ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ลูกหนี้เช็คคุณสมบัติด่วน! ธปท.เปิดแบงก์ขอซอฟต์โลนปล่อยกู้ช่วยฟื้นฟู-พักหนี้ 26 เม.ย. นี้

ลูกหนี้เช็คคุณสมบัติด่วน! ธปท.เปิดแบงก์ขอซอฟต์โลนปล่อยกู้ช่วยฟื้นฟู-พักหนี้ 26 เม.ย. นี้

19 เมษายน 2021


นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 อนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ (1) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และ (2) มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้)

  • คลัง- ธปท. ทุ่ม 350,000 ล้าน อุ้มลูกหนี้ฝ่าวิกฤติโควิด
  • พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ ดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 ในการนี้ ธปท. จึงได้ออกประกาศจำนวน 2 ฉบับ เพื่อกำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หลักการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอกู้เงินจาก ธปท. ตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ได้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและ ธปท. ได้เตรียมความพร้อมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถกระจายเม็ดเงินไปสู่ลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว โดยขอให้สถาบันการเงินรับคำขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือจากลูกหนี้ได้ตั้งแต่ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ธปท. www.bot.or.th และติดต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

    สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง และยังคงแพร่ระบาดเป็นวงกว้างนั้น ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ โดยพร้อมที่จะออกมาตรการช่วยเหลือที่จำเป็นเพิ่มเติมจากมาตรการฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ นอกจากนี้ สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหารือกับผู้ให้บริการทางการเงิน สมาคม ชมรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยผ่านมาตรการการให้ความช่วยเหลือและมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้อย่างต่อเนื่อง

    1) เกณฑ์มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ จะมีผลบังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

    กรณีผู้ประกอบธุรกิจมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

  • ต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สินทรัพย์จัดชั่นสงสัยจะสูญ สินทรัพย์จัดชั้นสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน หรือประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แล้วแต่กรณี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
  • ไม่เป็นบริษัทที่มีหลักรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย เว้นแต่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI)
  • ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน
  • วงเงินสินเชื่อที่สถาบันการเงินจะให้ผู้ประกอบธุรกิจกู้ยืมไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อข้างต้นไม่รวมถึงวงเงินสินเชื่อ เพื่อการอุปโภคบริโภคตามประกาศนี้
  • กรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินทุกแห่ง

  • สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท
  • ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการใช้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ ลดผลกระทบต่อการจ้างงาน และฟื้นฟูการประกอบธุรกิจ และ ไม่ให้นำเงินสินเชื่อดังกล่าวมาชำระหนี้เดิมที่มีอยู่กับสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมเงิน

    สำหรับระยะเวลาการชำระหนี้ของสินเชื่อดังกล่าวอาจเกินกว่า 5 ปี หรือสอดคล้องกับระยะเวลาที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมค้ำประกันสินเชื่อก็ได้ โดยในช่วง 5 ปีแรกของสัญญากู้ยืมเงินที่สถาบันการเงินทำกับผู้ประกอบธุรกิจ สถาบันการเงินต้องคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาสองปีแรกของ สัญญาให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี โดยในการทยอยเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ให้สถาบันการเงินพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ

    สถาบันการเงินต้องไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือนแรกนับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับสินเชื่องวดแรกของการยื่นขอกู้ยืมเงินจาก ธปท. แต่ละครั้ง

    2) เกณฑ์มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้

  • ผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้นอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 กรณีผู้ประกอบธุรกิจเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 ต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน จัดชั้นสงสัย จัดชั้นสงสัยจะสูญ หรือ จัดชั้นสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน หรือของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แล้วแต่กรณี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และ ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน
  • ทรัพย์สินเป็นหลักประกันที่สถาบันการเงินจะรับโอนตามมาตรการต้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินนำมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายไทยกับสถาบันการเงินนั้นก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อประกันการชำระหนี้ของสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ
  • สถาบันการเงินต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจ เจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน หรือบุคคลอื่นซึ่งผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันกำหนด มีสิทธิซื้อทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันคืนได้ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่รับโอนทั้งนี้ ภายในระยะเวลาการใช้สิทธิซื้อคืน สถาบันการเงินต้องไม่นำทรัพย์สินที่รับโอนไปขายให้บุคคลอื่น
  • สถาบันการเงินต้องให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน เช่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อนำไปประกอบธุรกิจตามสภาพแห่งทรัพย์สินได้ ตามอัตราค่าเช่าที่จะตกลงกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันต้องแจ้งความประสงค์เช่าทรัพย์สินภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สถาบันการเงินรับโอน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแสดงความประสงค์ไม่เช่าทรัพย์สิน หรือไม่แจ้งความประสงค์จะใช้สิทธิเช่าภายในระยะเวลาดังกล่าว สถาบันการเงินอาจนำทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นเช่าก็ได้ โดยสัญญาเช่าทรัพย์สินที่ทำกับบุคคลอื่นดังกล่าวต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการซื้อทรัพย์สินคืน
  • ราคาทรัพย์สินที่รับโอนซึ่งสถาบันการเงินจะขายคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ต้องไม่สูงกว่าราคาที่รับโอนไว้ รวมกับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาทรัพย์สินดังกล่าว (carryjing cost) อีกไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ของราคาที่รับโอน และค่าใช้จ่ายอื่นที่สถาบันการเงินได้จ่ายไปเพื่อดูแลรักษาทรัพย์สินตามมาตรการ ทั้งนี้ ตามที่สถาบันการเงินได้จ่ายไปจริง โดยให้พิจารณาให้สอดคล้องกับการดูแลรักษาทรัพย์สินที่ผ่านมาของผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน