ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > Climate Action : “สมเจตนา ภาสกานนท์” กับเส้นทางสู่ Net Zero ของ ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ [2]

Climate Action : “สมเจตนา ภาสกานนท์” กับเส้นทางสู่ Net Zero ของ ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ [2]

10 ธันวาคม 2021


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พูดคุยกับนายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถึงยุทธศาสตร์องค์กรไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ภายในปีพ.ศ. 2573 หรือปีค.ศ.2030 จากนั้นค่อยนำไปสู่เป้าหมาย NET ZERO (องค์กรที่ไม่ปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ตามแนวทางของ SBTi (Science Based Target initiative) ภายในปีพ.ศ.2593 หรือค.ศ.2050

นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน
สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์

ต่อจากตอนที่1

มุ่งพลังงานสะอาดบนแนวคิด circular

นายสมเจตนากล่าวว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อดูจากค่าเฉลี่ยในอดีตและอนาคต หากไม่ดำเนินการเพิ่มเติม เครือจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มอีก 10 ล้านตันต่อปี แต่การไม่ทำอะไรเลยไม่ใช่ทางเลือกของเครือ เพราะมีเป้าหมายก้าวไปสู่ net zero ตาม SBTi หมายความ ว่าจะต้องลดลงต่อเนื่อง

ปัจจุบันทั่วโลกตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 50% โดยสหภาพยุโรปมุ่งลดลง 55% ในปี 2030 และปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ด้วยโครงการ ‘Fit for 55’ ในระดับองค์กรคาดว่าน่าจะมีการลดการปล่อยก๊าซขั้นต่ำ 50% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่สุดท้ายก็จะมีการเหลือก๊าซจากการปล่อยส่วนหนึ่ง เนื่องจากยังต้องมีการใช้พลังงาน

การลดก๊าซเรือนกระจกของเครือมี 6 เรื่องหลัก คือ หนึ่ง พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน สอง การพัฒนาการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สาม การใช้พลังงานในภาคขนส่งและโลจิสติกส์ สี่ การพัฒนาฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า ห้า ลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในภาคเกษตรกรรม หก การจัดการของเสียและน้ำเสีย

วิธีการไปสู่เป้าหมายของเครือฯ จึงไม่ใช่แค่การปรับฐานการผลิตหรือโมเดลธุรกิจภายในองค์กรเท่านั้น แต่สำคัญคือการร่วมมือกับคู่ค้า (supplier) และยิ่งกว่านั้นคือต้องหันไปใช้ ‘พลังงานสะอาด’ และพลังงานหมุนเวียนในแทบทุกกระบวนการผลิตขององค์กร

“สิ่งที่เรามองคือพลังงานหมุนเวียน ในเครือเรามองเห็นโอกาสเพราะ 80% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากการใช้ไฟฟ้า ซึ่งการใช้ไฟฟ้ามีโอกาสอย่างยิ่งที่จะทดแทนการผลิตใช้ไฟฟ้าในระบบด้วยการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นโอกาสที่ในเครือเราจะเน้นเรื่องนี้ และมีบริษัทในเครือช่วยธุรกิจในเครือโดยเฉพาะ จะครอบคลุมเรื่องการติดตั้งพลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงาน และมีการผลิตเหมือนโซลาร์ฟาร์มที่ผลิตไฟเข้าการไฟฟ้า มีใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ที่แสดงว่าการใช้ไฟของเราซื้อมาจากแหล่งผลิตที่เป็นพลังงานหมุนเวียน”

นายสมเจตนากล่าวว่า ในกระบวนการนอกจากพลังงานหมุนเวียน สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งหากทำได้ดีก็อาจอยู่ที่ 10-15% ต่อปี เป็นส่วนที่จำเป็นแต่ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด ด้านการจัดการขยะก็ยังมีโอกาสที่ทำได้ ปัจจุบันฟาร์มสุกรของ CPF ได้ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมด ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้ามาชดเชยการใช้ไฟฟ้าปกติได้ถึง 40% นับเป็นก้าวสำคัญก่อนเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการใช้ ‘พลังงานหมุนเวียน’ 100% เพื่อทดแทนการใช้ไฟฟ้าฝ่ายผลิตในระบบ โดยเฉพาะการนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งในโรงงาน พื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหมด พร้อมกับมีใบรับรองการใช้พลังงานหมุนเวียน

นายสมเจตนาให้ข้อมูลว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนเป็นหัวใจในการลดก๊าซเรือนกระจกของเครือฯ เมื่อสามารถใช้พลังงานสะอาดได้แล้วจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนประบวนการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการอุปโภคบริโภค การขนส่งสินค้าและบริการ ใช้พลังงานในอาคารพาณิชย์ ใช้ในการผลิตอาหารและเกษตรกรรม ทั้งหมดนำมาสู่อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือการจัดการของเสีย (waste management) โดยเฉพาะประเด็นอาหารและของเหลือจากกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นอกจากเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ net zero emission แล้ว เครือยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่เกี่ยวข้องมากกับธุรกิจของเครือ ซึ่งอยู่ในขอบเขตที่ 3 ตามมาตรฐาน SBTi คือ ขยะอาหาร(food waste) กับ ขยะที่ไปสู่การฝังกลบ(waste to landfill) เพราะทุกวันนี้อาหารทั่วโลกกว่า 1 ใน 3 ไม่ได้ใช้เพื่อการบริโภค แต่กลายเป็นขยะอาหารและสูญหายไประหว่างกระบวนการผลิต และสุดท้ายไปสู่หลุมฝังกลบ เป็นแหล่งก๊าซเรือนกระจก คือมีเทน ที่มีความเข้มข้นรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 28 เท่า เครือจึงหาทางใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้ทั้งหมด

“ทุกวันนี้อาหารทั่วโลกกว่า 1 ใน 3 ไม่ได้ใช้เพื่อการบริโภค ส่วนเครือของเรามี Food Waste ประมาณ 4.9 หมื่นตันต่อปีทั่วโลกที่สูญหายไประหว่างกระบวนการผลิตจากธุรกิจค้าปลีกของเครือ (ซีพี ออลล์ แมคโครและโลตัส) ดังนั้นเราจึงมีเป้าหมาย Waste to Landfill เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งมีความรุนแรงกว่าแก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 28 เท่า เราต้องหาทางใช้ประโยชน์จาก waste ให้ได้ทั้งหมด”

สำหรับส่วนที่ลดการปล่อยก๊าซไม่ได้ ก็จะถูกชดเชยด้วยการแก้ไขปัญหาที่อิงธรรมชาติ(nature based solution) ปัจจุบัน คือ การส่งเสริมการปลูกป่า แต่ในอนาคตแนวทาง nature based solution ไม่ใช่แค่ การปลูกต้นไม้ แต่จะต้องช่วยภาคทะเล มหาสมุทร ที่กำลังศึกษากันหลายวิธี รูปแบบของการปลูกป่าก็มีหลายรูปแบบ ทำไปพร้อมกับการส่งเสริมเกษตรกรรมและภาคการเกษตรเพื่อให้ลดการปล่อยก๊าซได้ตามเป้าหมาย โดยพยายามลดการกล่อยก๊าซของตัวเองให้ได้มากที่สุด และส่วนที่เหลือก็มีดูดซับคาร์บอนมากักเก็บไว้อย่างถาวร
“ส่วนที่ไม่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ เครือฯ จะชดเชยด้วยโครงการ Nature Based Solution โดยช่วงแรกจะเน้นไปที่การส่งเสริมการปลูกป่า วางเป้าหมายปลูกต้นไม้ 20 ล้านต้นทั่วโลกภายในปี 2568 (2025) ถัดมาจะขยับไปที่ภาคทะเลและมหาสมุทร”

นายสมเจตนากล่าวต่อว่า “ตอนนี้รัฐบาลไทยมีเป้าหมาย net zero ว่าภาคป่าไม้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นฝั่งดูดซับก๊าซ ขณะที่ประเทศไทยก็มีพื้นที่ป่าไม้เสื่อมโทรมอีกเยอะ ตรงนี้เป็นจุดที่ภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมกันฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่เสื่อมโทรม สำคัญคือประเทศต้องมีการดูแลภาคป่าไม้ แต่ที่ผ่านมาเอกชนมีข้อจำกัด เพราะเครดิตภาคป่าไม้จะถือว่ามีการกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ได้น้อยกว่าเรื่องอื่น เพราะถ้าเกิดไฟไหม้ป่าหรือใครมาบุกรุก คาร์บอนที่สะสมมามันหายเลย มันต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีการดูแล เอกชนดูแลไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าภาครัฐมีความตั้งใจและกลไกให้เอกชนมาช่วยสนับสนุนก็เป็นโอกาสที่ดี”

ใช้นวัตกรรมทุกมิติ

นายสมเจตนามองไปอีกว่า วิธีการไปสู่เป้าหมายจะต้องอาศัย ‘นวัตกรรม’ ในทุกมิติ โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์แบ่งประเภทนวัตกรรมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

    1.นวัตกรรมประเภทกระบวนการทำงาน (Process) เน้นไปที่การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และเสริมจุดที่ยังขาด
    2.นวัตกรรมประเภทโมเดลธุรกิจ (Business Model) โดยต้องมองว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดจะต้องปล่อยของเสียหรือ waste ให้น้อยที่สุด และหาวิธีใช้ประโยชน์จากของเสียเหล่านั้น
    3.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) ตัวอย่างเช่น ‘CPF Zero Meat’ ซึ่งเป็นเนื้อทางเลือกช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี นายสมเจตนาย้ำว่า การใช้นวัตกรรมไม่ว่าประเภทใดก็ตามจะต้องคำนึงถึง ‘ความคุ้มที่จะทำ’ เสมอ

“อย่างเรื่องโซลาร์เซลล์เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่ซัพพลาย (supply) กับดีมานด์ (demand) คุ้มที่จะทำ เพราะราคาปัจจุบันเท่ากับการผลิตไฟฟ้าปกติที่ประมาณ 2-3 บาท ผมก็หวังว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าพลังงานลมอย่างลมในทะเล ถ้าประเทศไหนสามารถทำให้ ‘ลม’ กับ ‘แดด’ อยู่ด้วยกันได้มันจะชดเชยสมดุลกัน เพราะแดดผลิตได้แค่กลางวัน แต่ลมมาตอนกลางคืน ถ้าสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้มาเสริมกันได้จะช่วยให้จุดไม่คุ้มทุนกลับมาคุ้มได้”

“ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ Climate Changes ทำคนเดียวไม่ได้ ปัจจุบันเครือเราก็มีพันธมิตร องค์กร แพลตฟอร์มต่างๆ ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องต่างๆ เช่นการเปิดเผยข้อมูลผ่าน SBT (Science Based Target) หรือร่วมมือกับองค์กร UN Global Compact ทั้งต่างประเทศและไทย รวมถึงเวทีต่างๆ โดยเฉพาะ Thailand Carbon Neutral Network ที่เพิ่งก่อตั้งในปี 2564 นอกจากนี้เราก็เข้าร่วมการประชุม UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) COP (Conference of the Parties) ตั้งแต่ปี 2552 (2009) ผมเองก็มีโอกาสร่วมการประชุมนั้นเป็นครั้งแรก กลับมาก็เตรียมตัวว่าเครือเราต้องปรับตัวอย่างไร ก่อนลงเอยว่าเราต้องทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกหลังปี 2558 (2015) โดยเริ่มจากบริษัทใหญ่ในเครือเช่น TRUE CPF CPALL”

“ผมว่าหลายองค์กรทำเรื่องพวกนี้เยอะ แต่ผู้บริโภคเข้าไม่ค่อยถึง บางทีผู้บริโภคอาจมองแค่ว่าโฆษณา แต่จริงๆ แล้ว ‘Climate Change’ เป็นการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ แต่ผมเชื่อว่าพอเราร่วมมือกับคู่ค้าของเรา สังคมเราจะตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น ถ้าเราไม่ปรับตัวให้เร็วพอ มาตรการภาษีคาร์บอนต่างๆ จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราสู้เพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นไม่ได้ ต้องช่วยกันสื่อสารให้เป็นอะไรใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้น”