ThaiPublica > เกาะกระแส > World Bank ชี้ไทยพ้นจุดต่ำสุด เร่งฟื้นฟูศักยภาพด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล

World Bank ชี้ไทยพ้นจุดต่ำสุด เร่งฟื้นฟูศักยภาพด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล

14 ธันวาคม 2021


วันที่ 14 ธันวาคม 2564 ธนาคารโลกจัดแถลงข่าวผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลเปิดตัว “รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย – การอยู่ร่วมกับโควิดในโลกดิจิทัล” (Thailand Economic Monitor – Living with COVID in a Digital World) ประจำเดือนธันวาคม 2564 โดย ดร. เบอร์กิท ฮานสล์ (Birgit Hansl) ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก และนายไฆเม ฟรีอัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสฝ่ายการเงิน การแข่งขัน และนวัตกรรมธนาคารโลก

“รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย – การอยู่ร่วมกับโควิดในโลกดิจิทัล” ได้ทบทวนประเด็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจล่าสุด แนวโน้มในอนาคต และความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญหลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไตรมาสที่สาม รวมถึงเน้นย้ำว่าประเทศไทยสามารถสร้างคืนใหม่ให้ดีกว่าเดิมด้วยการเลือกดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 และส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว

รายงานระบุว่า หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สามของปี 2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ฟื้นตัวขึ้นในเวลาต่อมา และคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ในปีนี้

ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวว่า ในช่วงสามไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ GDP ไตรมาสสามติดลบ 3% จากการระบาดระลอกสาม เป็นผลจากการส่งออกที่ดีขึ้นและมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการบริโภค รวมไปถึงการปรับตัวของภาคเอกชน และถือว่าเศรษฐกิจไม่ได้ติดลบมากเท่ากับปี 2561 แต่ยังกำลังฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดในปลายปี 2565 ใกล้เคียงกับบางประเทศในอาเซียน

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสี่ดีขึ้น จากการกระจายของวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและเร็วกว่าคาดและน่าจะเข้าเป้าหมาย 70% ในปลายปีนี้”

“มีคำถามว่าเราจะอยู่กับโควิดในระยะกลางได้ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าเทียบจากการกระจายวัคซีนในต่างประเทศที่สูงขึ้นประมาณ 60-70% ของประชากร แม้ไวรัสแพร่กระจายสูง แต่ก็มีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง และการกระจายวัคซีนของไทยเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 4 จาก 40% ในช่วงก่อนหน้า มาใกล้เคียงกับระดับ 60-70% ของประชากรซึ่งเป็นระดับการฉีดวัคซีนที่ช่วยให้คนเสียชีวิตลดลง แต่ก็ยังคงต้องกระจายให้กับทุกคนรวมทั้งคนที่มีความเสี่ยง”

ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากการระบาดของโควิด อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่มีแรงงานส่วนหนึ่งที่โยกออกจากภาคอุตสาหกรรมหลังจากตกงานไปยังภาคเกษตร และกลายเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ และช่วยงานในครอบครัวมากขึ้น 3% สะท้อนว่าตลาดแรงงานมีความเปราะบาง

รัฐบาลได้ออกพ.ร.ก. 2 ฉบับเพื่อกู้เงินจำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งได้เบิกจ่ายเงินก้อนแรกค่อนข้างมากส่วนใหญ่เพื่อการเยียวยา ขณะที่ส่วนที่สองซึ่งจะเบิกในปีงบประมาณถัดไป ได้ช่วยประคับประคองครัวเรือนที่ยากจนและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

รายงานระบุว่า มาตรการช่วยเหลือทางการเงินหลายมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 อาจปกปิดจุดอ่อนที่แฝงอยู่ในคุณภาพสินเชื่อโดยไม่ตั้งใจ ความเสี่ยงที่มากับระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึงเกือบร้อยละ 90 ของ GDP ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อาจรุนแรงขึ้นได้จากมาตรการผ่อนปรนวงเงินสินเชื่อต่อมูลค่าเพื่อการกู้ยืมชั่วคราว โดยผู้กู้สามารถกู้ได้สูงสุดร้อยละ 100 ของมูลค่าบ้าน จนถึงสิ้นปีพ.ศ. 2565 จุดอ่อนทางการเงินของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงมีความเสี่ยง ตามสัดส่วน NPL ในกลุ่ม SMEs นั้น ยังคงสูงกว่าร้อยละ 7.0 ในช่วงสามไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2564 ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 4.5 ถึง 5.0 ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขยายวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SME จนถึงสิ้นปีพ.ศ. 2565 ในขณะที่ธุรกิจหลายแห่งได้เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ผ่านโครงการโกดังพักหนี้ (Asset Warehousing)

เศรษฐกิจไทยจะกลับที่ระดับเดิมก่อนปลายปี 2565 มาจากการส่งออกสินค้าที่ยังเป็นแรงหนุน รวมทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน ขณะที่การบริโภคกลับขยายตัวอีกครั้งจากความต้องการที่อั้นไว้ก่อนหน้า อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการบริโภค

การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวเกือบร้อยละ 4.0 ต่อปีในปี 2565 และ 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในปี 2564 ที่ร้อยละ 1.0 โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปี 2565 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีและเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 เป็นประมาณ 20 ล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 2562 ทั้งนี้ คาดว่าการท่องเที่ยวจะช่วยส่งผลต่ออัตราการเติบโตของ GDP ได้ร้อยละ 2 ในปี 2565 และร้อยละ 4 ในปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564

ในปี 2565 คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 และถึงร้อยละ 4.3 ในปี 2566 จากการบริโภค ขณะที่มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐจะลดลง เพราะความจำเป็นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง แต่หากมีการระบาดของไวรัสรอบใหม่ และรัฐต้องใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดอีกครั้งก็จะส่งผลให้ GDP ติดลบ 0.3% การฟื้นตัวก็จะช้าออกไปอีกปี

ยังมีพื้นที่ทางการคลังแต่นโยบายต้องเจาะจง

ด้านสถานการณ์การคลัง ฐานะการคลังจะขาดดุล 7.8% ต่อ GDP เพราะรัฐมีรายจ่ายเพื่อการดำเนินมาตรการมากกว่ารายได้ แต่ในปีงบประมาณหน้าการขาดดุลการคลังจะลดลงเหลือ 4.5%

รายงานระบุอีกว่า ปีงบประมาณ 2564 ดุลการคลังของรัฐบาลไทยขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.7 ของ GDP อันเนื่องมาจากมาตรการทางการคลังที่ใช้รองรับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58.2 ของ GDP โดยการจัดเก็บรายได้สำหรับปีงบประมาณ 2564 ตลอดทั้งปีนั้นใกล้เคียงกับช่วงสองปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 17.7 ของ GDP ทั้งนี้ การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.4 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.5 ในปีงบประมาณ 2563 และเพิ่มจากค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 20 ของช่วงระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2560 – 2562 นอกจากนี้ การอนุมัติให้กู้นอกกรอบวงเงินงบประมาณภายใต้วงเงิน พ.ร.ก.ฯ 1.5 ล้านล้านบาท

ดร.เกียรติพงศ์กล่าวว่า ผลจากการใช้มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐนั้นส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากกว่า 40% ของ GDP ก่อนโควิดเป็น 58.1% ของ GDP และคาดว่าหนี้คงค้างสาธารณะจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 62.2 ของ GDP ในปี2565 แม้สูงเป็นประวัติการณ์ แต่ยังอยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนทางการคลังและต่ำกว่าเพดานหนี้ที่กำหนดไว้ 70% ของ GDP

แนวโน้มหนี้สาธารณะยังคงสอดคล้องกับความยั่งยืนทางการคลังระยะปานกลาง โดยพิจารณาจากช่วงอัตราการเติบโตของ GDP อัตราดอกเบี้ย และการขาดดุลการคลังที่เหมาะสม ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านการคลังยังลดลงจากข้อเท็จจริงที่ว่าหนี้คงค้างส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท และโดยความพร้อมของสภาพคล่องภายในประเทศที่เพียงพอรองรับต่อความต้องการในการรีไฟแนนซ์ของรัฐบาล

“ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอที่จะดำเนินนโยบาย แต่นโยบายอาจจะต้องมีความเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น”

สำหรับความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง จากความไม่แน่นอนหลายประการ วิถีของการแพร่ระบาดทั่วโลกนั้นยังคงคาดเดาไม่ได้ และโอกาสในการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยจะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการฉีดวัคซีน ประสิทธิผลของวัคซีนต้านโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การดำเนินมาตรการป้องกันอื่นๆ และมาตรการตรวจหาเชื้อ/แกะรอยผู้ติดเชื้อ รวมถึงผลกระทบจากการเปิดประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนที่สำคัญเกี่ยวกับการปรับตัวของความต้องการด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรในระยะปานกลาง แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่มีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถควบคุมได้ก็ตาม แต่การหยุดชะงักของอุปทานและปัญหาคอขวดในด้านโลจิสติกส์อาจกลายเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งบริษัทไทยให้ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการค้าโลกได้อย่างเต็มที่ ถึงกระนั้น ก็ยังมีโอกาสด้านบวกจากการฟื้นตัวภายนอกประเทศที่แข็งแกร่ง และการสร้างสรรค์โอกาสใหม่ๆ ให้กับการค้าและการลงทุน ในตลาดบริการดิจิทัลที่ส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกที่มีความซับซ้อน พร้อมไปกับการขยายความต้องการสินค้าส่งออกของไทยให้กว้างขึ้น

คนจนเพิ่มขึ้น 1.6 แสน-โควิดทิ้งรอยแผลเป็นอีกนาน

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้จะเป็นรอยแผลเป็นสำหรับผลิตภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยไปอีกนาน การลงทุนที่ลดลงในปีพ.ศ. 2563 ทำให้ผลผลิตตามศักยภาพลดลง ส่งผลกระทบด้านลบที่รุนแรงขึ้นต่อประเด็นประชากรสูงวัยและการปรับเปลี่ยนปัจจัยการผลิตที่ล่าช้า การสูญเสียงานและการปิดโรงเรียนจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการสะสมทุนมนุษย์ ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการขนาดใหญ่จากรัฐบาลที่สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียทุนมนุษย์ขนานใหญ่เอาไว้ได้ ซึ่งตรงข้ามกับประเทศอื่นๆ

แต่การปิดกิจการของธุรกิจและการเลิกจ้างพนักงานมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการสูญเสียสินทรัพย์อันมีค่าที่ไม่สามารถจับต้องได้ เช่น การจัดการและความรู้ด้านเทคนิค ทักษะของพนักงาน และเครือข่ายและความสัมพันธ์ในที่ทำงาน แม้ว่าการลงทุนจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2564 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 แต่ระดับหนี้องค์กรและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นพร้อมกันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในระยะยาว ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงต่อภาคการเงินเมื่อมาตรการผ่อนปรนที่มีอยู่สิ้นสุดลง

ในทางกลับกัน การชะลอการลงทุนที่มีประสิทธิผลของบริษัทอันเนื่องมาจากงบดุลที่อ่อนแอจะส่งผลให้ผลผลิตตามศักยภาพลดลงในระยะปานกลาง ดังนั้น เพื่อลดโอกาสในการเกิดแผลเป็นจากการแพร่ระบาดและจัดการกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง จำเป็นต้องมีการเข้าแทรกแซงเพิ่มเติม ในบริบทนี้ การลงทุนในกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจะเปิดโอกาสที่มีค่าในการเพิ่มทั้งอุปสงค์และอุปทานในระยะสั้น ในขณะที่เพิ่มผลผลิตตามศักยภาพอย่างถาวรผ่านการเพิ่มผลิตภาพและลดความขัดแย้งของตลาด

อัตราความยากจนของประเทศไทยคาดว่าจะทรงตัวที่ร้อยละ 6.4 ในปี 2564 โดยมีคนยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 160,000 คน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี2563 แต่จากการสำรวจครัวเรือนทางโทรศัพท์ของธนาคารโลกปีพ.ศ. 2564 พบว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อกลุ่มเปราะบาง โดยรวมแล้ว มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทางโทรศัพท์ 2,000 ราย ได้รับผลกระทบจากการตกงาน การหยุดงานชั่วคราว และจำนวนชั่วโมงทำงานที่ลดลง หรือค่าจ้างที่ลดลง

“ในขณะที่แผลเป็นจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 อาจคงอยู่ไปอีกนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการสูญเสียงานและการปิดโรงเรียน” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “การพัฒนาที่นำโดยดิจิทัลสามารถช่วยชดเชยผลกระทบจากรอยแผลเป็นเหล่านี้ และทำให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตจะมีความทั่วถึงและเท่าเทียมกัน”

ฟื้นฟูศักยภาพด้วยการยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล

ดร.เกียรติพงศ์กล่าวว่า ประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย 1% ได้คำนึงผลการใช้ดิจิทัลอยู่แล้ว ส่งผลให้ตัวเลขของธนาคารโลกสูงกว่าหลายสำนัก เพราะคำนึงถึงการปรับตัวของเศรษฐกิจโดยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งในการทำงานที่บ้าน การดำเนินมาตรการเยียวยา

“ไทยเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคด้าน fintech ก่อนโควิด เพราะเรามีนวัตกรรม พร้อมเพย์ การชำระเงิน ซึ่งเป็นฐานการให้บริการที่ดีสำหรับเศรษฐกิจดิทัลและการปรับตัวของเศรษฐกิจในปีนี้”

“มองไปข้างหน้า เรามองว่าโดยโครงสร้าง เศรษฐกิจยังอยู่ระดับการอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า(advanceก manufacturing) ยังไม่ได้ยกระดับขึ้นไปสู่ การบริการดิจิทัล(digital service) เรายังเป็นโครงสร้างเดิม อุตสาหกรรมส่งออก การท่องเที่ยวที่บิการที่ไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลางยังไม่ได้รับแรงหนุนจากนวัตกรรมหรือผลิตภาพ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้อีก”

นายไฆเม กล่าวว่า “ประเทศตั้งเป้าที่จะก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2037 แต่ยังมีอุปสรรคในเชิงโครงสร้าง ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดดังจะเห็นได้จากผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity:TFP) ต่อเศรษฐกิจนั้นชะลอตัวลง ประเทศไทยต้องมีโมเดลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยึดนวัตกรรม และยกระดับเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะการมีดิจิทัลโซลูชันจะนำไปสู่การเติบโตและมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าเดิม”

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดในเดือนมีนาคม 2563 ร้อยละ 30 ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดในประเทศไทยเป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ และการบริโภคของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ร้อยละ 90 ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากสิงคโปร์ ตามรายงาน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองต่อมาตรการควบคุมการเดินทางที่ขยายระยะเวลาออกไป และเพื่อให้การปฏิบัติงานยังคงดำเนินต่อไป

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มีศักยภาพในการสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศไทยหลังการระบาดของโควิด-19 ไปพร้อมกับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว มาตรการควบคุมการเดินทางในช่วงของการระบาดและพฤติกรรมการระมัดระวังได้เพิ่มการใช้เทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ดิจิทัลมากขึ้นรวมถึงการใช้บริการดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจต่างๆ ช่วยส่งเสริมการค้าขายและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเชื่อมต่อธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดให้เชื่อมต่อสู่เครือข่ายระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การค้าดิจิทัลเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในประเทศไทย ที่ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมและช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีด้านนวัตกรรมทางการเงินยังเปิดโอกาสให้ MSMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้นซึ่งช่วยลดข้อจำกัดด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงค์อย่างแรงกล้าที่จะผลักดันวาระดิจิทัลภายใต้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0

ความพยายามในการส่งเสริมการแข่งขันและสร้างสภาวะแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรมนั้นมีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาดและเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบดิจิทัล ตลาดบริการดิจิทัลของประเทศไทยมีความเข้มข้นสูงจากการที่ตลาดการค้าดิจิทัลถูกครอบงำโดยผู้เล่นรายใหญ่สองราย เพื่อเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดดิจิทัล อาจต้องลดความซับซ้อนของกฎระเบียบด้านดิจิทัลลงและออกแบบเพื่อส่งเสริมให้บริษัทขนาดเล็กเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ การควบรวมกิจการที่เพิ่งเกิดขึ้น ได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องเข้ามาดูแลกฎระเบียบข้อบังคับใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน การขาดความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้จำกัดความก้าวหน้าของตลาดบริการดิจิทัล กฎระเบียบที่ส่งเสริมการแข่งขันจะช่วยลดโอกาสในการใช้อำนาจทางการตลาดในทางที่ผิด และส่งเสริมการทำงานร่วมกันข้ามแพลตฟอร์ม ในขณะที่กลไกส่งเสริมความโปร่งใสและขยายการเข้าถึงข้อมูลของธุรกิจสามารถช่วยกระตุ้นนวัตกรรม และส่งเสริมการเข้ามาของบริษัทใหม่ นอกจากนี้ การขยายข้อกำหนดเพื่อป้องกันการกักตุนคลื่นความถี่จะเพิ่มคุณภาพของบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์อีกด้วย

รายงานได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ในขณะที่รัฐบาลได้มีการดำเนินการในหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนวาระดิจิทัลแล้ว แต่รัฐบาลยังคงสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้อีกเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลและกระตุ้นธุรกิจดิจิทัล เช่น การส่งเสริมการแข่งขันและการจูงใจให้เกิดความสามารถในการทำงานร่วมกันในตลาดดิจิทัล การเพิ่มความพร้อมของทักษะด้านดิจิทัลและทักษะเสริมอื่นๆ รวมถึงยกระดับการเข้าถึงนวัตกรรมทางการเงิน

นอกจากนี้ ความพร้อมของทักษะดิจิทัลพร้อมกับความสามารถในการจัดการและบริหารองค์กรจะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ทักษะดังกล่าวมีความต้องการสูง แต่ขาดอุปทานยังไม่เพียงพอและทักษะที่นายจ้างต้องการแต่ลูกจ้างมีไม่ตรงกันส่งผลให้การจัดสรรทักษะที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น ภาคเอกชนต้องการให้พนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการจัดการข้อมูล การออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ เทคโนโลยีระบบบูรณาการ คลาวด์คอมพิวติ้ง และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) แต่วิชาเหล่านี้ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษา (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 2561) การนำมุมมองของภาคเอกชนมาประกอบการออกแบบหลักสูตรการศึกษาเพิ่มขึ้นจะสามารถช่วยให้มั่นใจได้ว่าการเรียนการสอนและฝึกอบรมจะสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง ไปพร้อมกับการปรับปรุงข้อมูลการตลาด และบริการจัดหางานจะสามารถช่วยลดทักษะที่ไม่ตรงกันได้ ท้ายที่สุด การเพิ่มทักษะและการปรับทักษะของแรงงานที่มีอยู่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเพิ่มพูนทักษะกำลังแรงงานที่มีอยู่ และลดการว่างงานได้

การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านนวัตกรรมจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs ในการใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัล ปัจจุบัน กองทุนร่วมลงทุนและนักลงทุนอิสระที่มาลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Angel Investor) ในภูมิภาค ยังคงเข้ามาลงทุนใน Startup ของไทยค่อนข้างน้อย ทำให้ Startup ในไทยยังไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภค ตลาด องค์ความรู้ และการสร้างเครื่อข่ายในระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ เงินทุนจากภาครัฐในการส่งเสริมนวัตกรรมก็มีแนวโน้มมุ่งเป้าไปที่บริษัทขนาดเล็ก และไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มบริษัทขนาดกลางที่เติบโตเกินกว่าขั้นตอนบ่มเพาะไปแล้ว การสำรวจ SMEs โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปีพ.ศ. 2563 เปิดเผยว่าเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง การขาดงบการเงินที่น่าเชื่อถือ และอัตรากำไรที่ต่ำ ทำให้ความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนของพวกเขาลดลง การให้กู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (P2P) และการระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) จะเป็นการเปิดโอกาสเพื่อช่วยลดข้อจำกัดเหล่านี้ลง กรอบกฎหมายที่เป็นหนึ่งเดียวและการลงทะเบียนหลักประกันจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของระบบธุรกรรมที่ปลอดภัย สามารถขยายระบบการรายงานสินเชื่อให้ครอบคลุมบริษัทต่างๆ ได้มากขึ้น และสุดท้าย นโยบายสำหรับการธนาคารแบบเปิดที่มีการออกแบบเป็นอย่างดีจะช่วยส่งเสริมการเติบโตด้านการจัดหาเงินทุนสำหรับนวัตกรรมได้