ThaiPublica > เกาะกระแส > สามนักเศรษฐศาสตร์เอ็มไอที-ฮาร์วาร์ด คว้ารางวัลโนเบลจากงานวิจัยลดความยากจน หลังลงพื้นที่ทำโครงการจริง

สามนักเศรษฐศาสตร์เอ็มไอที-ฮาร์วาร์ด คว้ารางวัลโนเบลจากงานวิจัยลดความยากจน หลังลงพื้นที่ทำโครงการจริง

16 ตุลาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.nobelprize.org/prizes/economic-sciences/2019/prize-announcement/

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) โดยศาสตราจารย์โกรัน ฮันส์สัน เลขาธิการ ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2019 ร่วมกันสามราย คือ อภิจิต บาเนอร์จี กับเอสเทอร์ ดูโฟล จากสถาบันเอ็มไอที สหรัฐฯ และไมเคิล เครเมอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากงานวิจัยที่ช่วยบรรเทาความยากจนทั่วโลก

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีชื่อทางการว่า The Sveriges Riksbank Prize in Economic (Sciences in Memory of Alfred Nobel) ริเริ่มขึ้นในปี 1968 โดยธนาคารกลางสวีเดน (Sveriges Riksbank) เพื่อรำลึกถึงอัลเฟรด โนเบล

ศาสตราจารย์โกรันกล่าวว่า รางวัลในปีนี้เกี่ยวข้องกับการบรรเทาความยากจน ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาตัดสินมองรางวัลให้กับงานวิจัยเชิงทดลองที่ช่วยลดความยากจนทั่วโลกให้กับ ศาตราจารย์อภิจิต บาเนอร์จี กับศาสตราจารย์เอสเทอร์ ดูโฟล จากสถาบันเอ็มไอที และศาสตราจารย์ไมเคิล เครเมอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ศาสตราจารย์โกรันให้ข้อมูลผู้ได้รับรางวัลทั้งสามรายว่า อภิจิต บาเนอร์จี เกิดที่มุมไบ ประเทศอินเดีย สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ปี 1988 เป็นศาสตรจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology – MIT)

สำหรับเอสเทอร์ ดูโฟล เกิดปี 1972 ที่กรุงปารีส สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ปี 1999 เป็นศาสตราจารย์ Abdul Latif Jameel Poverty Alleviation Center และเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่สถาบันเอ็มไอที

ไมเคิล เครเมอร์ เกิดปี 1964 สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดปี 1992 เป็นศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาสังคมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

เอกสารข่าวของราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการขจัดความยากจนทั่วโลก ในสองทศวรรษที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามได้ทำการวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งเปลี่ยนโฉมการพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์

เอกสารข่าวระบุว่า แม้จะมีการแก้ไขความยากจนอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเด็นสำคัญของโลกก็ยังคงเป็นเรื่องการลดความยากจน ในทุกรูปแบบ ประชากรโลกอีกกว่า 700 ล้านคนยังยากจนข้นแค้น ทุกๆ ปีมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนราว 5 ล้านคนเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันหรือรักษาได้โดยวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง และเด็กจำนวนครึ่งหนึ่งของโลกต้องออกจากโรงเรียน โดยที่ขาดความรู้พื้นฐานการอ่านออกเขียนได้ รวมทั้งนับเลขไม่ได้

งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางใหม่ในการได้มาซึ่งคำตอบของวิธีการที่ดีที่สุดในการขจัดความยากจนทั่วโลก คือ การแยกแยะประเด็นนี้ออกเป็นประเด็นย่อยๆ ไปถึงระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

ตัวอย่างคือ การเข้าแทรกแซงที่มีประสิทธิภาพที่ได้จากผลการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพเด็ก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามรายนี้ได้ร่วมกันแสดงให้เห็นว่าประเด็นย่อยหรือคำถามย่อยๆ ที่ตรงจุดจะได้รับคำตอบที่ดีที่สุดผ่านการทดลองที่ออกแบบมาอย่างรอบคอบสำหรับประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

ในกลางทศวรรษ 1990 ศาสตรจารย์ไมเคิล เครเมอร์ และเพื่อนร่วมงาน ได้สาธิตให้เห็นว่าแนวทางนี้มีผลอย่างมาก ด้วยการทดลองในพื้นที่จริงเพื่อทดสอบว่า การแทรกแซงในหลายด้านนั้นสามารถปรับปรุงผลการเรียนในโรงเรียนในทางตะวันตกของเคนยาได้

ศาสตรจารย์อภิจิต บาเนอร์จี และศาสตรจารย์เอสเทอร์ ดูโฟล ซึ่งมักทำงานร่วมกับศาสตรจารย์ไมเคิล เครเมอร์ ได้แสดงผลการศึกษาที่ใกล้เคียงกันในประเด็นอื่นๆ และในประเทศอื่นๆ โดยแนวทางการวิจัยเชิงทดลองของทั้งคู่ได้มีบทบาทในการพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์

ผลที่ได้จากการศึกษาของผู้ที่ได้รับรางวัล และนักวิจัยอื่นที่ได้ใช้แนวทางเดียวกันนี้ ได้เพิ่มความสามารถของแนวปฏิบัติในการแก้ไขความยากจน และผลทางตรงที่ได้จากการวิจัยนี้ ส่งผลให้เด็กมากกว่า 5 ล้านคนในอินเดียได้รับประโยชน์จากแผนการเรียนที่มีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างอีกด้านหนึ่ง คือ การอุดหนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐในการป้องกันด้านสุขภาพที่นำมาใช้ในหลายประเทศ

ทั้งสองตัวอย่างนี้ได้แสดงให้เห็นว่า งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ได้ช่วยลดความยากจนลงแล้วอย่างชัดเจน และยังมีศักยภาพที่จะยกระดับคุณภาพประชากรทั่วโลกได้

อภิจิต-เอสเทอร์ สามีภรรยาคู่ที่ 6 ที่ได้รางวัล

ที่มาภาพ: twitter Massachusetts Institute of Technology-MIT

ทั้งเอสเทอร์และอภิจิตเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันเอ็มไอที และเป็นสามีภรรยานักวิจัยคู่ที่ 6 ที่ได้รับรางวัลโนเบล โดยคู่แรก ได้แก่ มารี กูรี หรือที่รู้จักในชื่อมาดามคูรี และปิแอร์ กูรี ส่วนคู่ที่สอง ได้แก่บุตรสาวของมารี กูรี กับสามี

ศาสตราจารย์อภิจิตและศาสตราจารย์เอสเทอร์เติบโตในโลกที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยศาสตราจารย์อภิจิตเกิดที่อินเดีย ส่วนศาสตราจารย์เอสเทอร์เกิดที่ปารีส

ย้อนกลับไปในวัย 6 ขวบ ศาสตราจารย์เอสเทอร์ได้อ่านหนังสือการ์ตูนชีวประวัติแม่ชีเทเรซา ซึ่งบรรยายเมืองโกลกาตา หรือชื่อเดิมกัลกัตตา ว่า เป็นเมืองที่แออัด ประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยพื้นที่เฉลี่ยต่อประชากรต่อคนอยู่ที่ 10 ตารางฟุตเท่านั้น แต่เมื่อได้ไปเยือนอินเดียในวัย 24 ปีขณะที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทที่สถาบันเอ็มไอที กลับพบว่าเมืองเต็มไปด้วยต้นไม้ สองข้างทางว่างเปล่า และมีภาพที่ต่างจากการ์ตูนอย่างมาก

สำหรับศาสตราจารย์อภิจิตในวัย 6 ปี รู้ดีว่าคนจนอาศัยอยู่แถบไหน นั่นคือ เพิงข้างหลังบ้านของเขา เด็กๆ แถวนั้นมักจะมีเวลาวิ่งเล่น และเล่นกีฬาชนะเขาในทุกประเภท

ศาสตราจารย์เอสเทอร์ในวัย 46 ปีเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลอายุน้อยที่สุดในบรรดาผู้ที่เคยได้รับรางวัลทั้งหมดในรอบ 50 ปีนี้ และเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบลต่อจาก เอลินอร์ ออสตรอมในปี 2009

ศาสตราจารย์เอสเทอร์กล่าวในการแถลงข่าวที่จัดโดยราชบัณฑิตสภาสวีเดนว่า “ถ้าไม่ได้ใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจถึงชีวิตของคนจนและสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจในสิ่งที่เลือก ก็คงจะไม่ได้แนวทางการวิจัยที่ถูกต้องเหมาะสม”

นอกจากนี้ศาสตราจารย์เอสเทอร์ยังกล่าวว่า “การที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ได้แสดงให้ผู้หญิงคนอื่นๆ เห็นแล้ว มีความเป็นได้ที่จะประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงอีกหลายคนให้ทำงานอย่างต่อเนื่องและจะทำให้ผู้ชายจำนวนมากเคารพผู้หญิง เพราะเป็นสิ่งผู้หญิงควรจะได้รับเหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ ทุกคน”

ในปี 2013 ศาสตราจารย์เอสเทอร์ได้รับรางวัล Dan David Prize จากมูลนิธิแดน เดวิด ที่มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ

นางนิรมาลา บาเนอร์จี ผู้เป็นแม่ศาสตราจารย์อภิจิต ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในเมืองโกลกาตา ให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์อินเดียว่า “ศาสตราจารย์อภิจิตได้พยายามทำงานวิจัยที่ไม่ได้อยู่บนทฤษฏีมาตลอด แต่นำทฤษฎีไปใช้เพื่อให้เข้าใจโลกมากขึ้น”

ศาสตราจารย์อภิจิตเดินทางกลับอินเดียบ่อยครั้งเพื่อทำงานให้กับ Poverty Action Lab ศูนย์วิจัยนานาชาติที่ได้ร่วมก่อตั้งกับศาสตราจารย์เอสเทอร์ปี 2003

ในปีนี้ศาสตราจารย์อภิจิตยังได้ช่วยพรรคฝ่ายค้านอินเดียในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในแนวทางการแจกเงินช่วยเหลือคนจน และยังวิจารณ์นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีที่แอบอ้างใช้การอำนาจทางการเมืองเพื่อแทรกแซงในข้อมูลสถิติและในโครงการเพื่อดูดเงินจากระบบเศรษฐกิจ

ทั้งคู่ได้เขียนไว้หนังสือ Poor Economics ปี 2011 เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกของคนเมื่อยากจนหรือไม่มีเงิน ซึ่งสะท้อนถึงธรรมชาติของความยากจนอย่างแท้จริง การตอบสนองต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของคนจน และรัฐจะดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขความยากจนได้อย่างไร

ทั้งคู่ระบุว่า ไม่น่าแปลกใจที่จุดยืนด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนยากจนมักมีสูตรเดียวกันคือ ให้ของฟรีกับคนจน หรือให้เงินกับคนยากจนที่สุด หรือแก้ไขความขัดแย้งก่อน แต่ปัญหาก็คือ คนจนมักถูกยกย่องหรือได้รับความสงสารเวทนา ไม่มีการมองกันว่าคนจนมีความรู้ ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นที่สนใจในการคงอยู่ทางเศรษฐกิจของคนจน

ความเข้าใจผิดเหล่านี้มีผลต่อการขจัดความยากจนทั่วโลกอย่างมาก นโยบายในด้านการป้องกันความยากจนเต็มไปด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง หวังกันว่าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้น แต่ก็เห็นกันแล้วว่าปาฏิหาริย์ไม่มีจริง

สิ่งสำคัญคือ ใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของพวกเขาอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะซับซ้อนแค่ไหน และรวมทั้งฐานะการเงินด้วย

ทั้งคู่จึงตัดสินใจทำงานวิจัยเกี่ยวกับคนจนทั่วโลก รวมทั้งศึกษาว่าตลาดกับภาคสถาบันมีผลอย่างไร ในปี 2003 ทั้งคู่ได้ก่อตั้ง Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab (J-Pal) ที่สถาบันเอ็มไอทีเพื่อศึกษาเกี่ยวกับความยากจน ซึ่งทั้งศาสตราจารย์อภิจิตและศาสตราจารย์เอสเทอร์ได้ทำงานร่วมกันนานหลายปีกว่าจะแต่งงานกันในปี 2015

ศาสตราจารย์เอสเทอร์และศาสตราจารย์อภิจิตได้ทำงานนานหลายปีโดยใช้ผลการศึกษาจากพื้นที่จริงด้วยการทดลองแบบสุ่มตัวอย่างในอินเดียและแอฟริกา พยายามหาคำตอบว่าคนจนมีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ และเป็นที่ไหน รวมทั้งมีเหตุผลอะไร

ศาสตราจารย์อภิจิตและศาสตราจารย์เอสเทอร์ได้เก็บข้อมูลว่า คนจนซื้อของอะไรบ้าง มีการดูแลสุขภาพลูกๆ อย่างไร ตั้งใจจะมีลูกกี่คน ทำไมให้ลูกไปโรงเรียนแต่ยังไม่เรียนรู้อะไรมาก และทำไมสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์จึงมีประโยชน์โดยไม่ต้องมีปาฏิหาริย์ ตลอดจนคนจนกินดีอยู่ดีหรือไม่ และมีกินเพียงพอไหม

งานวิจัยบางชิ้นเกี่ยวกับการกินอาหารของคนจนตั้งสมมติฐานว่าคนจนจะกินอาหารมากที่สุดเท่าที่จะกินได้ โดยใช้ชุดข้อมูลเกี่ยวข้องกับคนจน 18 ประเทศ ซึ่งพบว่า อาหารมีสัดส่วน 36-70% ของการบริโภคโดยรวมของกลุ่มคนยากจนข้นแค้นที่อาศัยอยู่ในชนบท แต่มีสัดส่วน 53-74% ของการบริโภคโดยรวมของกลุ่มคนยากจนข้นแค้นที่อาศัยอยู่ในเมือง และเมื่อต้องซื้ออาหารก็จะซื้ออาหารที่มีรสชาติที่ดีกว่าและมีแคลอรีสูงมากกว่าจะคำนึงถึงข้อมูลด้านสุขภาพ

การได้รับสารอาหารที่เพียงพอยังเป็นประเด็นที่ต้องขบคิดของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทั้งคู่มองว่าสิ่งที่ทำให้ชีวิตคนจนไม่น่าเบื่อ และเป็นสิ่งที่คนจนให้ความสำคัญ คือ โทรทัศน์ อาหารพิเศษ โดยมีตัวอย่างหนึ่งจากทางตอนเหนือของอินเดียในรัฐราชสถาน ซึ่งแทบไม่มีใครมีโทรทัศน์เลย ศาสตราจารย์อภิจิตและศาสตราจารย์เอสเทอร์พบว่า คนจนที่นั่นใช้เงินไปกับงานเทศกาลต่างๆ ถึง 14% ขณะที่ในนิการากัว ครัวเรือนยากจนในหมู่บ้านมีวิทยุถึง 56% และ 21% มีโทรทัศน์ และมีครัวเรือนน้อยรายที่ใช้เงินกับงานเทศกาล

งานวิจัยของศาสตราจารย์อภิจิตและศาสตราจารย์เอสเทอร์เสนอแนะรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศด้วยว่า จำเป็นต้องคิดใหม่ในนโยบายด้านอาหาร การจัดหาอาหารให้ เช่น การแจกข้าวสาร ซึ่งโครงการอาหารมั่นคงส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีนี้ นักวิจัยบอกว่าไม่ได้ผลและช่วยได้เล็กน้อยในแง่ที่ช่วยให้คนจนกินดีขึ้น ทว่า ปัญหาหลักไม่ได้เกี่ยวกับแคลอรี แต่เป็นเรื่องของการได้รับสารอาหารที่เพียงพอ

การดำเนินการเพียงแจกเงินคนจนนั้นไม่ได้แก้ไขปัญหาความยากจนนัก แม้แต่ในช่วงที่ได้เงินหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ช่วยให้ได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น ดังที่เห็นตัวอย่างในอินเดีย เมื่อมีรายได้มากขึ้นคนจนไม่กินอาหาร ไม่กินของดีและไม่กินให้ดีขึ้น เพราะมีปัจจัยกดดันหลายตัว และต้องตัดสินใจระหว่างความต้องการด้านอาหาร

นอกจากนี้ ทั้งคู่ได้ทำการทดลองด้านการศึกษาของคนจน เพื่อพยายามทำความเข้าใจผลการเรียนได้จากโรงเรียนของลูกหลานคนจนในประเทศกำลังพัฒนา โดยทำการทดลองในด้านปัจจัยที่ใส่เข้าไป เช่น แนวทางการสอนของครู เปลี่ยนหนังสือเรียน เปลี่ยนเวลาเรียน ซึ่งก็พบว่า ประเด็นสำคัญมากคือเด็กควรที่จะมีเวลาเพียงพอเพื่อให้ตามสิ่งที่เขาสนใจได้ทัน เป็นบางอย่างที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เอสเทอร์และศาสตราจารย์อภิจิตได้จัดโครงการแจกถั่วในอินเดียให้กับพ่อแม่ที่นำลูกไปฉีดวัคซีน รวมทั้งตั้งโครงการไมโครเครดิต เพื่อให้เงินกู้แก่คนจนเริ่มต้นทำธุรกิจในไฮเดอราบาด แต่ช่วยได้เล็กน้อย ขณะที่การทำโครงการลักษณะเดียวกันนี้ที่บอสเนียเฮอร์เซโกวีนา เอธิโอเปีย โมรอกโก เม็กซิโก มองโกเลีย ก็ได้ผลไม่ต่างกัน คือ ช่วยได้เล็กน้อย

ศาสตราจารย์อภิจิตและศาสตราจารย์เอสเทอร์เชื่อว่า ไม่มีแนวทางเดียวที่แก้ไขความยากจนได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ต้องใช้หลายวิธีประกอบกัน เพื่อช่วยยกระดับชีวิต การมีข้อมูลง่ายก็จะช่วยสร้างความแตกต่างอย่างมาก การดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้องบนพื้นฐานข้อมูลที่มี ข้อมูลที่รู้ หรือนวัตกรรมต่างๆ เช่น ไมโครเครดิต เงินโอนอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ

ทั้งคู่ยังหวังว่าประเทศยากจนจะไม่ล้มเหลวเพียงเพราะยากจน หรือเพราะว่าไม่มีประวัติศาสตร์ที่โชคดี แต่สิ่งที่ต้องจัดการคือ ความละเลย การไม่ใส่ใจ อุดมการณ์ และความเฉื่อย

ในปีนี้หนังสือเล่มที่สอง Good Economics for Hard Times ที่ร่วมกันเขียนจะออกเผยแพร่ในปลายปีนี้

งานวิจัยที่ฉีกกฎเดิมๆ ลงพื้นที่จริงทดลองจริง

ที่มาภาพ: https://news.harvard.edu/gazette/story/2019/10/harvards-michael-kremer-recognized-with-nobel-in-economics/
โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลและองค์กรเพื่อการกุศลต่างๆ มักเข้ามาแทรกแซงการช่วยเหลือคนจน และมักใช้วิธีการตั้งสถาบันขึ้นใหม่ โดยไม่รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนนี้ได้ทำงานวิจัยร่วมกัน ด้วยการลงพื้นที่ที่ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึก จากการทดสอบการตอบสนองของคนจนต่อการศึกษา การดูแลสุขภาพและโครงการอื่นที่จะช่วยยกระดับชีวิตพ้นจากความยากจน พร้อมเจาะไปที่การเข้าไปจัดการของรัฐในหลายด้าน แต่ 3 ด้านหลักได้แก่ 1) การที่ครูไม่มาโรงเรียน 2) การแจกเงินให้กับคนจนที่จนมาก และ 3) ผลกระทบการเข้าถึงหนังสือเรียนของเด็ก

นอกจากนี้ รูปแบบของงานวิจัยยังไปสู่การพัฒนาแนวทางใหม่ในการศึกษาเรื่องขจัดความยากจน เพราะใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบควบคุม (Randomized Controlled Trials – RCTs) การจัดการของภาครัฐหรือการแทรกแซงไม่ได้ใช้เฉพาะบางพื้นที่แต่ไม่ใช่พื้นที่ควบคุม ซึ่งทำให้นักวิจัยรายอื่นแยกผลกระทบได้ว่าอันไหนมาจากการแทรกแซงหรือการเข้าจัดการของรัฐ สามารถนำไปต่อยอดงานวิจัยได้ อีกทั้งไม่ใช่งานวิจัยในห้องทดลอง แต่นำนวัตกรรมไปใช้กับการแก้ไขปัญหาจริงในพื้นที่จริง

ทั้งสามคนได้ทำงานวิจัยในเคนยา อินเดีย เน้นไปในด้านการศึกษา ที่ตั้งคำถามว่าความช่วยเหลือด้านไหนที่โรงเรียนเขตต่างจังหวัดยังอ่อนแอและต้องการ ซึ่งคำตอบมีหลากหลาย เช่น หนังสือเรียน หรืออาหารกลางวัน

เพื่อให้ได้คำตอบ ศาสตราจารย์ไมเคิลได้เดินทางลงพื้นที่ชนบททางตะวันตกของเคนยาในกลางทศวรรษ 1990 เพื่อทำการทดลองหลายชุดที่ออกแบบร่วมกับองค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศ โดยในการศึกษาแบบหนึ่ง โรงเรียนจัดหาครูมาจำนวนมาก อีกโรงเรียนหนึ่งมีการจัดหาอาหารกลางวันฟรีให้กับนักเรียน แต่ท้ายที่สุดศาสตราจารย์เครเมอร์และทีมงานพบว่าทั้งสองแนวไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในห้องเรียน

การมอบหนังสือเรียน การจัดให้มีอาหารกลางวัน และการจัดครูมาสอนไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนได้มากขึ้น แต่การทำให้การบ้านโรงเรียนมีความสำคัญกับเด็กมากขึ้น รวมทั้งการทำงานการดูแลอย่างใกล้ชิดกับเด็กที่ยังขาด รวมทั้งการทำให้ครูมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วยการทำสัญญาระยะสั้น เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในประเทศที่ครูมักไม่สนใจจะมาสอน

ต่อมาศาสตราจารย์อภิจิตและศาสตราจารย์เอสเทอร์นำผลการศึกษาของศาสตราจารย์เครเมอร์ไปต่อยอดทำวิจัยในอินเดีย ด้วยการกำหนดการทดลองที่มีการควบคุม ซึ่งพบว่า ผู้ช่วยครูที่ให้ความสนใจและใส่ใจกับเด็กที่ต้องการการดูแลพิเศษมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น จะให้ผลลัพธ์ทางบวกที่มีผลต่อการเรียนดีขึ้น

ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งสามคนมีข้อแนะนำว่า การจัดการเรียนการสอนแบบเรียนเสริมจะมีผลเชิงบวกต่อเด็กมากกว่า 5 ล้านคน

ศาสตราจารย์ไมเคิลและนักวิจัยอื่นๆ พบว่า การจัดให้มีการดูแลสุขภาพที่ไม่มีค่าใช้จ่ายจะทำให้เกิดผลที่แตกต่างอย่างมาก โดยมีพ่อแม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 หรือ 18% เท่านั้นที่ให้ลูกๆ กินยาถ่ายพยาธิหากต้องใช้เงินซื้อ แม้รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลจนยามีราคาต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ ขณะที่พ่อแม่ 75% ให้ลูกกินยาเมื่อได้รับยามาฟรี

ด้วยเหตุนี้องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) แนะนำว่ารัฐบาลควรแจกยาให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีการติดพยาธิปรสิตจำนวนมาก

ศาสตราจารย์เครเมอร์และศาสตราจารย์เอสเทอร์นำผลการศึกษานี้มอบให้กับ Deworm the World ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลให้การรักษาเด็กได้ราว 300 ล้านคนทั่วโลกในปี 2018

ในปีที่แล้วศาสตราจารย์เครเมอร์ได้รางวัลจาก Boris Mints Institute จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ

ที่มาภาพ: https://www.nobelprize.org/uploads/2019/10/fig3_ek_en_19_improved_vaccination_rates.pdf

เรียบเรียงจาก nobleprize, bbc, cbsnews, bostonblobe, vox