ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สถิติฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ในวิกฤติจาก… “ต้มย้ำกุ้งถึงโควิด-19”

สถิติฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ในวิกฤติจาก… “ต้มย้ำกุ้งถึงโควิด-19”

16 พฤศจิกายน 2021


รายงานโดย ทินารมย์ เสือแก้ว สาขา วารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

เมื่อเกิด “วิกฤติ” ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติโลก วิกฤติประเทศ วิกฤติส่วนตัว ต่างเป็นเรื่องของการต่อสู้ของแต่ละคน โดยเฉพาะด้านจิตใจว่าจะรับมือกับวิกฤติเหล่านั้นได้อย่างไร

ที่ผ่านมาวิกฤติโลก วิกฤติประเทศ ส่งผลกระทบทั้งวงกว้าง วงแคบ ไม่ว่าจะการระบาดของเชื้อโรค หรือวิกฤติเศษฐกิจ และหลายคนอาจจะหาทางออกไม่ได้ หลายคนถึงทางตัน หมดหนทางที่จะแก้ปัญหา จึงเลือกการ “ฆ่าตัวตาย” เป็นทางออก

จากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานจำนวนการฆ่าตัวตายของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540-2563 เมื่อดูภาพรวมของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย จะเห็นตัวเลขที่ขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2542 (ดูกราฟิก) หลังเกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ในครั้งนั้นเป็นผลจากการที่ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก และมีการโจมตีค่าเงินบาท นำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาทจากประมาณ 25 บาท/ดอลลาร์ เป็นประมาณ 50 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่กู้เงินจากต่างประเทศได้รับผลกระทบจำนวนมาก หนี้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวทันที หลายกิจการต้องปิดกิจการ หนี้สินล้นพ้นตัว มีคนตกงานจำนวนมากโดยเฉพาะคนชนชั้นกลางได้รับผลกระทบมาก หลายคนที่ธุรกิจกำลังเติบโตก็ล้มละลายเพราะเหตุการณ์นี้

เมื่อดูสถิติการฆ่าตัวตาย จากปี 2540 ที่มีเพียง 6.92 ต่อแสนประชากร และได้ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนในปี 2542 หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง 2 ปี ตัวเลขพุ่งขึ้นถึง 8.59 ต่อแสนประชากร ซึ่งจำนวนตัวเลขการฆ่าตัวตายสูงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันเมื่อเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ตัวเลขการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสูงในรอบ 17 ปี หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่เพิ่มขึ้นถึง 7.37 ต่อแสนประชากร ในปี 2563 ที่อยู่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นผลกระทบที่เกิดทั่วโลก ที่ส่งผลทั้งด้านเศรฐกิจ สุขภาพ และสังคม ที่ตบเท้าเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก การปิดประเทศ ซึ่งทำให้หลายอาชีพได้รับผลกระทบอย่างหนัก การหยุดกิจการร้านค้า งานบริการที่หยุดชะงักอย่างกระทันหัน ทำให้หลายกิจการต้องถูกปิดลง ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบต้องกลับบ้านเกิด แต่หลายคนยังคงอยู่ในเมือง และรอให้เหตุการณ์เหล่านี้ผ่านไป

จากรายงานจำนวนการฆ่าตัวตายของกรมสุขภาพจิต จะเห็นได้ถึงจำนวนของเพศคนที่ได้ฆ่าตัวตาย ซึ่งในทุกๆ ปีจะเพศชายจะมีจำนวนมากกว่าเพศหญิง แต่ในช่วงเกิดวิกฤติขึ้น ตัวเลขได้เพิ่มขึ้น อย่างในปี 2542 จำนวนผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจากประชากรแสนคน เป็นจำนวน 13.32 คน ผู้หญิงจำนวน 3.91 คน และในวิกฤติโควิด-19 จำนวนผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจากประชากรแสนคน 12.27 คน และผู้หญิง 2.68 คน ซึ่งตัวเลขทั้งสองชุดนี้เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ ทำให้เห็นจำนวนของผู้ที่ฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นสูงท่ามกลางภาวะวิกฤติของไทย

ผลกระทบเมื่อเกิดวิกฤติ ที่ก่อให้ปัญหาใหญ่อย่างปัญหาสุขภาพจิต มักทำให้หลายคนผลเจอกับความเครียด หรือเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเลือกแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย อย่าง ประกายฟ้า พูลด้วง ที่เป็นยูทูบเบอร์ และนักร้อง ที่ได้จบชีวิตเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 64 ที่ลานจอดรถ ณ ห้างย่านสะพานใหม่ ซึ่งฟ้าเป็นนักร้องตามร้านกลางคืน หนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเลี่ยงไม่ได้ รายได้ที่หายไปทำให้เกิดความเครียด จึงส่งผลให้ฟ้าได้จบชีวิตลงด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดวิกฤติ จำนวนตัวเลขที่แสดงถึงการฆ่าตัวตาย อาจไม่เป็นเพียงสิ่งเดียวที่สะท้อนปัญหาของวิกฤติที่เกิดขึ้น ยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียหายไปจำนวนมาก หรือแม้แต่การแก้ปัญหาของรัฐบาลที่สะท้อนให้เห็นถึงการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงสภาพชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไปตามวิกฤติ ที่ทำให้เห็นสะท้อนถึงปัญหาหากมีวิกฤติที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น