ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup แบงก์เนการามาเลเซียให้ธนาคารรายงานความเสี่ยง Climate Change เมียนมาลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจ

ASEAN Roundup แบงก์เนการามาเลเซียให้ธนาคารรายงานความเสี่ยง Climate Change เมียนมาลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจ

29 กันยายน 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 23-28 กันยายน 2562

  • แบงก์เนการามาเลเซียให้ธนาคารรายงานความเสี่ยง Climate Change
  • อินโดนีเซียวางแผนออกกฎหมายภาษีฉบับใหม่
  • เมียนมาลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจ
  • เมียนมาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ลดอัตราดอกเบี้ยรอบ 3

     

    แบงก์เนการามาเลเซียให้ธนาคารรายงานความเสี่ยง Climate Change

    ที่มาภาพ: https://www.businesstimes.com.sg/banking-finance/malaysia-to-require-banks-to-report-exposure-to-climate-risks
    ธนาคารกลางมาเลเซียจะกำหนดให้สถาบันการเงินรายงานความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change รวมทั้งข้อมูลเพื่อนำไปกำหนดมาตรฐานในการกำกับดูแล

    นูร์ ซัมซีอะห์ โมฮัมหมัด ยูนุส ผู้ว่าการ ธนาคารกลางมาเลเซีย หรือ Bank Negara Malaysia กล่าวว่า ปัญหากลุ่มควันที่ปกคลุมมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียในขณะนี้มาจากการเผาป่า และเป็นการเตือนให้เห็นถึงความท้าทายที่ประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญ

    “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นใหญ่ทางเศรษฐกิจที่มีนัยโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเงิน จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย พร้อมด้วยธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่มาจาก climate change อย่างมาก” ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย กล่าวในการเสวนา

    สถาบันการเงินจะเริ่มส่งรายงานความเสี่ยง climate change เมื่อคำนิยามของสินทรัพย์สีเขียวหรือ green asset ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ธนาคารกลางกำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียและธนาคารโลก

    กรอบนโยบายนี้วัตถุประสงค์ที่สนับสนุนการตัดสินใจบนฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ความเสี่ยงของ climate change ในการระดมทุน การให้กู้และการลงทุน ซึ่งธนาคารกลางคาดว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นคำนิยามของ green asset ภายในสิ้นปีนี้เพื่อนำไปทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของสถาบันการเงิน

    ข้อมูลที่ได้รับจากกระบวนการนี้ ธนาคารกลางจะนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการกำกับดูแลให้สะท้อนความเสี่ยงจาก climate change ได้มากขึ้น

    แม้ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียยังไม่ได้ระบุประเภทสถาบันการเงินที่ต้องจัดทำรายงานนี้ แต่กล่าวว่า ระบบนิเวศการเงินครอบคลุมทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน กิจการร่วมทุน และบริษัทนอกตลาด

    รายงานของสหประชาชาติเผยแพร่ปีที่แล้วคาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของเอเชียและแปซิฟิกจะสูงกว่า 160 พันล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 เพราะภูมิภาคนี้ประสบภัยธรรมชาติมากกว่าภูมิภาคอื่น โดยช่วงปี 2014-2017 ภูมิภาคนี้ประสบภัยแผ่นดินไหว 55 ครั้ง ประสบภัยพายุ และไซโคลน 217 ลูก มีน้ำท่วมหนักกว่า 236 ครั้ง

    อินโดนีเซียวางแผนออกกฎหมายภาษีฉบับใหม่

    ที่มาภาพ: https://www.npr.org/2019/04/29/718234878/indonesia-plans-to-move-its-capital-out-of-jakarta-a-city-thats-sinking

    อินโดนีเซียกำลังวางแผนที่จะปรับโครงสร้างภาษีด้วย การออกกฎหมายภาษีฉบับใหม่ ที่จะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะงักงันท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

    กฎหมายภาษีฉบับใหม่จะยกเลิกเงื่อนไขในกฎหมายฉบับปัจจุบันและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งหากร่างกฎหมายนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็จะมีผลต่อบุคคลธรรมดาและธุรกิจใน 6 ข้อด้วยกัน คือ

    1) ภาษีเงินได้จากการลงทุน (เงินปันผล) ทั้งในและต่างประเทศจะถูกยกเลิก
    แต่จะมีผลเฉพาะเงินปันผลที่ได้รับและนำกลับเข้าไปลงทุนใหม่ในประเทศในหลายรูปแบบ ทั้งการขยายธุรกิจ การเพิ่มกำลังการผลิต การรับแรงงานทักษะเพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งสำหรับนักลงทุนแล้วถือว่าเป็นข่าวดี เพราะกำไรจากการลงทุนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

    2) พลเมืองอินโดนีเซียที่พำนักในต่างประเทศเกิน 183 วันจะไม่มีสถานะเป็นผู้เสียภาษีอีกต่อไป
    กฎหมายใหม่ระบุว่า พลเมืองอินโดนีเซียที่พำนักในต่างประเทศเกิน 183 วัน จะกลายเป็นผู้เสียภาษีของประเทศนั้นตามกฎหมาย ดังนั้นก็จะไม่มีสถานะเป็นผู้เสียภาษีของอินโดนีเซีย เนื่องจากกฎหมายใหม่ปรับระบบภาษีเป็นเขตเดียว ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติปกติของประเทศอุตสาหกรรม ปัจจุบันอินโดนีเซียใช้ระบบภาษีที่ครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งทำให้เก็บภาษีจากพลเมืองตนเองไม่ว่าจะพำนักในประเทศใดในโลก

    3) มาตรการลงโทษจะจำกัดเฉพาะการรายงานภาษีไม่ถูกต้อง
    การลงโทษผู้เสียภาษีที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องในการยื่นภาษีจะผ่อนคลายลง เพราะจ่ายภาษีน้อยกว่าที่กำหนด ปัจจุบันบทลงโทษกำหนดเบี้ยปรับไว้ 2% ต่อเดือนสำหรับภาษีที่ยังไม่ได้ชำระ แต่กฎหมายใหม่จะคำนวณเบี้ยปรับตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยจะบวกเข้าไป 5% ก่อนแล้วหารด้วยจำนวน 12 เดือน

    ตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ที่ 6% การคำนวณเบี้ยปรับจะบวกเข้าไปอีก 5% เป็น 11% จากนั้นหารด้วย 12 เดือนจะได้เบี้ยปรับ 0.91% ต่ำกว่า 2% อัตราเดิม

    นอกจากนี้เบี้ยปรับสำหรับผู้ที่ไม่ได้ยื่นภาษีหรือยื่นช้าจะลดลงมาที่ 1% จากเดิมที่กำหนด 2%

    4) จะยกเว้นภาษีให้ธุรกิจ
    อินโดนีเซียยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่มีการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ขณะที่หลายประเทศมีกฎหมายนี้แล้ว ทำให้ภาษีลดลง แต่กฎหมายฉบับใหม่ของอินโดนีเซียก็จะมีข้อนี้

    ตัวอย่าง หากธุรกิจก่อตั้งมูลนิธิแล้วมีกิจกรรมด้านวัฒนธรรมหรือศิลปะ จะได้รับสิทธิหักภาษี ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้จะให้กับธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย นั่นคือธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 340,000 ดอลลาร์ต่อปี

    รัฐบาลหวังว่าสิทธิประโยชน์นี้จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการยื่นขอภาษีคืน เพราะ 60% ของธุรกิจอินโดนีเซียยังไม่จดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษี

    5) กฎหมายภาษีใหม่มีโครงสร้างที่ดีขึ้นและการกำกับที่ดี
    กฎหมายภาษีอินโดนีเซียมีหลายฉบับ หลักเกณฑ์จึงไม่รวมศูนย์ ซึ่งหลักเกณฑ์ภาษีรายได้อยู่ในกฎหมายการลงทุน (Capital Investment Law) แต่สิทธิประโยชน์จูงใจเพื่อลดรายได้ และการยกเว้นภาษีธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ในกฎหมาย Governmental Regulation ปี 2010

    นอกจากนี้ กฎหมายหลายฉบับมีข้อปฏิบัติใกล้เคียงกัน ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเข้าใจระบบภาษีอินโดนีเซียได้มาก จึงนำเงินไปลงทุนที่อื่น แต่กฎหมายฉบับใหม่จะลดความซ้ำซ้อนและรวบรวมหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน และรวมกฎหมายอื่นทั้งหมด

    การจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่จะควบคู่ไปกับการทบทวนกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม กฏหมายเงินได้ และบทบัญญัติทั่วไปของกฎหมายการจัดเก็บภาษี

    6) กฎหมายใหม่สำหรับธุรกิจดิจิทัล
    อินโดนีเซียยังไม่มีกฎหมายการจัดเก็บภาษีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลโดยเฉพาะ แต่กฎหมายใหม่จะมีความชัดเจนขึ้น เพราะขยายขอบเขตนิยามการเก็บภาษีให้ครอบคลุมผู้ที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากผู้บริโภคด้วย นอกเหนือจากธุรกิจที่มีที่ทำการชัดเจนในอินโดนีเซีย ซึ่งกฎหมายใหม่นี้ก็จะมีผลต่อการคำนวณภาษีของบริษัทที่ไม่ได้มีสำนักงานในอินโดนีเซีย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล

    เมียนมาลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจ

    ที่มาภาพ: http://www.thaibizmyanmar.com/en/news/detail.php?ID=1065

    สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา (Directorate of Investment and Company Administration-DICA) ได้ประกาศ คำสั่งที่ 84/2019 ลดอัตราค่าธรรมเนียมการจัดตั้งธุรกิจลง โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นการเริ่มปีงบประมาณใหม่ 2563

    โดยค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ หรือจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเมียนมาจะลดลงเป็น 150,000 จัต จาก 250,000 จัต ซึ่งจะมีผลกับการจัดตั้งธุรกิจ 5 ประเภทคือ
    1) company limited by shares บริษัทจำกัดผู้ถือหุ้นมีความรับผิดในกิจการของบริษัทเท่ากับจำนวนหุ้น

    2) company limited by guarantee บริษัทจำกัดที่ผู้ลงทุนจำกัดจำนวนเงินที่ตกลงจะสนับสนุนทรัพย์สินของบริษัท

    3) unlimited company บริษัทไม่จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผู้ถือหุ้นต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดไม่จำกัดเฉพาะหุ้นที่ถือเท่านั้น

    4) private company limited by shares under the Special Company Act 1950 บริษัทเอกชนจำกัด ที่ผู้ถือหุ้นมีความรับผิดในกิจการของบริษัทเท่ากับจำนวนหุ้น ที่ถืออยู่เท่านั้นภายใต้กฎหมายธุรกิจเฉพาะปี 1950 และ

    5) registration as an overseas corporation การจดทะเบียนเป็นบริษัทต่างชาติ

    การลดค่าธรรมเนียมครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะดึงธุรกิจให้มาตั้งกิจการในเมียนมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าปรับสำหรับการยื่นรายงานงบการเงินประจำปีล่าช้า และการยื่นรายงานงบการเงินประจำปีของบริษัทต่างชาติล่าช้าจะเพิ่มเป็น 50,000 จัต จากเดิม 20,000 จัต

    รัฐบาลเมียนมาได้เริ่มลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2016 โดยลดครึ่งหนึ่งมาที่ 500,000 จัต แต่หลังจากกฎหมายธุรกิจเมียนมาผ่านความเห็นชอบของสภาและมีผลบังคับใช้ปี 2017 ก็ได้ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลงอีก 50% เป็น 250,000 จัต ในวันที่ 1 เมษายน 2018 และเป็นวันเดียวกันที่ขั้นตอนการจดทะเบียนทั้งหมดโยกขึ้นไปอยู่บนระบบออนไลน์ ผ่านพอร์ทัล Myco ของ DICA

    การดำเนินการครั้งนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการลดต้นทุนในการทำธุรกิจของกิจการขนาดเล็ก ขนาดกลางและดึงให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการมากขึ้น

    ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล

    เมียนมากำลังอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล ซึ่งจะครอบคลุมนโยบายด้านโรงงานน้ำตาลและนโยบายการนำเข้าและส่งออกน้ำตาล จากการเปิดเผยของนาย อู วิน เต รองประธานสมาคมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อ้อยและน้ำตาล

    ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายฉบับที่ 3 ซึ่งได้มีการยกเลิกข้อจำกัดหลายอย่างออก และเพิ่มข้อปฏิบัติหลายอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้จะต้องการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตามกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการจะมีหน้าที่ในการกำหนดจำนวนเงินที่จะเรียกเก็บต่อน้ำตาล 1 ตันในแต่ละปี เงินจำนวนนี้จะนำไปสนับสนุนเกษตรกรไร่อ้อย ในกรณีที่ราคาอ้อยตกต่ำ

    ร่างกฎหมายจะนำเสนอต่อสำนักงานอัยการพิจารณาต่อไปก่อนนำเข้าสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ และให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

    ปัจจุบันเมียนมามีพื้นที่ปลูกอ้อย 400,000 เอเคอร์ และผลิตน้ำตาลได้มากกว่า 470,000 ตันในปีที่แล้ว ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

    ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ลดอัตราดอกเบี้ยรอบ 3

    ที่มาภาพ: https://asia.nikkei.com/Economy/Philippines-cuts-key-rate-for-third-time-this-year

    เมื่อวันที่ 26 กันยายน ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ Bangko Sentral ng Pilipinas ได้ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%มาที่ระดับ 4% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออ่อนตัวและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวต่อเนื่อง

    การตัดสินใจของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ เป็นการดำเนินนโยบายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ ได้ปรับลดอกเบี้ยไปในการประชุมช่วงวันที่ 17-18 กันยายน

    นายเบนจามิน ดิออกโน ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินอยู่บนพื้นฐานการประเมินว่าแรงกดดันเงินเฟ้อได้ลดลงต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน

    เดือนสิงหาคมอัตราเงินเฟ้ออยูที่ 1.7% ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางกล่าวว่ามีความเป็นไปได้มากที่เงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบล่างของเป้าหมาย 3% ถึง -1% ในปี 2019 ไปจนถึง 2021 และความคาดหวังเงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย

    นักวิเคราะห์จากซีเคียวริตีแบงก์ประเมินว่า ธนาคารกลางยังสามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีก เพราะยังมีพื้นที่นโยบายหลังจากที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 1.75% ในปีก่อนไปอยู่ที่ 4.75% สูงสุดในรอบสิบปี ทำให้สามารถหนุนเศรษฐกิจได้ตลอดทั้งปี 2019 และปีต่อไป หากการใช้จ่ายของรัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้

    ในไตรมาสสอง จีดีพีขยายตัว 5.5% โตช้าสุดในรอบ 4 ปี และต่ำกว่าเป้าหมาย 6-7% ของรัฐบาล เป็นผลจากความล่าช้าในการอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย

    นายดิออกโนกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงไม่สดใส เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่น

    ธนาคารกลางได้ลดดอกเบี้ยไปแล้ว 0.50% ในการประชุมสองครั้งที่ผ่านมา ในเดือนพฤษภาคมและเดือนสิงหาคม