ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรี ประเมินใช้เงินอย่างน้อย 1.7 ล้านล้าน อัดสภาพคล่องให้ธุรกิจรอดวิกฤติไวรัส

วิจัยกรุงศรี ประเมินใช้เงินอย่างน้อย 1.7 ล้านล้าน อัดสภาพคล่องให้ธุรกิจรอดวิกฤติไวรัส

7 เมษายน 2020


วิจัยกรุงศรีเผยแพร่บทวิเคราะห์ Research Intelligence ประจำเดือนเมษายน ในหัวข้อ Covid-19 Impact on the Thai Economy and Vulnerability of Thai Firms ผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยและความเปราะบางของบริษัทไทย

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและกระจายไปทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อควบคุมการระบาด โดยได้เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 26 มีนาคม ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนเป็นอย่างน้อย จึงส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ยกเว้นภาคธุรกิจที่จำเป็น เช่น ธุรกิจอาหาร การคมนาคมขนส่ง และสาธารณูปโภค

วิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 และได้ข้อสรุปว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ และจากการวิเคราะห์ลงไปในระดับบริษัทด้วยการใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ 747,390 บริษัทในประเทศ เพื่อดูผลกระทบให้ลึกลงไป จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยลดลง 60% และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก 2 เดือนติดต่อกัน ก็พบว่า จะสร้างปัญหาสภาพคล่องให้กับ 90,000 บริษัท

กลุ่มที่เปราะบางต่อการขาดสภาพคล่องมากที่สุดคือผู้ประกอบการร้านอาหาร ตามมาด้วยกลุ่มขนส่งทางอากาศรายเล็ก ผู้ประกอบการโรงแรม อีกทั้งบริษัทขนาดเล็กเปราะบางกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนบริษัทขนาดใหญ่นั้น กลุ่มร้านอาหาร ดีลเลอร์รถยนต์ และโรงแรม มีความเสี่ยงต่อการระบาดมากกว่า จึงมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มอื่นๆ

โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยต้องใช้เงินอย่างน้อย 1.7 ล้านล้านบาทอัดฉีดสภาพคล่องให้กับธุรกิจเพื่อให้รอดพ้นจากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

จากซัพพลายช็อกสู่ดีมานด์ช็อก

องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ของโลกวันที่ 11 มีนาคม หลังจากการระบาดที่อุบัติขึ้นในจีนได้แพร่ระบาดไป 115 ประเทศทั่วโลก ณ วันที่ 3 เมษายนจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 1 ล้านรายในกว่า 200 ประเทศ และยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่กับผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ในประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อมาถึงจุดชี้ชะตาว่าจะไปทางประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อต่ำ เช่น ญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ หรือไปทางประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อสูง เช่น อิตาลีและสหรัฐฯ จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มขึ้นราว 33% ต่อวัน หากเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจะสูงเกินกว่า 350,000 รายในวันที่ 15 เมษายน 2563 จากการประเมินของ ดร.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และได้ย้ำว่า เพื่อไม่ให้ระบบสาธารณสุขของประเทศแบกรับภาระมากเกินไป จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ควรเพิ่มขึ้นเกิน 20% ต่อวัน หากสามารถทำได้ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในไทยจะมีจำนวน 24,269 รายในวันที่ 15 เมษายน 2563

จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยยังเพิ่มขึ้น และการระบาดของโควิด-19 ได้แพร่ะกระจายไปทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และไม่มีสัญญานที่จะลดลง โดย ณ วันที่ 3 เมษายน 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อใกล้ถึง 2,000 ราย ผู้ติดเชื้อในเมืองใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การระบาดใหญ่ของไวรัสทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่เข้มขึ้นมากขึ้น มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งรวมถึงการปิดพรมแดนห้ามชาวต่างชาติเข้าไทย (ยกเว้น การขนส่งสินค้า นักการทูต และนักบิน หรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรี) สั่งห้ามการรวมตัวของคนจำนวนมาก และปิดพื้นที่เสี่ยง (เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย และสถานบันเทิง)

การระบาดของไวรัส และมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวในทันที และทำให้ห่วงโซ่การผลิตขาดตอน การระบาดใหญ่ของไวรัสทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดอย่างมาก ระหว่างวันที่ 1-28 มีนาคม 2563 นักท่องเที่ยวขาเข้าจากสนามบิน 5 แห่งลดลง 78.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

หลายประเทศได้ใช้มาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ซึ่งมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเหล่านี้ช่วยในการควบคุมการระบาดของไวรัส แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ไม่มีการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง อีกทั้งยังกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศและของโลก ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะแตะระดับสูงสุดหรือพีก (peak) ในเดือนเมษายน แต่การระบาดยังต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ดังนั้นจึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับต่ำ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังคงมีไม่มาก และอาจจะมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นมากขึ้นไปอีกในอีก 2 เดือนข้างหน้า

จากแบบจำลองที่ใช้ จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเกือบ 20,000 รายในช่วงนั้น แต่หากมาตรการควบคุมไม่แรงพอ จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะเพิ่มสูงถึง 80,000 ราย และผลที่ได้จากแบบจำลองการระบาดของไวรัสจะพีกในช่วงหลังของเดือนเมษายน และจะควบคุมได้ในสิ้นเดือนพฤษภาคม

การขาดตอนของอุปทาน (ปริมาณสินค้า) ในประเทศนำไปสู่อุปสงค์ (ความต้องการ) ที่อ่อนตัว ภาวะการชะงักงันด้านอุปทานจะส่งผลกระทบในวงกว้างไปยังด้านอุปสงค์ ลูกจ้างอาจจะมีรายได้น้อยลงหรืออาจจะถูกให้ออกจากงาน ส่วนผู้ค้าขายอิสระอาจจะไม่มีรายได้ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงัก และเมื่อสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น ผลกระทบทางลบของตัวทวีคูณรายได้ (negative multiplier effect) จะเริ่มขึ้น และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจผ่านอุปทานและอุปสงค์ที่ลดลงและกระทบกันเป็นลูกโซ่

ทั้งนี้เห็นได้จากการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการสำรวจการจ้างงานผ่านระบบออนไลน์พบว่าลดลงอย่างมากในเดือนที่ผ่านมา การเปิดรับสมัครงานที่เสนอผ่านเว็บไซต์ JobDB ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ลดลง 22.1% ตั้งแต่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ สวนทางกับการเพิ่มขึ้น 4% ในเดือนกุมภาพันธ์ และการเปิดรับสมัครงานในธุรกิจการเดินทางลดลงติดต่อกันสองเดือน

ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย

จากสถาการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วิจัยกรุงศรีได้ปรับแบบจำลองเป็นครั้งที่สามเพื่อใส่สมมติฐานที่ถูกต้อง ทั้งการชะงักงันทั่วโลก มาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ และผลทางลบจากตัวทวีคูณที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้ผลว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดมากที่สุด เมื่อประเมินจากมาตรการล็อกดาวน์สองเดือนและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง 60% แล้ว การระบาดของไวรัสจะทำให้เศรษฐกิจโลกลดลง 3.2% จากประมาณการณ์เดิม เศรษฐกิจอาเซียนจะลดลงราว 2.1-5.4% ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การขาดตอนของห่วงโซ่การผลิตทั้งในและต่างประเทศ และผลของตัวทวีคูณ เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะลดลงไป 5.4% จากประมาณการณ์เดิม

ที่สำคัญมากกว่านั้น แบบจำลองยังพบว่าหากมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศกินเวลา 2 เดือน เศรษฐกิจจะเสียหายเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า เนื่องจากผลกระทบทางลบของตัวทวีคูณเป็นหลัก ในครึ่งหลังของปี แม้จะผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายไปได้ แต่การระบาดก็ยังทิ้งผลกระทบให้กับเศรษฐกิจไทย ความเชื่อมั่นที่อ่อนแอจะยังคงกระทบภาคการท่องเที่ยวและตัวทวีคูณจะผลกระทบระยะยาวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม

จากการประเมินว่ามาตรการล็อกดาวน์ในประเทศกินเวลา 2 เดือน วิจัยกรุงศรีจึงได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงอีก จากติดลบ 0.8% เป็นติดลบ 5.0% ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 1998 และเป็นการปรับลดครั้งที่สามในเวลาไม่ถึง 3 เดือน

ผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 จะยังคงเลวร้าย เพราะการระบาดได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย และอาจจะขยายระยะเวลาการใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นออกไป นอกจากนี้ภาวะภัยแล้งและความล่าช้าในการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน บวกกับความเชื่อมั่นที่อ่อนตัวและผลกระทบของ พ.ร.บ.งบประมาณ และผลกระทบทางลบที่สะท้อน จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่รับแรงกระแทกจากการระบาดของไวรัสอยู่แล้ว

การคาดการณ์จีดีพีครั้งนี้ได้ประเมินผลของมาตรการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการป้องกันความปั่นป่วนของตลาดเงินไว้แล้ว รวมทั้งการส่งออกที่หดตัว การทรุดตัวของธุรกิจท่องเที่ยว

ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ โรงแรมที่พัก และร้านอาหาร รองลงมาคือ กลุ่มสันทนาการ ปิโตรเลียม และธุรกิจบริการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการทรุดตัวของธุรกิจท่องเที่ยวและการขาดตอนของห่วงโซ่การผลิตทั้งในและต่างประเทศเท่านั้น แต่มาจากผลของตัวทวีคูณด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากทั้งในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ

มาตรการล็อกดาวน์และการขาดสภาพคล่องรุนแรงของบริษัท

ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษายอดขายและกำไรไว้ได้ บางบริษัทอาจจะรายงานกำไรลดลงและเงินทุนลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีสภาพคล่องสูงก็จะผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้ ดังนั้นวิจัยกรุงศรีจึงใช้อัตราส่วนสภาพคล่องในปัจจุบันมาประเมินความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้ในระยะสั้น (อัตราส่วนสภาพคล่องหมายถึงสินทรัพย์หมุนเวียนเทียบกับหนี้สินหมุนเวียน) ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนจะมีความสามารถในการชำระหนี้ในปัจจุบัน

การระบาดใหญ่ของไวรัสอาจจะมีผลต่อรายได้และสินทรัพย์ทางบัญชี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสด ดังนั้นบริษัทที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนต่ำกว่าหนี้สินหมุนเวียน อาจจะมีปัญหาสภาพคล่องรุนแรง

เมื่อนำข้อมูลจีดีพีรายภาคธุรกิจที่ลดลงมาร่วมประเมินกับข้อมูลรายบริษัทแล้ว พบว่า บริษัทที่สภาพคล่องตึงตัวมีจำนวนเพิ่มขึ้น อันเนื่องจากการระบาดของไวรัส จากจำนวนบริษัทที่มีในประเทศไทย 747,390 แห่งแล้ว บริษัทที่เปราะบางและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องรุนแรงเพิ่มขึ้นจาก 102,076 แห่งก่อนที่มีจะการระบาดเป็น 133,444 แห่ง หากใช้มาตรการล็อกดาวน์หนึ่งเดือน แต่หากใช้มาตรการล็อกดาวน์สองเดือนบริษัทที่จะมีปัญหาสภาพคล่องรุนแรงจะเพิ่มเป็น 192,046 แห่ง

ร้านอาหาร สายการบิน และโรงแรมในปีนี้จะเป็นปีที่ยากลำบาก คาดว่าจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จะเพิ่มเป็น 39% จากช่วงก่อนการระบาด ส่วนโรงแรมขนาดเล็กและสายการบินนั้นจำนวนผู้ประกอบการที่ที่ต้องการสภาพคล่องจะเพิ่มเป็น 35% และ 27% ตามลำดับ และแม้ว่าธนาคารจะมีโอกาสที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน แต่ก็ยังมีสภาพคล่องสูง ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหมดมีสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งกว่า

จากการประเมินผลกระทบจากขนาดของบริษัท กลุ่มที่เปราะบางสุดคือบริษัทขนาดเล็ก โดยจำนวนบริษัทที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้เพิ่มขึ้น 19.3% ขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่อาจจะมีปัญหาสภาพคล่องมีจำนวนเพิ่มขึ้น 13.0% และ 7.2% ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทขนาดเล็กเปราะบางกว่ากลุ่มอื่นๆ

ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจร้านอาหาร ดีลเลอร์รถยนต์ และโรงแรม มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาด และมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากกว่า บริษัทใหญ่ในธุรกิจอื่นๆ ส่วนบริษัทขนาดกลาง กลุ่มที่มีความเปราะบาง คือร้านอาหาร บริการทางการเงินอื่นๆ และดีลเลอร์รถยนต์

หากวัดจากพื้นที่ จำนวนบริษัทที่อาจจะมีปัญหาสภาพคล่องตึงตัวเพิ่มขึ้นกระจุกในจังหวัดสมุทรสาคร จันทบุรี และชลบุรี เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และเป็นย่านอุตสาหกรรมอีกด้วย ส่วนในกรุงเทพฯ จำนวนบริษัทที่อาจจะมีปัญหาสภาพคล่องตึงตัวเพิ่มขึ้น 20.6% โอกาสที่บริษัทในจังหวัดเหล่านี้จะผิดนัดชำระหนี้มีสูงกว่า และอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบรอบสองต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ จากการที่การจ้างงานลดลงและรายได้น้อยลง ในที่สุดผลกระทบก็จะกลับมาสู่เศรษฐกิจโดยรวม

โดยรวมแล้ว การระบาดของโควิด-19 อาจจะส่งผลให้บริษัทในประเทศไทยต้องการสภาพคล่องระยะสั้นสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท หรือราว 10% ของจีดีพี

ทั้งนี้ประเมินจากจำนวนเงินที่จะไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ภายใน 1 ปีข้างหน้า หากไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างธุรกิจ บริษัทในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกแต่ละภาคธุรกิจต่างต้องการเงินราว 200,000 ล้านบาทเพื่อชำระหนี้ระยะสั้น

ขณะเดียวกัน ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ และธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด อาจจะต้องการเงิน 30,000-50,000 ล้านบาทเพื่อความอยู่รอด โดยรวมแล้วสัดส่วนเกือบ 60% ของบริษัทที่ประสบปัญหาจะต้องใช้เงินมากกว่า 1 ล้านบาทต่อราย

การระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสเริ่มมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ไม่มีภาคธุรกิจใดไม่ได้รับผล ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรและรายได้ของบริษัทลดลง และจะประสบปัญหาสภาพคล่องตึงตัว อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยยิ่งดำดิ่งถดถอยมากขึ้นอีก

การวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรีพบว่า เฉพาะภาคธุรกิจในระบบต้องการเงินจำนวน 1.7 ล้านล้านบาทเพื่อรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ หากรวมเศรษฐกิจนอกระบบและภาคครัวเรือนเข้าไปด้วย ก็จะต้องใช้เงินมากกว่านี้มากเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดหนักจากการระบาดของไวรัส