ThaiPublica > เกาะกระแส > ฝ่าวิกฤติโควิด-19 พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ออกแบบอนาคตไทยที่ยั่งยืน

ฝ่าวิกฤติโควิด-19 พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ออกแบบอนาคตไทยที่ยั่งยืน

18 กันยายน 2021


เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้เสวนาหัวข้อ “ฝ่าวิกฤติโควิด-19 พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ออกแบบอนาคตไทยที่ยั่งยืน” ร่วมกับนายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย ถ่ายทอดผ่านวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ ไปยังผู้ว่าราชการ 77 จังหวัดทั่วประเทศร่วมรับฟัง เพื่อร่วมสร้างเข็มทิศประเทศไทยในอนาคต ว่าประเทศไทยโดยเฉพาะภาครัฐต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมและปรับรูปแบบการทำงานอย่างจริงจัง (transformation) เพื่อรับมือกับความท้าทายหลายประการที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19

ดร.วิรไทกล่าวว่า ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยประสบปัญหาโครงสร้างหลายอย่างที่รุนแรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภาพ (productivity) ที่อยู่ในระดับต่ำและเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะภาคการเกษตร และภาคบริการที่ส่วนใหญ่เป็นบริการแบบดั้งเดิม เช่น การท่องเที่ยว นอกจากนี้ พบว่าแรงงานส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ ส่งผลให้แรงงานมีรายได้และผลิตภาพลดลง แม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ รวมถึงการเกิดเทคโนโลยีดิสรัปชั่น (technology disruption) ซึ่งกระทบต่อวิธีการทำงาน โดยเฉพาะวิธีการทำงานของแรงงานทั่วไป เพราะมีการใช้กลไกหุ่นยนต์แทนการทำงานมากขึ้น

ที่สำคัญคือ ภาครัฐยังมีกฎเกณฑ์ ระเบียบการดำเนินงานที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อความท้าทายและบริบทปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างคล่องตัว และไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและธุรกิจได้

ปรากฏการณ์เช่นนี้ เมื่อถูกกระตุ้นให้รุนแรงขึ้นด้วยวิกฤติโควิด-19 จึงทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปในรูปแบบตัว K กล่าวคือ ผู้ที่ร่ำรวยและมีทรัพยากรมากกว่าจะยิ่งมีโอกาสได้ประโยชน์สูงขึ้น ในขณะที่คนยากจน หรือคนตัวเล็กตัวน้อย จะเสียเปรียบ แข่งขันได้ยากขึ้น และจะยิ่งยากจนลง

ดร. วิรไทกล่าวต่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากวิกฤติโควิด-19 คือ มีคนวัยทำงานตกงาน ต้องออกจากเมืองใหญ่และเมืองอุตสาหกรรมกลับสู่ชนบทหลายล้านคน และมีแนวโน้มว่าคนเหล่านั้นจะไม่สามารถกลับมาทำงานในเมืองได้อีกเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เพราะหลายอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่สูง และรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะใช้หุ่นยนตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามากขึ้น

“แต่ในวิกฤติยังมีโอกาส เมื่อก่อนคนวัยทำงานไปทำงานในเมืองทำให้สังคมชนบทอ่อนแอ ภาคการเกษตรมีแต่แรงงานสูงอายุ เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องช่วยคิดถ้าคนวัยทำงานหลายล้านคนกลับไปบ้าน และต้องอยู่อีกนาน การปรับโครงสร้างจะทำอย่างไรที่จะสร้างให้ชนบทเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ได้ต่อเนื่อง และใช้คนเหล่านี้เป็น Change Agent สร้างความเข้มแข็งให้กับคนพื้นที่เพราะมีประสบการณ์ทำงานในเมือง ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหาข้อมูล ติดต่อสื่อสาร ขายของออนไลน์ได้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเมื่อโลกไม่เหมือนเดิม” ดร.วิรไทกล่าว

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

ดังนั้นโจทย์สำคัญของประเทศไทยขณะนี้ คือเราจะทำอย่างไรให้คนในวัยทำงานนับล้านคนเหล่านี้สามารถมีอาชีพอยู่ในชนบทได้อย่างยั่งยืน คนวัยทำงานที่กลับบ้านจะสามารถสร้างความเข้มแข็ง และสร้างการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและสังคมชนบทได้ด้วย แก้ปัญหาผลิตภาพต่ำในภาคการเกษตร แก้ปัญหาครอบครัวโหว่กลาง และสังคมชนบทที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ในรอบนี้คนวัยทำงานที่กลับบ้านพอเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี่ดิจิตอลระดับหนึ่ง มีทักษะการทำงาน การติดต่อสื่อสาร การหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นได้ ถ้าช่วยกันสร้างโอกาส และพัฒนาทักษะที่เหมาะสม เขาจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็น change agent ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชนบทไทยได้

สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานของข้าราชการในพื้นที่เพื่อฝ่าวิกฤติ โควิค-19 ไว้ดังนี้

  • ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าเพียงการเยียวยาในช่วงสั้นๆ เพียงอย่างเดียว เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะมีมากขึ้น
  • ต้องเน้นการทำงานในลักษณะล่างขึ้นบนให้มากขึ้น มากกว่าการกำหนดสูตรสำเร็จจากส่วนกลาง เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน มีบริบทต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร บุคคลากร สภาพพื้นที่ และการบริหารจัดการ
  • ควรต้องเน้นการสร้างงานในชนบทนับล้านตำแหน่ง ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะใหม่หรือ reskilling ให้ตอบโจทย์ของโลกใหม่

โดยหน่วยงานภาครัฐไม่จำเป็นต้องลงมือทำเอง แต่ต้องทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคการศึกษา ธุรกิจ ประชาสังคม และชุมชน โดยหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามประเมินผล

เมื่อมองไปข้างหน้าพบว่าประชาชนมีความเดือดร้อนอีกมากที่ต้องได้รับการแก้ไข ถ้าให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ลงมือทำเอง จะไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเท่าทัน และอาจจะไม่เกิดประสิทธิผลเมื่อเทียบกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่มีประสบการณ์ และความชำนาญเฉพาะด้านสูงกว่าหน่วยงานภาครัฐ

รอยยิ้มจากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการกับปิดทองหลังพระฯ

ดร.วิรไท ได้ยกตัวอย่างของการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่เข้าไปเติมเต็มช่องว่างในการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชน โดยหนึ่งปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ได้จัดทำโครงการพิเศษเพื่อซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็ก กว่า 650 โครงการใน 9 จังหวัดใช้เงินลงทุนประมาณ 250 ล้านบาท หรือตกโครงการละประมาณ 4 แสนบาท สามารถจ้างแรงงานที่ตกงานกลับบ้านได้ประมาณ 1,000 คน แหล่งน้ำขนาดเล็กเหล่านี้สามารถกลับมาเก็บกักน้ำได้มากกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือรวมกันแล้วมีขนาดใกล้เคียงกับความจุของเขื่อนกิ่วลม ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,400 ล้านบาท

“หลักการทำงานที่สำคัญคือ การให้ชาวบ้านแสดงความต้องการที่จะร่วมกันซ่อมแซมแหล่งน้ำเหล่านี้โดยต้องอาสาลงแรงร่วมกัน ไม่มีการจ้างเหมาผู้รับเหมามาดำเนินโครงการ การที่เริ่มจากให้ชาวบ้านอาสาลงแรงร่วมกัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะแสดงว่าโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่ชาวบ้านเห็นว่าจะมีประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นโครงการที่มาจากความต้องการของชุมชน เป็นการกำหนดจากล่างขึ้นบน โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สนับสนุนองค์ความรู้ และวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซม และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ดูแลแหล่งน้ำเหล่านี้เพื่อให้ชาวบ้านเข้าซ่อมแซมได้” ดร.วิรไทกล่าว

ดร. วิรไท กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโลกในอนาคตจะมีลักษณะVUCA (Volatile – ผันผวน, Uncertain – ไม่แน่นอน, Complex – ซับซ้อน, Ambiguous – คลุมเครือ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และผลกระทบในแต่ละพื้นที่จะต่างกัน ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงต้องทำงานในลักษณะล่างขึ้นบนมากขึ้น ไปในทิศทางของ decentralization และต้องทบทวนการแบ่งบทบาทระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายของอนาคต

ฝายชะลอน้ำ โครงการปิดทองหลังพระร่วมกับชาวบ้านช่วยกันทำด้วยงบ 800 บาท/ฝาย เพื่อกักเก็บน้ำลงดิน และป้องกันการพังทะลายของหน้าดิน

พร้อมกล่าวต่อว่า “ตามที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวถึงคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน จะมีผลมากกับภาคชนบทของไทย กระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเราเริ่มเห็นได้ จากพฤติกรรมของฝนทำให้น้ำเหนือเขื่อนแล้ง ฝนที่ตกลงมาจะเป็นน้ำใต้เขื่อนมีการพยากรณ์ว่าไทย เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบภาวะโลกร้อนมากที่สุด ภาคการเกษตรขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ชายฝั่งทะเลเกิดการกัดเซาะ กระทบภาคการประมง ขณะที่ในเมืองเกิดปัญหาน้ำประปาเค็ม”

นอกจากนี้ปัญหาเกิดในบริบทที่แตกต่างกันในการทำงานในพื้นที่ การแก้ปัญหาจึงต้องเป็นแบบจากล่างขึ้นบนมากขึ้น มีการกระจายอำนาจแบบ decentralization ต้องหาวิธีการ บทบาทที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นและส่วนกลาง ที่ทันกับสถานการณ์ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น มีหลายเรื่องที่เกิดเร็วมาก การกำหนดจากบนลงล่างจะทำให้การทำงานยากขึ้น

ดร.วิรไทอธิบายเพิ่มเติมว่า”หากเราตระหนักได้ว่า โลกเราไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม สถานการณ์การระบาดก็ยังคง ขึ้น ๆ ลง ๆ หลักคิดแรกของภาครัฐฯจึงต้องเปลี่ยนไป จากการเยียวยามาสู่การกำหนดเป้าหมายใหม่ของประเทศ ปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ เพื่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืนในระยะยาวด้านเศรษฐกิจ สังคม มองบริบทของแต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่าง กลไกที่ตอบโจทย์ ต้องเป็นแบบจากล่างขึ้นบน (bottom up) ที่ผ่านมานโยบายจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่ปฏิบัติ หลายอย่างทำไม่ได้ เพราะพื้นที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเรื่องการสร้างงาน ต้องเกิดความต่อเนื่องได้ ไม่ใช่การจ้างงานแบบเยียวยา หรือเอาเงินไปแจก สิ่งที่ต้องทำคือเรื่องการพัฒนาทักษะใหม่ (Reskilling ) เพื่อคนจำนวนมากต่อยอดพัฒนาจากทักษะที่มีอยู่เดิม เมื่อทักษะเก่าไม่ตอบโจทย์กับโลกใหม่แล้ว”

พร้อมกันนี้ได้ฝากสามคำถามสำคัญไว้ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานภาครัฐพิจารณาก่อนที่จะเริ่มทำโครงการใดๆ ต้องถามตัวเองว่า

    1) โครงการต่างๆ ที่จะทำจะมีผลช่วยปรับโครงสร้างและสร้างความยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ จะตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตอย่างไร
    2) หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเป็นคนลงมือทำโครงการเหล่านี้เอง หรือควรมีบทบาทสนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชน หรือท้องถิ่นที่เก่งกว่า มีความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าเป็นคนลงมือทำ
    3) ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิตอลเป็นกลไกในการดำเนินการหลักหรือไม่ ในโลกปัจจุบัน ทุกเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐคิดจะทำควรต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลก่อน (digital first) เสมอ

ทุกอย่างที่ทำ ถ้าเราถามสามคำถามนี้ประจำจะช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็น transformation ที่เข้ากับความท้าทายใหม่ได้ ท้ายสุดเมื่อเราคิดแบบนี้ ก็จะได้เหตุผลว่าเราต้องปฏิรูปกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ ที่ต้องทำอย่างจริงจัง

“สิ่งที่ท่านรองปลัดกระทรวงมหาดไทยพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกฎเกณฑ์การทำงาน กฎระเบียบต่าง ๆ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง เริ่มจากต้องเอาประโยชน์ของผู้ใช้เป็นตัวตั้ง ผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย ถ้าปฏิรูปโดยใช้ราชการ ทำคงไม่สำเร็จ โลกดิจิทัลไปไกลมากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก งานที่จะทำ หากมีทางออกที่เป็นดิจิทัล ก็ให้นำมาใช้ เพราะหลายเรื่องทำให้การทำงานสบายขึ้น
เมื่อเกิดโครงการ จำเป็นหรือไม่ที่ราชการต้องทำเอง หาพันธมิตรที่เก่งกว่ามาทำ ราชการทำเองอาจไม่ทัน ถ้าอาศัยคนอื่นร่วมทำ ทำได้มากกว่า มีทรัพยากร มีวิธีคิด มีซอฟท์แวร์ มีเครือข่ายที่จะสร้างพลังร่วมกันได้” ดร.วิรไทกล่าว

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ(ซ้าย) และ นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (ขวา)

ด้านนายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าเมื่อเกิดโควิด กระทรวงมหาดไทยต้องปรับตัวในการทำงาน ยกตัวอย่าง คนไทยที่อยู่ประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกห้ามกลับเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ ถ้าไม่ทำตามก็ผิดกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงก็มีคนที่เดินทางเข้ามาตามช่องทางเหล่านั้นตลอด ในพื้นที่จึงต้องมีการปรับตัว ไม่เข้มงวดเกินไป ไม่บังคับใช้กฎหมายมากเกินไปเพราะจะเกิดปัญหา ผ่อนผันให้มีการเข้ามาได้แต่การทำบันทึกไว้ ต้องมีการกักตัว 14 วัน เป็นการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา

“ปัญหาชาวสวนลำไย ที่ภาคเหนือ เมื่อโควิดเริ่มระบาดชาวจีนที่รับซื้อเดินทางเข้ามาดูสวนไม่ได้ หากไม่ทันก็จะไม่รับซื้อเลยก็ต้องแก้ไข เพราะหากทำตามกฎหมายจะใช้เวลานานมาก ก็แก้ปัญหาได้บางส่วนแต่ก็ไม่ใช่ได้ทั้งหมด”

พร้อมกล่าวต่อว่า “เป็นความท้าทายว่าเราจะอยู่อย่างไรกับโควิด เมื่อเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจก็มีผลกับเราทุกคน เรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมโควิด ในอนาคตจะมีการใช้มาตรการป้องกันตนเอง เป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงประชาชน ทำให้เชื่อใจ เห็นความสำคัญของการป้องกันตนเอง การใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อแสดงว่าเรามีการฉีดวัคซีนแล้ว “ความยากคือการกำกับให้ทำตามมาตรการกับความร่วมมือ” การทำงานต่อไป การประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการที่เคยเป็นหลัก จะเปิดให้เป็นเวทีของภาคเอกชนมากขึ้น การจัดทำแผนต้องลงไปดูพื้นที่มากขึ้นเพื่อให้สะท้อนปัญหา ตัวเราเอง ทำอย่างไรที่จะเปิดกว้างที่จะรับความเปลี่ยนแปลงได้ การทำงานในพื้นที่ก็เจอปัญหาต้องชั่งน้ำหนักกับเรื่องระเบียบ กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อย่างตอนนี้ก็เผชิญกับปัญหาเรื่องน้ำท่วม”

“เป็นหน้าที่ต้องไปสร้างให้พื้นที่เกิดความเข้มแข้งมากขึ้นตามแนวทางของปิดทองหลังพระฯ ในเรื่องระเบิดจากข้างใน ช่วยแก้ปัญหา ลดการเป็นหนี้ ให้ครัวเรือนมีความเข้มแข็ง อนาคตจะมีโครงการขจัดความยากจนโดยใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้ง มีแผนที่เข้าไปชี้ว่าครอบครัวไหนมีปัญหาจริง ต้องเข้าไปแก้อย่างใกล้ชิด สร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ราชการเพียงฝ่ายเดียวทำไม่ได้”

ถ้าทุกภาคส่วนเข้มแข็ง เราก็จะเข้มแข็ง ช่วงนี้เป็นช่วงของการปฏิรูประบบราชการ ความท้าทายประการสำคัญคือ การปฏิรูปต้องการให้ จังหวัดมีความเข้มแข็ง ทั้งในเรื่องการทำแผน การบริหาร การแก้ปัญหา ถ้าจังหวัดมีความเข้มแข็งพื้นที่ก็จะเข้มแข็ง

“โจทย์สามข้อที่ดร.วิรไทเสนอไว้ ก็สอดคล้องกับการปฏิรูปราชการ 4.0 เป็นข้อคิดให้ทุกจังหวัด ต้องคิดปฏิรูปก่อนจะถูกปฏิรูป เพราะโควิดอยู่อีกนาน เราต้องทำงานกับโควิดต่อไป”

การหารือร่วมกันระหว่างข้าราชการและประชาชนในพื้นที่

    ตัวอย่างการทำงานปิดทองหลังพระฯ

    ดร.วิรไทกล่าวว่ากลไกการทำงานในระดับจังหวัด ได้เรียนรู้จากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯตลอด 11 ปี ที่ได้ทำงานร่วมกับหลายจังหวัด เป็นเรื่อง coordination failure ความล้มเหลวของการประสานงาน ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก บ่อน้ำเป็นหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้ดูแล ตอนถ่ายโอนไปให้องค์กรท้องถิ่น ท่อส่งเป็นของอีกหน่วยงาน นายช่างก็ไม่ได้โอนไปด้วย การของบประมาณส่วนกลางเพื่อซ่อมบำรุงต้องใช้เวลา แต่ละหน่วยงบประมาณมาไม่พร้อมกัน ทำให้ซ่อมแซมไม่ได้ ชาวบ้านก็ได้แต่นั่งดู ไม่ได้ใช้น้ำ

    “งานของปิดทองหลังพระฯคือการเข้าไปช่วยประสานงานให้ โดยอาศัยแรงงานของชาวบ้านไม่ต้องจ้างเพราะเป็นความต้องการของชาวบ้านที่เห็นประโยชน์ กระบวนการจัดซื้ออุปกรณ์มีปัญหา ก็เข้าไปช่วยสนับสนุนงบประมาณ จัดหาอุปกรณ์ ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเข้าไปซ่อมอ่างเก็บน้ำที่เป็นทรัพย์สินของราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

    เดือนมีนาคมเมื่อเกิดโควิดปีที่แล้ว มีคนว่างงานกลับบ้านจำนวนมาก เราเห็นว่าน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำให้ผู้ว่างงานมีรายได้ต่อเนื่องในระยะยาวได้ เมื่อต้องกลับบ้านไปทำการเกษตร โดยที่ไม่สามารถกลับไปทำงานในเมืองใหญ่ได้อีก

    ทั่วประเทศมีแหล่งน้ำขนาดเล็กจำนวนมาก แต่มีปัญหาไม่ได้รับการดูแล ซ่อมแซม จึงมีการพูดคุยกับในพื้นที่เพื่อทำโครงการฯที่เป็นก้าวกระโดด เข้าไปซ่อมแหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่เป็นพื้นที่ที่คุ้นเคยกับการทำงานร่วมกันของปิดทองหลังพระฯกับ 9 จังหวัด

    จากเดือนมีนาคม 2563 เราทำแหล่งน้ำไปได้แล้ว 650 กว่าโครงการ ใช้งบประมาณ 4 แสนบาทต่อโครงการ จ้างงานได้ประมาณ 1,000 คน งบประมาณที่ทำไปทำให้เราได้แหล่งน้ำเพิ่มขึ้นรวม 120 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับขนาดเก็บน้ำของเขื่อนกิ่วลม เป็นไปตามความต้องการของชุมชน ปิดทองหลังพระฯจะคำนวณว่าชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างไร กับงบประมาณที่ลงไป แต่ละจังหวัดมีงบประมาณที่บริหารจัดการได้ มีหลายเรื่องที่สามารถทำได้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องแหล่งน้ำอย่างเดียว

    ถ้าตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไร ที่จะช่วยกันแปลงร่างที่ส่งผลกับโครงสร้างระยะยาว ปัญหา “คนกับพื้นที่” ทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งให้กับจังหวัด โดยอาศัยกลไกของภาคประชาสังคม ภาคเอกชนที่เก่งหลายเรื่อง สถาบันการศึกษา ก็จะเป็นภาคีที่ภาครัฐฯไม่ต้องทำเอง

    “การเกิดจากความต้องการเป็นหลักทำให้รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง หลักของปิดทองหลังพระฯคือ ถ้าใครต้องการทำตรงไหน ชาวบ้านก็ลงชื่อว่ายินดีเสียสละแรงงาน ก็จะเป็นตัวช่วยกลั่นกรองว่าสิ่งที่ทำจะได้ประโยชน์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำงานได้”