ThaiPublica > เกาะกระแส > ปั่นไปไม่ทิ้งกัน เพื่อศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน สร้างโอกาส “No One Left Behind สู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน”

ปั่นไปไม่ทิ้งกัน เพื่อศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน สร้างโอกาส “No One Left Behind สู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน”

15 กุมภาพันธ์ 2018


โครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No one left behind” โครงการที่คนตาดีร่วมกับคนตาบอดปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ เพื่อหาทุนสนับสนุนสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ณ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

โครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No one left behind” โครงการที่คนตาดีร่วมกับคนตาบอดปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ เพื่อหาทุนสนับสนุนสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ณ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ประสบความสำเร็จปั่นถึงเส้นชัยที่เชียงดาวเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา พร้อมกับยอดบริจาคเกือบ 30 ล้านบาท

ภารกิจของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกิจกรรมครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุด เพราะเงินบริจาคจากน้ำใจของคนไทยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สอดคล้องกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยทุกระดับมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (กันยายน 2560) พบว่า มีคนพิการที่ลงละเบียนอยู่ในวัยทำงานอายุ 15-60 ปี จำนวน 819,550 คน ในจำนวนนี้มีคนพิการที่มีงานทำแล้ว จำนวน 271,916 คน (ร้อยละ 33.18), คนพิการที่สามารถทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ จำนวน 330,339 คน (ร้อยละ 40.31), และคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานแต่ทำงานไม่ได้ เนื่องจากเป็นคนพิการรุนแรงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จำนวน 217,295 คน (ร้อยละ 26.51)

จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้พิการที่ทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ และคนพิการรุนแรงรวมกันมีจำนวนมากประมาณ 5 แสนคน ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการว่าจะช่วยคนกลุ่มนี้ให้มีอาชีพและรายได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้มูลนิธิฯ จึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้คนพิการมีรายได้อย่างยั่งยืน เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เพื่อก้าวพ้นความยากจน

สำหรับศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน เกิดขึ้นจากแนวคิดของศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่มองเห็นว่าทางออกหรือแนวทางที่เหมาะสมกับคนพิการซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจน และไม่มีอาชีพที่แน่นอน จะต้องให้คนพิการและครอบครัวมีอาชีพที่มั่นคง เป็นอาชีพที่ทำได้จริงด้วยตัวเอง ลงทุนต่ำ ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย ทำที่บ้านได้ ขายได้จริง ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และมีช่องทางจัดจำหน่ายระยะยาว

ปัจจุบันศูนย์ฝึกอาชีพฯ ซึ่งอยู่ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดฝึกอบรมคนพิการใน 3 อาชีพ คือ 1. การเลี้ยงจิ้งหรีด 2. การเพาะเห็ดนางฟ้า และ 3. การปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ ซึ่งทั้ง 3 อาชีพเป็นอาชีพที่คนพิการเข้าถึงได้ มีรอบการผลิตต่ำ ใช้เวลาไม่มาก และเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง

โมเดลศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

จุดเด่นและความแตกต่างในการฝึกอบรมด้านอาชีพของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนก็คือ เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และครอบครัวคนพิการ ใช้เวลาในการอบรมภาคทฤษฎี 93 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 507 ชั่วโมง รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 เดือน โดยจะได้รับการรับรองหลักสูตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

ช่วงเวลากว่า 3 เดือนนี้ ผู้พิการและครอบครัวจะต้องมาใช้ชีวิตกินนอนและพักอาศัยอยู่ภายในศูนย์ฝึกอาชีพฯ เพื่อให้เกิดการปรับตัว ปรับวิธีคิด ควบคู่ไปกับการเรียนรู้งานอาชีพด้านต่างๆ อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน ทั้งการเพาะปลูก การผลิต การบริหารต้นทุนรายรับ-รายจ่าย การแปรรูป การตลาด และการจัดจำหน่าย

ขณะเดียวกัน เพื่อให้การประกอบอาชีพของคนพิการยั่งยืน มูลนิธิฯ ยังได้สร้างแบรนด์สินค้าของคนพิการที่มีชื่อว่า “ยิ้มสู้” ผลิตภัณฑ์คุณภาพของคนพิการ เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และช่วยเหลือครอบครัวคนพิการให้มีอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งปัจจุบันสามารถนำสินค้าแบรนด์ยิ้มสู้วางขายในแม็คโครเขตจังหวัดภาคเหนือ และมีแผนจะขายไปทั่วภูมิภาค

ปี 2560 ที่ผ่านมา มีครอบครัวคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว 2 รุ่น จำนวน 260 ครอบครัว ประกอบไปด้วยคนพิการที่อาศัยอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนใหญ่อบรมจบแล้วสามารถออกมาประกอบอาชีพได้จริง

การเพาะจิ้งหรีด

นายทวีศักดิ์ อินทรชัย หรือ ลุงแอ อายุ 62 ปี ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมอาชีพรุ่นที่ 1 เล่าให้ว่า หลายปีก่อนป่วยด้วยโรคกระดูกเอวซ้ายยุบ จะทำงานหรือเดินก็ไม่ค่อยไหว ยิ่งพอเกษียณอายุจากการเป็นลูกจ้าง ออกมาทำงานก็ไม่ได้ จึงรู้สึกเครียดและหันมาดื่มเหล้าอย่างหนัก

แต่หลังจากได้รับการชักชวนให้เข้ามาฝึกอาชีพที่ศูนย์ฝึกอายุคนพิการที่แม่ริม โดยฝึกอาชีพเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด จนมีความรู้ความชำนาญ ทำให้ปัจจุบันลุงแอเป็นเจ้าของฟาร์มจิ้งหรีดยิ้มสู้ สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและแม่ที่ป่วยได้

“หลังจากจบการอบรม ทางศูนย์ฝึกอาชีพฯ ได้สนับสนุนอุปกรณ์การเลี้ยงจิ้งหรีดมาให้ ตอนนั้นขายจิ้งหรีดได้เกือบ 20 กิโลกรัม จึงคิดว่าสามารถทำรายได้ให้ครอบครัวได้ จึงไปกู้เงิน ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) มาทำอย่างจริงจัง เปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดที่บ้าน ใช้ชื่อว่าฟาร์มจิ้งหรีดยิ้มสู้ ตอนนี้มีกล่องเลี้ยงจิ้งหรีด 10 กล่อง มีบ่อปูน 12 บ่อ หักต้นทุนแล้วมีรายได้เดือนละประมาณ 15,000 บาท” ลุงแอกล่าวอย่างภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอแม่ริม ปัจจุบันมีพื้นที่คับแคบ ไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ทางมูลนิธิฯ จึงมีแนวคิดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนอีกแห่งหนึ่งบนพื้นที่ 33 ไร่ ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายจะสร้างให้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อคนพิการแห่งแรกแบบครบวงจร

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า ในโลกความเป็นจริงที่ผู้พิการต้องต่อสู้มากที่สุดคือ “กรรมมหาชน” หรือความเชื่อที่ว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งเป็นกรรมที่คนในสังคมหยิบยื่นให้คนพิการ
ดังนั้น มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงได้พยายามขับเคลื่อนให้สังคมไทยให้โอกาสกับผู้พิการ หรือที่เรียกว่า impairment ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและโอกาสในการทำงาน หรือ empowerment และการขับเคลื่อนให้เกิด barrier free คือไม่ให้มีอุปสรรคต่างๆ ในการเดินทางและการใช้ชีวิต

“หากสามารถขับเคลื่อนทั้ง 2 เรื่องนี้ได้ คนพิการก็อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกติทั่วไป ความพิการจะเป็นแค่เรื่องน่ารำคาญและความไม่สะดวกเท่านั้นเอง”

ศาสตราจารย์วิริยะเล่าว่า มีแนวคิดและเป้าหมายจะทำศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่เชียงดาวให้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ที่ต้องการช่วยเหลือผู้พิการตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การขาย และทำการตลาด

ในส่วนการดำเนินงานด้านอาชีพ จะเน้นเรื่องการสร้างเครือข่าย ฝึกจบแล้วสามารถรวมกันเป็นเครือข่ายได้จริง เพื่อให้การฝึกอาชีพขยายตัวเร็วขึ้น ฉะนั้นใครก็ตามที่ฝึกจบจากศูนย์ฝึกอาชีพแห่งนี้แล้ว ออกมาเลี้ยงชีพได้ดี เป็นต้นแบบให้ผู้พิการคนอื่นได้ ก็จะใช้เป็นฐานฝึกอาชีพย่อยต่อไป เพราะการมีฐานฝึกย่อยจำนวนมากจะช่วยคนพิการได้มากมายเป็นทวีคูณ ส่วนในด้านการตลาด จะมีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เข้ามาช่วยดูแล นอกจากนี้ในอนาคตยังคิดจะเปิดตลาดออนไลน์อีกด้วย

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

“ประเด็นสำคัญคือเราอยากทำให้เห็นว่า การช่วยคนพิการ ต้องช่วยให้ครบวงจร โดยใช้นโยบายประชารัฐ คือภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเรื่องงบประมาณอบรมฝึกอาชีพ เอกชนมาช่วยบริหารจัดการทำการตลาด หน่วยงานของรัฐมาช่วยเรื่องงานวิจัย ส่วนภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจช่วยสนับสนุนเงินบริจาค เพื่อให้เราเติบโตเป็นต้นแบบได้จริง”

นอกจากเรื่องการสร้างงานหรือ empowerment แล้ว ศูนย์ฝึกอาชีพฯ แห่งนี้จะออกแบบให้คนพิการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรค มีการก่อสร้างที่เหมาะสมกับคนพิการและคนทุกคน มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ห้องน้ำ ทั้งยังให้ความสำคัญในการช่วยพัฒนายกระดับด้านจิตใจ ให้เห็นคุณค่าของการให้และการแบ่งปัน ให้อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน

และในอนาคตยังตั้งใจจะทำศูนย์ฝึกอาชีพนี้ รวมทั้งพื้นที่ย่านนี้เป็น “ทัวริซึมฟอร์ออล” (tourism for all) คือนอกจากคนปกติสามารถมาท่องเที่ยวบริเวณนี้ได้แล้ว ก็ยังทำให้ผู้พิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้และพื้นที่รอบๆ ศูนย์ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวกเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ถ้ามีเรื่อง empowerment และ barrier free เมื่อไหร่ ในส่วนความบกพร่องหรือ impairment มันจะไม่มีความหมายมากนัก อย่างเช่นผมเป็นคนตาบอด แต่มันมีความหมายน้อยมากในการทำให้ผมมีความยากลำบากในการใช้ชีวิต อาจจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่สะดวกบ้าง แต่ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต แต่เมื่อไหร่ที่คนพิการขาดโอกาส นั่นต่างหากที่จะทำให้เขายิ่งยากจน เพราะขาดโอกาส ขาด empowerment และขาดสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรค

“ฉะนั้น หากเราจะทำให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเหมือนสโลแกน no one left behind หรือ inclusive society สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมที่คิดถึงทุกคน สังคมที่สร้างขึ้นมาสำหรับทุกคน หรือ “สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

“เราจะรณรงค์เรื่องเหล่านี้ไปด้วยกัน ในการสร้างให้สังคมได้ตระหนักรู้ว่าการช่วยคนพิการขอให้เน้น empowerment และ barrier free ถ้าเน้น 2 เรื่องนี้ได้ คำว่า impairment จะไม่มีความหมายเท่าใดนัก”

และหากเราสร้างความตระหนักรู้ในสิ่งที่กล่าวมาได้ และทำให้เป็นต้นแบบให้เห็นว่าคนพิการทำได้ และถ้าคนพิการได้รับ empowerment และ barrier free เมื่อไหร่ เขาก็จะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุขเช่นกัน”

ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) หนึ่งในเครือข่ายภาคธุรกิจสนับสนุนโครงการ กล่าวว่า ศูนย์ฝึกอาชีพแห่งนี้ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยสำหรับสร้างนิสิตนักศึกษา ซึ่งนำคนพิการมาฝึกเรียนรู้อาชีพเพื่อให้ได้ความรู้ในด้านต่างๆ

โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เข้ามาเชื่อมต่อในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแนวคิดสำคัญคือต้องมาดูว่าเราจะเชื่อมต่อได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับผู้พิการหรือผลิตภัณฑ์จากผู้พิการในการนำออกสู่ตลาด

ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการช่วยเหลือคนพิการอยู่ใน 2 ส่วนหลักๆ อย่างแรก คือ การจ้างงาน โดยจ้างงานคนพิการมาทำงานอยู่ในเครือประมาณ 1 พันคน ในรูปแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจ ซึ่งการจ้างงานนี้แบ่งเป็นการทำงานด้านกลุ่มที่ทำงานด้านการเกษตรและกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานด้านการเกษตร เช่น จ้างคนหูหนวกมาทำงานในร้านกาแฟทรูคอฟฟี่

ในส่วนที่สอง คือการเริ่มรับซื้อสินค้าจากคนพิการให้มากขึ้น ล่าสุด แม็คโครได้รับซื้อผักไฮโดรโพนิกส์ที่ปลูกสำเร็จจากหลักสูตรศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการมาวางขาย รวมทั้งช่วยพัฒนาแบรนด์ยิ้มสู้ ซึ่งเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ของคนพิการให้ติดตลาด

ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์

“นี่คือการให้โอกาสกับคนพิการในสังคม ซึ่งจะเห็นว่าทางเครือฯ ให้โอกาสตั้งแต่เรื่องของการจ้างงานไปจนถึงการรับซื้อสินค้า หรือหากคนพิการท่านใดอยากประกอบอาชีพอิสระ เช่น ชงกาแฟแล้วอาจจะไม่อยากอยู่ที่ร้านทรูคอฟฟี่ แต่อยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง ทางเครือฯ ก็ได้พยายามช่วยเหลือในรูปแบบของโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เช่น อาจจะมาช่วยคนพิการลงทุน เพื่อให้เขาสามารถตั้งตัวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจได้”

อย่างไรก็ตาม การจ้างงานหรือรับซื้อของมาขาย ไม่ใช่แค่การเปิดโอกาสให้แล้วจบกันไป แต่ทุกอย่างมันต้องมีการวัดผล อย่างโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สามารถระดมทุนได้เกือบ 30 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่าสังคมไทยเปิดโอกาสให้คนพิการ

แต่คำถามก็คือ เราเปิดโอกาสให้ได้มากขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เรารับซื้อผักจากคนพิการในแบรนด์ยิ้มสู้ แต่เวลาไปวางขาย ก็ไปวางขายกับผักยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งอาจจะมีราคาแพงกว่าผักของแบรนด์อื่นๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นอาจจะขายไม่ได้

“ทางเครือฯ จึงพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากคนพิการมีต้นทุนที่เกือบจะไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของคนธรรมดา ซึ่งก็เป็นความท้าทายของเรา ในการมาช่วยดูเรื่องต้นทุนของคนพิการ ซึ่งนอกจากเป็นเรื่องของการให้โอกาสแล้ว เรายังมองว่าจะทำอย่างไรให้เขาแข่งขันในตลาดกับคนปกติได้ด้วย”

นี่คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จจริง จากการร่วมด้วยช่วยกันของทุกภาคส่วนเพื่อให้โอกาสกับคนพิการ และทุกวันนี้ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน นอกจากจะให้ความรู้และฝึกอาชีพให้กับคนพิการแล้ว ยังได้กลายเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ของบุคคลทั่วไป มีบุคคลและคณะต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก

คนพิการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
เพาะเห็ดนางฟ้า