ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปี’62 โต 6% เจอแรงต้านศก.โลก ไทยโต 3.8% ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่อาจนานกว่าที่คาด

ธนาคารโลกชี้เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปี’62 โต 6% เจอแรงต้านศก.โลก ไทยโต 3.8% ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่อาจนานกว่าที่คาด

24 เมษายน 2019


ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ภายใต้ชื่อ Managing Headwinds ฉบับเดือนเมษายน 2562 พร้อมกับการแถลงข่าว โดยายแอนดรูว์ เมสัน รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

รายงานประเมินการเติบโตในปีนี้ไว้ที่ 6.0% จาก 6.3% ในปีก่อน เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและการที่จีนมีนโยบายชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รอดพ้นจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกในปีที่แล้วมาได้อย่างดี เนื่องจากกรอบนโยบายที่มีประสิทธิภาพและพื้นฐาน เศรษฐกิจที่มั่นคง รวมทั้งเศรษฐกิจมีความหลากหลายด้านผลผลิต อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีความยืดหยุ่น และนโยบายการคลังที่เข้มแข็ง

แม้ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าผ่อนคลายลง แต่การค้าโลกปีนี้น่าจะเติบโคแบบชะลอตัวลง ส่วนความต้องการในประเทศของภูมิภาคยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งช่วยทดแทนผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว

“การที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้สามารถรับมือกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยืดหยุ่นจะช่วยให้ความยากจนลดลง ซึ่งถือว่าได้ลดลงอย่างเป็นประวัติการณ์แล้ว ภายในปี 2564 เราคาดว่าอัตราความยากจนขั้นรุนแรงจะลดลงต่ำกว่า 3% แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนอีก 500 ล้านคนในภูมิภาคที่ยังขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกลับไปยากจนอีกครั้ง เรื่องนี้ยังคงเป็นความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงถึง” เอกสารข่าวของธนาคารโลกอ้างอิงนางวิกตอเรีย ควาวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ประเทศจีนยังคงใช้นโยบายเพื่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโต 6.2% ทั้งในปี 2562 และปี 2563 ลดลงจาก 6.6% ในปี 2561 ส่วนเศรษฐกิจอินโดนีเซียและมาเลเซียคาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจไทยและเวียดนามในปีนี้จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีที่แล้ว และสำหรับฟิลิปปินส์นั้น การอนุมัติงบประมาณของรัฐบาลที่ล่าช้าอาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควรในปีนี้ และคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปีหน้า

ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กในเอเชียแปซิฟิกยังคงเติบโตในระดับที่น่าพอใจ โครงการโคงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะช่วยให้เศรษฐกิจลาวและมองโกเลียเติบโตดีขึ้น เศรษฐกิจกัมพูชานั้นคาดว่าจะเติบโตอย่างเข้มแข็ง แม้จะเติบโตช้ากว่าปีที่แล้วเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคภายนอกประเทศอ่อนตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนเมียนมานั้นคาดว่านโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเมียนในระยะสั้น และคาดว่าการปฏิรูปโครงสร้างจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะปานกลาง

“ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเป็นไปในด้านบวก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักว่า ภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญกับความกดดันที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 และยังสามารถส่งผลกระทบด้านลบได้อีก ความไม่แน่นอนยังคงเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย รวมทั้งการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า โอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวเร็วกว่าคาดการณ์ไว้ รวมถึงปัญหาความตึงเครียดทางการค้าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ลมต้านจากเศรษฐกิจโลกเหล่านี้ต้องมีการจัดการอย่างแข็งขัน” นายแอนดรูว์ เมสัน รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

นายแอนดรูว์ เมสัน รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

สำหรับแนวทางการในการจัดการกับความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่นี้ รายงาน Managing Headwinds ได้ให้ข้อมูลอย่างละเอียดในการรับมือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น รายงานเรียกร้องให้เพิ่มความสามารถด้านนโยบายการคลัง โดยการเพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศซึ่งได้ลดลง จากการจัดการลดอัตราความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปี 2561 นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับนโยบายการเงินให้มีความเป็นกลางมากขึ้น เนื่องจากเงินทุนไหลออกนอกประเทศได้ลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้ รายงานยังเน้นถึงความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มผลิตภาพ กระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างโอกาสที่ดีกว่าให้กับภาคเอกชน และเสริมความเข้มแข็งให้กับทุนมนุษย์ของแต่ละประเทศ

ความเสี่ยงบางประการที่เพิ่มขึ้นเน้นให้เห็นถึงการลงทุนที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องด้านโครงการทางสังคมและโครงการประกันเพื่อปกป้องกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ทุกวันนี้ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกให้ความคุ้มครองทางสังคมครอบคลุมกลุ่มคนยากจนเพียง 20% ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ

เศรษฐกิจโลกเติบโต 2.7% ปีนี้

รายงานประเมินเศรษฐกิจโลกปีนี้ไว้ที่ 2.7% จากการชะลอตัวลงพร้อมกันในหลายประเทศตั้งแต่ต้นปี ก่อนที่จะกลับมามีเสถียรภาพและเติบโตในอัตรา 2.8% ในปี 2562 และ 2563 ส่วนประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจะขยายตัว 1.7% ในปี 2562 ลดลงจาก 2.1% ในปีที่แล้ว แต่จะชะลอตัวลงอีกครั้งในปี 2563-2564 โดยจะเติบโตเพียง 1.6% เนื่องจากตลาดแรงงานตึงตัว

ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ากำลังเข้าสู่การเติบโตระดับปานกลางตามศักยภาพระยะยาว เป็นผลจากข้อจำกัดด้านประชากรสูงวัยและแนวโน้มผลิตผลที่ลดลง

นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้าที่ยังคงอยู่จะทำให้การค้าโลกขยายตัวเฉลี่ย 3.3% ในปี 2562-2563 จากการลงทุนทั่วโลกที่อ่อนตัวลง ความไม่แน่นอนของนโยบาย และอัตราภาษีที่สูงขึ้น

ส่วนตลาดการเงินโลกยังคงมีความผันผวน แม้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ EMDE จะฟื้นตัวจากความผันผวนในปีที่แล้วที่ตลาดปรับตัวลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะช็อกทางการเงินที่เป็นผลจากความไม่แน่นอนของนโนบาย และแรงกดดันครั้งใหม่ในตลาดการเงินอาจจะทำให้เศรษฐกิจทั้งภูมิภาค EMDE ชะลอตัวลง

รายงานคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2562 และจะขยับเป็น 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2563

เศรษฐกิจไทยโต 3.8%

สำหรับเศรษฐกิจไทย รายงานคาดว่าจะขยายตัว 3.8% ในปี 2562 และขยายตัว 3.9% ในปี 2563 เนื่องจากประสบกับลมต้านจากกระแสเศรษฐกิจโลกทั้ง การชะลอตัวโดยรวม การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวไม่มากนัก และความตึงเครียดทางการค้า

เศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการขยายตัวของการบริโภคกับการลงทุนภาคเอกชน ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงด้านการส่งออกที่ชะลอตัว จากความไม่แน่นอนของการค้าโลกที่สูงขึ้น อาจจะทำให้มีการชะลอการลงทุนในภาคการส่งออกและภาคที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้นยังขึ้นกับการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่น่าจะต่อเนื่องในปีนี้ และสูงขึ้นในปีหน้าจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC

หากรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการได้ตามระยะเวลาที่กำหนดและไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณให้สูงขึ้น จะมีความเสี่ยงภายในประเทศ ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2560 และ 2561 ต่ำกว่าระดับ 60%

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางการเมือง แม้มีการจัดการเลือกตั้งไปแล้วในวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่อาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาด และอาจจะมีผลกระทบถึงความต่อเนื่องของโครงการรัฐ และอาจจะชะลอการตัดสินใจลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน