ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > Climate Action : “สมเจตนา ภาสกานนท์” กับเส้นทางสู่ Net Zero ของ ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ [1]

Climate Action : “สมเจตนา ภาสกานนท์” กับเส้นทางสู่ Net Zero ของ ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ [1]

9 ธันวาคม 2021


เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี เป็นองค์กรเอกชน ที่มีการดำเนินธุรกิจหลากหลาย ครอบคลุม 14 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ เกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร / การค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ / พืชครบวงจร / อาหารสัตว์เลี้ยง / เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และผลิตภัณฑ์อารักขาพืช / ยาและเวชภัณฑ์ / ยานยนต์ / บรรจุภัณฑ์ / การตลาดและการจัดจำหน่าย / การค้าระหว่างประเทศ / อีคอมเมิร์ซและดิจิทัล / โทรคมนาคม / การเงินและธนาคาร / พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

เครือซีพีมีการดำเนินธุรกิจใน 22 ประเทศในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ มีพนักงานรวมกันทั้งหมด 450,000 คน และมีฐานการผลิตและพื้นที่จัดจำหน่ายทั่วโลก โรงงานผลิต 278 แห่ง ฟาร์มเลี้ยงสัตว์และสัตว์น้ำ 951 แห่ง เซเว่นอีเลฟเว่น 12,432 แห่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือซูเปอร์สโตร์ 219 แห่ง และศูนย์วิจัยฯ 110 แห่ง (ข้อมูลจากรายงานด้านความยั่งยืน เครือเจริญโภคภัณฑ์ปี 2563) ถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ที่มาภาพ : รายงานความยั่งยืน ปี2563[https://www.cpgroupglobal.com/portals/0/pdf/CPG-SR2020-ENG.pdf]

เครือฯ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ทั้ง 17 ข้อ แม้ในขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาของโลกที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “โลกร้อน” ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อเครือซีพีอย่างมาก ประเทศต่างๆ ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 55% ของปริมาณการปล่อยทั่วโลก และยังมีประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อมในอากาศ ในน้ำ และบนดิน ทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องแสดงจุดยืนสู่ Net Zero ในการสร้างความยั่งยืนร่วมกัน

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พูดคุยกับนายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถึงยุทธศาสตร์องค์กรไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ภายในปีพ.ศ. 2573 หรือปีค.ศ. 2030 จากนั้นค่อยนำไปสู่เป้าหมาย NET ZERO (องค์กรที่ไม่ปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ตามแนวทางของ SBTi (Science Based Target initiative) ภายในปีพ.ศ. 2593 หรือค.ศ. 2050

นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน
สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์

นายสมเจตนาอธิบายถึงการทำงานของสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กรว่า เป็นทีมงานส่วนกลางที่นำยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือไปสู่การปฏิบัติ โดยมองเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะ climate change ในแง่ธุรกิจต้องวิเคราะห์ผลกระทบ (impact) ความเสี่ยง (risk) และโอกาสทางธุรกิจด้วย ปัจจุบันผลกระทบจาก climate change มีการกำหนดนโยบายต่างๆ ไม่ว่า การตั้งกำแพงภาษีคาร์บอนของสหภาพยุโรป(EU) รวมถึงมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เครือซีพีมีการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก คู่ค้าของเรารายใหญ่ๆที่เป็นบริษัทข้ามชาติ มีความมุ่งมั่นที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองและของ supply chain ด้วย เช่นเดียวกับเครือซีพี

การเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งเป็นมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์หรือ SBTi (Science Based Target initiative) เพิ่งประกาศออกมาเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเป็นมาตรฐานที่องค์กรทั่วโลกไว้วางใจมากที่สุด ทั้งนี้แนวทางของ SBTi สอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ก่อนที่มาตรฐาน SBTi จะออกมาอย่างชัดเจน เครือซีพีได้มีการดำเนินการเพื่อก้าวสู่ Net Zero มาอย่างต่อเนื่อง โดยอิงจากร่างหลักเกณฑ์ หรือการหารือจากหลายหน่วยงานแล้วมารวบรวมเป็นแนวทางของเครือเอง โดยแนวคิดในภาพใหญ่ไม่ได้ต่างกันมาก แต่ในรายละเอียดการปฏิบัติก็แตกต่างกันบ้าง

ท้งนี้มาตรฐาน SBTi ในการลดก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่ลดเฉพาะจากการดำเนินงานของเครือ แต่ต้องลงไปถึงห่วงโซ่อุปทาน ไปถึงต้นน้ำและปลายน้ำด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ

    SBTi คือ การส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอิงกับเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
    ขอบเขตที่ 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากแหล่งที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือควบคุมจากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมถึงแหล่งอื่นๆ
    ขอบเขตที่ 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมจากการซื้อพลังงาน (เช่น ไฟฟ้า ไอน้ำ ฯลฯ)
    ขอบเขตที่ 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากขอบเขตที่ 1 และ 2 (การจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนอื่นๆ การขนส่ง การใช้งานผลิตภัณฑ์ ฯลฯ) จากห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท

Climate Change ประเด็นสำคัญยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือ

ประเด็น Climate Change ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในองค์กรโดยตรง โดยนายสมเจตนายกตัวอย่างกรณีอุตสาหกรรมการเกษตรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศา ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตพืชในหลายพื้นที่ลดลง 5-10% นอกจากนี้ยังกระทบต่อคุณภาพและต้นทุนวัตถุดิบก่อนแปรรูป

หรือประเด็นการเลี้ยงกุ้งของเครือเจริญโภคภัณฑ์เองก็ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเลี้ยงให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด แม้ที่ผ่านมาเครือฯ จะพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งใช้น้ำน้อยลง เพราะเครื่องกรองน้ำชนิดไมโครเมมเบรนที่ทำให้น้ำสะอาดและเลี้ยงกุ้งได้หนาแน่นมากขึ้น แต่ตัวอย่างที่ว่านี้เป็นหนึ่งในการปรับเปลี่ยนภายในองค์กรที่ยังไม่ทำให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้

“มาตรฐาน Net Zero ต้องทำไปถึงห่วงโซ่อุปทานของเรา นี่เป็นการแสดงความรับผิดชอบขององค์กรในการดำเนินงานเรื่อง climate change เราต้องมองเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ทั้งวิเคราะห์ผลกระทบ (impact) ความเสี่ยง (risk) และโอกาสทางธุรกิจ (opportunity)”

“เรื่องใหญ่ที่สุดคือเรื่อง ‘วัตถุดิบต้นน้ำ’ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเพราะเป็นวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ ก่อนเป็นอาหารจากเนื้อสัตว์ หรือธุรกิจรีเทลก็มีสินค้าอาหารและวัตถุดิบจากสินค้าเกษตรค่อนข้างเยอะ”

นายสมเจตนาอธิบายว่า อุตสาหกรรมการเกษตรทั่วโลกได้ปล่อยก๊าซที่ส่งผลต่อสภาวะภูมิอากาศ ถึงขนาดที่นักวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติ (UN) เคยให้ข้อมูลว่าการลดก๊าซทุกประเภทในภาคการเกษตรทำได้ยาก ทำให้ภาคการเกษตรถูกตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถลดก๊าซทั้งหมดในได้ 100% ในช่วงปี 2613-2623 (2070-2080) ขณะที่เป้าหมาย Net Zero ของโลกในปี 2593 (2050) ตั้งเป้าแค่ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น เนื่องจากเกษตกรกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ทั่วโลก แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมที่สามารถควบคุมหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในโรงงานได้

การทำงานด้านความยั่งยืนของเครือฯ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่บนเสาหลักที่ 3 คือเรื่อง ‘Home: Living Together’ ซึ่งประกอบด้วย 5 เป้าหมายย่อยคือ ประเด็นสภาวะภูมิอากาศ (Climate Resilience) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การจัดการน้ำ (Water Stewardship) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (Ecosystem & Biodiversity Protection) และความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Responsible Supply Chain Management)

“Climate change เป็นหนึ่งใน 15 ประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือสู่ปี 2030 เราจัดทำยุทธศาสตร์ของเครือครั้งแรกปี 2016 มีเป้าสู่ 2020 รอบแรกเราเป็นเป้าหมายแค่ในประเทศ แต่ปีที่แล้วเราทำงานร่วมกับผู้บริหารนำโดยคุณศุภชัย และซีอีโอคณะทำงานด้านความยั่งยืนทุกกลุ่มธุรกิจทั่วโลก ในการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกันสู่ปี 2030 ซึ่งเป็นปีเดียวกับเป้าหมายของ SDG หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน เครือเชื่อว่า เราต้องมีส่วนร่วม ( contribution) กับทุกภาคส่วนด้วย และการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศหรือ climate resilience ก็เป็นหนึ่งใน 15 เรื่องสำคัญภายใต้เสาหลักที่ 3 Home : Living together การอยู่บนโลกนี้อย่างยั่งยืน และยังครอบคลุมถึง supply chain ของเราด้วย” นายสมเจตนากล่าว

นายสมเจตนากล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ 15 ด้านเครือมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้านละ 1 ข้อ โดยในด้าน climate resilience มีเป้าหมายสำคัญคือ Net Zero ของขอบเขตที่ 1 และ 2 ตามมาตรฐาน SBTi หมายความว่า การทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำงานของเครือเองเป็นศูนย์

แม้ในแต่ละด้านมี 1 เป้าหมายยุทธศาสตร์เพียง 1 ข้อ แต่เครือมีตัวชี้วัด KPI ด้านการปฏิบัติที่จะมาช่วยให้บรรลุเป้าหมาย 15 ข้อ อีกกว่า 130 KPI ย่อยที่ทำงานร่วมกับเครือ

นอกจากนี้เครือยังยกระดับความมุ่งมั่นด้วยการเข้าร่วมโครงการ Race to Zero ซึ่งสนับสนุนโดยสหประชาชาติ ที่ต้องการให้องค์กรธุรกิจมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งไปสู่การป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยปัจจุบันมีกว่า 900 องค์กรที่เข้าร่วมโครงการ Race to Zero

นายสมเจตนากล่าวว่า จากการยกระดับความมุ่งมั่นและการเข้าร่วมโครงการ Race to Zero ทำให้ต้องตั้งเป้าหมายระยะยาว Net Zero ตลอด value chain ระยะยาวหมายถึงปี 2050 และต้องอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่เป็น Science Based Target เพื่อให้ในระยะยาวจะต้องลดการปล่อยก๊าซของเครือลงให้ได้ 90% จากระดับการปล่อยในปี 2020

จากการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเครือ พบว่า ในปี 2015-2020 เครือมีการปล่อยก๊าซทั่วโลกประมาณ 5-6 ล้านตัน เพราะธุรกิจขยายตัวค่อนข้างมาก แม้ 2 ปีแรกเก็บข้อมูลไม่ครบ แต่ข้อมูลค่อนข้างครบในช่วงปี 2017-2020 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขณะที่ธุรกิจขยายตัวสูง แต่การปล่อยก๊าซค่อนข้างทรงตัว

“เมื่อคิดต่อหน่วยรายได้ 2015 เทียบ 2020 เครือปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตันต่อหน่วยรายได้ 1 ล้านบาท ลดลงประมาณ 8.5% แต่โดยรวมปริมาณสุทธิยังเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเกิดจากเป้าหมายที่เราตั้งใจลดก๊าซเรือนกระจกตันต่อหน่วยรายได้ กลุ่มธุรกิจก็ช่วยกันทำทุกอย่างเพื่อควบคุมประสิทธิภาพ”

ต้องมีโมเดลธุรกิจใหม่-ใช้เทคโนโลยี

นายสมเจตนากล่าวว่า จากเป้าหมายและแนวคิด นำมาสู่การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยในยุทธศาสตร์แรกตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2020 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยรายได้ให้ได้ 10% เทียบกับปี 2015 ซึ่งเครือทำได้ 8.5% แต่ในยุทธศาสตร์ race to zero ซึ่งเป็นเป้าที่ยิ่งใหญ่และท้าทายกว่าเป้าหมายแรกมาก เพราะต้องเร่งให้ไปถึงระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดให้เร็วที่สุด เครือก็เหมือนประเทศอื่นๆ และองค์กรทั่วโลกที่ต้องทำให้มากขึ้น

ข้อมูลก๊าซเรือนกระจกเครือฯขณะนี้มาจาก 21 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจ ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็นประมาณ 55% ของทั้งโลก เพราะเครือมีธุรกิจในจีน และสหรัฐฯอเมริกาด้วย จึงต้องรับผิดชอบไปพร้อมกับประเทศที่เครือได้เข้าไปดำเนินธุรกิจ

“ดังนั้นต้องมีนวัตกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพราะเราคาดหวังผลลัพธ์ที่ไม่ใช่แค่คำว่า factor of ten คือไม่ใช่การลด 10-20% แต่การลดให้เหลือ 10% ต้องทำอะไรให้ดีขึ้นทุกอย่าง 10 เท่าใน 30 ปีข้างหน้า แต่ระยะใกล้คือ 10 ปีนี้ก่อน”

ตามมาตรฐาน SBTi ที่ครอบคลุมการปล่อยกาซเรือนกระจก ในขอบเขตที่ 1 ขอบเขตที่ 2 และขอบเขตที่ 3 โดยเฉพาะขอบเขตที่ 3 ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่งต้นน้ำปลายน้ำ การเดินทางของของเสียต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย แต่ใหญ่ที่สุดคือ วัตถุดิบต้นน้ำที่เรียกว่า purchased goods and services ซึ่งวัตถุดิบหลักๆ ของเครือ เป็นสินค้าเกษตร เพราะเป็นวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ก่อนเป็นอาหารสัตว์ ในธุรกิจค้าปลีกก็มีสินค้าอาหารค่อนข้างมาก วัตถุดิบจากสินค้าเกษตรจึงเป็นกลุ่มที่สำคัญ

“ความท้าทายตอนนี้ คือ การเก็บข้อมูลที่แม่นยำในขอบเขตที่ 3 เพราะขอบเขตที่ 1 และ 2 ข้อมูลเรารวบรวมได้มากที่สุด แต่ขอบเขตที่ 3 วัดโดยตรงไม่ได้ การเก็บข้อมูลในขอบเขตที่ 3 ของคู่ค้าก็จะยาก”

ปัจจุบันขอบเขตที่ 1 และ 2 มีเพียง 30% ของทั้งหมดเมื่อรวมขอบเขตที่ 3 เข้ามา แต่คาดว่าน่าจะขึ้นไปถึง 80-90% เมื่อเก็บข้อมูล 70% ของ value chain ที่เหลือได้ครบ ซึ่งการเก็บข้อมูลใน 70% ที่เหลือมีวิธีมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้าและบริการที่ซื้อเข้ามา purchased goods and services มีขนาดใหญ่สุด 4.8 ล้านตัน นอกจากนี้ยังรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก สินค้าทุน capital goods เชื้อเพลิง การขนส่ง และขยะในกระบวนการผลิต ไปจนถึงขั้นที่ผู้บริโภคนำไปบริโภคและกำจัด และอื่นๆ

“เครือ C.P. Group เป็น holding company ที่ลงทุนในบริษัทต่างๆ เราต้องไปช่วย เพราะการถือหุ้นเลยรวมตรงนี้ด้วย อีกกลุ่มคือขนส่งสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าภายในกระบวนการ แต่เป็นสินค้าต้นน้ำกับปลายน้ำจากวัตถุดิบ และไปยังการจำหน่าย เมื่อรวมกัน จึงเป็นก้อนใหญ่ที่เราต้องไปจัดการในอนาคต”

เครือได้นำนวัตกรรม mitigation technology มาใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ มีการส่งเสริมเกษตรกรในการทำข้าวหอมมะลิให้ปล่อยคาร์บอนน้อย โดยหลัก คือ การควบคุม การปล่อยจากนาข้าว รวมถึงข้าวโพดที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อให้ใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม เป็น precision farming ไม่ใช่ใส่ปุ๋ยเกินความจำเป็น และเรื่องการทดลองต่างๆ จากเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นซังข้าวโพด จากมูลสัตว์ ก็จะช่วยลดคาร์บอนฯ

ที่สำคัญคือการใช้พลังงานชีวมวลหรือ Biomass โดยซีพีเอฟซึ่งเป็นธุรกิจในเครือมีอาหารสุกรและไก่สูตร ECO friendly เมื่อนำสูตรนี้ไปใช้จะทำให้สัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มขับถ่ายโดยมีไนโตรเจนน้อยลง ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงตามมา เมื่อคำนวณกลับมาแล้วก็มีปริมาณหลายหมื่นตันต่อปี

การทำธุรกิจเกษตรของ ซีพีเอฟและกลุ่มบริษัทในธุรกิจเกษตร และอาหาร ตั้งแต่การทำวัตถุดิบมาทำอาหารสัตว์ มาทำฟาร์ม ทำโรงงานอาหาร สู่ธุรกิจค้าปลีกอยู่บนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular economy กับการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของ value chain (climate resilience value chain)ที่ต้องทำงานร่วมกับเกษตรกรถึงผู้บริโภค

“แต่ก่อนเวลาเราซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรหรือคู่ค้า เราอาจบอกซื้อเพราะมีความผูกพันอันดี สินค้าที่มีคุณภาพ และราคาที่เห็นตรงกัน แต่ในอนาคตจะมีปัจจัยคู่ค้าที่ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเข้ามา เรายิ่งต้องสร้างความร่วมมือกับเกษตรกรและคู่ค้าให้เขาเห็นภาพเหล่านี้มากขึ้น”

ประเด็นการทำให้เกษตรกรรายย่อยเข้าใจและเห็นภาพตรงกันถือเป็นความท้าทายที่มากที่สุดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเกษตรในประเทศไทยที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจเรื่องต้นทุนดำเนินงานและเทคโนโลยีการเกษตร ตัวอย่างเช่นฟาร์มเล็กๆ ในประเทศไทยที่เกษตรกรตัดสินใจไม่ลงทุนเทคโนโลยีเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุน เพราะมองว่าไม่คุ้มทุนเมื่อเทียบกับพื้นที่ฟาร์ม ผิดกับประเทศแถบอเมริกาและยุโรปที่เกษตรกรตัดสินใจลงทุนในเทคโนโลยี

นายสมเจตนาอธิบายต่อว่า เมื่อไม่ลงทุนในเทคโนโลยีแล้ว ผลที่ตามมาคือเกษตรกรไม่สามารถวัดความต้องการธาตุอาหารของดินและพืชได้เอง ทำให้บางกรณีเกิดการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีเกินความจำเป็นตามความเคยชิน โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่มีจากเทคโนโลยี ดังนั้นเครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะผู้รับซื้อจึงได้เข้าไปส่งเสริมว่าพื้นที่นี้ต้องการสารอาหารปริมาณเท่าไรและอย่างไร

(อ่านต่อตอนที่2)