ThaiPublica > เกาะกระแส > “ศุภชัย เจียรวนนท์” ชี้ไทยต้องพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ แนะต้องกล้าทำ 5 เป้าหมาย

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ชี้ไทยต้องพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ แนะต้องกล้าทำ 5 เป้าหมาย

5 พฤษภาคม 2020


นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ชี้วิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาส แนะรัฐตั้งเป้าเมืองไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลก ชู 5 เป้าหมายพลิกประเทศไทยสู่เศรษฐกิจ 4.0

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่นี้ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก แต่เชื่อว่าโลกจะ Rebound กลับมาสู่ภาวะปกติได้ในที่สุด และมั่นใจว่าโลกของเราจะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียว และจากแรงเสริมของวิกฤตโควิด-19 ที่ผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้โลกหลังวิกฤติเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิด New Normal จากพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy ที่เป็นเศรษฐกิจ 4.0 ทั้งนี้ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transform สู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ต้องกล้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยตั้งเป้าหมายในการนำประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลก

ในการนี้ สภาดิจิทัลฯได้กำหนดเป้าหมายสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ New Economy ที่กำลังจะมาถึงหลังวิกฤติโควิด-19 ประกอบด้วย 5 เป้าหมายที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย

เป้าหมายแรก คือ ต้องสร้างตัวชี้วัดใหม่ให้ประเทศไทย ต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดแบบดั้งเดิม มาสู่ตัวชี้วัดใหม่ เช่น ตัวชี้วัดด้าน Digital Infrastructure หรือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ จะต้องไม่วัดจากจำนวนคอมพิวเตอร์ต่อประชากร หรือ จำนวนโทรศัพท์มือถือต่อประชากร แต่ควรเป็นตัวชี้วัดที่บอกถึงศักยภาพในการเข้าถึงเทคโนโลยีและดิจิทัล เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เป็นต้น เนื่องจากองค์ความรู้ใหม่ ๆ ของโลกล้วนมาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ทั้งนี้การสร้างตัวชี้วัดใหม่ คือการสร้างมาตรฐานใหม่ ซึ่งจะสร้างความตระหนักรู้ หรือ Awareness แก่สังคมไทย ถือเป็นเรื่องดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้พร้อมรองรับอนาคต 4.0 ที่กำลังก้าวเข้ามาอย่างรวดเร็ว

เป้าหมายที่ 2 คือ ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพราะทุกภาคส่วนต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าต่างฝ่ายต่างทำ ทั้งนี้เห็นว่าทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้แม้ในบางมิติอาจจะต้องแข่งขันกันบ้างก็ตาม

เป้าหมายที่ 3 คือ Digital Manpower ต้องเร่งสร้างและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล โดยสร้างคนจากภายในประเทศ ด้วยการสร้างทักษะ upskill และ/หรือ reskill ด้านดิจิทัลแก่บัณฑิตจบใหม่ของไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 500,000 คน เพื่อให้มีทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการใหม่ ๆ ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และอาจจะต้องมีแรงจูงใจ หรือ Incentive ในเป้าหมายนี้

เป้าหมายที่ 4 คือ Digitalization เมื่อโลกเปลี่ยน เราต้องปรับตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้แต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพ ต้องตื่นตัว และสำรวจตัวเอง ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กร

เป้าหมายที่ 5 คือ ต้องสร้างประเทศไทยให้เป็น Hub ด้านการค้าการลงทุน ดึงคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาประเทศไทย ต้องวางยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็น Hub ในระดับภูมิภาคเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งไทยมีศักยภาพเพราะตั้งอยู่ในศูนย์กลางของโลกที่มีคนมากถึง 3,000 ล้านคน โดยต้องพิจารณาดูว่าอะไรเป็นเรื่องใหม่และมีโอกาสในการเปลี่ยนแปลง เช่น ไทยสามารถเป็น Hub ในด้านสุขภาพได้หรือไม่ โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีและดิจิทัลจะช่วยทำให้ประเทศไทยทะยานตัวสู่เป้าหมายนี้ได้

ในการนี้ประเทศไทยต้องมีระบบนิเวศน์ หรือ Ecosystem ที่เอื้ออำนวยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและดิจิทัล อาทิ การดึงคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาช่วยให้เราเป็น Hub ด้านเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะต้องมีแรงจูงใจเพื่อดึงดูดให้เข้ามาประเทศไทย การส่งเสริมด้านวิจัยและพัฒนา หรือ R&D หรือการมี Intelligent Center เพื่อดึงนักวิจัย หรือ Start up ด้านเทคโนโลยีที่เก่ง ๆ รวมไปถึงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เข้ามาไทย และควรส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยปรับตัวผลิตคนที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น