่มอื่นๆ ต้องมีการพัฒนา CE Solution Platforms สร้างขีดความสามารถ ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และเชื่อมโยงความรู้สู่เป้าหมาย มีการปรับแก้กฎ/ระเบียบที่เป็นอุปสรรค สร้างบุคลากร และสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต ด้วยการสร้างความรู้และความเข้าใจ สร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการพัฒนากลไกตลาดที่เหมาะสมมีแรงจูงใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ คือ การทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ร่วมกับพันธมิตร ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก องค์กรหรือตัวบุคคล ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน BCG Model สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในส่วนของมาตรการส่งเสริมของภาครัฐจากหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายสำคัญในการดึงดูดความสนใจ เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนนำสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศไทยได้ ด้านสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนโยบายสำคัญคือการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ในโครงการ Packback รวมถึงมีการผลักดันให้เกิดกฎหมาย EPR ในประเทศ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีกลไกที่สำคัญคือการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้สามารถนำงานวิจัยที่สำเร็จแล้วออกไปใช้ประโยชน์ได้ ในฝั่งของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมาตรการสนับสนุนการลงทุน ในธุรกิจที่ดำเนินกิจการในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ 3-8 ปี และธุรกิจที่มีการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ ยังสามารถขอส่งเสริมการลงทุนได้อีกด้วย

การสัมมนา “Rethink Together: Co-creating Circular Economy with Circular Design” ในครั้งนี้ ถือเป็นกุญแจสู่ ทรัพยากรทางความรู้และโอกาสสำหรับทุกภาคส่วนในการเริ่มต้น ทำความเข้าใจบริบทของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ที่เพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมรับฟังเสียงที่หลากหลายจากตัวแทนธุรกิจ ทั้งเล็ก และใหญ่ที่ได้มาบอกเล่าประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้ และเริ่มต้นลงมือทำ ซึ่งเป็นทั้งแรงบันดาลใจและกรณีศึกษา ที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการ ผู้สนใจ สื่อมวลชน และตัวแทนจากธุรกิจอื่นๆ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงส่งเสริมการบูรณาการระหว่างองค์กร ให้เกิดความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่สอดคล้องตามนโยบาย BCG Economy ที่จะพัฒนาประเทศ ไปสู่ความยั่งยืนได้ตามเป้าหมาย