ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > Climate Action: “7 Go Green Mission” ปักหมุด Net Zero และ Waste Management

Climate Action: “7 Go Green Mission” ปักหมุด Net Zero และ Waste Management

30 ธันวาคม 2021


ดร.หลุยส์ คริสธานินทร์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

ผ่ากลยุทธ์ ‘7 Go Green Mission’ โดย ‘ซีพี ออลล์’ จากร้าน 7-11 กว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศ สู่โจทย์การสร้างความยั่งยืนให้ประเทศ ผ่านแนวคิด Green Store, Green Logistics, Green Packaging และ Green Living

ดร.หลุยส์ คริสธานินทร์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวคิดด้านความยั่งยืนของ ซีพี ออลล์ ว่า ปรัชญาของ ซีพี ออลล์ คือ “เราปรารถนารอยยิ้มจากลูกค้า ด้วยทีมงานที่มีความสุข” ทุกวันนี้ลูกค้าเดินเข้าร้าน 7-11 กว่า 13,000 สาขา เราให้บริการเพื่อลูกค้าได้รอยยิ้มกลับไป ดังนั้น การกำหนดกลยุทธ์หรือเป้าหมายองค์กรจะไม่ใช่แค่มิติการทำธุรกิจ แต่สำคัญคือการทำธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืน

ซีพี ออลล์ บ้านแห่งความยั่งยืน

“ซีพี ออลล์ เป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีเป้าหมายความยั่งยืนของเครือฯ เราเอาแนวทางของเครือฯ มาดู เพราะความเป็น ซีพี ออลล์ อาจจะไม่ได้มีธุรกิจเหมือนในเครือฯ เราก็ถอดรหัสว่าอะไรที่เป็นเป้าหมายใหญ่ๆ เช่น net zero และ waste management เป็นเรื่องที่เราต้องทำ ทั้งหมดล้อไปกับกรอบ ESG ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล เราถอดรหัสออกมาแปลงเป็น “CP ALL House บ้านแห่งความยั่งยืน” โดยแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ เชื่อมไปเป้าหมายของเครือฯ คือ 1. Governance and economic 2. Social 3. Environment ภายใต้ 3 หมวดนี้ ในแต่ละหมวดมีอีก 5 เรื่อง รวมเป็น 15 เป้าหมาย ล้อไปกับเป้าหมายเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบางเป้าหมายก็โฟกัสโดยตรงกับเซเว่นอีเลฟเว่น และธุรกิจที่เกี่ยวกับ ซีพี ออลล์”

พร้อมกล่าวต่อว่า “คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารของเครือฯ ประกาศเป้าหมายต่างๆ ที่ commit กับ UN แม้บางเป้ารัฐบาลอาจจะยังอีกไกล แต่เครือซีพีประกาศจะต้องทำเรื่อง net zero ให้ได้ภายในปี 2030 ดังนั้น ในบ้าน ซีพี ออลล์ การวางแผนงานก็ต้องมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

“จากบ้านหลังนี้ที่มี 3 หมวด 15 เป้าหมาย ได้มาแตกเป็นกลยุทธ์หลักของ ซีพี ออลล์ ที่ต้องทำให้ได้ คือ “7 Go Green” ซึ่งกลยุทธ์นี้ทำมาเป็นสิบปีแล้ว ที่คนรู้จักมากสุด คือการจับมือกับตูน อาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม และศิลปินรุ่นใหม่ BNK 48 ช่วยกันรณรงค์ลดถุงพลาสติก “ลดวันละถุง คุณทำได้” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคม”

เดินหน้า 7 Go Green 4 เป้าหมาย

ดร.หลุยส์กล่าวต่อว่าภายใต้ 7 Go Green แบ่งเป็น 4 เรื่อง

1. Green Store ร้าน 7-11 อยู่แทบทุกอำเภอในประเทศไทย ซีพี ออลล์ คิดว่าต้องทำร้าน 7-11 ให้เป็น green เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เราต้องอยู่อย่างยั่งยืนกับชุมชนด้วย green store เน้นการเป็นร้านสีเขียว หมายถึง การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร

“หลายเรื่องเราเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่น ค่อยๆ เปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบประหยัด เพราะร้านเซเว่นต้องใช้ไฟเยอะ หรือสารทำความเย็น CFC ที่อยู่ในแอร์ ทยอยปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะมีต้นทุนที่แพงแต่ก็สำคัญและจำเป็น”

นอกจากนี้ ร้านสาขา 7-11 จะเริ่มเป็นสาขาใหญ่ขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อนที่เป็น 1-2 คูหาหรือตึกแถว โดยเฉพาะร้าน stand alone ร้านกลุ่มนี้เริ่มติดโซลาร์เซลล์ เพื่อให้บริหารจัดการการใช้ไฟอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. Green Logistics การกระจายสินค้าทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมบริการสินค้าที่มีคุณภาพในร้านสาขาทั่วประเทศ นับเป็นเส้นเลือดที่สำคัญ ด้วยปรัชญาองค์กรเราต้องการให้ลูกค้าเราได้รอยยิ้มกลับไป ทุกคนที่เดินเข้าร้าน 7-11 ต้องการได้สินค้าและบริการที่พึงพอใจ ในแต่ละวันบริษัทมีการขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าไปยังร้านสาขาตลอดเวลา

“ตอนนี้เรากำลังทำโครงการทดลองร่วมกับรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง เป็น EV Truck ปกติรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นรถเก๋ง แต่เราพยายามทำกับรถขนส่ง ผลตอบรับก็เป็นไปตามที่คาด ดังนั้น แนวโน้มจะขยายผลในปีหน้าและปีถัดๆ ไป นอกจากนี้ เรามีศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ ที่นำเรื่องพลังงานทดแทน เพื่อลดมลภาวะจากการขนส่ง และตอนนี้คลังสินค้า 18 แห่งติดโซลาร์รูฟครบทุกแห่งแล้ว”

เช่นเดียวกับอาคารสำนักงานของ ซีพี ออลล์ ที่มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่ที่แจ้งวัฒนะในพื้นที่เดียวกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ใช้คอนเซ็ปต์อาคารเขียวเช่นเดียวกับร้านสาขาหรือคลังสินค้า

3. Green Packaging สินค้าที่วางขายใน 7-11 โดยเฉพาะสินค้าที่ ซีพี ออลล์ ร่วมพัฒนากับคู่ค้า สินค้าบางชิ้นติดฉลาก ว่า “only at 7-11” จะมีขายเฉพาะ 7-11 หรือพวกข้าว (อาหารกล่อง) ที่ผลิตจากบริษัท “ซีพีแรม” เป็นโรงงานผลิตข้าวกล่องและเบเกอรี่ สินค้าเหล่านี้ การบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การจัดการและคู่ค้าของเรา ภายใต้คอนเซ็ปต์ Reuse, Reduce, Recycle และ Renewable

“ยกตัวอย่าง กล่องข้าวบางชนิด สมัยก่อนเวลาซื้อจะมีกล่องและฝาปิด มีพลาสติกหุ้มด้วย เราคิดว่าน่าจะทำอะไรกับเรื่องนี้โดยที่รสชาติ คุณภาพ และระยะเวลาของอาหารยังต้องได้ แต่เราสามารถลดการใช้พลาสติกลงได้ ไม่ว่าพลาสติกที่ห่อหุ้มหรือที่ขึ้นรูปเป็นฝาปิด เราก็ค่อยๆ พัฒนา จนวันนี้สินค้าข้าวกล่องหลายตัวไม่มีฝาปิด แค่ซีลปิดด้านบน ก็ลดพลาสติกได้เยอะพอสมควร”

พวกวัตถุดิบที่จัดหามาทดแทนพลาสติก เช่น เยื่อไม้ ที่ไม่ใช่เยื่อไม้ที่ตัดออกมาจากป่า โดยที่ผ่านมามีโครงการรณรงค์การปลูกต้นไผ่ เพื่อใช้เยื่อไผ่ ซึ่งสามารถเอามาใช้ทดแทนเยื่อไม้อื่นๆ ได้หลายชนิด และคุณภาพก็ไม่แพ้กันเลย คุณสมบัติหลายเรื่องดีกว่า และไผ่ปลูกทดแทนได้ง่ายมาก เติบโตรวดเร็วมาก ทำให้เราเห็น Green Packaging ที่มาทดแทนกระบวนการผลิตจากพลาสติกเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“เรามีหน่วยงานที่ดูเรื่อง Product Development และ Research Development มีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในหลายๆ ด้าน เช่น Food Sciences, Microbiology และ Chemistry เป็นทีมงานวิจัย และทำงานร่วมกับคู่ค้า เพราะคู่ค้ามีแล็บ มีนักวิจัย ใช้โจทย์เดียวกันในการทำงานด้วยกัน มีการแบ่งปันข้อมูลหลายๆ เรื่องด้วยกัน เราค่อยๆ ทดลองให้มั่นใจ เนื่องจากสินค้าที่ขายในร้าน 7-11 จำพวกอาหาร ไม่ใช่แค่ของใช้ทั่วไป สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เราต้องทดสอบจนมั่นใจว่ามีความปลอดภัย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถส่งเสริมโอกาสในสังคม”

4. Green Living ซีพี ออลล์ เชิญชวนคนไทยทั้งประเทศให้มีชีวิตอยู่ในโลกสีเขียวด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมที่เราทำกับตูน บอดี้สแลม “ลดพลาสติกวันละถุง คุณทำได้” หรือต่อยอดจากตูน ไปยัง BNK48 มีทั้งกลุ่มรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก รวมพลังคนไทยลดใช้ถุงพลาสติก ช้อนส้อม รวมทั้งหลอดด้วย

ขณะเดียวกันเราก็พยายามพัฒนาอุปกรณ์ การใช้งานแบบอื่นที่ใช้งานแทน เช่น แก้วใส่กาแฟ วันนี้เราพัฒนาแก้วที่ไม่เป็นพลาสติก แต่เอามาทดแทนและรักษาความเย็นได้เหมือนแก้วพลาสติก หรือปกติเราใช้หลอดในการเจาะฝา เราก็พัฒนาเป็นฝาที่ยกดื่มได้เลย เป็นส่วนที่กระตุ้นว่า ฝานี้ยกดื่มได้เลย ไม่ต้องใช้หลอด โดยค่อยๆ ให้ข้อมูลลูกค้า หรือเรื่องการมีถังขยะที่แยกสิ่งต่างๆ หน้าร้าน 7-11 จะมีถังแยกสองสี ถังหนึ่งสำหรับใส่ทุกอย่าง อีกถังสำหรับใส่ของที่สามารถรีไซเคิลได้ ในอนาคตเราก็คาดหวังว่าจะช่วยให้ความรู้ผู้บริโภคได้มากขึ้น อย่างน้อยตอนนี้สอนให้รู้จักการแยกขยะในเบื้องต้นก่อนในอนาคตจะเป็นถังสี่สี ตามมาตรฐานสากล ตรงนี้เป็น Green Living ที่เราพยายามช่วยขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

นอกจากนี้ กระบวนการภายในองค์กรมีการรีไซเคิล เพื่อให้เป็น Green Living ยกตัวอย่าง ในคลังสินค้ามีพาเลตพลาสติกใส่สินค้า พอใช้งานระยะหนึ่งจะหมดสภาพ เอามารีไซเคิลเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือที่เอามาใช้งานที่อื่นแทน เช่น พาเลตในคลังเอาทำมาใช้เป็นตะกร้าในร้านเซเว่น ซึ่งหลายตัวเราเอากลับมา reuse-recycle-refurbish พยายามทำให้มีอายุในการใช้งานที่ยืนยาวขึ้นและไม่กลับมาเป็นขยะอีก

“ปีที่ผ่านมาได้รณรงค์กับพนักงานว่า บ้านใครมีพื้นที่ มารับพันธุ์ต้นไม้ยืนต้นไปปลูก เพื่อให้เกิดการสร้างออกซิเจน และเป็นส่วนที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ มีอากาศที่ดี หรือในคลังสินค้าที่พอมีพื้นที่ ก็ปลูกต้นไม้ หรือที่ออฟฟิศใหม่ก็ปลูกต้นไม้เยอะมาก”

จากเป้าหมายองค์กร สู่นโยบาย กลยุทธ์ และปฏิบัติการ ซีพี ออลล์ ทำงานอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 โดยสามารถลดการใช้พลาสติกได้แล้ว ประมาณ 33,100 ตัน เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 94,200 ตันคาร์บอนเทียบเท่า และเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 2,192,800 ต้น

Waste Management โจทย์ที่ท้าทาย

ดร.หลุยส์กล่าวต่อว่าgreen living ในเรื่อง waste management เนื่องจากในร้าน 7-11 มีขายสินค้าโดยเฉพาะอาหารเป็นจำนวนมาก และสินค้าอาหารก็มีอายุจำกัด โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ food surplus กับ food waste

food surplus มีการจัดการใน 2 ส่วน ส่วนแรกพัฒนาระบบภายใน คือระบบการสั่งซื้อจะมีกระบวนการคาดการณ์ ประมาณการยอดขายของเราให้ใกล้เคียงกับลูกค้ามาซื้อได้ยังไง เป็นการเอาฐานข้อมูล(data)เข้ามาใช้ ที่ผ่านมาเราทำเรื่องคลังข้อมูล(big data)มากพอสมควร เอา AI เข้ามาช่วย เพื่อให้การสั่งสินค้าเข้าร้านแม่นยำมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีสินค้าส่วนที่เหลือที่เป็น food surplus ก็ช่วยลด waste ได้

อีกส่วนคือการเริ่มทำงานร่วมกับมูลนิธิด้านการพัฒนา 2 แห่ง มารับอาหารก่อนหมดอายุไปแจกจ่ายกับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ทำงานของมูลนิธิฯ ใน 1 ปีเราบริหารจัดการอาหารในส่วนนี้ได้หลายพันตัน และกำลังขยายผลกับมูลนิธิอื่นๆ หรือกลุ่มชุมชนที่สนใจ

“ความท้าทายคือ เนื่องจากอาหารมีระยะเวลาแค่วันเดียว เราต้องให้มูลนิธิฯ มารับและจัดการแจกจ่ายทันทีเพื่อความปลอดภัย โดยเราจะเอาอาหารออกก่อนหมดอายุ 1 วัน ช่วงกลางคืนน้องๆ ในร้านสาขาจะคัดอาหารออกมาจัดเก็บ เพื่อเตรียมให้มูลนิธิฯ ที่ทำงานร่วมกับเรามารับไปแจกจ่ายชุมชนที่เป็นพื้นที่ทำงานของมูลนิธิฯ เนื่องจากเป็นการจัดการด้านอาหาร ดังนั้นการทำงานต้องแม่นยำเรื่องการตรวจสอบคุณภาพและวิธิการเก็บรวบรวม ตั้งแต่ต้นทางที่ร้านสาขาถึงปลายทาง”

food waste ที่เป็นสินค้าที่หมดอายุและไม่สามารถรับประทานได้ จะร่วมมือกับผู้นำในชุมชนท้องถิ่น รับของเหล่านี้ไปแปรสภาพเป็นปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ หรือกล่องพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์เอาไปผสมกับการออกแบบในพื้นที่ ตัวอย่างที่ ซีพี ออลล์ ทำที่เกาะสมุยโดยที่เกาะต้องการลดถุงพลาสติก มีกลุ่มภาคประชาสังคมและชุมชน เอาพลาสติกห่อหุ้มไปทดลองไปผสมปูนซีเมนต์ เพื่อดัดแปลงเป็นอุปกรณ์บางอย่างที่ใช้งานได้ พอมีพลาสติกก็ทำให้ปูนซีเมนต์แข็งแรงมากขึ้นและยังมีการเอาเศษอาหารไปเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ย น้ำหมัก ซึ่งโมเดลที่สมุยเริ่มขยายผลไปที่อื่นๆ แล้ว ถ้าเราสามารถจับมือกับทุกชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ ที่มีร้าน 7-11 อยู่ได้ หรืออาจจะไม่ใช่โมเดลนี้ เพราะแต่พื้นที่ไม่เหมือนกัน เราก็ค่อยๆ ทดลองจนได้โมเดลที่ตอบโจทย์กับทุกชุมชน ที่เราไปอยู่กับเขา”

ต้นกล้าไร้ถัง โมเดลจากโรงเรียนอนุบาลสู่ร้าน 7-11

ดร.หลุยส์กล่าวเสริมในเรื่อง green living ว่า “อีกส่วนที่เราเข้าไปช่วยเรื่องการศึกษา ภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษา ConnextEd โดยมีบุคลากรทั้งกลุ่ม ซีพี ออลล์ และปัญญาภิวัฒน์ที่ร่วมเป็น school partner กับโรงเรียนกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ โดยเข้าไปทำงานร่วมกับผู้บริหารและครูในการออกแบบ ทดลองและค้นหาโมเดลการจัดสร้างทักษะและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กในการลดการสร้างขยะและการคัดแยกขยะเพื่อการบริหารเป็นรายได้ และรีไซเคิลเป็นของใช้จากขยะ” ทุกโรงเรียนก็จะนำแนวคิดหลักไปทดลองและหาโมเดลที่เหมาะสำหรับบริบทของพื้นที่ เช่น ที่โรงเรียนอนุบาลทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครูและผู้บริหารโรงเรียนอนุบาล/ประถม มีความสนใจเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มที่บูรณาการวิชาการและปฏิบัติจริงในเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาล โดยตั้งเป้าหมายว่า โรงเรียนนี้จะไม่มีการทิ้งขยะใดๆ ลงในระบบ และปรับแนวคิดให้เห็นขยะเป็น ‘วัสดุ’ ที่สามารถบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์และรายได้ โครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ที่ริเริ่มจากโรงเรียนอนุบาลทับสะแก และขยายผลไปแล้วกว่าร้อยโรงเรียน จะเป็นโรงเรียนที่ไม่มีถังพลาสติกและไม่มีถังขยะใดๆ เพราะขยะจะถูกแยกอย่างละเอียดเพื่อการรีไซเคิล รวมทั้งการสอนพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ โดยค่อยๆ สอนเด็กว่าให้ตักอาหารให้พอกิน ไม่ตักเยอะ แล้วกินทิ้งกินขว้าง ค่อยๆ สอนตั้งแต่เด็ก พอเด็กเติบโตจะมีจิตสำนึกในสิ่งเหล่านี้”

“หรือใครจะเอาพลาสติกเข้ามาใช้ก็ต้องคิดว่าใช้เสร็จจะเอาไปใช้อะไรต่อได้ ไม่ใช่ดื่มน้ำเสร็จแล้วโยนทิ้งถังขยะไป โครงการนี้ได้รางวัลต้นแบบของการทำโรงเรียนประชารัฐด้วย และวันนี้เราร่วมกับร้านสาขาที่เป็น school partner ในหลายจังหวัด พร้อมที่จะขยายผล โดยมีหลายโรงเรียนทั่วประเทศแสดงความสนใจนำเอาโมเดลนี้ไปใช้ ขณะเดียวกันวันนี้โมเดล ‘ต้นกล้าไร้ถัง’ ของเราเอาไปทดลองใช้กับร้านสาขา 7-11 เพื่อหาแนวทางลดปริมาณขยะจากร้านสาขาทั้งหมดในอนาคต

ส่งเสริม Active Consumer และทำงานร่วมกับทุกพันธมิตร

ดร.หลุยส์กล่าวต่อว่า “ผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ที่เห็นและชัดเจนมากคือเด็กรุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย หลายๆ มหาวิทยาลัยที่ร้าน 7-11 ตั้งอยู่ ทางอธิการบดีหรือสโมสรนิสิตนักศึกษาบอกว่าร้าน 7-11 ในแคมปัสไม่ต้องแจกถุงหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว งดการใช้หลอด นักศึกษาส่วนใหญ่จะมีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก นอกจากนี้อาจารย์ในบางวิชาก็มาจับมือกับเรา โดยการเอา waste ประเภทต่างๆ ของเราไปวิจัยศึกษาให้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ทั้งส่วนที่เป็นขยะอาหาร/กากกาแฟ ขยะพลาสติก และอุปกรณ์ใช้งานในออฟฟิศ เราเริ่มมีข้อมูลและไอเดียว่าจะบริหารจัดการขยะต่างๆ ให้เกิดอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น”

“เราทำงานร่วมกับSME สหกรณ์ ชุมชน ยกตัวอย่าง กล้วยหอมทองที่เห็นในร้าน 7-11 คนที่ผลิตไม่ใช่บริษัทใหญ่ แต่เป็นสหกรณ์ชุมชนที่ปลูกกล้วยในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งกล้วยต้องมีการกระจายสินค้าและบริหารจัดการความสด ความพอดี เวลามาถึงร้าน เราก็พยายามคิดค้นว่าจะไม่ใช้ถุงพลาสติกห่อกล้วยได้อย่างไร ขณะนี้อยู่ในกระบวนการว่าจะใช้อะไรมาทดแทนได้ แต่สิ่งที่ทำแล้วคือเราลดความหนาของถุงพลาสติกให้บางลง เรายังไม่หยุดการวิจัยหาสิ่งที่จะแทนได้บ้าง”

เราพยายามจับมือกับทุกคน เพราะเราเชื่อว่ากระแส sustainability ไม่ใช่แค่ requirement แต่มันคือ purpose เราต้องร่วมมือกันสร้างความตระหนักของคนในสังคมส่วนใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาและค่อยๆ ส่งเสริมความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนที่เป็นรูปธรรมและทุกคนในสังคมสามารถมีส่วนร่วม

ดร.หลุยส์กล่าวต่อว่า “อย่างโครงการที่จับมือกับซันโทรี่ เป๊ปซี่ ยกตัวอย่าง สำนักงานใหญ่ ซีพี ทาวเวอร์ มีเครื่องซันโทรี่ เป๊ปซี่ โดยขวดพลาสติกที่ดื่มน้ำแล้วทั้งหมดสามารถหย่อนเข้าไปในเครื่องนี้และเครื่องจะแยกของที่ใช้แล้ว และเอาพลาสติกไปรียูสหรือรีไซเคิลต่อได้ หรือการจับมือกับเต็ดตรา แพ้ค ในเรื่องกล่องนม เพราะกล่องนมมีเรื่องฟิล์ม แผ่นฟรอยด์ต่างๆ การไปทิ้งเป็นขยะ ต้องกำจัดหลายขั้นตอนมาก ถ้าใครอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยดูแลโลกใบนี้ ดื่มเสร็จก็เขย่าล้าง หยอดในตู้ ทางเต็ดตรา แพ้ค เอากลับไปรีไซเคิล เป็นต้น เราค่อยๆ ขยายพันธมิตรในการทำงานขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากการสร้างความตระหนักและพฤติกรรมลูกค้าเรื่องถุงพลาสติก ช้อน หลอด หรือฝายกดื่ม หรืออื่นๆ”

“ผมคิดว่าเทรนด์เหล่านี้ ถ้าทุกภาคส่วนทั้งโลกช่วยกันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโลกและปรับใช้หรือขยายผลได้จริง ไม่ใช่แค่คอนเซ็ปต์

“Supply chain” we are stronger together

ดร.หลุยส์กล่าวต่อถึงการสื่อสารและทำงานร่วมกับคู่ค้าในเรื่องความยั่งยืนว่า “คู่ค้าที่เรียกว่า supplier tier one เราประชุมและทำแผนร่วมกันอย่างใกล้ชิด เราอยากเชิญชวนให้บริษัทคู่ค้าของเรา ไม่ใช่แค่ทำกับเรา แต่อยากให้ทำทั้งระบบ ในการบริหารจัดการในโรงงานของเขาด้วย และถ้าคู่ค้า tier one ได้ครบจะขยายไปกลุ่มคู่ค้าอื่นๆ เพราะแต่ละบริษัทคู่ค้าก็มีเครือข่ายที่จะขยายแนวคิดและแนวทางการทำงานส่งผ่านกันไป จนเป็นพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนร่วมกัน