ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > World Inequality Report ชี้คนรวยรวยขึ้นยุคโควิด เศรษฐี Top 1% ครองความมั่งคั่งโลก 38%

World Inequality Report ชี้คนรวยรวยขึ้นยุคโควิด เศรษฐี Top 1% ครองความมั่งคั่งโลก 38%

13 ธันวาคม 2021


เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 World Inequality Database เผยแพร่รายงาน World Inequality Report 2022 ใน wid.world ให้ข้อมูลล่าสุดและครบถ้วนสะท้อนความเหลื่อมล้ำทั่วโลก ทั้งในด้านความมั่งคั่ง ด้านรายได้ ด้านเพศและด้านนิเวศวิทยา

รายงานฉบับนี้ศึกษาโดยคณะนักวิจัยกว่า 100 คนจากทั่วโลก โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลไพร้ซ์ปี 2019 คือ ศาสตราจารย์อภิจิต บาเนอร์จี และดร.เอสเธอร์ ดูโฟล เขียนคำนำ

  • สามนักเศรษฐศาสตร์เอ็มไอที-ฮาร์วาร์ด คว้ารางวัลโนเบลจากงานวิจัยลดความยากจน หลังลงพื้นที่ทำโครงการจริง
  • ในปี 2563 หลังจากเกิดโลกาภิวัฒน์การค้าและการเงินมาร่วมสามทศวรรษ ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกยังเด่นชัด และความเหลื่อมล้ำในทุกวันนี้ยิ่งใหญ่พอๆกับที่เคยเป็นจุดสูงสุดของจักรวรรดินิยมตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

    นอกจากนี้ การระบาดใหญ่ของ Covid ได้ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลกยิ่งเลวร้ายลง ข้อมูลจากรายงานแสดงให้เห็นว่าคนในกลุ่ม top 1% แรกครอง 38% ของความมั่งคั่งสะสมที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 และเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2020 นับว่าความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งยังคงอยู่ในระดับรุนแรงในทุกภูมิภาค

    “วิกฤตการณ์โควิดได้ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยกับคนอื่นๆยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ร่ำรวย การแทรกแซงของรัฐบาลได้ป้องกันไม่ให้ความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ไม่ใช่ในกรณีประเทศยากจน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสถานะทางสังคมในการต่อสู้กับความยากจน” ลูคัส แชนเซล ผู้เขียนหลักของรายงานอธิบาย

    กาเบรียล ซัคแมน กล่าวว่า “รายงานความไม่เท่าเทียมกันของโลกชี้ถึงสิ่งสำคัญที่ประชาธิปไตยต้องมี คือ การบันทึกอย่างแข็งขันว่าเกิดอะไรขึ้นกับความไม่เท่าเทียมกันในทุกมิติ ซึ่งเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าสำหรับนักศึกษา นักข่าว ผู้กำหนดนโยบาย และภาคประชาสังคมทั่วโลก”

    ด้านลูคัส กล่าวเสริมว่า “หากมีบทเรียนหนึ่งที่ต้องเรียนรู้จากการเจาะลึกทั่วโลกในการทำงานของรายงานฉบับฉบับนี้ นั่นคือความเหลื่อมล้ำมักเป็นทางเลือกทางการเมืองเสมอ”

    ความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งปัจจุบันกว้างมาก

    ผู้ใหญ่มีรายได้เฉลี่ย(วัดจากความเสมอภาคของอำนาจซื้อ Purchasing Power Parity : PPP) 16,700 ยูโร (23,380 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปีในปี 2564 และมีความมั่งคั่งเฉลี่ย 2,900 ยูโร(102,600 ดอลลาร์สหรัฐ) ค่าเฉลี่ยเหล่านี้บดบังความเหลื่อมล้ำในวงกว้างทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ ปัจจุบันประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 10% ของโลกมีสัดส่วนรายได้ 52% ของโลก ขณะที่ประชากรครึ่งหนึ่งที่ยากจนที่สุดมีรายได้ 8% โดยเฉลี่ยคนจาก 10% แรกของการกระจายรายได้ทั่วโลกมีรายได้ 87,200 ยูโร (122,100 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี ขณะที่คนจากครึ่งที่ยากจนที่สุดของการกระจายรายได้ทั่วโลกมีรายได้ 2,800 ยูโร(3,920 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี

    ความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งทั่วโลกนั้นเด่นชัดกว่า ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้

    ประชากรที่ยากจนที่สุดครึ่งหนึ่งของโลกแทบไม่มีความมั่งคั่งเลย โดยมีสัดส่วนความมั่งคั่งเพียง 2% ของความมั่งคั่งทั้งหมดเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม กลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% ของประชากรโลกถือครอง 76% ของความมั่งคั่งทั้งหมด

    โดยเฉลี่ย ประชากรครึ่งหนึ่งที่ยากจนที่สุดมีความมั่งคั่ง 2,900 ยูโรต่อผู้ใหญ่หนึ่งคน หรือ 4,100 ดอลลาร์สหรัฐฯและกลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% แรกมีความมั่งคั่ง 550,900 ยูโร(หรือ 771,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยเฉลี่ย

    ความเหลื่อมล้ำนี้เกิดจากอัตราการเติบโตที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มประชากรระดับบนและระดับล่างของการกระจายความมั่งคั่ง ความมั่งคั่งของคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเติบโต 6- 9% ต่อปีตั้งแต่ปี 1995 ขณะที่ความมั่งคั่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.2% ต่อปี ตั้งแต่ปี 1995 สัดส่วนความมั่งคั่งทั่วโลกที่เศรษฐีพันล้านถือครองได้เพิ่มขึ้นจาก 1% เป็นมากกว่า 3%

    การเพิ่มขึ้นนี้ยิ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด ส่งผลให้ ปี 2020 เป็นปีที่สัดส่วนความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์

    ประเทศรวยขึ้นรัฐบาลจนลง

    รายงานยังพบว่า ประเทศร่ำรวยขึ้น แต่รัฐบาลจนลง เมื่อพิจารณาช่องว่างระหว่างความมั่งคั่งสุทธิของรัฐบาลและความมั่งคั่งสุทธิของภาครัฐและเอกชน

    การทำความเข้าใจความเหลื่อมล้ำเหล่านี้วิธีหนึ่ง คือ การดูช่องว่างระหว่างความมั่งคั่งสุทธิของรัฐบาลและความมั่งคั่งสุทธิของภาคเอกชน ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ มีความร่ำรวยขึ้นอย่างมาก แต่รัฐบาลกลับจนลงอย่างมาก ส่วนแบ่งของความมั่งคั่งที่ภาครัฐถืออยู่นั้นใกล้เคียงกับศูนย์หรือเป็นลบในประเทศร่ำรวย หมายความว่า ความมั่งคั่งทั้งหมดอยู่ในมือของเอกชน และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการวิกฤติโควิด เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลกู้ยืมเงินราว 10-20% ของ GDP จากภาคเอกชน

    ความมั่งคั่งที่ต่ำของรัฐบาลในปัจจุบันมีนัยสำคัญต่อศักยภาพของรัฐในการจัดการกับความเหลื่อมล้ำในอนาคต เช่นเดียวกับความท้าทายที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ระดับรายได้เฉลี่ยของประเทศไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ดี ในบรรดาประเทศที่มีรายได้สูง บางประเทศมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก (เช่น สหรัฐอเมริกา) ขณะที่ประเทศอื่นๆ ค่อนข้างเท่าเทียมกัน (เช่น สวีเดน) เช่นเดียวกับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โดยบางประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก (เช่น บราซิลและอินเดีย) บางประเทศมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง (เช่น จีน) และบางประเทศเหลื่อมล้ำระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ (เช่น มาเลเซีย อุรุกวัย)

    ความเหลื่อมล้ำเป็นทางเลือกทางการเมือง ไม่ใช่ว่าเลี่ยงไม่ได้

    ความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเกือบทุกแห่งตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นผลจากการลดระเบียบข้อบังคับและโครงการเปิดเสรีซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่การเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน โดยบางประเทศประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นอย่างน่าแปลกใจ (ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และอินเดีย) ขณะที่ประเทศอื่นๆ (ประเทศในยุโรปและจีน) ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างน้อยกว่า ความแตกต่างของความเหลื่อมล้ำนี้ ตามที่ได้รายงานในรายงาน World Inequality Report ฉบับก่อนหน้า ตอกย้ำว่าความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ใช่ว่าเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นทางเลือกทางการเมือง

    ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศลดลงแต่ในประเทศเพิ่มขึ้น

    ขณะที่ความเหลื่อมล้ำส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกระหว่างประเทศได้ลดลง ช่องว่างระหว่างรายได้เฉลี่ยของประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 10% แรกและรายได้เฉลี่ยของประเทศที่ยากจนที่สุด 50% ลดลงจากประมาณ 50 เท่า เป็นน้อยกว่า 40 เท่า เล็กน้อยขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในประเทศ ช่องว่างระหว่างรายได้เฉลี่ยของกลุ่มประชากร 10% แรกและกลุ่มประชากร 50% ล่างสุดภายในประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 8.5 เท่าเป็น 15 เท่า

    ด้านความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งภายในประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญในประเทศตะวันตกระหว่างต้นศตวรรษที่ 20 ถึงทศวรรษ 1980 แต่ประชากร 50% ล่างซึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดในประเทศเหล่านี้มีส่วนแบ่งในความมั่งคั่งนี้น้อยมาก คือ ระหว่าง 2%-7% ของทั้งหมด ในภูมิภาคอื่นๆ ส่วนแบ่งของประชากร 50% ต่ำสุดนั้นต่ำกว่านี้ด้วยซ้ำ

    ผลลัพธ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในทุกภูมิภาคของโลก หากเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งอย่างสุดขั้ว

    การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความเหลื่อมล้ำภายในประเทศหมายความว่า แม้เศรษฐกิจเติบโตตามทัน และมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โลกยังคงมีความเหลื่อมล้ำในทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังหมายความว่า ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศต่างๆ ในปัจจุบันมีมากกว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ

    ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกดูเหมือนจะยิ่งใหญ่พอๆ กับที่เคยเป็นจุดสูงสุดของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกในต้นศตวรรษที่ 20 สัดส่วนรายได้ของคนที่ยากจนที่สุดครึ่งโลกในปัจจุบันนั้นคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของปี 1820 ก่อนจะเกิดความแตกต่างอย่างมากระหว่างประเทศตะวันตกกับอาณานิคม

    ดังนั้นการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่สืบทอดมาจากความไม่เท่าเทียมการจัดการการผลิตโลกระหว่างช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 จึงเป็นเส้นทางอีกยาวไกล

    ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศยังคงมีอยู่ในระดับโลกในประเทศคืบช้า

    World Inequality Report 2022 ยังได้ประเมินความไม่เท่าเทียมทางเพศในเรื่องรายได้ทั่วโลก โดยรวมแล้ว ส่วนแบ่งรายได้รวมจากการทำงาน (รายได้แรงงาน) ของผู้หญิงมีประมาณเกือบ 30% ในปี 1990 และต่ำกว่า 35% ในปัจจุบัน ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ระหว่างเพศยังคงสูงมาก

    ในโลกที่มีความเท่าเทียมทางเพศ สัดส่วนรายได้แรงงานของผู้หญิงอยู่ที่ 50% ของรายได้ทั้งหมดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ระดับโลกคืบหน้าช้ามาก และพลวัตแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยบางประเทศมีความคืบหน้า แต่บางประเทศกลับพบว่าส่วนแบ่งรายได้ของผู้หญิงลดลง

    ความไม่เท่าเทียมกันทางนิเวศวิทยา

    ข้อมูลของรายงานแสดงให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของประเทศที่ร่ำรวยและยากจนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่กับผู้ปล่อยมลพิษต่ำในทุกประเทศ

    การจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันในการปล่อยคาร์บอนมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change

    ความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งทั่วโลกมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับความไม่เท่าเทียมกันทางนิเวศวิทยาและความไม่เท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉลี่ยแล้ว มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 6.6 ตันต่อคนต่อปี ข้อมูลใหม่ในรายงานเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันในการปล่อยคาร์บอน แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมอย่างมากในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับโลก

    โดยกลุ่ม 10% แรกที่ปล่อยสูงมีสัดส่วนของการปล่อยรวมกันเกือบ 50% ของการปล่อยทั้งหมดขณะที่กลุ่ม 50% ล่างจะปล่อยก๊าซ 12% ของทั้งหมด

    แสดงให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของประเทศที่ร่ำรวยและยากจนเท่านั้น เพราะมีผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และผู้ปล่อยต่ำในประเทศร่ำรวย ในยุโรปประชากรในระดับ 50% ล่างสุดปล่อยประมาณ 5 ตันต่อปีต่อคน ขณะที่ประชากร 50% ล่างสุดในเอเชียตะวันออกปล่อยประมาณ 3 ตันและประชากร 50% ล่างสุดในอเมริกาเหนือปล่อยประมาณ 10 ตัน ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับการปล่อยก๊าซของกลุ่ม10% แรกในภูมิภาคเหล่านี้ (29 ตันในยุโรป 39 ในเอเชียตะวันออกและ 73 ในอเมริกาเหนือ)

    รายงานนี้ยังพบว่า ประชากรครึ่งหนึ่งที่ยากจนที่สุดในประเทศร่ำรวยได้บรรลุหรือเข้าใกล้ เป้าหมายด้านสภาพอากาศปี 2030 ที่กำหนดโดยประเทศร่ำรวยแล้ว เมื่อวัดจากข้อมูลรายหัว แต่ยังไม่ความคืบหน้าจากกลุ่มประชาครึ่งบน

    ความไม่เท่าเทียมกันในการปล่อยมลพิษจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า นโยบายสภาพภูมิอากาศควรกำหนดเป้าหมายเจาะจงไปที่ผู้ก่อมลพิษที่ร่ำรวยมากขึ้น จนถึงตอนนี้ นโยบายด้านสภาพอากาศ เช่น ภาษีคาร์บอน มักจะส่งผลกระทบอย่างไม่สมส่วนกับกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ขณะพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุดยังไม่เปลี่ยนแปลง

    กระจายความมั่งคั่งเพื่อการลงทุนในอนาคต

    World Inequality Report 2022 สำรวจตัวเลือกนโยบายหลายประการสำหรับการกระจายความมั่งคั่งและการลงทุนในอนาคตเพื่อรับมือกับความท้าทายของศตวรรษที่ 21 (ตารางที่ 1 แสดงรายได้ที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งมาจากภาษีความมั่งคั่งแบบก้าวหน้าในอัตราไม่สูงสำหรับมหาเศรษฐีทั่วโลก เนื่องจากความมั่งคั่งส่วนใหญ่กระจุกตัว ภาษีแบบก้าวหน้าในอัตราไม่สูงสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้กับรัฐบาล ในสถานการณ์จำลอง พบว่า 1.6% ของรายได้ทั่วโลกสามารถสร้างขึ้นและนำกลับมาลงทุนใหม่ในด้านการศึกษา สุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยา

    รายงานย้ำว่า การจัดการกับความท้าทายของศตวรรษที่ 21 นั้นเป็นไปไม่ได้ หากไม่มีการกระจายรายได้และไม่จัดการกับความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งอย่างมีนัยสำคัญ การเพิ่มขึ้นของรัฐสวัสดิการสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าอย่างมากในด้านสุขภาพ การศึกษา และโอกาสสำหรับทุกคน เชื่อมโยงกับอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีบทบาทสำคัญเพื่อประกันได้ว่า สังคมและการเมืองยอมรับของการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นและปรับความมั่งคั่งให้มีประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนี้ต้องมีวิวัฒนาการที่ใกล้เคียงกันเพื่อจัดการกับความท้าทายของศตวรรษที่ 21 พัฒนาการล่าสุดของการเก็บภาษีระหว่างประเทศแสดงให้เห็นว่า การก้าวไปสู่นโยบายเศรษฐกิจที่เป็นธรรมยิ่งขึ้นเป็นไปได้ในระดับโลกและภายในประเทศ

    รายงานยังระบุถึงทางเลือกต่างๆ เพื่อจัดการกับความเหลื่อมล้ำ ผ่านการเรียนรู้จากตัวอย่างทั่วโลกและตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ความเหลื่อมล้ำมักเป็นทางเลือกทางการเมืองและการเรียนรู้จากนโยบายที่ดำเนินการในประเทศอื่นหรือในช่วงเวลาอื่นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดเส้นทางการพัฒนาที่เป็นธรรมมากขึ้น