ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้จักคนรุ่น ME-ME-ME

รู้จักคนรุ่น ME-ME-ME

23 ตุลาคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://time.com/247/millennials-the-me-me-me-generation/

คิดจะไปค้นนิตยสาร Timeเมื่อหลายปีก่อนที่เขียนเกี่ยวกับ Generation Y ก็พอดีเจอข้อความในเว็บของคุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ซึ่งนำมาจากบทความเดียวกันและเขียนเพิ่มเติมอย่างน่าอ่าน เลยขอนำมาเผยแพร่ต่อ ชื่อของบทความคือ “Me Me Me Generation” กล่าวถึงคน Generation Y ที่เกิดประมาณระหว่าง ค.ศ.1980-2000 ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจาก Generation X ผู้เป็นพ่อแม่ซึ่งเกิดระหว่าง 1960-1980

โจเอล สไตน์ ผู้เขียนบอกว่าลักษณะของ Generation Y ที่เขาเขียนถึงนี้เป็นจริงกับคนส่วนใหญ่ในสังคมเมืองอื่น ๆ ด้วย ไม่เฉพาะคนอเมริกันเท่านั้น คนรุ่นนี้จะเน้นตัวเองและความต้องการของตัวเองเป็นหลัก (ME ME ME) เนื่องจากพ่อแม่สร้างความรู้สึกให้ลูกเห็นว่าตัวเขามีความสำคัญ (self -esteem) เช่น ชื่นชมให้กำลังใจอยู่เรื่อยและมากเกินไปจนกลายเป็นคนหลงตัวเอง (narcissistic) จนมีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นกับ Generation ME ME ME ดังต่อไปนี้

“คนรุ่นใหม่ (รุ่น Y) นั้นได้รับการปลูกฝังเลี้ยงดูภายใต้วัฒนธรรม “แค่เข้าร่วมก็ได้ประกาศนียบัตร” โดยไม่สนใจถึงประสิทธิผลหรือวิธีการหรือความสำคัญของการเข้าร่วม ซึ่งทำให้พวกเขามักคิดว่าหากทำงานพวกเขาควรได้รับการโปรโมตเลื่อนขั้นทุก ๆ สองปีโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาที่ผลงานหรือประสิทธิภาพ การได้รับเป็นสิทธิของเขา คนกลุ่มนี้มองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งและเป็นกลุ่มหลงตัวเอง

คนที่มี “บุคลิกภาพหลงตัวเอง” มักมีอาการและพฤติกรรม ดังนี้ (1) มีปฏิกิริยาต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความโกรธแค้น (2) เอาเปรียบผู้อื่นเพื่อตอบสนองความต้องการชนะหรือตอบวัตถุประสงค์ของตนเอง (3) มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญมากเกินพอดี (4) มักพูดจาขยายเกินกว่าความเป็นจริงเกี่ยวกับความสำเร็จหรือความสามารถของตนเอง (5) มีใจหมกมุ่นกับจินตนาการของความสำเร็จ พลัง อำนาจ ความงาม สติปัญญา หรือรักในอุดมคติ

(6) ใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่ตนเองชื่นชม หลงใหล คาดหวัง (7) ต้องการเป็นที่ชื่นชม ยอมรับหลงใหลของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา (8) เพิกเฉยไม่เอาใจใส่ความรู้สึกของผู้อื่นและมีความพยายามน้อยที่จะแสดงความเห็นใจผู้อื่น (9) คิดหมกมุ่นอยู่กับผลประโยชน์และความต้องการของตนเอง (10) ไล่ตามเป้าหมายที่สร้างประโยชน์ให้ตนเอง

พฤติกรรมเลี้ยงลูกของคนรุ่น X ที่ทำให้คนรุ่น Y เป็นคนหลงตัวเองมีดังนี้

ประการแรก : ลูกเป็นศูนย์กลางของบ้าน ถ้าเปรียบเทียบกับการเลี้ยงดูของชาวจีนก็ประมาณว่าเป็นจักรพรรดิน้อยที่พ่อแม่คอยพะเน้าพะนอ อยากได้อะไรก็ได้ ไม่ว่าจะกิน จะนอน จะเล่น จะเที่ยว จะให้ลูกเป็นผู้กำหนดตั้งแต่เล็ก ยกให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจเพราะรักลูกอยากตามใจลูก โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังหล่อหลอมให้ลูกของเขากลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง และมองตัวเองว่าสำคัญที่สุด ไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น

ประการที่สอง : ลูกไม่เคยผิดหวัง สืบเนื่องจากการเป็นศูนย์กลางของบ้าน ผู้ใหญ่จึงไม่เคยขัดใจและตามใจมาโดยตลอด และมักมีการกระทำในบางเรื่องที่ไม่เหมาะสม เช่น เมื่อลูกอยากได้ของเล่นของคนอื่น พ่อแม่ก็จะต้องพยายามหาทางให้ลูกได้ของเล่นชิ้นนั้น ไม่ว่าจะไปขอยืมมาหรือดิ้นรนหาซื้อมาให้จนได้ เป็นต้น

ประการที่สาม : ลูกไม่เคยแพ้ในเรื่องการแข่งขัน โดยถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กว่าเป็นเด็กที่ต้องชนะไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม หรือการเรียนก็ตาม ยกตัวอย่าง พ่อแม่ที่เล่นกับลูก ถ้าเป็นเกมที่ต้องมีผู้แพ้ชนะ พ่อแม่มักยอมให้ลูกเป็นฝ่ายชนะตลอด ในบางครั้งที่ลูกแพ้ ลูกมักร้องไห้หรืออารมณ์เสีย แทนที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกรู้จักการแพ้ชนะอย่างเป็นธรรมชาติและถูกต้องตามกฎกติกา และให้เขาได้รู้จักการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง พ่อแม่กลัวว่าลูกจะเสียใจเลยยอมแพ้ลูกตลอด จนเมื่อลูกไปมีสังคมของเขาเอง เมื่อเขาแพ้ก็จะรู้สึกทนไม่ได้ ไม่ชอบหน้าอีกฝ่าย หรือบางทีก็กลายเป็นโกรธผู้นั้นไปเลย

ประการที่สี่ : ลูกไม่เคยลำบาก ข้อนี้มักเกิดกับกลุ่มพ่อแม่ชนชั้นกลางขึ้นไปที่ไม่อยากให้ลูกลำบาก ยิ่งถ้าเป็นพ่อแม่ที่เคยผ่านความลำบากมาแล้วก็เลยมีความคิดว่าไม่อยากให้ลูกลำบากอีกต่อไป ซึ่งเป็นความคิดและความเข้าใจที่ผิดเพราะความลำบากจะทำให้ลูกมีภูมิต้านทานชีวิตที่ดี

ประการที่ห้า : ลูกไม่เคยแก้ปัญหา พ่อแม่จัดการแก้ปัญหาให้ลูกหมดเพราะคิดว่าลูกยังเด็ก ลูกคงแก้ปัญหาเองไม่ได้หรอก ทั้งที่บางเรื่องเป็นเรื่องเล็ก ๆ และเป็นเรื่องของเด็ก แต่พ่อแม่ก็ไม่ปล่อยวางให้ลูกได้ฝึกพบสถานการณ์ด้วยตัวเอง พ่อแม่เข้าไปแก้ปัญหาและจัดการให้หมด เมื่อแก้ปัญหาไม่เป็น มองไม่เห็นปัญหาของตนเองจนมักโทษว่าคนอื่นทำให้ฉันเกิดปัญหา

ประการที่หก : ลูกได้รับคำชื่นชมและชมเชยแบบพร่ำเพรื่อมากเกินไป การชมเชยหรือให้กำลังใจลูกเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องมีความพอดีและเหมาะสม เพราะถ้าชื่นชมมากเกินไปและพร่ำเพรื่อเกินไปก็กลายเป็นการสร้างปัญหาด้วยซ้ำ เช่น ชมว่าลูกแต่งตัวสวย หล่อ หรือหน้าตาดี แต่ไม่ได้ชมที่พฤติกรรมของการทำดี ก็จะทำให้ลูกหลงและถือว่าตัวเองหน้าตาดี และนำไปสู่อาการหลงตัวเองได้

“สื่อยุคไร้พรมแดน” เป็นตัวส่งเสริมเพิ่มให้คนรุ่นนี้เกิดพฤติกรรมหลงตัวเองยิ่งขึ้น การโพสต์รูปบน IG และคอยนับ “like” ที่คนกดอยู่ตลอดเวลาคือการยั่วยุให้กลายเป็นคนหลงตัวเอง กระแสบริโภคนิยมทำให้สมาร์ทโฟนเกลื่อนเมือง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ก้าวเข้าสู่การเป็น Generation ME ME ME ได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ถ้าได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมและถูกวิธี มีการปลูกฝังทักษะชีวิตที่เหมาะสมกับวัยก็จะสามารถต่อสู้กับกระแสหลงตัวเองได้เป็นอย่างดี เป็นคนยกเว้นของรุ่นไป…”

“พ่อแม่รังแกฉัน” เกิดขึ้นได้เสมอถ้าไม่พยายาม “รักลูกให้ถูกทาง”

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 13 ต.ค. 2563