ThaiPublica > คอลัมน์ > แนวคิด “ตลาดจ๋า” กำลังเปลี่ยนแปลง

แนวคิด “ตลาดจ๋า” กำลังเปลี่ยนแปลง

12 กรกฎาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : http://amandala.com.bz/news/wp-content/uploads/2016/06/Neoliberalism-Oversold.png
ที่มาภาพ : http://amandala.com.bz/news/wp-content/uploads/2016/06/Neoliberalism-Oversold.png

การเป็นโลกเสรีทางเศรษฐกิจกันเกือบสุดทางดังที่ชาวโลกคุ้นเคยกันมากว่า 30 ปี นั้น ขณะนี้กำลังประสบการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังจากผ่านประสบการณ์ผิดและถูก สัญญาณสำคัญก็คือการออกมายอมรับว่าแนวคิดนี้ไม่ได้ถูกต้องเสมอไปของนักเศรษฐศาสตร์ IMF กลุ่มหนึ่ง และจากคำให้สัมภาษณ์ของ Chief Economist คนใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้

แนวคิดการเป็นเสรีของโลกในด้านเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า neoliberalism นั้นหมายถึงทุนนิยมแบบเนื้อหาเต็ม ๆ ซึ่งอยู่บนฐานของสองเรื่องคือ หนึ่ง เพิ่มการแข่งขันด้วยการลดเลิกผ่อนปรนกฎกติกา (deregulation) ตลอดจนการเปิดตลาดภายในประเทศทั้งสินค้า บริการ ตลาดเงินและตลาดทุนสู่การแข่งขันกับต่างประเทศ สอง บทบาทที่น้อยลงของภาครัฐผ่าน privatization(การนำวิธีการของเอกชนมาใช้ในภาครัฐ) ตลอดจนจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการมีงบประมาณขาดดุลและสะสมหนี้

บุคคลสำคัญที่ผลักดันแนวคิดนี้คือ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลยักษ์ใหญ่ของโลกและของสำนัก Chicago (University of Chicago) ที่เต็มไปด้วยนักเศรษฐศาสตร์แนวคิดเสรี อิทธิพลของกลุ่มนี้แรงมากปรากฎเห็นเป็นรูปธรรมในปัจจุบันเช่น (1) ขึ้นเครื่องบินด้วยราคาต่ำอันเนื่องมาจากการลดละเลิกผ่อนปรนกฎหมายและกฎเกณฑ์บังคับต่าง ๆ (2) รปภ. หรือคนทำความสะอาดหน่วยราชการใช้บริษัท (3) ตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารมีการสรรหา (4) เงินเดือนของพนักงานรัฐในบางองค์กรทัดเทียมภาคเอกชน (5) ตลาดเสรีการค้า เช่น AFTA / NAFTA / WTOฯ(6) การแข่งขันเสรีในการผลิตอย่างปราศจากการผูกขาด ฯลฯ

Friedman ได้เป็นที่ปรึกษาของชิลีในต้นทศวรรษ 1970 โดยมีลูกศิษย์นักเศรษฐศาสตร์ที่จบจาก Chicago หลายคน (“Chicago Boys”) ร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจแนว neoliberalism จนประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ชิลีระหว่าง 1985-1990 มีอัตราการขยายตัวของรายได้ที่แท้จริงต่อหัวร้อยละ 5 ต่อปี จนกลายเป็นตัวอย่างไปทั่วโลกว่าโมเดลของการใช้สองฐานข้างต้นเป็นสิ่งที่ได้ผล

แนวคิดเศรษฐกิจเสรีดังกล่าวแพร่กระจายเป็นโรคระบาด และมีส่วนผลักดันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Washington Consensus หรือชุดของนโยบายเศรษฐกิจ 10 เรื่องที่ถือว่าเป็น “มาตรฐาน” ของแพ็คเกจปฏิรูปประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจร้ายแรง ซึ่งองค์กรเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ในกรุง Washington เช่น IMF / World Bank / กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา

ต่อมาความหมายของ Washington Consensus ได้เพี้ยนไป ถูกใช้อย่างกว้างขวางในความหมายของการโน้มเอียงสู่เส้นทางที่ยึดตลาดเสรีเป็นหลัก (market fundamentalism หรือ neoliberalism)

“องค์กรดูแลระดับโลก ” (IMF / World Bank และอื่น ๆ ในระดับโลก) มีอิทธิพลอย่างสูงต่อประเทศกำลังพัฒนาเมื่อมีการนำเอาแนวคิด neoliberalism นี้มาใช้ เมื่อครั้ง “ต้มยำกุ้ง” ของไทย IMF ผู้ให้กู้เงินบังคับให้ไทย “รัดเข็มขัด” อย่างแน่น ปล่อยให้ “คนใกล้ตาย” จากการไม่มีเงินใช้หนี้ตายไปตามกลไกตลาด ทรัพย์สินที่มีปัญหาปล่อยให้กลไกตลาดแก้ไข ปล่อยเสรีเรื่องเงินทุนไหล เข้าออก ปล่อยให้ตลาดมีการแข่งขันเสรี ฯลฯ ทุกคนคงจำความเจ็บปวดนั้นได้ ทุกอย่างเป็นไปตามแนวคิด neoliberalism

อินโดนีเซียเจ็บปวดหนักเมื่อฝูงชนแห่ประท้วงและเกิดจลาจลเข้าจี้ปล้นเมื่อไม่พอใจการปรับราคาน้ำมันที่รัฐบาลควบคุมให้ต่ำมานาน IMF บังคับให้ปล่อยราคาน้ำมันเป็นอิสระมิฉะนั้นจะลากลับบ้านไม่ช่วย เมื่อค่าเงินรูปีตกต่ำอย่างหนัก ข้าวของแพง หนี้สินต่างประเทศล้นพ้นตัว ประธานาธิบดีซูฮาโตซึ่งครองอำนาจมานานกว่า 32 ปี ก็ต้องยอมและในที่สุดก็หลุดออกจากอำนาจ

บทความในวารสาร Finance & Development, June 2016, ของ IMF เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF สามคน บทความหนึ่งมีชื่อว่า “Neoliberalism : Oversold?”ยอมรับว่าในบางกรณีการแก้ไขปัญหาโดยใช้นโยบาย neoliberalism ไม่ได้ผลเพราะ แทนที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตกลับทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นและไม่อำนวยให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

คำให้สัมภาษณ์ของ Chief Economist ของ IMF คือ Maurice Obstfeld ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ neoliberalism นั้นมิใช่ยาเดียวอีกต่อไปแล้วจากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ละโรคต้องรักษาด้วยยาและวิธีที่ต่างกัน แนวคิดใหม่นี้เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนพื้นพิภพของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการให้ความช่วยเหลือที่เป็นมาตลอด 30 กว่าปี อย่างไรก็ดี แท้จริงแล้วเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาหลายปี แต่การตีพิมพ์บทความเช่นนี้เท่ากับเป็นการยอมรับอย่างกึ่งทางการครั้งแรก

ว่าไปแล้วคนธรรมดา ๆ ก็มองเห็นว่าการแก้ไขปัญหาของ IMF ในกรณีของไทยกับอินโดนีเซียนั้นมันแปลกประหลาด การยังปล่อยให้เงินทุนไหลเข้าออกเสรี การใช้กลไกตลาดจ๋าในช่วงวิกฤตคือ การฆ่ากัน การรัดเข็มขัดขนาดหนักของคนกรีกในปัจจุบันอันเนื่องมาจากรัฐบาลตัดงบประมาณเพราะเป็นเงื่อนไขของการให้กู้ยืมก็เป็นอีกตัวอย่างของการมากเกินไปของ neoliberalism หรือไม่

แนวคิด neoliberalism ยังไม่หายไปข้ามคืน การเลือกใช้นโยบายที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกรณีภายใต้แนวคิดตลาดเสรีนั้นไม่ผิดพลาด เพียงแต่ว่าจะเลือกใช้อย่างไรเท่านั้น

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 5 ก.ค. 2559