ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์เปิดต่างชาติลงทุนบริการสาธารณะ-ธุรกิจค้าปลีก

ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์เปิดต่างชาติลงทุนบริการสาธารณะ-ธุรกิจค้าปลีก

9 มกราคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-8 มกราคม 2565

  • ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายต่างชาติลงทุนบริการสาธารณะ 100%
  • กฎหมายค้าปลีกฟิลิปปินส์ลดทุนขั้นต่ำให้ต่างชาติ
  • SAC เมียนมาออกกม.เก็บภาษีเงินได้ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต
  • กัมพูชารายได้ต่อหัวเพิ่มเป็น 1,842 ดอลลาร์ในปี 2565
  • มาเลเซียเดินหน้าโรดแมปพลังงานหมุนเวียน
  • ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายต่างชาติลงทุนบริการสาธารณะ 100%

    ที่มาภาพ: https://www.tatlerasia.com/the-scene/people-parties/whats-on-the-other-side-eight-industry-experts-talk-about-whats-up-ahead-in-their-respective-fields

    ในวันพุธที่ 15 ธันวาคม วุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ได้ลงมติเห็นชอบใน วาระที่ 3 และวาระสุดท้ายให้ผ่านร่างกฎหมาย Senate Bill หรือ (SB) 2094 ซึ่งแก้ไขพระราชบัญญัติการบริการสาธารณะ(Public Service Act ) ซึ่งจะมีผลให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของบริการสาธารณะได้ 100% เช่น โทรคมนาคม สายการบิน การขนส่งและการรถไฟ

    การอนุมัติร่างกฎหมายจากวุฒิสภาที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของและบริหารบริษัทในอุตสาหกรรมสำคัญๆ ในฟิลิปปินส์ เช่น โทรคมนาคมและการขนส่งได้เต็มที่ ถือเป็นขั้นตอนที่ใกล้จะกลายเป็นกฎหมาย

    ร่างกฎหมาย SB 2094 กำหนดคำนิยามของบริการสาธารณะหรือ public services และสาธารณูปโภค public utilities ให้แตกต่างอย่างชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 1987 กำหนดให้บริษัทที่ชาวฟิลิปปินส์ถือหุ้นอย่างน้อย 60%เท่านั้นที่จะได้รับอนุญาต ใบรับรอง และสิทธิในการดำเนินการบริการสาธารณูปโภค

    ร่างกฎหมาย SB 2094 กำหนดขอบเขตสาธารณูปโภคให้แคบลง โดยจำกัดไว้ที่ การจำหน่ายไฟฟ้า การส่งไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ การจ่ายน้ำและท่อน้ำทิ้ง โทลล์เวย์และทางด่วน, และรถบริการสาธารณะ

    ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการจำกัดความเป็นเจ้าของสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ในการประกอบธุรกิจที่ไม่จัดว่าเป็นสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตาม เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ ร่างกฎหมาย SB 2094 มีมาตรการป้องกันที่ห้ามรัฐวิสาหกิจต่างประเทศจากการเป็นเจ้าของเงินทุนในบริการสาธารณะที่จัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

    คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลจะรับผิดชอบในการพิจารณาการลงทุนดังกล่าวจากต่างประเทศ

    รัฐบาลฟิลิปปินส์หวังว่า ร่างกฎหมายนี้จะกระตุ้นให้อุตสาหกรรมในประเทศดึงดูดการลงทุนและมีการถ่ายทอดความรู้สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด โดย GDP ลดลง 9.5% ในปี 2020 และหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 10.3 ล้านล้านเปโซ (201 พันล้านดอลลาร์)

    การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจจะทำให้ฟิลิปปินส์ได้รับความสนใจจากการลงทุนจากต่างประเทศในระดับที่ใกล้เคียงกับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ทั้งนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวน 137 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่อาเซียนได้รับในปี 2020 มีเพียง 6.5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้นที่ไหลเข้าฟิลิปปินส์

    กฎหมายค้าปลีกฟิลิปปินส์ลดทุนขั้นต่ำให้ต่างชาติ

    ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ที่มาภาพ:https://www.rappler.com/nation/duterte-message-new-year-2022/

    ฟิลิปปินส์อาจเผชิญกับเส้นทางการฟื้นฟูที่ยาวนานกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้นและยาวนานขึ้น โดยรัฐบาลซึ่งมีความอนุรักษ์นิยมมากกว่าประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ

    เพื่อให้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากการระบาดใหญ่ ฟิลิปปินส์ได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศ

    ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ได้ลงนามใน กฎหมายเปิดเสรีภาคการค้าปลีกของฟิลิปปินส์ เพื่อให้ต่างชาติเข้าลงทุนในธุรกิจค้าปลีกได้มากขึ้น โดยได้มีการลดทุนที่ชำระแล้วลง

    เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2021 ประธานาธิบดี ดูแตร์เต ได้ลงนามในกฎหมาย Republic Act (RA) 11595 ซึ่งได้แก้ไขจากกฎหมาย RA 8762 หรือที่รู้จักในชื่อ Retail Liberalization Act of 2000 และมีการเผยแพร่ต่อสื่อในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา

    ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีดูแตร์เต ได้รับรองว่า ร่างกฎหมายนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในดึงดูดนักลงทุนเข้ามามากขึ้น และกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

    ภายใต้กฎหมายนี้ ผู้ค้าปลีกต่างประเทศต้องมีทุนชำระแล้วขั้นต่ำ 25 ล้านเปโซ ขณะที่กฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 2.5 ล้านดอลลาร์หรือ 119.67 ล้านเปโซ

    กฎหมายยังเปิดให้ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติ จากประเทศที่ไม่ได้ห้ามธุรกิจค้าปลีกฟิลิปปินส์เข้ามาประกอบธุรกิจได้

    ในกรณีที่ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติมีสาขามากกว่าหนึ่งแห่ง การลงทุนขั้นต่ำต่อร้านค้าต้องมีมูลค่าอย่างน้อย 10 ล้านเปโซ โดยที่ข้อกำหนดนี้จะไม่มีผลบังคับใช้กับนักลงทุนต่างชาติและธุรกิจค้าปลีกต่างประเทศที่ประกอบการค้าปลีกอย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำต่อร้าน เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ จะทบทวนทุนทุนชำระแล้วขั้นต่ำทุก ๆ 3 ปี และส่งข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา

    นอกจากนี้ธุรกิจค้าปลีกต่างประเทศควรจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในฟิลิปปินส์

    สำหรับบทลงโทษ ผู้ฝ่าฝืนอาจมีโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 4-6 ปี และปรับไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเปโซ แต่ไม่เกิน 5 ล้านเปโซ ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วน สมาคม หรือบริษัท การลงโทษจะมีผลหุ้นส่วน ประธาน กรรมการ ผู้จัดการทั่วไป และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีส่วนในการละเมิด หากผู้กระทำความผิดไม่ได้เป็นพลเมืองของฟิลิปปินส์ จะถูกเนรเทศทันทีหลังจากรับโทษ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือลูกจ้าง จะต้องถูกไล่ออกจากงานและถูกตัดสิทธิ์จากตำแหน่งราชการอย่างถาวร

    RA 11595 เป็นการรวมร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งผ่านความเห็นชอบในปีที่แล้ว

    SAC เมียนมาออกกม.เก็บภาษีเงินได้ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต

    พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่มาภาพ: https://www.myanmar-now.org/en/news/tatmadaw-chief-min-aung-hlaing-says-election-candidates-should-resist-foreign-influence

    สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council:SAC) เมียนมาได้ประกาศใช้ กฎหมายภาษีฉบับแก้ไข(Union Tax Law 2021) ในวันพฤหัสบดี( 6 ม.ค) โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธาน SAC เป็นผู้ลงนาม ซึ่งกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2565

    กฎหมายที่มีการแก้ไขนี้ ส่งผลให้มีการเรียกเก็บภาษีการค้า 5% จากรายได้ของบริการอื่นๆ ที่ดำเนินการในประเทศ ยกเว้นบริการที่กล่าวถึงในหมวดย่อย (d) และหมวดย่อย (e-1) ของกฎหมาย โดยหมวดย่อย (e-1) ระบุไว้ว่า “ไม่ว่ากฎหมายภาษีการค้าจะประกอบด้วยบทบัญญัติใด จะเรียกเก็บภาษีการค้า 20,000 จัตต่อการขายซิมการ์ดและการเปิดใช้งานซิมการ์ดหนึ่งครั้ง” และ จะเรียกภาษีการค้า “15% จากรายได้ที่ได้รับจากบริการอินเทอร์เน็ต”

    ในเอกสารข่าวระบุว่า แม้ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะเก็บภาษีเฉพาะสำหรับรายภาคธุรกิจ นอกเหนือภาคส่วนจากภาษีการค้าปกติสำหรับบริการอินเทอร์เน็ต แต่เมียนมาไม่ได้เก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายภาคธุรกิจจนถึงทุกวันนี้ และเพื่อฟื้นฟูกิจการที่ขาดทุนจากผลกระทบโควิด-19 รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนปรนและเลื่อนการเก็บภาษี

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้บริการอินเทอร์เน็ตกำลังเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ การเรียกเก็บภาษีการค้าจากการใช้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถเพิ่มรายได้ให้กับรัฐได้ ในทางกลับกัน จะสามารถผลกระทบที่เกิดจากการใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบสุดขั้ว ต่อการจ้างงานของประชาชนและความทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจของนักศึกษารุ่นใหม่ลงได้

    แต่ภาษีการค้าการโทรและการใช้ SMS จะไม่เพิ่มขึ้น

    ในการเรียกเก็บอัตราภาษีการค้าที่เพิ่มขึ้นผ่านทางบริการอินเทอร์เน็ต จะมีการเตรียมการเพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดที่จำเป็นสำหรับผู้เสียภาษีที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความรู้เกี่ยวกับมาตรการด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันจะส่งเสริมให้บริการมีคุณภาพดีขึ้นและมีความครอบคลุมของเครือข่ายสำหรับผู้ใช้

    กัมพูชารายได้ต่อหัวเพิ่มเป็น 1,842 ดอลลาร์ในปี 2565

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501002317/cambodias-per-capita-income-1842-in-2022-says-nbc/
    ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว(GDP per capita) ของกัมพูชาปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,842 ดอลลาร์ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับ 1,730 ดอลลาร์ใน ปี 2564 จากการ รายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา

    รายงาน Management Report of the Law on Finance 2020 ระบุว่า เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 4.8% ส่งผลให้ GDP ที่คำนวณจากราคาปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 30.544 พันล้านดอลลาร์

    ทั้งนี้เป็นผลจากการปฏิรูปของรัฐบาลในด้านการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นบวก อัดฉีดงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19

    ในเชิงเศรษฐกิจ GDP ต่อหัวจะเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งจะส่งเสริมภาคเศรษฐกิจรอง ทั้งการค้าปลีก การลงทุน และการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก

    เช็ง กิมหลง รองประธานสถาบัน Asian Vision Institute แห่งกัมพูชา กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

    ประชาชนมีเงินมากขึ้นสำหรับการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศมากขึ้น

    “นักลงทุนชอบประเทศที่มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะหมายถึงชนชั้นกลางที่ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าพวกเขามีเงินใช้จ่ายมากขึ้น นี่จะดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ”

    “นักลงทุนสนใจเมื่อคนมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น จะคำนึงถึงความต้องการของคน จึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนหรือผู้ประกอบการคิดที่จะผลิตและจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการให้กับผู้ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น”

    กี่ เสรีวาท นักวิจัยและวิทยากรด้านเศรษฐกิจ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงภาคการค้าปลีกในประเทศ

    “จีดีพีต่อหัวที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของภาคการค้าปลีกและการบริการในตลาดในประเทศ แต่สำหรับกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะใช้เวลาเล็กน้อย” “การเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อภาคการศึกษา การศึกษาและการฝึกอบรมสายอาชีพจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ”

    การเติบโตของ GDP ของประเทศในปี 2022 มาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคเศรษฐกิจหลัก เช่น อุตสาหกรรม การบริการ และการเกษตร อ่านรายงาน

    จากข้อมูล Macroeconomic and Banking Sector Development in 2021 and Outlook for 2022 ของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% เพราะราคาอาหารลดลงเป็นผลจากสภาวะอุปทานที่ดีขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการคาดว่าจะทรงตัวที่ ประมาณ 4,075 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

    มาเลเซียเดินหน้าโรดแมปพลังงานหมุนเวียน

    ที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/node/601870
    กระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติกำลังดำเนินการตาม แผนงานพลังงานหมุนเวียนของมาเลเซีย (Malaysia Renewable Energy Roadmap: MyRER) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศที่ต้องการมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RE) 31% ภายในปี 2568 และ 40% ภายในปี 2578

    ในการเปิดตัว MyRER ในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ดาโต๊ะ สรี ทากิยุดดิน ฮัสซัน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติกล่าวว่า MyRER ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน (SEDA) มาเลเซีย จะดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2578

    รัฐมนตรีกล่าวว่า MyRER มีรายละเอียดแผนพลังงานทดแทนของมาเลเซียและย้ำถึงเส้นทางสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำในกรอบเวลาอันสั้น

    “MyRER กำหนดกรอบยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์การพัฒนา RE ของประเทศ นั่นคือ ‘สู่ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ’ ผ่านการดำเนินการตามเสาหลักที่ใช้เทคโนโลยี 4 ประการ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ พลังน้ำ และแหล่งใหม่”

    ดาโต๊ะทากิยุดดินกล่าวว่า 4 เสาหลักนี้จะผลักดันผ่านความคิดริเริ่ม 4 ด้าน ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากการปฏิรูปตลาดไฟฟ้าเพื่อโอกาสด้านพลังงานทดแทน การยกระดับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาทุนมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบ

    ภายใต้แผน MyRER กำลังการผลิต RE ของประเทศ (2563: 8,450 เมกะวัตต์) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4,466 เมะกวัตต์ เป็น 12,916 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และอีก 5,080 เมกะวัตต์ เป็น 17,996 เมกะวัตต์ ภายในปี 2578

    “การเพิ่มกำลังการผลิต RE นี้จะช่วยลดความเข้มของการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคจ่ายไฟฟ้าได้ 45% ภายในปี 2573 และ 60% ภายในปี 2578

    “การเพิ่มเป้าหมายในศักยภาพของพลังงานทดแทนคือความมุ่งมั่นของกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุดในปี 2593 รวมทั้งมีส่วนสนับสนุนความมุ่งมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศภายใต้ข้อตกลงปารีส”

    นอกจากนี้ ดาโต๊ะทากิยุดดินยังกล่าวอีกว่า แผนพลังงานหมุนเวียนนี้ ได้วางแนวทางสำหรับผู้เล่นในอุตสาหกรรม RE ในเรื่อง คือ
    i) ทิศทางการพัฒนา RE ระดับชาติในคาบสมุทรมาเลเซีย ซาบาห์ และซาราวัก
    ii) ศักยภาพ เป้าหมาย และกรอบยุทธศาสตร์ตลอดจนผลที่ต่อเนื่องทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความต้องการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในการจัดหาไฟฟ้าของประเทศ และ
    iii) ใช้การคาดการณ์กำลังการผลิต RE รวมทั้งยุทธศาสตร์ระดับชาติเป็นเกณฑ์อ้างอิง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย RE 31% ภายในปี 2568 และ 40% ภายในปี 2578

    รัฐมนตรีกล่าวว่า MyRER เป็น 3 กลยุทธ์หลักที่ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนของมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังช่วยในการบรรลุพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ตลอดจนส่งผลให้มีการกระจายทางเศรษฐกิจประมาณ 20,000 ล้านริงกิตภายในปี 2568 และ 33 พันล้านริงกิตภายในปี 2578 และ การสร้างโอกาสการจ้างงานประมาณ 47,000 ตำแหน่งในสาขา RE