ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลก เปิดรายงานการพัฒนา‘58 ชี้มนุษย์ใช้ “เหตุผล” ตัดสินใจน้อยกว่าที่คิด – “อัมมาร” แนะรัฐวาง นบ.บนพฤติกรรมผู้คนมากขึ้น

ธนาคารโลก เปิดรายงานการพัฒนา‘58 ชี้มนุษย์ใช้ “เหตุผล” ตัดสินใจน้อยกว่าที่คิด – “อัมมาร” แนะรัฐวาง นบ.บนพฤติกรรมผู้คนมากขึ้น

22 มิถุนายน 2015


ธนาคารโลก เปิดรายงานการพัฒนาประจำปี 2558 ชี้มนุษย์ตัดสินใจ “อย่างสมเหตุสมผล” น้อยกว่าที่คิด – “อัมมาร” แนะรัฐทิ้งทฤษฎี วาง นบ.บนพฤติกรรมผู้คนมากขึ้น

DSC08150
(คนที่ 2 จากด้านขวา) ดร.วารุน กอรี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก ขณะนำเสนอรายงานการพัฒนาประจำปี 2558

การออกมาเปิดเผยรายงานการพัฒนาโลก (World Development Report) ประจำปี 2558 ของธนาคารโลก หรือ World Bank มีสิ่งที่น่าสนใจ เพราะไม่ได้พูดถึงประเด็นทางเศรษฐกิจอย่างรายงานชิ้นก่อนๆ แต่เป็นการพูดถึงพฤติกรรมของผู้คน ผ่านหัวข้อ “ความคิด สังคม และพฤติกรรม” จึงน่าสนใจว่า World Bank เริ่มส่งสัญญาณอะไรเป็นพิเศษถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจโลกในอนาคตหรือไม่

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร. วารุน กอรี (Dr. Varun Gauri) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มงานวิจัยเพื่อการพัฒนาของธนาคารโลก ได้นำเสนอรายงานชิ้นนี้ว่า หัวข้อของรายงานฉบับนี้ สืบเนื่องมาจากความสำคัญของวิชา “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” (behavioral economics) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและการตัดสินใจของคน ได้ถูกดึงเข้ามาใช้ในวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับวิธีคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจและนโยบายในปัจจุบัน ที่กำลังมุ่งสู่จุดหักเหมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกแบบนโยบายการพัฒนาใหม่ที่อิงกับพฤติกรรมและวิธีการคิดของประชาชนมากขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และทำให้นโยบายบรรลุเป้าหมายมากขึ้น

ดร. วารุน กล่าวว่า เดิม เราออกแบบนโยบายโดยอิงว่ามนุษย์จะตัดสินใจ “อย่างสมเหตุผล” ภายใต้ข้อมูลทั้งหมดที่มี รัฐมีหน้าที่แค่ “ให้คำแนะนำ” ผ่านการจัดตั้งสถาบันขึ้น จัดสรรทรัพยากรต่างๆ ให้ มีการเก็บภาษีหรืออุดหนุนสินค้าต่างๆ และให้ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะตอบสนองต่อนโยบายนั้นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา หลายครั้งกลับไม่ได้ตามเป้าหมาย

“รายงานชิ้นนี้ จึงเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อที่จะนำมาปรับใช้กับนโยบายของภาครัฐให้ดีขึ้น โดยภาคเอกชนได้เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ และนำไปประยุกต์ใช้นานแล้วว่าลูกค้าสนใจสินค้าอย่างไร และเลือกตัดสินใจอย่างไร ดังนั้น ถ้าภาครัฐเข้าใจพฤติกรรมของประชาชน ก็จะช่วยวางนโยบายให้เกิดผลมากที่สุดได้”

ตัวอย่างเช่น นโยบายสาธารณะสุขเรื่องการออกค่าใช้จ่ายร่วมกัน (co-pay) จากการศึกษาพฤติกรรมพบว่าอะไรที่ได้ฟรีประชาชนจะใช้มากกว่า แต่ถ้าคิดเงินพฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไปโดยใช้น้อยลง เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เข้าถึงประชาชนโดยทั่วไปเข้าถึงการประกันสุขภาพจริงๆ การไม่เก็บเงินอาจจะดีกว่า หรือการย้ายช่วงเวลาเปิดเทอมให้ตรงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวของเกษตรกร ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรมีรายได้สูงที่สุด อาจจะช่วยให้เกิดการตัดสินใจส่งลูกหลายเข้าเรียนมากกว่าการเปิดเทอมในช่วงเวลาอื่นๆที่เกษตรมีรายได้ต่ำกว่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ในรายงานของปีนี้ได้นำเสนอ “กรอบแนวคิด” เกี่ยวกับวิธีคิดของคน ซี่งมีอยู่ 3 วิธี

คนมักคิดแบบอัตโนมัติ ด้วยประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ขณะที่การคิดวิเคราะห์ “อย่างสมเหตุผล” ตามการออกแบบนโยบายแบบเดิม เช่นคนจะชั่งน้ำหนักความสำคัญของทางเลือกต่างๆ กลับเกิดขึ้นน้อยมากกว่าที่คิด

คนมักได้รับอิทธิพลจากสังคม เนื่องจากการเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ จึงทำให้เรามีแนวโน้มจะร่วมมือกัน ดังนั้นการออกแบบนโยบายโดยสนับสนุนค่านิยมหรือเครือข่ายสังคมจะปรับพฤติกรรมของประชาชนได้

คนมักจะรับแนวคิดจากต้นแบบ ทางสังคม โดยไม่คิดค้นแนวคิดหรือพฤติกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะจากสังคมส่วนรวม จากประวัติศาสตร์ร่วมกัน ดังนั้นถ้าเราออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวย่อมทำให้สังคมยอมรับนโยบายได้ง่ายขึ้น

ดร. วารุน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องระวังอีกประการคือ ผู้ออกแบบนโยบายก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมเหมือนกับประชาชนด้วย ซึ่งหมายความว่าเขาเหล่านี้ย่อมคิดแบบอัตโนมัติ ได้รับอิทธิพลจากสังคม และรับแนวคิดจากต้นแบบ เช่นเดียวกัน จนอาจจะเกิดความผิดพลาดในการออกแบบนโยบายได้ ดังนั้นผู้ออกนโยบายต้องตระหนักและระวังอคติ ของตัวเอง รวมทั้งออกแบบองค์กรที่สามารถขจัดอคติเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด

“จากความเข้าใจใหม่ๆนี้ สิ่งที่สำคัญสำหรับการออกแบบนโยบายจึงไม่ใช่แค่ว่าจะใช้นโยบาย ‘อะไร’ แต่เกี่ยวข้องด้วยว่าจะนำนโยบายไปปฏิบัติ ‘อย่างไร’ ภายใต้บริบทต่างๆกันด้วย รายงานฉบับนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแนะแนวทางให้นักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถค้นพบความเป็นไปได้และข้อจำกัดของแนวทางใหม่นี้ในอนาคตต่อไป” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลกระบุ

(อ่าน รายงานการพัฒนาโลกประจำปี 2558 หัวข้อ “ความคิด สังคม และพฤติกรรม” ของธนาคารโลก ฉบับสมบูรณ์)

“อัมมาร” แนะ “โยนทิ้ง” ทฤษฎี – ทำความเข้าใจ “คน” มากขึ้น

ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวแสดงความเห็นต่อรายงานชิ้นนี้ของธนาคารโลก ว่า เนื้อหาในรายงานแบ่งเป็น 2 ส่วน 1.พฤติกรรมของมนุษย์ในฐานะเป็นเป้าหมายของนโยบาย และ 2.พฤติกรรมของผู้ออกแบบนโยบาย

“ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างมีแบบจำลองมาตรฐานอยู่ภายใต้ ‘ข้อสมมติ’ เรื่องความมีเหตุผลของคน ทำให้แบบจำลองและนโยบายมีพลังในการอธิบายและประโยชน์สูง แต่ในความเป็นจริง ‘ข้อสมมติ’ นี้ยังถือว่าห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริงมาก จึงกลายเป็นว่าแท้จริงแล้วแบบจำลองเหล่านี้กลับ ‘ไร้เดียงสา’ และนโยบายที่ใช้จึงไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ”

ดร. อัมมาร กล่าวว่า รายงานชิ้นนี้ถือว่าแหวกแนวมาก และตนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่ออกนโยบายหรือให้คำแนะนำเชิงนโยบาย นักเศรษฐศาสตร์มีแบบจำลองมาตรฐานอยู่คือพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งมีเสน่ห์มาก เพราะเราสนใจแต่ “ข้อจำกัด” ของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เราไม่สนใจ “ความชอบ” ของคนด้วยซ้ำ เพราะเราเชื่อว่าคนมีเหตุผลที่จะหาประโยชน์สูงสุดภายใต้ “ข้อจำกัด” เหล่านั้น เราจึงสร้างนโยบายพุ่งไปที่ “ข้อจำกัด” แทน เพื่อปรับพฤติกรรม มันง่ายมากจนทำให้เราคิดว่าปัญหาอะไรก็ตอบได้ทั้งนั้น เพราะหากเราสมมุติว่าคนมีเหตุผลที่จะแก้ปัญหาได้ และนโยบายที่ออกมาก็สมเหตุสมผล คนก็ต้องแก้ปัญหาและบรรลุเป้าหมายของนโยบายได้อย่างมีเหตุมีผล ถ้าจะมีปัญหาก็คือผู้ทำนโยบายออกแบบนโยบายมาไม่ดี สิ่งนี้ทำให้เราชอบแบบจำลองมาตรฐาน

“ปัญหาอย่างเดียวคือที่พูดมาทั้งหมดมันไม่จริง”

นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้ออกแบบนโยบายยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากถ้าเกิดเราละทิ้งข้อสมมติเรื่องเหตุผลของคนไป เราจะมีปัญหาตามมาอีกมากสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าบางทฤษฎีอาจจะพอโยนทิ้งได้ แต่การยึดข้อสมมตินี้เอาไว้จะช่วยให้เราสามารถให้คำแนะนำได้กว้างมาก เป็นการตอบคำถามเชิงนโยบายแบบรวดเร็วและทำตัวเหมือนเป็นตรายางได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงเราต้องเก็บข้อมูลต่างๆ มาประกอบมากมายในการออกแบบนโยบาย ซึ่งไม่ง่ายและจำเป็นต้องอาศัยความพยายาม รวมไปถึงความอดทนมาก ดังนั้น เพื่อลดความผิดพลาดของการออกแบบนโยบาย เราจึงควรเริ่มพยายามรับรู้และเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าข้อสมมติดังกล่าวมันไม่เป็นความจริง

“สิ่งที่ผมได้จากการมาทำนโยบายที่ TDRI คือ ผมเริ่มอ่อนไหวในการรับรู้ความคิดและการตัดสินใจของข้าราชการ แต่สำหรับรัฐบาล ผมเองยังไมเข้าใจสมองของนักการเมือง มันซับซ้อนเกินไป จนไม่สามารถอธิบายได้ว่าถ้าแนะนำนโยบายไปแล้วจะกลายเป็นอย่างไร ไหนจะเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องเงินทอง มันยาก ซับซ้อน แล้วพอมันซับซ้อนขึ้นมา นโยบายมันก็ผิดพลาดได้ เราจึงควรต้องเริ่มรับรู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น ” ดร. อัมมารกล่าว

WDR 2015 Inforgraphic(คลิกดูภาพขนาดใหญ่)