ThaiPublica > คอลัมน์ > ระวัง “ท่องเที่ยวล้างแค้น”

ระวัง “ท่องเที่ยวล้างแค้น”

15 พฤศจิกายน 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

นักท่องเที่ยวจีนเดินจากบริเวณถนนหน้าพระธาตุด้านข้างสนามหลวงเพื่อเข้าชมบพระบรมมหาราชวัง

มนุษย์มักมีพฤติกรรมที่ไปสุดโต่งเสมอหลังจากที่รู้สึกถูกปิดกั้น ถูกห้าม ถูกกีดกัน อดอยาก ฯลฯ ดังเช่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่คนในโลกขาดชีวิตที่เป็นปกติ ขาดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตอย่างมาก ไม่อาจเดินทางไปมาพบหากันได้อย่างปกติ ฯลฯ ผลพวงที่เกิดขึ้นก็คืออัตราการเกิดของประชากรที่พุ่งสูงขึ้นมากในโลก เกิดพวก Baby Boomers (อย่างเช่นผู้เขียนและเพื่อน ๆ) อีกตัวอย่างคือสาธารณรัฐประชาชนจีนหลังจากเปิดประเทศอย่างจริงจังในยุค 1980 โดยผ่านการเป็นสังคมคอมมูนิสต์และการปฏิวัติวัฒนธรรมมาก็เกิดการบริโภคที่สูงขึ้นในทุกเรื่อง ดังที่เรียกกันว่า Revenge Consumption (“บริโภคล้างแค้น”) คนจีนเป็นพวก New Rich ที่ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า และเดินทางไปทุกหนแห่งที่ไปได้ตลอด 20-30 ปีผ่านมา

การระบาดโควิด-19 ทำให้ช่วงปี 2019-2020 และเกือบทั้งปีของ 2021 เป็นเวลาแห่งการปิดกั้นความปรารถนาบริโภคของมนุษย์โลกส่วนใหญ่ หากการระบาดคลี่คลายลงในปี 2022 ดังที่คาดการณ์กันก็น่าจะเกิดปรากฏการณ์ Revenge Tourism (“ท่องเที่ยวล้างแค้น”) ดังที่มีการกล่าวถึงกันในสื่อต่างประเทศในปัจจุบัน

กรณีตัวอย่างคือสหรัฐอเมริกา ขณะนี้รัฐบาลและคนอเมริกันดูจะเลิกกลัวโควิด-19 แล้ว เศรษฐกิจขยับตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว คนอเมริกันผู้มีเงินรู้สึกอึดอัดใจที่ไม่อาจเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้ดังที่เคยชิน (คนยิ่งรวยมากมักยิ่งอึดอัดใจมาก) ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ที่พอทำได้ก็คือหันมาซื้อของออนไลน์ราวกับแค้นเคืองกันมานานปี (“ซื้อล้างแค้น”) จนธุรกิจขนส่งทางเรือบูมสุด ๆ ค่าขนส่งพุ่งสูงขึ้น เรือขนสินค้าวิ่งกันพล่านโลก ต้องคอยขนสินค้าขึ้นฝั่งตะวันตกของอเมริกานานวันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นเมื่อท้องฟ้าเปิดจะได้ท่องเที่ยวจึงเตรียมตัวกันขนานใหญ่

งานวิจัยด้านการตลาดพบว่าการระบาดของโควิด-19 ไม่ทำให้ความปรารถนาเดินทางท่องเที่ยวของคนอเมริกันลดน้อยลงและมีพฤติกรรมการวางแผนเดินทางที่คล่องตัวขึ้น Harris Poll ในการสำรวจเมื่อกลางปี 2021 พบว่าจากตัวอย่าง 2,500 คน นักท่องเที่ยวอเมริกันปรารถนาจะเดินทางมากขึ้น อย่างสวนทางกับความรุนแรงของวิกฤติการระบาด ยิ่งเป็นรัฐที่ถูกกระทบมากเท่าใดยิ่งมีคนระบุว่าต้องการท่องเที่ยวในช่วงเวลา 4 เดือนต่อไปมากเท่านั้น ถึงแม้จะกังวลเรื่องประเด็นความเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่ก็ต้องการเดินทางไปพบปะครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูงโดยเฉพาะต้องการบรรยากาศและสิ่งแวดล้อม ใหม่ ๆ

คนจีนก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่รัฐบาลยังไม่อนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ คนจีนก็เที่ยวในประเทศกันมากขึ้นโดยจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินในประเทศในปัจจุบันกลับมาอยู่ในระดับ 60-70% ของระดับก่อนหน้าการระบาด

จากสองตัวอย่างข้างต้น นักวิเคราะห์การท่องเที่ยวในระดับโลกเชื่อกันว่า ขณะนี้ประชาชนที่มีเงินในหลายประเทศอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมตัว “ท่องเที่ยวล้างแค้น”

ในกรณีของประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ศึกษารูปแบบการท่องเที่ยวของไทยหลังโควิดและยุทธศาสตร์ใหม่ที่เหมาะสมของภาคการท่องเที่ยวไทยไว้อย่างน่าสนใจ (ข้อสรุปและรายงานตัวจริงหาได้จากอินเทอร์เน็ต) โดยพบว่าหลังโควิดจะมี 3 ทางโน้มของการท่องเที่ยวในระดับโลกที่ไทยก็น่าจะเหมือนกันท่ามกลางความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพและสาธารณสุข ดังนี้

(1) การท่องเที่ยวจะมีลักษณะเป็นแบบ “ช่องตลาด” กล่าวคือไม่เป็น “แบบโหล” อีกต่อไป จะมีนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือคนเดียวท่องเที่ยวแบบอิสระ สนใจการท่องเที่ยวธรรมชาติ (อากาศโปร่ง) ท่องเที่ยวที่มีชุมชนเป็นฐาน รวมถึงท่องเที่ยวเพื่อรักษาการป่วยไข้ (medical tourism)

(2) การท่องเที่ยวที่ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย ท่องเที่ยวในภูมิภาคใกล้เคียงและในประเทศเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวที่แออัด และจะนิยมไปสถานที่ท่องเที่ยวกลางแจ้งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย

(3) Digitalization การเดินทางที่มีการสัมผัสน้อยลง ท่องเที่ยว “เสมือน” มากขึ้น (ไปสถานที่ท่องเที่ยวจำลอง หรือเสมือนในโลกไซเบอร์) การจ่ายเงินแบบไร้สัมผัส มีระบบเข้าคิวชนิดออนไลน์ การให้บริการข้อมูล การใช้บริการความปลอดภัยผ่าน platform (ตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า platform ได้แก่ Line / Facebook / Google) ข้อสรุปแนวโน้มข้างต้นมาจากการสำรวจข้อมูลในปลายปี 2020 ของ 14 ประเทศใน Asia Pacific ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย

คำถามที่อยู่ในใจก็คือหากปรากฏการณ์ “เที่ยวล้างแค้น” มีอยู่จริง ในสองสามปีแรกโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน 10 ล้านคน ทางโน้มของไทยจะเป็นไปตาม 3 ทางโน้มข้างต้นหรือไม่ และประการสำคัญไทยจะรับมือกับการ “ล้างแค้น” ครั้งนี้และต่อไปกันอย่างไร

เดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2021 เป็นเดือนแห่งความตื่นเต้นและการลุ้นสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในบ้านเรา การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นจะแข่งกับทางโน้ม “กล้าสุ่มเสี่ยง” มากขึ้นของคนไทยเพราะความมั่นใจและย่ามใจกับการฉีดยาแล้วจนลดการ์ดลง ใส่แมสก์กันน้อยลง ดื่มกินกันอย่าง “ล้างแค้น” หลังจากที่ถูกห้ามมานาน ผลที่จะออกมาน่าตื่นเต้นเป็นอันมาก หลายประเทศก็ทำแบบเดียวกันเพราะการ “ยอมแพ้” โควิดไปเรื่อย ๆ นั้นไม่ต่างอะไรจากการฆาตกรรมปากท้อง

ขึ้นปีใหม่ 2022 การแข่งขันนี้ก็ยังไม่จบ การ “ล้างแค้น” ของนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศจะมากขึ้นเป็นลำดับในสองสามปีข้างหน้า หากไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงในโลกขึ้น อย่างไรก็ดีเชื่อได้ว่ากลุ่มหนึ่งของพวก “ล้างแค้น” เหล่านี้ไม่น่าจะมีพฤติกรรมของ 3 แนวโน้มข้างต้นมากนัก

การ “กินล้างแค้น” และ “ช็อปปิ้งล้างแค้น” จาก “ท่องเที่ยวล้างแค้น” เป็นผลดีต่อพ่อค้า แม่ขาย และธุรกิจโดยทั่วไปแต่ถ้าเราเพลิดเพลินกับมันเกินไปจนไม่ตระหนักว่าทางโน้ม 3 ประการนั้นจะมาอย่างจริงแท้ในที่สุดแล้ว การท่องเที่ยวของเราก็จะเสียหายในระยะต่อไปเพราะขาดการเตรียมปรับตัว

“ท่องเที่ยวล้างแค้น” เป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยฟื้นเรื่องปากท้องในสังคมไทยได้อย่างรวดเร็ว แต่การหลงไหลอย่างไม่ตระหนักว่ากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาคการท่องเที่ยวขึ้นในระดับโลกแล้วก็เท่ากับว่าเรากำลังขอยืมเวลามาใช้อย่างแท้จริง

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 19 ต.ค. 2564