ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่า สร้างความสัมพันธ์

เรื่องเล่า สร้างความสัมพันธ์

4 พฤษภาคม 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

การเล่าเรื่องเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เราเล่าเรื่องกันทุกวันอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เพื่อน หัวหน้างาน ทนายความ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ซีอีโอ ฯลฯ เพื่อความสนุกของตัวเราเอง เพื่อชี้ประเด็น เพื่อชักนำให้คล้อยตาม เพื่อให้เห็นความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร ฯลฯ อย่างมีและไม่มีประสิทธิภาพ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการเล่าเรื่องคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันที่สำคัญยิ่ง

บ่อยครั้งที่คนในครอบครัวของเรา หรือเพื่อนมักเล่าเรื่องซ้ำโดยเป็นเรื่องที่เขาเคยพูดถึงหรือเล่ามาแล้ว (บางครั้งหลายหน) หรือเรื่องที่เราเคยได้ยินมาก่อน เรารู้สึกอย่างไรคงไม่ต้องพูดกัน บ่อยครั้งยังไม่ทันจะพูดเกินสามคำเลยเราก็พูดตัดบทว่าเคยได้ยินมาแล้วซึ่งไม่น่าจะทำให้ผู้พูดพอใจนัก

ในทางกลับกัน ตัวเราเองก็เช่นกัน กระทำแบบเดียวกันจนคนอื่นรู้สึกเบื่อหน่าย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกสังคมเพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมีความประทับใจในเหตุการณ์บางอย่างในชีวิต และฝังใจบางเรื่องราวจนตรึงตราอยู่ในใจ และอดไม่ได้ในความเป็น “สัตว์สังคม” ที่จะต้องเล่าเรื่องเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่า

การเล่าเรื่องโดยแท้จริงแล้วเป็นประสบการณ์ร่วมที่สร้างความผูกพันและความผูกโยงระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าส่วนตัวก็คือการเปิดเผยบางส่วนของตัวเราเองในเรื่องคุณค่าที่เราให้แก่สิ่งต่างๆ เผยประวัติส่วนตัวตลอดจนการมองโลกและชีวิต ความจริงที่ไม่ควรลืมก็คือการเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวสร้างความใกล้ชิด และเป็นสัญญาณของความมีศรัทธาในความสัมพันธ์ไม่ว่าระหว่างหญิงชายที่เริ่มชอบพอกัน เพื่อน คนในครอบครัว เจ้านายกับลูกน้อง ศิษย์กับครู ผู้นำกับผู้ตาม คนเขียนกับคนอ่าน ฯลฯ

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่จะเล่าอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อหน่าย มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ (ไม่ “เทศน์” ท่ามกลางวงเหล้า) ให้ผู้ฟังมีความสนใจ สามารถสื่อสารสาระของเรื่อง ให้ผู้ฟังรับประเด็นที่ต้องการจะสื่อ ฯลฯ

Melanie Green ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารที่ New York University ที่ Buffalo ศึกษาการเล่าเรื่องมา 20 ปี ระบุในงานวิจัยที่กำลังจะตีพิมพ์ว่า ผู้คนที่เล่าเรื่องได้ดี (มิได้หมายถึงการให้ข้อมูลหรือความเห็น) จะถูกตัดสินโดยคนฟังว่าเป็นคนน่าคบหาและเป็นคนอบอุ่น เธอพบว่าหญิงมักเห็นว่าชายที่เล่าเรื่องได้เก่งเป็นคนน่าสนใจและน่าคบหาสมาคมโดยเฉพาะมีความสัมพันธ์ในระยะยาว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเขารู้จักที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่น และเป็นคนที่สามารถร่วมอารมณ์กับคนอื่นได้ดี

งานวิจัยใหม่ถึง 10 ชิ้นของ Washington University ที่ St. Louis และที่ University of Georgia พบว่าคนที่เล่าเรื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากจะเป็นคนน่าเบื่อแล้ว ยังถูกมองว่าเป็นคนมีความจริงใจน้อย มีความเป็น “ของแท้” น้อย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเขาเหล่านั้นมิได้นำเสนอความเป็นตัวตนจริงๆ ให้แก่ผู้ฟัง ยิ่งไปกว่านั้นยังพบอีกว่าผู้ฟังมีความสนใจน้อยในการที่จะมีความสัมพันธ์กับคนที่เล่าเรื่องที่เขาเคยได้ยินมาก่อนอีกด้วย

เมื่อความเป็นจริงเกี่ยวกับการเล่าเรื่องเป็นเช่นนี้ เราควรทำอย่างไรกันในการเล่าเรื่องซึ่งเรากระทำกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ข้อแนะนำจากงานวิจัยทั้งหลายพอสรุปได้ดังนี้

(ก) หากตัวเราต้องการเล่าซ้ำเรื่องที่เราชอบเป็นพิเศษ หรืออาจเล่าเรื่องที่อาจได้ยินกันมาก่อน จงออกตัวกับผู้ฟังก่อน หรือขออภัยล่วงหน้าหากได้ยินมาก่อน

(ข) การเล่าเรื่องที่มีตรรกะอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไม่ตะกุกตะกักจับต้นชนปลายไม่ถูกจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเป็นลบกับผู้เล่า ถ้าไม่มั่นใจหรือไม่เตรียมตัวคิดมาก่อน จงหลีกเลี่ยงเสียดีกว่า

(ค) ผู้เล่าต้องตระหนักถึงวัตถุประสงค์ของการเล่าว่าจะให้เป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง (ที่ฟังแล้วรู้เรื่อง) เป็นการสื่อข้อความที่มีคุณค่า เป็นการโน้มน้าวจูงใจ ฯลฯ

(ง) เทคนิคการเล่าเป็นเรื่องสำคัญ การมีน้ำเสียงขึ้นลงอย่างเหมาะเจาะ ไม่ราบเรียบจนผู้ฟังหลับ การใช้ความสุภาพทั้งคำพูดและการกระทำตลอดจนการให้เกียรติกับผู้อื่น การถ่อมตน หรือไม่เยิ่นเย้อจนน่าเบื่อเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความรู้สึกที่เป็นบวกในใจของคนรับสาร

Paul Zak นักเศรษฐศาสตร์ด้านประสาทวิทยา (neuro economist) ที่ Claremont Graduate University ศึกษา neurobiology ของการเล่าเรื่องและพบว่าเรื่องที่มีการเล่าที่ดีจะช่วยเพิ่มการปล่อยสารสำคัญที่ดี 2 ตัว ในสมองคือ dopamine (เมื่อให้ความสนใจกับเรื่องที่เล่า) และ oxytocin (ทำให้รู้สึกผูกพันเชื่อมโยง) ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดสภาวการณ์ที่เรียกว่า immersion ซึ่งผู้ฟังจะซึมซับด้วยความรู้สึกดื่มด่ำและพร้อมที่จะถูกโน้มน้าว

ถ้าจะให้ผู้ฟังเข้าไปอยู่ในสภาวการณ์ immersion ผู้เล่าจะต้องทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจและเกิดอารมณ์ร่วมในเรื่องที่เล่า อารมณ์นี้แหละคือสิ่งที่จะไปเพิ่มความผูกพันกับผู้เล่า

ข้อสุดท้าย (จ) ต้อง “ตัดต่อ” (edit) เรื่องที่เล่าเสมอให้เหมาะแก่ผู้ฟัง ต้องมีประเด็น ปรับตนเองโดยเล่าให้สั้นกะทัดรัด ตัดรายละเอียดของเรื่องที่เราชอบเป็นพิเศษที่ไม่เกี่ยวพันออกบ้าง ไม่เล่าอย่างกระท่อนกระแท่นออกไปนอกเรื่อง ต้องให้อยู่ในกรอบเป็นเรื่องเป็นราวและอย่าพูดวลีหรือคำซ้ำไปซ้ำมาเป็นอันขาด

มนุษย์ทุกคนชอบเรื่องเล่า ซึ่งได้รับมาจากการพูดคุยกันตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน จากภาพยนตร์ หนังสือ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการอยู่เสมอ การเล่าเหล่านี้มีประเด็นที่พึงตระหนักเพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เล่าเองและผู้ฟัง และประการสำคัญไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นลบเกี่ยวกับผู้เล่าขึ้นในใจของผู้ฟัง

จะเล่าเรื่องกันทั้งทีเพื่อสร้างเสริมสัมพันธ์ระหว่างกันต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำร้ายใคร สนุก และมีประเด็นให้คิด ไม่มีอะไรน่าเบื่อเท่ากับฟังเรื่องเล่าเดิมๆ โดยคนเดิมๆ บ่อยครั้งเลอะๆ เทอะๆ จนทำให้สารเคมีดีๆ ที่ควรหลั่งในสมองอยู่บ้างตามปกติก็จะพลอยหยุดไปหมด

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 30 เมษายน 2562