ThaiPublica > เกาะกระแส > กพช.เห็นชอบกองทุนน้ำมันฯกู้เพิ่ม เล็งออก พ.ร.ฎ.กู้เต็มที่ 30,000 ล้าน ตรึงดีเซลลิตรละ 30 บาทถึงปีหน้า

กพช.เห็นชอบกองทุนน้ำมันฯกู้เพิ่ม เล็งออก พ.ร.ฎ.กู้เต็มที่ 30,000 ล้าน ตรึงดีเซลลิตรละ 30 บาทถึงปีหน้า

5 พฤศจิกายน 2021


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน (กลาง)

กพช.เห็นชอบกองทุนน้ำมัน ฯขยายกรอบวงเงินกู้รับมือวิกฤตน้ำมัน เล็งออก พ.ร.ฎ.กู้เงินเต็มที่ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาทถึงไตรมาสแรกของปี 2565 “ปลัดพลังงงาน” เผยกองทุนน้ำมัน ฯล่าสุดมีฐานะสุทธิ 7,000 ล้านบาท เหลือ “รูม” ให้กู้ยืมเงินได้อีก 30,000 ล้านบาท โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ กพช.ยังมีมติปรับลดเงินนำส่งกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯจากลิตรละ 10 สตางค์ เหลือลิตรละ 0.5 สตางค์ เป็นเวลา 1 ปี

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2564 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน , นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) , นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

หลังการประชุม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงมีมติ ปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตาในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งยังเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 ปีละ 4,000 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบให้ทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567 เพื่อรับรองกรณีมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินกู้ โดยให้การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ต้องไม่เกิน จำนวน 40,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 แห่ง พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 การใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้จ่ายได้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกองทุนน้ำมันฯ หรือการบริหารกองทุนน้ำมันฯ และกิจการอื่นที่เกี่ยวกับ หรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดการกิจการของกองทุนน้ำมันฯ การทบทวนแผนรองรับวิกฤตฯ ครั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินคงเหลือสุทธิ 7,000 ล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ มาตรา 26 ระบุว่าเงินกองทุนบวกกับเงินกู้ต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงเหลือช่องว่าง หรือ รูมให้กองทุนน้ำมันฯกู้ยืมเงินได้อีกประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยแผนการกู้ยืมเงินลอตแรก 20,000 ล้านบาท ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็ได้มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ถ้ากองทุนน้ำมันฯจะกู้ยืมเงินเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 ระบุว่าเสนอเป็นพระราชกฤษฎีกา สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปได้ถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2565” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนการกู้ยืมเงินลอตแรก 20,000 ล้านบาทว่า หลังจากที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ได้มีมติเห็นชอบแผนและหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน 20,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ จากนั้นก็จะส่งแผนงานทั้งหมดไปให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บรรจุเข้าไปอยู่ในแผนการก่อหนี้ใหม่ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามกำหนดการจะมีการหารือกับ สบน.ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 และเสนอที่ประชุม ครม.อนุมัติอีกครั้ง จากนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเริ่มทยอยกู้เงินภายในวงเงิน 20,000 ล้านบาทในช่วงกลางเดือนมกราคม 2565

นอกจากนี้ที่ประชุม กพช.ยังได้มีมติเห็นชอบประเด็นสำคัญอื่นๆ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.เห็นชอบให้ ทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Price Review) จากสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท PETRONAS LNG LTD., เนื่องจากสถานการณ์ตลาด LNG ในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงื่อนไขสัญญาระหว่าง บริษัท ปตท. และ PETRONAS นั้นก็ให้คู่สัญญาเปิดเจรจา Price Review ได้ในระหว่างปีที่ 5 ของสัญญา ปตท. จึงขอเจรจาในปี 2564 เพื่อปรับลดราคา LNG โดยได้ข้อสรุปผลการเจรจา LNG Price Review สามารถปรับลดสูตรราคา LNG SPA ลงเฉลี่ย -7% ซึ่งสามารถลดต้นทุนการจัดหา LNG ลงประมาณ 900 – 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือรวมประมาณ 4,500 – 5,000 ล้านบาทในปี 2565 – 2569 หรือลดต้นทุนค่า Ft ประมาณ 0.42 สตางค์ ต่อหน่วย และกพช.มอบหมายให้บริษัท ปตท.ฯ เสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป

2.เห็นชอบให้บรรจุโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง ซึ่งมีกำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตัน ต่อปี (ขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี) ไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการฯ ตามแผนดำเนินงานของ EEC และสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนดำเนินการกำกับดูแลและบริหารจัดการ LNG Terminal ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการจัดหา LNG ของประเทศให้มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคง เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และผู้ใช้พลังงาน ทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงการสร้างระบบเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ทันสถานการณ์ และสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน

3.เห็นชอบอัตรา ค่าไฟฟ้าและการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ดังนี้ โครงการน้ำงึม 3 ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8934 บาทต่อหน่วย โครงการปากแบง ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.7935 บาทต่อหน่วย โครงการปากลาย ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.9426 บาทต่อหน่วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดสัญญาและมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลาย ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด แล้ว เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป. ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำจาก สปป. ลาว นั้น สอดคล้องตามกรอบ “แผนพลังงานชาติ” ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และสอดคล้องทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด ลดการปล่อย CO2 อีกด้วย

4.เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 และเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 – 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี โดยมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการแต่ละโครงการต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

และ 5.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 5 ฉบับ (5 ผลิตภัณฑ์) ดังนี้ 1. ร่างกฎกระทรวงความร้อนแบบดึงความร้อนจากอากาศถ่ายเทให้แก่น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. … 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดฟิล์มติดกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. … 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดฉนวนอุตสาหกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ….. 4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดเตารังสีอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. … และ 5. ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัดลมอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. … และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานนำร่างกฎกระทรวงฯ เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป